(เสรีภาพ อิสรภาพ เสมอภาค บนฐานของการแก่งแย่งหรือสามัคคี)

28 ตุลาคม 2548
เป็นตอนที่ 4 จาก 9 ตอนของ

ทีนี้ก็มีอีกอันหนึ่ง คือเรื่อง concept ต่างๆ เช่นอย่างเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค บางทีพวกที่ต้นคิดในยุคสมัยแรกตอนที่พัฒนาหรือว่าริเริ่มการปฏิวัติประชาธิปไตย พวกนี้อาจจะมีความชัดพอสมควร แต่พอมาถึงยุคปัจจุบันมันมีแต่ศัพท์ ตัวความหมายมันก็เหมือนกับเมื่อกี้ คล้ายๆ พุทธศาสนาเหมือนกันแหละ คือมันชักจะเหลือแต่ขวด เนื้อมันจะหมดไป ฉะนั้นความหมายของเสรีภาพ ความเสมอภาค มันเลือนรางมาก มันคลุมเครือสับสน และเกิดปัญหาด้วยนะ

เอาง่ายๆ คำว่าเสรีภาพ มันคืออะไรกันแน่ ก็มักจะมองไปในแง่ที่ว่าเสรีภาพคือทำได้ตามใจชอบใช่ไหม ทีนี้ก็ต้องมาเน้นในแง่ที่ว่า ภายในขอบเขตของกฎหมาย อะไรอย่างนี้เป็นต้น หรือเท่าที่ไม่ละเมิดต่อผู้อื่น ก็เป็นเสรีภาพแบบ negative ใช่ไหม ต้องมีตัวขอบเขตกีดกั้น ก็คือคนไม่เข้าใจสาระแล้ว มันจึงต้องเอาสิ่งที่มากีดกั้นไว้ มาช่วย มาห้ามไว้ กันไว้ ทีนี้ถ้าคนอยู่ในความหมายที่แท้จริง เสรีภาพนี่มันจะรู้จักใช้เสรีภาพเอง และมันจะรู้เองว่า ทำไมมันต้องไม่ละเมิดผู้อื่น มันต้องไม่เกินขอบเขตกฎหมาย มันสัมพันธ์กับการที่ว่ามีกฎหมายเพื่ออะไรด้วย มันก็เสียหมดตอนนี้ มันได้แต่ตัวศัพท์ที่ว่า ฉันแค่ทำได้ตามชอบใจ ก็รู้ว่าอย่าให้ละเมิดกฎหมายละเมิดคนอื่นก็ใช้ได้ คิดแค่นี้

เสรีภาพมันก็สัมพันธ์กับการเป็นมนุษย์ การพัฒนาชีวิตและสังคมที่ดี สังคมที่ดีจะดีได้อย่างไร อะไรนี่นะ มันมาสัมพันธ์กับการมีเสรีภาพอย่างไรมันก็ต้องชัด คนจะชัดในเรื่อง เหล่านี้ก็คือการศึกษาต้องช่วย อย่างเสรีภาพมันก็สัมพันธ์กับการพัฒนามนุษย์นั้นเอง ก็เอาในแง่หนึ่ง คือมันมีแง่พูดหลายแง่ เช่นว่า เราพูดว่า สัตว์ป่ามันก็มีเสรีภาพใช่ไหม อ้าว สัตว์ป่ามันก็มีนะ เสรีภาพ มันก็อยู่ของมัน มันก็ทำอะไรเสรีของมันนะ แต่เสรีภาพแบบนั้นนะ ในแง่หนึ่งก็คือมันไม่เบื่อ ไม่ทำให้เกิดอิสรภาพ เวลานี้คนกำลังสับสนคำศัพท์ ระหว่างคำว่าอิสรภาพกับเสรีภาพ

ขอยกภาษาอังกฤษ liberty กับ freedom บางทีก็ใช้แทนกัน เป็นเรื่องธรรมดาของชาวบ้านใช้แทนกันได้ (และภาษาอังกฤษอีกที ต้องเอาอีกศัพท์ช่วย independent ใช่ไหม มาช่วย) เสรีภาพกับอิสรภาพนี่บางทีมันไม่เหมือนกันนะ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเด็กเล่นเกม แกมีเสรีภาพในการเล่นเกม แกก็เล่นของแกไป แต่เด็กหลายคนรู้อยู่ว่าการเล่นเกมมาก หลงติดเกมมากไม่ดีมีโทษหลายอย่าง รู้ตัวนะ มีความรู้ แต่บังคับตัวเองไม่ได้ อันนี้ก็ใช้เสรีภาพโดยที่ตัวเองไม่มีอิสรภาพ

การขาดอิสรภาพทำให้เด็กใช้เสรีภาพไม่ถูก เพราะฉะนั้นเสรีภาพอย่างตัวอย่างนี้ก็คือว่า ถ้าคนไม่มีอิสรภาพ ก็จะใช้เสรีภาพไม่เป็น และจะเกิดโทษมาก อิสรภาพของเด็ก อิสรภาพอย่างไร อิสรภาพความเป็นใหญ่ในตัวเอง แล้วก็ไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น ทีนี้มันก็มีหลายระดับ ทีนี้ถ้ามีปัญญารู้ว่าอันนี้ถูกต้อง อันนี้ไม่ดี ถ้าเป็นอิสระก็หมายความว่ามันต้องไม่ขึ้นต่อสิ่งนั้น มันต้องเก่ง อิสรภาพต้องมี แต่นี่แกใช้เสรีภาพในการเล่นเกมได้เต็มที่ แต่แกไม่มีอิสรภาพ อย่างนี้เป็นต้น

ในการศึกษาปัจจุบันนี้เราไม่เกื้อหนุนอิสรภาพเลย เราทำให้เด็กรู้จักแต่เสรีภาพ และแกก็ใช้ไม่เป็น ยุ่งหมด บางอย่างกฎหมายก็ห้าม เช่นอย่างเสรีภาพในการไปใช้ยาเสพติด ในบางยุคสมัยก็ยังไม่ห้าม ทีนี้พอห้ามละก็อ้างกฎหมายว่าจะไปละเมิดกฎหมาย แต่ที่จริงมันก็ไม่ถูกอยู่แล้วใช่ไหม เสรีภาพในการเสพยา ทีนี้ตอนนี้เด็กยังมีเสรีภาพในการเล่น เกม เราก็ต้องพัฒนาเด็กให้มีอิสรภาพ

อิสรภาพเป็นเรื่องใหญ่มาก อิสรภาพก็ยังเป็นความหมายหนึ่งของนิพพาน เป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่ขึ้นต่อแม้แต่กิเลส ชนะกิเลสหมด เป็นเรื่องที่สำคัญ เราไม่เข้าใจเสรีภาพ ก็จะเป็นเสรีภาพแบบสัตว์ป่าต่อไปนะ ก็ว่ากันนัวเนียไปหมดเลย เบียดเบียนกันอะไรอย่างไรก็ได้ มันก็ได้แค่ว่าเอากฎหมายอะไรมาเป็นกรอบบังคับ ไม่ละเมิดต่อกันมันแค่ไหน มันพูดยาก ต่อไปแม้จะไม่ละเมิดต่อกันมันก็ยุ่งหมดแหละ พูดไม่ถูก เพราะมันมีความสับสนวุ่นวายหลายระดับ เลยความเข้าใจของมนุษย์ ในเมื่อไม่ได้หลักพื้นฐาน

อย่างที่เคยยกตัวอย่างเรื่องที่ว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพมันคู่กัน เสรีภาพกับสิทธิ ที่ฝรั่งไปคิดขยายไปถึงที่ว่าพวกสัตว์เลี้ยงต่างๆ มันมีสิทธิหรือเปล่า พวกหนึ่งก็ว่ามันมีสิทธิ เช่นสิทธิในชีวิตของมัน อีกพวกหนึ่งก็บอกไม่มีสิทธิ เช่นอย่าง ปลาโลมา เขายกตัวอย่าง ปลาโลมามันน่าจะมีสิทธิในชีวิตของมันที่จะอยู่ตามธรรมชาติ แล้วเอามันมากักขังมาเลี้ยงไว้มันทำลายสิทธิของมันหรือเปล่า พวกหนึ่งก็บอกว่าเป็นการทำลายสิทธิของมัน อีกพวกหนึ่งก็ถือว่าเป็นสัตว์ทั้งหลายที่มนุษย์สามารถครอบครอง มีสิทธิเหมือนกับวัวกับควาย

นี่ก็แสดงว่ามนุษย์มีปัญหาเรื่องแบ่งแยก แม้แต่สัตว์เดรัจฉานด้วย จะเอาระดับไหน ก็พวกที่ถือว่าปลาโลมามีสิทธิในชีวิตของมัน มีอิสรเสรี เสรีภาพอะไรที่ว่านะ ก็ถือว่าจะจับเอามาขังไม่ได้ อีกพวกหนึ่งก็ถือว่ามีกฎหมายที่ยอมให้ฉันถือกรรมสิทธิ์ในปลาโลมา อันนี้ ฝ่ายหนึ่งก็เอามาขังไว้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ถือหลักที่ว่าปลามันมีสิทธิในชีวิตในความเป็นอิสรเสรีของมัน ก็เลยมาลอบปล่อยปลาโลมาเขาทิ้งไป ก็เกิดเป็นคดีขึ้นศาล ฝ่ายหนึ่งก็เถียงในแง่ที่ว่าสัตว์มันก็มีสิทธิเสรีภาพของมัน อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าฉันมีกฎหมายที่ให้ครอบครองกรรมสิทธิ์ ต่อไปมนุษย์จะมีปัญหาเรื่องแบบนี้มากขึ้น ปัญหาของ มนุษย์จะซับซ้อนยิ่งขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ปัญหาเหล่านี้จะมากขึ้น เราก็ต้องพยายามเข้าใจหลักพื้นฐาน เหล่านี้ให้ชัดเจน

เรื่องความเป็นอิสระภายในที่แท้จริง ที่เป็นอิสรภาพของเขาซึ่งจะมีเป็นระดับ ซึ่งอยู่ที่การพัฒนามนุษย์ด้วย เมื่อพัฒนาขึ้น มีปัญญาขึ้น จะทำให้รู้และเข้าใจเรื่องอิสรภาพ แล้วอิสรภาพที่แท้ก็จะทำให้ใช้เสรีภาพได้อย่างถูกต้อง เสรีภาพก็เป็นทั้งตัวเกื้อหนุนที่จะทำให้เกิดอิสรภาพ แล้วอิสรภาพก็จะทำให้ใช้เสรีภาพได้อย่างถูกต้อง นี่เป็นเพียงตัวอย่าง

หรืออย่างเรื่องความเสมอภาคก็เหมือนกัน ความเสมอภาคที่มีปัญหา อย่างเวลานี้ลัทธิธุรกิจกำลังครอบงำสังคมอยู่ ก็บริโภคนิยมนี่แหละพวกเดียวกัน พอบริโภคนิยมครอบงำสังคมธุรกิจ เป็นใหญ่ เรื่องเศรษฐกิจก็นำหน้า ทีนี้การตีความความหมายของ concept ต่างๆ ก็จะไปทางเศรษฐกิจ ทางธุรกิจ มาก ฉะนั้นความเสมอภาคจะมองเพ่งในทางเศรษฐกิจเยอะ

ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นว่า คอยเพ่งกันว่าคนนั้นจะได้เท่าไหร่ ฉันจะได้เท่าไหร่ หรือฉันน้อยกว่า เขามากกว่า ความเสมอภาคเป็น negative หมด เป็นความเสมอภาคแบบลบ

ทีนี้ถ้าเรามองในทางพระศาสนา พุทธศาสนาเน้นเรื่องความเสมอภาคมาก แม้แต่ในการปฏิบัติธรรม ต้องมี “สมตา” ความเสมอ เช่น ความเสมอทางอินทรีย์เป็นต้น เพราะความสมกันเสมอกันเข้ากันได้ขององค์ประกอบต่างๆ มันทำให้องค์รวมดำเนินไปได้ นี่ถ้ามันองค์ประกอบมันไม่สมกัน มันเข้ากันไม่ได้ก็เสียหมด ระบบมันไปไม่ได้ นี่เรื่องความเสมอภาคก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบของพระพุทธศาสนา สังคมจะอยู่ดีมันก็ต้องมีความเสมอภาค แต่ความเสมอภาคในพุทธศาสนานั้นมองเชิงบวกหมด

ความเสมอภาคที่เน้นมากที่สุดคือ มีสุขทุกข์เสมอกัน พอมีสุขทุกข์เสมอกัน ก็แปลเป็นภาษไทยว่า ร่วมทุกข์ร่วมสุข สุขทุกข์เสมอกันก็ร่วมสุขร่วมทุกข์นั้นเอง เราก็แปลง่ายๆ มันก็คือเข้ามาร่วมกันไม่ใช่แบ่งแยก แต่ถ้าคุณได้เท่าไหร่ ฉันได้ ๕๐๐ คุณได้ ๕๐๐ อย่างนี้ แบ่งแยกแน่ตีกันเลย คอยชิงไหวชิงพริบ แย่งกันนะ

ทีนี้ทางพุทธศาสนา “สมานสุขทุกขตา” มีสุขทุกข์เสมอกัน คำว่าเสมอ ภาษาพระท่านว่า “สมาน” แล้วมาเป็นภาษาไทยว่า สมาน ความหมายในภาษาไทยก็คือ ประสาน ร่วมกัน ศัพท์เดิมของความหมายคือเสมอ แต่มันเสมอแบบสมานแบบประสาน ไปๆ มาๆ ความหมายเลยกลายเป็นว่าร่วมกัน ก็คือมีสุข มีทุกข์เสมอกัน ก็ร่วมทุกข์ร่วมสุข เสมอกัน ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน มันก็เสมอแบบร่วมกันอีกแหละ เสมอแบบไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มันก็รวมกัน เสมอแบบว่ามีความเป็นธรรมต่อทุกคน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ก็แบบเดียวกันนั่นแหละ ทีนี้เสมอในทางพุทธศาสนาเป็นเสมอแบบประสานหมดเลย แต่เสมอในทางปัจจุบันนี้มันเพ่งแต่ทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้คนยากที่จะประสานรวมกันได้ สังคมมันก็ยากที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสามัคคีก็ไม่เกิด อันนี้ก็เป็นตัวอย่างความสมาน

คือ concept เหล่านี้มันเป็น เรื่องที่จะต้องจัดปรับให้เข้าใจให้ถูกต้อง และก็เข้ากันกับเรื่องการศึกษาก็คือการพัฒนามนุษย์ และการพัฒนามนุษย์ที่แท้ก็ต้องประสานกับตัวธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้นเองแหละ ธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่าเกิดมา มนุษย์สมบูรณ์หรือยัง (อ๋อ ยังไม่สมบูรณ์) รู้อะไรก็ไม่มีความรู้

คือฝรั่งเคยเถียงกันว่า มนุษย์ที่เกิดมา บริสุทธิ์ สะอาดหรือเปล่า ดีหรือชั่ว ก็จะไปเน้นคำว่าเหมือนกระดาษ หรือผ้าขาวบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรใช่ไหม แต่ทางพุทธศาสนาไม่ได้พูดแบบนั้น บริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ไม่รู้ล่ะ แต่ไม่มีความรู้ จริงไหม? เด็กเกิดมา คนเกิดมา มันขาดความรู้

ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปพูดเรื่องบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ มันไม่มีความรู้ พอมันไม่มีความรู้ศักยภาพในทางลบมันเกิดทันที มันก็มีศักยภาพในการที่จะพัฒนา ให้เจ้ากิเลสต่างๆ หมดเลยใช่ไหม? เพราะมีอวิชชาแล้ว มันมีศักยภาพตัวใหญ่เลย มีความไม่รู้ ความไม่รู้เป็นศักยภาพให้เกิดมวลของความชั่วร้ายทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ไข ตัวอวิชชาความไม่รู้นี้ เราก็จึงมีการศึกษา มนุษย์ก็มีเครื่องมือมาแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะมาสื่อสารติดต่อกับโลก รับความรู้นี้

เพราะฉะนั้นตัวอินทรีย์สังวร ที่ท่านพระอาจารย์กล่าว มันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ก็คือว่า ตัวธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมา มันมีความไม่รู้ เมื่อความไม่รู้มีอยู่ มันก็ปฏิบัติกับสิ่งทั้งหลายไม่ถูก เพราะมันไม่รู้ว่า สิ่งที่แวดล้อมตัวนี้คืออะไร เป็นอะไร เราจะทำอย่างไรต่อมัน มันจะเอาอย่างไรต่อเรา ก็ต้องมีความรู้ เพื่อที่จะไปปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้อง

ทีนี้ทำอย่างไรจะรู้ ก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ใช้หาความรู้ให้เป็นซี ทีนี้ให้เจ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำหน้าที่ ถ้าเราพูดสรุปมันก็มี ๒ อย่าง คือ รู้กับรู้สึก รู้กับรู้สึกจะต้องมาบูรณาการให้ รู้สึกมันหนุนรู้ ทีนี้ถ้าใช้ไม่เป็น รู้สึกไปเลย รู้สึกมันพาไปเลย หลงไปเลย พอรู้สึกก็เวทนาได้สุขหรือทุกข์ก็ชอบใจไม่ชอบใจ ทีนี้ก็ไปตามหมด ไม่พัฒนาแล้ว แต่ถ้ารู้สึกมันมาหนุนรู้ พอรู้สึก อันนี้มันไม่สบาย มันเป็นอันตราย อันตรายมันคืออะไร เรียนรู้เลย พอรู้ว่าอันนี้มันสบาย มันเป็นสิ่งที่เกื้อกูล ก็ต้องเรียนรู้ว่าเป็นอะไร ก็ได้ความรู้ พอรู้สึกมันหนุนรู้ ทีนี้ก็เข้าสู่กระบวนการการศึกษา ก็ใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อรู้ก็พัฒนาไป การศึกษาก็ชีวิต ธรรมดา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ก็ใช้ให้เป็น เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคน ดู ฟัง เป็น แต่ว่ามันก็ นอกจากว่าดู ฟัง มันไม่มีกินอยู่ มันเรื่องเสพบริโภคด้วย ก็เลยต้องเติมว่า กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น อะไรอย่างนี้ นี่ก็เป็นเรื่องยาว

รวมแล้วก็คือนี่เป็นแง่มุมบางอย่างที่เราจะต้องยกขึ้นมาพูดกันเพราะบางทีเราก็มองข้ามไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (การพัฒนาความสุข คือการศึกษา)(การศึกษาจัดตั้ง ต้องโยงสู่เนื้อแท้ คือพัฒนาคน) >>

No Comments

Comments are closed.