การศึกษาที่ยืนตัว แก้ปัญหาโลกาภิวัตน์ที่ชั่วคราว

27 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 2 จาก 24 ตอนของ

การศึกษาที่ยืนตัว แก้ปัญหาโลกาภิวัตน์ที่ชั่วคราว

โลกาภิวัตน์นั้นก็คงจะเข้าใจกันดีแล้วว่ามีความหมายอย่างไร สมัยต้นๆ ยังมีความสับสนพอสมควร เวลานี้ก็เป็นเพียงว่าทบทวนกัน ความหมายง่ายๆ ของคำว่า “โลกาภิวัตน์” ก็คือ การทำให้เกิด ให้มี ให้เป็นไปทั่วทั้งโลก อันนี้เป็นความหมายแบบง่ายๆ เรื่องนี้ก็เป็นสภาพของยุคสมัย คือ เวลานี้ เหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกได้มาถึงยุคสมัยที่ว่า เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งแล้วก็มีการแพร่ขยายกระจายไปรวดเร็วจนกระทั่งครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก เราจึงมีศัพท์นี้ขึ้นมา

ในแง่ของการศึกษาเราก็จะต้องดูว่า การศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นโลกาภิวัตน์อย่างไร เมื่อเรามองโลกาภิวัตน์ว่าเป็นเรื่องของยุคสมัย เราก็ต้องมองว่าปรัชญาการศึกษามีหลักของตัวเอง การที่ว่ามีหลักของตัวเองนั้นหมายความว่า ไม่ได้ขึ้นต่อโลกาภิวัตน์ แต่มาสัมพันธ์กับโลกาภิวัตน์ได้ด้วย ที่พูดอย่างนี้หมายความว่า ปรัชญาการศึกษาที่แท้นั้นมีความยืนตัวของมันเอง ไม่ได้ขึ้นต่อโลกาภิวัตน์

ขอพูดย้ำทวนว่า ปรัชญาการศึกษาที่แท้ย่อมมีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง และการที่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองนี้ก็คือ สามารถใช้พัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์ได้ ขยายความว่า เราสามารถใช้ปรัชญาการศึกษามาพัฒนามนุษย์ให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ และมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์นี้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหนก็ตาม ก็สามารถดำรงอยู่อย่างดีที่สุดในสภาพที่เป็นจริงในเวลานั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกาลเทศะ หมายความว่า การศึกษามีความสมบูรณ์ในตัวที่สามารถสร้างคนที่มีความสมบูรณ์ และหลักการของการศึกษานั้นก็ตาม ตัวบุคคลที่มีความสมบูรณ์นั้นก็ตาม จะไปอยู่ในยุคสมัยไหนก็ตาม ก็สามารถปรับตัวหรือสามารถเป็นผู้แก้ปัญหา สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีในสภาพของยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งเราถือว่าเป็นกาลเทศะ

เวลานี้เรามาพูดในแง่โลกาภิวัตน์ก็หมายความว่า เราจะเอาปรัชญาการศึกษาที่น่าจะมีความสมบูรณ์อย่างนั้น และสร้างคนที่สมบูรณ์ได้อย่างนั้น มาใช้ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ การศึกษาที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ที่จะมีความสมบูรณ์ และสร้างคนที่มีความสมบูรณ์ได้ ก็คือปรัชญาการศึกษาที่เข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาตินั่นเอง อันนี้เป็นหลักการสำคัญ ถ้าตัวปรัชญาการศึกษาไม่สามารถเข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของธรรมชาติ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นตัวหลักเป็นตัวยืนที่มั่นคงอยู่ ไม่มีความสมบูรณ์ ถ้าเมื่อไรเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ เมื่อนั้นความสมบูรณ์ก็เกิดขึ้น

คนเรานั้น ไม่ว่าจะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีความเข้าใจต่อโลกและชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง และความเข้าใจนั้นจะมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังความคิดและการกระทำทุกอย่างของเขา ถ้าเขามาเกี่ยวข้องกับการศึกษา ความเข้าใจต่อโลกและชีวิตของเขา ก็เท่ากับเป็นปรัชญาการศึกษาของเขาไปโดยไม่รู้ตัว และถ้าความเข้าใจนั้นไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ก็จะพาให้การดำเนินการทางการศึกษาผิดพลาดไม่ได้ผลดี เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้ปรัชญาการศึกษามีความชัดเจน และให้เป็นปรัชญาการศึกษาที่เข้าถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ

ในเมื่อความจริงแท้ของธรรมชาติเป็นตัวตัดสิน ปรัชญาการศึกษาที่สมบูรณ์จึงมีได้ตลอดเวลา และมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็คือมนุษย์ที่เข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาตินั้น เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เหนือกฎธรรมชาติ ไม่เหนือธรรมดาธรรมชาติ มันจะเปลี่ยนแปลงไปปรากฏรูปอย่างไรก็เป็นเรื่องของยุคสมัย ถ้าเราเข้าถึงความจริงแท้ของมันแล้ว นั่นก็คือเราเข้าถึงฐานรากของมัน และเราก็จะสามารถมาจัดการกับรูปปรากฏต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะเป็นยุคสมัยไหน ถิ่นฐานไหนก็ได้ ตอนนี้เราจึงมาพูดในแง่ว่า เราต้องการปรัชญาการศึกษาที่แท้จริง ที่สมบูรณ์ ที่เข้าถึงความจริงแท้แห่งธรรมดาของธรรมชาตินั้น ซึ่งไม่ขึ้นต่อโลกาภิวัตน์ แต่สามารถนำมาแก้ปัญหาเฉพาะของยุคโลกาภิวัตน์ได้

ถ้ามันเข้าถึงความจริงแท้มันต้องแก้ปัญหาได้ แต่นั่นก็อยู่ที่ว่า จะต้องมีความสามารถอีกชั้นหนึ่งคือความสามารถที่จะนำมาใช้ ซึ่งเป็นความสามารถในการจัดตั้งวางระบบและความฉลาดเชิงเทคนิควิธี อย่างน้อยก็ต้องมีความรู้เท่าทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงและปัญหาในขณะนั้น ถึงแม้เราจะมีความรู้จริงเข้าถึงกฎธรรมชาติจริง แต่ถ้าเราไม่รู้เข้าใจปัญหาและสภาวการณ์ที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้น เราก็ไม่สามารถเอาหลักการนั้นมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกัน

ถ้าเรามีปรัชญาการศึกษาที่แท้ ซึ่งพัฒนาคนได้สมบูรณ์ เราก็จะได้คนที่มาอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่สามารถแก้ปัญหาของยุคโลกาภิวัตน์นี้ได้ด้วย และทำการสร้างสรรค์อย่างได้ผลดี การศึกษาแบบนี้จะมีลักษณะอย่างหนึ่งในบรรดาหลายๆ ลักษณะ คือเป็นการศึกษาที่สามารถนำสังคมมนุษย์ เพราะอะไร เพราะว่าสังคมมนุษย์นี้เป็นรูปปรากฏตามยุคสมัย สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ มนุษย์นั้นอยู่ในสังคมก็ขึ้นต่อกาลเทศะ สังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ และสังคมนี้แหละที่ประสบปัญหา สังคมนี้มีเรื่องของความเป็นไปเฉพาะชั่วคราวตามกาลเทศะ มนุษย์ที่เข้าถึงความจริงนั้นจะเป็นผู้ที่ไม่ติดอยู่ภายใต้ครอบงำของสังคมแห่งกาลเทศะนี้ ที่ว่าไม่ติดอยู่ภายใต้ครอบงำของสังคมก็หมายความว่า ไม่ถูกกำหนดหล่อหลอมโดยสังคมอย่างเดียว

เป็นธรรมดาว่าสังคมนี้มีอิทธิพลครอบงำมนุษย์ แต่ถ้ามนุษย์เป็นอย่างนั้นหมด สังคมนี้ก็ไปดีไม่ได้ คือไม่มีทางออก ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง แก้ไขตัวไม่ได้ ถ้าเดินทางผิดไปก็จบ มันก็ตัน การศึกษาที่ดีที่ถูกต้องทำให้มนุษย์มีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนนำทางสังคมใหม่ ชี้ทางที่ถูกต้องให้ดำเนินไปได้ ดังนั้นการศึกษาที่แท้จริง จึงมีลักษณะหนึ่งคือการเป็นผู้นำสังคม ชี้นำสังคมได้

การศึกษานี้เราจะเห็นว่าบางครั้งมีบทบาทที่เน้นไปในแง่การสนองความต้องการของสังคม อย่างเวลานี้เราก็จะพูดกันมากถึงการที่ว่า ตอนนี้ประเทศชาติกำลังจะพัฒนา และการพัฒนานี้จะต้องอาศัยกำลังคนในด้านต่างๆ กำลังคนในด้านนี้น้อยไป ขาดแคลนไป จะต้องสร้างกำลังคนในด้านนี้ให้มาก การศึกษาก็มาแก้ปัญหานี้ เราถือว่าการศึกษานี้เก่ง สามารถสร้างกำลังคนมาสนองความต้องการ แต่ถ้ามองอยู่แค่นี้แล้วไม่รู้ตระหนักถึงความหมายของการศึกษาที่แท้จริง เราก็จะแคบ เราก็จะทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ และกลายเป็นการศึกษาที่ตามสนองความต้องการของสังคมเท่านั้น ก็กลายเป็นการศึกษาถูกกำหนดโดยสังคม

ตามความจริงแท้การศึกษาจะต้องเป็นตัวนำสังคม เป็นผู้หาทางออกให้แก่สังคมได้ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงวิถีของสังคม ชี้นำทิศทางของสังคม จนกระทั่งสามารถแก้การติดตันของอารยธรรมมนุษย์ได้ อันนี้คือความสามารถที่แท้จริงของการศึกษา เวลานี้สามารถพูดได้ว่า เรามาถึงจุดที่อารยธรรมของมนุษย์มีความติดตัน ไม่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น อารยธรรมของโลกหรือของมนุษยชาติทั้งหมดมาถึงจุดติดตัน การศึกษาจะต้องทำหน้าที่ให้ได้ถึงขั้นนี้ ถ้าทำไม่ได้ถึงขั้นนี้แล้วมันก็จะกลายเป็นว่า มนุษยชาติถึงความอับจน เมื่ออารยธรรมมนุษย์ติดตันแล้ว เราจะหาทางออกอย่างไร นี่คือภารกิจของการศึกษา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)รู้สถานะของสังคม เตรียมรับมือโลกาภิวัตน์ >>

No Comments

Comments are closed.