ถ้าต้องการผลตรงตามกฎธรรมชาติ ก็ไม่ขาดความสุขขั้นพื้นฐาน

27 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 21 จาก 24 ตอนของ

ถ้าต้องการผลตรงตามกฎธรรมชาติ
ก็ไม่ขาดความสุขขั้นพื้นฐาน

ตัวอย่างที่สามของการพัฒนาความต้องการ ดังที่อาตมาได้บอกแล้วว่า มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้มีสภาพโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่ง คือความแปลกแยกจากธรรมชาติ จนถึงขั้นที่โลกมนุษย์นี้ได้กลายเป็นโลกที่ต่างหากจากโลกธรรมชาติ และคนจำนวนมากก็หลงอยู่ในโลกมนุษย์นี้ มองออกไปไม่พ้นจากโลกมนุษย์ จึงมองไม่ถึงโลกของธรรมชาติ เมื่อไม่ถึงโลกของธรรมชาติแล้ว แม้แต่กฎเกณฑ์ต่างๆ ก็เกิดมีเป็นกฎของมนุษย์ขึ้นมา และที่ร้ายก็คือ บางทีมันบังมนุษย์ให้ไม่ถึงกฎของธรรมชาติ ดังที่ปรากฏว่าเวลานี้เมื่อคิดถึงหรือพูดถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนความเป็นเหตุเป็นผล คนจำนวนมากจะมองและเข้าใจอยู่แค่กฎของมนุษย์เท่านั้น

กฎของมนุษย์เช่นอะไร ยกตัวอย่าง คุณมากวาดถนนเดือนหนึ่งฉันจะให้เงินเดือนสามพันบาท คุณมาขุดดินเดือนหนึ่งฉันจะให้เงินเดือนห้าพันบาท อย่างนี้ เราก็มีกฎเกณฑ์ขึ้นมา กฎนี้เรียกว่า กฎของมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ เพราะทำงานเป็นเหตุ และการได้เงินเดือนเป็นผล หรือเงินเดือนเป็นผลและทำงานเป็นเหตุ สังคมมนุษย์นั้นอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้ และเชื่อจริงๆ ว่า นี่คือกฎ ซึ่งมีความเป็นเหตุเป็นผลชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ระวัง นี่คือการถูกหลอก กฎนี้เป็นจริงโดยเงื่อนไขคือตั้งอยู่บนสมมติ กฎเกณฑ์ของมนุษย์ตั้งอยู่บนสมมติ สมมติคืออะไร สมมติ แปลว่ามติร่วมกัน หรือการยอมรับร่วมกัน มาจาก สํ+มติ มติ แปลว่าข้อตกลง การยอมรับ ความรู้ และ สํ คือ ร่วมกัน รวมกันเป็น สมฺมติ เป็นคำบาลี มาเป็นไทยว่าสมมติ สมมติจึงแปลว่าการยอมรับ หรือตกลงร่วมกัน กฎนี้เป็นความจริงอยู่ได้ด้วยการตกลงยอมรับร่วมกันใช่ไหม การที่คุณขุดดินได้เงินเดือนห้าพันบาท กวาดถนนได้เงินเดือนสามพันบาท เป็นจริงอยู่ได้ด้วยสมมติคือการยอมรับร่วมกัน ถ้าตัวสมมติคือการยอมรับร่วมกันหายไปเมื่อไร กฎนี้ก็หมดความหมายไปทันที กฎในสังคมศาสตร์จำนวนมากเป็นอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม มีจุดสำคัญที่ต้องระลึกไว้อย่างหนึ่งว่า กฎของมนุษย์หรือกฎโดยสมมตินี้ไม่ใช่ตั้งขึ้นลอยๆ กฎของมนุษย์ทุกเรื่องที่จะมีความหมายนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของกฎของธรรมชาติจริงๆ คือต้องมีความจริงของธรรมชาติเป็นตัวให้ความหมาย มิฉะนั้นกฎของมนุษย์จะไม่มีความหมาย เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์ มนุษย์จะต้องเลือกว่าจะอยู่แค่กฎมนุษย์หรือจะเข้าถึงกฎธรรมชาติด้วย ถ้าเราอยู่แค่กฎของมนุษย์ เราก็อยู่ในโลกของมนุษย์ โดยหลงสมมติ แล้วเราก็จะสนองความต้องการแบบต้องเสพวัตถุให้มาก ต้องได้ให้มากจึงจะมีความสุขมาก แต่ถ้าเข้าถึงกฎธรรมชาติเราจะพัฒนาความต้องการพื้นฐานขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง

จะพัฒนาอย่างไร จากตัวอย่างที่พูดมาเมื่อกี้ว่า ขุดดินหนึ่งเดือนให้เงินเดือนห้าพันบาท กวาดถนนหนึ่งเดือนให้เงินเดือนสามพันบาท นี่เป็นกฎมนุษย์ แต่เบื้องหลังกฎมนุษย์นี้มีกฎธรรมชาติซึ่งเป็นความจริงแท้ที่มีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ในธรรมชาติคืออย่างไร ทำไมเราจึงจ้างคนให้มาขุดดิน ให้มากวาดถนน เรามีความต้องการผลอย่างหนึ่งที่สำคัญซึ่งเป็นตัวแท้ ที่เป็นผลของเหตุตามธรรมชาติ เราต้องการอะไรแน่ในการที่จ้างคนมากวาดถนน โดยให้เงินเดือนสามพันบาท การกวาดถนนเป็นเหตุ ผลที่แท้ของมันคืออะไร ผลที่แท้จริงไม่ใช่เงินเดือนสามพันบาท แต่คือความสะอาดนั้นเอง อันนี้คือตัวความจริงในกฎธรรมชาติที่ถูกต้อง ดังนั้นเบื้องหลังกฎของมนุษย์ที่บอกว่ากวาดถนนเป็นเหตุ ได้เงินเดือนสามพันบาทเป็นผล ก็จะมีกฎธรรมชาติซ้อนอยู่คือการกวาดถนนเป็นเหตุ ความสะอาดของถนนเป็นผล อันนี้เป็นความจริงแห่งเหตุและผลตามธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธได้อย่างแน่นอน ผลอย่างนี้เป็นผลที่ต้องปฏิบัติตามเหตุ ถ้าไม่ปฏิบัติตามเหตุก็ไม่ได้ผลแน่นอน อันนี้แหละคือที่บอกว่ามันซ้อนกันอยู่

ทำไมจึงมาพูดในที่นี้ เพราะถ้ามนุษย์หลงสมมติแล้ว มนุษย์ก็จะดำเนินกิจกรรม และมีวิถีชีวิตอยู่ในขั้นสมมติ โดยแปลกแยกจากความจริงของกฎธรรมชาติ เช่น เมื่อเราทำงานเราก็จะนึกถึงเหตุผลตามกฎมนุษย์ว่า เราทำงานเพื่อได้เงินเดือน ถ้าทำก็ได้เงินเดือนสามพันบาท แล้วความมุ่งหมายของการกระทำก็ไปอยู่ที่ผลตามสมมติของมนุษย์ คือการได้เงินเดือนหนึ่งหมื่นบาทหรือสามหมื่นบาท หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ในเมื่อผลนี้ไม่ใช่ผลที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติก็ไม่ใช่ผลที่แท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีความผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น คือเมื่อเราไม่ได้ต้องการผล เราก็ไม่ต้องการทำเหตุของมัน อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อคนกวาดถนนต้องการแต่เงินเดือน ไม่ต้องการความสะอาดที่เป็นผลโดยตรงของการกวาด ตอบได้ว่าเขาจะกวาดถนนด้วยความฝืนใจจำใจ ซึ่งทำให้ตัวเขาเองก็กวาดถนนด้วยความทุกข์ อยากจะหลีกหลบงาน และงานที่ไม่ตั้งใจทำก็ไม่ได้ผลดี

ในทางตรงข้าม ถ้าเราต้องการผลตามธรรมชาติก็จะทำให้ใจเราเกิดความต้องการที่จะทำเหตุเอง เช่น ถ้าเราต้องการความสะอาดของถนน เราก็จะต้องทำเหตุคือการกวาดถนน และต่อจากนั้นเมื่อเราต้องการความสะอาดของถนน เวลาเรากวาดถนนก็เกิดผลตามที่ต้องการคือเกิดความสะอาด นี่ก็คือเราได้สนองความต้องการ และความสุขก็เกิดขึ้น นี้คือการปฏิบัติที่เข้าถึงกฎธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้คนกวาดถนนไม่ใช่เพียงต้องการได้เงินห้าพันบาทหรือสามพันบาท แต่ทำให้เขาต้องการความสะอาดของถนน และทำการกวาดถนนด้วยความสุข นี้คือผลที่ต้องการซึ่งตรงตามเหตุของกฎธรรมชาติ

ถ้ามาถึงจุดนี้เมื่อไร ความได้ผลจะเกิดขึ้นทั้งสองทาง หนึ่ง คือ คนจะทำงานนั้นอย่างเต็มใจ คนกวาดถนนจะเต็มใจและตั้งใจกวาด เพราะเขาต้องการความสะอาด ไม่ต้องไปเรียกร้องคอยจี้หรือบังคับควบคุมว่าให้หยิบไม้กวาดมากวาด ตัวเขาเองนั้นแหละถ้าเห็นสกปรกจะหยิบไม้กวาดมากวาดทันทีเลย และเขาก็ทำงานด้วยความสุข เพราะว่าเมื่อทำเหตุ ผลก็เกิดขึ้นตามเหตุนั้นทันที และพอผลคือความสะอาดเกิดขึ้นเขาก็มีความสุขทันที และเมื่อเต็มใจและตั้งใจทำ ก็ทำให้งานได้ผล

ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่สามารถทำให้คนเข้าถึงความต้องการผลตามธรรมชาติที่ซื่อตรงเป็นไปตามความแท้จริงของธรรมชาติ เขาก็วนเวียนอยู่แค่ในระบบของมนุษย์และหลงสมมติโดยต้องการแต่เงินเดือนห้าพันบาท หรือสามพันบาท เมื่อเขาต้องการแค่เงิน เขาไม่ต้องการความสะอาดของถนน เขาก็ไม่เต็มใจทำ เขาก็ทำงานด้วยฝืนใจ และจำใจ ไม่มีความสุข และไม่ตั้งใจทำงาน แล้วงานก็ไม่ได้ผล ทำให้ต้องตั้งระบบควบคุมกันขึ้นมา เมื่อควบคุมกันไปกันมาโดยจับจุดไม่ถูก ก็ยิ่งยุ่งใหญ่ จนในที่สุดระบบควบคุมก็ทลาย เมื่อสภาพอย่างนี้แผ่ขยายไปทั่ว สังคมก็ล่มสลาย

เพราะฉะนั้น จะต้องมีการศึกษาถูกต้องที่จะมาพัฒนาความต้องการนี้ จะเห็นได้อย่างที่เราอยู่ในระบบมนุษย์ยุคปัจจุบันที่มุ่งแข่งขันหาผลประโยชน์นี้ เด็กเข้ามาศึกษาจำนวนมาก หรือส่วนใหญ่ก็ศึกษาโดยไม่ต้องการผลที่แท้จริงของวิชาการนั้น ว่าโดยพื้นฐานวิชาการต่างๆ นั้นมีความมุ่งหมายเพื่อใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ และใช้สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คนที่เรียนไม่ได้ต้องการผลตามวัตถุประสงค์ที่แท้ของวิชาการนั้น เขาต้องการผลในระบบของกฎมนุษย์ที่เป็นกฎสมมติ ที่เป็นเงื่อนไขว่าจะได้เงินเดือน เพราะฉะนั้น นักการศึกษาจะต้องจับจุดนี้มาคิดว่า ในระหว่างช่วงเวลาที่เขาเข้ามารับการศึกษา จะทำอย่างไรให้เขาพัฒนาความต้องการจากความต้องการผลตอบแทนตามกฎสมมติของมนุษย์ ไปสู่ความต้องการผลที่แท้จริงตามกฎธรรมชาติ ถ้าทำได้ก็เป็นความสำเร็จทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้คนโยงเหตุผลตามกฎสมมติของมนุษย์ เข้ากับเหตุผลที่จริงแท้ตามกฎธรรมชาติได้ เรียกว่ามองทะลุกฎสมมติของมนุษย์ลงไปถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ และคนก็จะอยู่กับความเป็นจริง โดยไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ แต่ถ้าโยงไม่ได้ก็เรียกว่าหลงสมมติหรือรู้ไม่เท่าทันสมมติ

ที่ว่าโยงได้หรือรู้ทันสมมติ คือรู้ว่าสมมตินั้นเราทำขึ้นมาเพราะว่ามนุษย์เรามีความสามารถพิเศษในเชิงเหตุผล เราจึงจัดตั้งวางระบบการดำเนินชีวิตและสังคมขึ้นมา เราต้องการให้คนทำกิจการอะไรให้แก่สังคมเป็นเรื่องๆ เราจึงกำหนดเป็นหน้าที่เฉพาะๆ ขึ้น ให้เขาตั้งใจทำหน้าที่นั้นๆ จริงจังอย่างเดียว แต่เราอยู่ในโลกทุกคนต้องมีกินมีใช้ มีปัจจัยสี่ เราจึงตั้งเป็นกฎมนุษย์ซ้อนขึ้นมาเพื่อสนับสนุน ว่าเมื่อเขาทำหน้าที่การงานนั้น เขาจะได้รับปัจจัยสี่อุดหนุนอย่างนั้นๆ จะได้ไม่ต้องห่วงกังวลในความเป็นอยู่แล้วจะได้ตั้งใจทำหน้าที่หรือกิจการงานนั้นได้เต็มที่ แต่เบื้องหลังนั้นสิ่งที่ต้องการแท้จริง คือคุณประโยชน์สำหรับสังคมในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม อันเป็นผลโดยตรงของตัวงานแท้ๆ เราจะต้องพัฒนาให้คนต้องการผลของตัวงานแท้ๆ ให้ได้ ไม่ใช่เอาแค่วัตถุประสงค์ของตัวคนที่ต้องการผลตามกฎสมมติของมนุษย์

เวลานี้มีปัญหาว่า มนุษย์เกิดความแปลกแยกระหว่างวัตถุประสงค์ของตัวคนกับวัตถุประสงค์ของตัวงาน คนต้องการเงิน แต่งานต้องการผลของมัน อันได้แก่การแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อวัตถุประสงค์ไม่ตรงกัน ก็เกิดความขัดแย้ง ปัญหาก็เกิดขึ้นในใจคน ในสังคม และทั่วไปหมด แต่พอเราพัฒนาคนให้เกิดความต้องการที่ตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติได้ ก็ทำให้คนมีความสุขในการทำงานขึ้นมาทันที เรื่องนี้อาจจะเข้าใจยากนิดหน่อย จึงต้องใช้วิธียกตัวอย่าง

ยิ่งกว่านั้นมนุษย์ยังมีความสุขที่สามารถพัฒนาขึ้นไปได้อีก คือ ความสุขชนิดที่ไม่มีความต้องการที่จะต้องสนอง เช่นใช้ความสามารถในการปรุงแต่งความสุขขึ้นมาในตัวเอง การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานี้ส่วนหนึ่งเป็นวิธีพัฒนาความสามารถในการปรุงแต่งความสุข

เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถเป็นพิเศษเหนือกว่าสัตว์อื่น คือมีความสามารถในการปรุงแต่งสร้างสรรค์ ดังที่ได้ประดิษฐ์ประดอยเทคโนโลยีเป็นต้นขึ้นมา จนเกิดมีโลกมนุษย์ที่เป็นต่างหากจากโลกธรรมชาติ แต่เราใช้ความสามารถนี้มาทำในทางวัตถุภายนอกอย่างเดียว ซึ่งที่จริงก็เกิดจากความคิด เป็นการใช้ความสามารถเหล่านี้ไม่เต็มที่ ไม่เพียงพอ และเมื่อเราไม่พัฒนาความสามารถนี้ให้ถูกต้อง ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาข้างในตัวเอง คือความสามารถที่ถูกปล่อยหรือละเลยนั้น จะปรุงแต่งสภาพจิตที่ก่อผลเสียหายแก่ตนเอง พูดสั้นๆ ว่าแทนที่จะปรุงแต่งความสุข เราก็จะใช้ความสามารถนี้ไปในการปรุงแต่งความทุกข์โดยไม่รู้ตัว ดังจะเห็นว่ามนุษย์ส่วนมากปรุงแต่งแต่ความทุกข์ เมื่อได้ประสบการณ์อะไรต่างๆ ก็เก็บเอาแต่ส่วนที่กระทบกระทั่งไม่สบายใจมาปรุงแต่งความทุกข์ให้แก่ตัวเอง กลายเป็นปรุงแต่งความเครียด ปรุงแต่งความกังวล ปรุงแต่งความกลุ้มใจ ปรุงแต่งความซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งเป็นทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งทั้งนั้น

การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะปรุงแต่งความสุขขึ้นมาแทนที่จะมัวปรุงแต่งความทุกข์ การที่จะมีความสุขระดับนี้เราไม่ต้องไปพึ่งพาวัตถุเสพเลย เราสามารถปรุงแต่งความสุขขึ้นในใจของตนเอง จนกระทั่งในที่สุดก็ก้าวต่อไปอีกพ้นเลยการปรุงแต่งไปถึงขั้นเข้าถึงความสุขชนิดที่ไม่ต้องมีการปรุงแต่ง ซึ่งเกิดจากการหยั่งรู้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยสมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่พูดไว้เป็นตัวอย่าง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พัฒนาคนอย่างแท้ ได้ทั้งคุณธรรมและความสุขหลักการสำคัญบางอย่าง ที่เป็นแนวทางของการจัดการศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.