(กล่าวนำ)

27 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 1 จาก 24 ตอนของ

พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทย
ในยุคโลกาภิวัตน์1

ขอเจริญพร ท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร ท่านอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทุกท่าน

วันนี้อาตมาได้มาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง พอมาเห็นสถานที่ก็จำได้ว่า เคยมาพูดที่นี่ ไม่แน่ใจว่ากี่ปีแล้ว อาจจะเป็นสัก ๒-๓ ปี รู้สึกว่ารวดเร็วเหลือเกิน มาเห็นที่นี่เหมือนกับเพิ่งมาพูดไม่นานนี้เอง และวันนี้มาพูดที่นี่ก็ต้องพูดเรื่องการศึกษาอีก

เมื่อได้รับนิมนต์จากท่านคณบดี เวลาจะมาพูดก็มีความรู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือกลัวซ้ำ นี่ก็จะพูดเรื่องปรัชญาการศึกษาอีก เรื่องทำนองนี้ดูเหมือนว่าพูดแล้วพูดอีก ถ้ามาพูดซ้ำก็ทำให้รู้สึกว่าจืด แต่ก็เห็นเป็นความจำเป็นที่ว่าเรื่องเนื้อหาสาระในทางวิชาการ โดยเฉพาะทางการศึกษานั้นจำเป็นต้องมีการพูดซ้ำบ้าง ความซ้ำนั้นอยู่ที่ตัวหลักการ แต่สถานการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไป หลักการนั้น เมื่อนำมาเชื่อมกับสถานการณ์หรือเรียกว่านำมาประยุกต์ใช้ ก็อาจจะมีแง่มุมที่แปลกแตกต่างออกไปบ้าง

วันนี้ท่านได้นิมนต์ให้มาพูดในเรื่อง พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ เรามีศัพท์ที่กำลังนิยมกันมากคือคำว่า โลกาภิวัตน์ ตามที่อาตมาได้รับนิมนต์ไปพูด หัวข้อปาฐกถาหลายครั้งจะมีคำนี้อยู่ด้วย ไม่เฉพาะในทางการศึกษา ไปพูดที่อื่นก็มีเรื่องทำนองนี้

คำว่าโลกาภิวัตน์นี้ค่อนข้างใหม่ ก่อนหน้านี้มีคำว่าโลกานุวัตร ก็ได้รับนิมนต์พูดตั้งแต่สมัยที่ใช้คำว่า โลกานุวัตร ก็เลยมีเรื่องของกระแสโลกานุวัตร บางทีก็พูดคู่กับธรรมานุวัตร แล้วก็มีโลกาภิวัตน์ในด้านต่างๆ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปการศึกษาที่ยืนตัว แก้ปัญหาโลกาภิวัตน์ที่ชั่วคราว >>

เชิงอรรถ

  1. ปาฐกถา ณ ห้องประชุมคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๘

No Comments

Comments are closed.