(กัลยาณมิตร ช่วยบ่มอินทรีย์ ให้คนมีความพร้อมในการศึกษา)

28 ตุลาคม 2548
เป็นตอนที่ 7 จาก 9 ตอนของ

อาจารย์ผู้หญิง: ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมไปในทางเสพวัตถุหรือไม่มีปัญญา โยมรู้สึกว่ามันจะอยู่ตรงตอนที่ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องตัณหากับฉันทะ ทีนี้เวลาที่มีตัณหากับความอยาก เกิดจากสิ่งเร้าตรงจุดนี้เอง ถ้าหากว่าเขาไม่ทันกับความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจมันก็จะผลักออกมาเป็นการกระทำ ซึ่งเขาไม่สามารถเลือกได้ว่าอันนี้เป็นกุศลหรือว่าอกุศลคือไม่สามารถทำในสิ่งเป็นฉันทะที่จะไปสร้างในสิ่งที่ดี

ทีนี้จะมีเทคนิคหรือวิธีการใดเพราะโยมรู้สึกว่ามันเป็นนามธรรมและเป็นเรื่องของใจของมโนกรรมนี้มาก มีวิธีการสอนอย่างไรที่ไปกระตุกให้เขาได้เห็นสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมตอนนั้น ว่าตอนนี้ความอยากตามสิ่งเร้าคือ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็นเครื่องมือ แต่แทนที่จะได้ใช้เครื่องมือนั้นศึกษา กลายเป็นว่าเรารู้สึกแบบที่ท่านบอกคือกลายเป็นเสพจากการที่ได้รับผัสสะทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยที่มันไม่ทันเจ้าคะ แล้วพอมันไม่ทันก็ผลักดันให้เกิดเป็นการกระทำ

โยมเฝ้าคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรจะสอนเด็กให้รู้ต้นตอตรงนั้นเลย ก่อนที่เขาจะกระทำออกมา คือรู้เลยว่าตอนนี้วิธีคิดหรืออย่างเล่นเกมหรืออะไร ให้มันทันเพื่อที่ว่าเวลาคิดแล้วจะไปกระทำ มันจะเป็นการกระทำด้วยปัญญาอย่างนี้เจ้าค่ะ แต่โดยที่เห็นมานี้คือ สื่อก็ไม่เอื้อ แล้วผู้สอนเองก็ไม่ได้มีความเข้าใจลึกซึ้งถึงตรงนี้ ก็เป็นการศึกษาแบบจัดตั้ง หรือกระทั่งรัฐบาลเองก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเสริมองค์กรทั้งหมด มันยากมากต่อการที่จะเอื้อให้เด็กซึ่งมีอวิชชาอยู่ได้กระตุกคิดตรงนี้เจ้าค่ะ

ท่านเจ้าคุณฯ: แต่ก่อนก็ อันนี้เด็ก อย่าไปหวังกับแกมาก คือแกยังอ่อนอยู่ อ่อนชนิดที่เรียกว่า ปัญญาก็ยังไม่ได้พัฒนามาก จิตใจก็ยังไม่เข้มแข็งพอ แต่ว่าแกมีศักยภาพดีอยู่ มันก็เลยต้องมีการฝึก แต่ทีนี้ก็คือเรากำลังหวังพึ่งปัจจัยภายนอกมาช่วยเราจึงมีการศึกษาจัดตั้งที่เน้นเมื่อสักครู่ บอกว่า

๑. กัลยาณมิตร ก็คือคนด้วยกันทำอย่างไรจะให้มีพ่อแม่ที่เด็กรักใคร่ เชื่อถือเชื่อฟัง ให้เด็กรักแม่มากกว่ารักเกม อย่างนี้เป็นต้นนะ ถ้าได้อันนี้ มันก็ช่วยได้เยอะนะ และก็รักพี่รักน้อง มีเพื่อน ครู อะไรต่อมิอะไรต่างๆ ที่มีเมตตากรุณากันดี มีเรื่องกัลยาณมิตรอันหนึ่ง

๒. วินัย ก็คือ วิถีชีวิตของเขา วิถีชีวิตที่เราจัดให้มันเหมาะและทีนี้เด็กเอง เราก็ให้ปัญญาไว้ นอกจากด้านจิตใจที่ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีอะไรอย่างนี้แล้ว ก็คือด้านปัญญา เราคอยพูด คอยถกเถียง คอยสนทนา กับเขามีอะไรใหม่ๆ เข้ามาก็คุยกับแก พ่อแม่กับลูก คือเราคุยกันว่ากันเอง

กัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าก็เป็นกัลยาณมิตรคือคุยแบบมิตรคุยกัน ว่านี่มีข้อดีข้อเสียอย่างไรพอเขาเห็นมันเป็นโทษ ไม่ดีอย่างนี้แล้วนะ ตกลงไม่ดี แต่ว่าต้องยอมรับความจริงนะ มีอำนาจล่อเร้ากระตุ้นเยอะนะ บางทีเราก็แพ้ แต่ว่าเด็กรู้แล้ว มันมีโทษเสียมากกว่า ทำอย่างไรเราจะมีจิตใจเข้มแข็งสู้มันได้ ก็คือเด็กก็ต้องมีสติสู้ เข้มแข็งสู้ พ่อแม่เป็นต้นก็ให้กำลังใจ และก็มีเทคนิคในการที่จะให้เด็กรู้ เด็กก็ไปเจอแหละ อ้าวคราวนี้ก็บอกแม่ว่าแพ้แล้วคราวนี้ และบอกหนูอย่าไปกลัว คราวหน้าเอาใหม่ คราวหน้ามาบอกโอ๊ยคราวนี้ชนะ เออดีใจให้อนุโมทนา

คือมันก็ต้องอยู่ในบทบาทในชีวิตเลย ให้เขาเห็น เป็นเรื่องที่พ่อแม่ก็เป็นพวกเดียวกับเขามาร่วมด้วย คือพ่อแม่ก็ต้องมาร่วมเผชิญไอ้โลกที่มันโหดร้ายนี้ด้วยใช่ไหม? บอกโลกปัจจุบันนี้จะหาประโยชน์จากเรา นี่ธุรกิจมันจะเอาจากเราทั้งนั้นเลย มันล่อเร้าเด็กก็ต้องมีปัญญา และก็ใครคือครูคนแรก บูรพาจารย์น่ะ บูรพาจารย์ก็พ่อแม่นี่แหละ ก็มาบอกมาคุยกับเด็กให้เด็กรู้ เข้าใจ รู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ไว้ และก็ให้กำลังใจไว้ เด็กก็ไปเผชิญ ก็แพ้บ้าง ชนะบ้าง ตอนแรกๆ ก็ต้องยอมรับความจริง และต่อไป เขาก็เข้มแข็งขึ้น และเขามีสติคอยทันน่ะ มีสติทันว่า ไอ้นี่ไม่ได้แล้วเราจะแพ้แล้วนะ อะไรอย่างนี้นะ และก็ยั้งไว้ ยั้งคราวนี้ไม่อยู่ก็แพ้ ยังอยู่ก็ชนะไป อะไรอย่างนี้นะ อาตมาว่าต้องค่อยเป็นค่อยไปก็เป็นระบบของการฝึกฝน พัฒนาคน แต่ว่าต้องเอาปัจจัยภายนอกมาช่วย

ก็นี่แหละ ที่เรามีสังคมมีการศึกษาของกิจการของสังคมนี้ ก็คือการมาจัดตั้งเพื่อจะมาช่วยชีวิตเด็ก ก็คือการเอาปัจจัยภายนอกมาช่วยเสริมปัจจัยภายในนี้ ตอนนี้ปัจจัยภายนอกข้างร้าย ข้างอกุศลมันเยอะใช่ไหม อย่างไอ้พวกสื่อทั้งหลายนะ เทคโนโลยีที่ใช้ก็ใช้ในทางที่ไม่ดี กระตุ้นเร้าในทางที่เป็นการเสพบริโภค แล้วไอ้ฝ่ายดีเรากลับ… (อาตมาได้ยินทางท่านผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งมาบ่นบอกว่า พ่อแม่บอกว่าด้านการศึกษานี้จะปล่อยรอให้เด็กพร้อม) คำว่ารอให้เด็กพร้อมนี่มันหมายความว่าอย่างไร รอให้เด็กพร้อมเอง เอ๊! มันอย่างไร ไอ้ข้างนอกปัจจัยฝ่ายร้ายเขาไม่ได้รอให้เราพร้อมนะ

เด็กสมัยนี้มีความพร้อมในทางอกุศลไวเกินปกติใช่ไหม เพราะปัจจัยมันมากระตุ้นเร้า ปัจจัยภายนอกต่างๆ นี่ สื่ออะไรเป็นต้น มากระตุ้นเร้าให้เด็กมีความพร้อมในทางตัณหานี้ไวจริงไหม ไวกว่าปกติมากมาย แล้วทำไมเราไม่มีปัจจัยภายนอกไปช่วยกระตุ้น เร้าเสริมปัจจัยภายในที่ฝ่ายดี ฝ่ายกุศลให้มันไวล่ะ แล้วปัจจัยฝ่ายกุศลเราก็ปล่อยไป รอเมื่อไหร่มันจะพร้อม ปล่อยให้ปัจจัยภายนอกฝ่ายอกุศลมาเร้า

พระพุทธเจ้าดูคนว่าเขายังไม่พร้อม ก็มีกระบวนการทำให้พร้อม ท่านเรียกว่า บ่มอินทรีย์นะ อินทรีย์ยังอ่อนก็คือไม่พร้อมนั้นเอง อินทรีย์ยังไม่สุขงอม ท่านใช้คำว่าอินทรีย์ยังไม่สุกงอม เมื่ออินทรีย์ยังไม่สุกงอม คือ ไม่พร้อม พระพุทธเจ้าก็ยังไม่เทศน์เรื่องนี้ ไม่สอน อันนี้ก็ถูกในแง่หนึ่ง ก็คือว่าเขายังไม่พร้อมก็ยังให้เขาไม่ได้ ยังสอนเขาไม่ได้ แต่ว่าไม่ใช่ว่าปล่อยเรื่อยเปื่อยไป ปล่อยไป โดยที่เราไม่เอาเรื่องเอาราว เราก็มีความสามารถนี่นะ มนุษย์นี้เราจะอยู่เฉยอย่างไร เราก็ไปบ่มอินทรีย์ ท่านเรียกว่าอย่างนั้น ก็คือจัดสรรปัจจัยภายนอกที่จะมาเอื้อให้อินทรีย์ของเขาพัฒนาให้พร้อม อินทรีย์มันก็จะพร้อมไวขึ้น

ทีนี้ตอนนี้มันต้องชิงไหวชิงพริบ หรือแข่งกันแล้ว ระหว่างปัจจัยภายนอกฝ่ายดีกับปัจจัยภายนอกฝ่ายร้าย หรือปัจจัยภายนอกฝ่ายกุศลกับปัจจัยภายนอกฝ่ายอกุศล เวลานี้ปัจจัยภายนอกฝ่ายอกุศลนี่ ต้องยอมรับว่าสังคมนี้เต็มไปหมดใช่ไหม อ้าวแล้ว ปัจจัยภายนอกฝ่ายกุศลเรากลับไม่ช่วยเอามาหนุน มาช่วยเด็ก ก็แย่สิ ก็คือตอนนี้เรามีภาระที่จะต้องเสริมปัจจัยภายนอกฝ่ายกุศลให้มาก มาบ่มอินทรีย์เด็ก แต่ความพร้อมเป็นของแน่ แต่ไม่ใช่เพียงรอเฉยๆ ต้องมีความสามารถที่จะจัดการทำให้พร้อมด้วยนะ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (โลกาภิวัตน์พาจริยธรรมตะวันตกเข้ามา การศึกษาก็พัฒนาไม่ถึงเป้าหมาย)(จะใช้สมาธิ ต้องเข้าใจประโยชน์ และขอบเขต) >>

No Comments

Comments are closed.