ข้อคิดเห็นต่อคุณลักษณะเด็กไทยในอนาคต

28 ตุลาคม 2548
เป็นตอนที่ 1 จาก 9 ตอนของ

ข้อคิดเห็นต่อคุณลักษณะเด็กไทยในอนาคต1

มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทยด้วยนวัตกรรมแนวพุทธ” โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข โครงการนี้มูลนิธิฯ เป็นผู้ริเริ่มและประสานงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ นักวิจัยของโครงการนี้เป็นบุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ภูมิภาคต่างๆ ๖ แห่ง ได้แก่

๑. รองศาสตราจารย์วนิช สุธารัตน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
๒. รองศาสตราจารย์วิมล คำศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
๓. รองศาสตราจารย์สนิท สัตโยภาส มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
๔. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สจีวรรณ ทรรพวสุ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
๕. ผู้ช่วยศาสตราจารย์โสภา บุณยศรีสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
๖. ผู้ช่วยศาสตราจารย์เวช หกพันนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
๗. อาจารย์วไลพร เมฆไตรรัตน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
๘. อาจารย์วิชาญ ฤทธิธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ นายกลาย กระจายวงศ์ รองประธานมูลนิธิฯ ได้นำนักวิจัยทั้ง ๘ คน และคณะกรรมการดำเนินงานวิจัยอีก ๕ คน รวม ๑๓ คน เข้าเยี่ยมคารวะพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภร (ป. อ. ปยุตฺโต) ณ วัดญาณเวศกวัน เพื่อขอรับคำแนะนำในการทำวิจัยครั้งนี้ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ต่อไป

นายกลาย กระจายวงศ์: กระผมขอกราบเรียนว่า ทางคณะฯ ก็ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณฯ ไม่เฉพาะครั้งนี้นะครับ ครั้งที่ผ่านๆ มา ก็ยังนึกไม่สบายใจว่าพวกเรารู้สึกว่าจะขาดความเมตตากับท่านเจ้าคุณฯ คือทั้งๆ ที่ทราบว่าท่านเจ้าคุณฯ ยังมีปัญหาสุขภาพอยู่บ้างในระดับหนึ่ง ก็ยังจะต้องมาพบมาพูดมาบรรยายให้เราฟังอีก จะเป็นการซ้ำเติมหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ก็ต้องกราบขออภัยท่านเจ้าคุณฯ ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

กระผมขอกราบอาราธนานิมนต์ครับ

ท่านเจ้าคุณฯ: ขอเจริญพรอนุโมทนาท่านอาจารย์ในนามของมูลนิธิฯ และคณะนักวิจัยทั้งหมด ที่พูดนั้นก็แสดงว่าเมตตาอาตมาอยู่แล้ว แต่ว่าเมตตากรุณานี้ต่อเพื่อนมนุษย์สำคัญกว่า ก็แสดงว่าท่านอาจารย์และคณะฯ มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ปรารถนาดีอยากให้เขาได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยอมบ้าง

ทีนี้ท่านอาจารย์ปรารภถึงเรื่องเด็กเยาวชนยุคนี้ ว่าวิถีชีวิตจะไม่ค่อยเป็นพุทธอะไรนี่ อาตมภาพว่ามันก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมานาน และ อาตมาว่ามาถึงยุคของเรา ที่เราได้รับมานี่ วิถีพุทธอยู่ในสภาพเหมือนกับขวดที่เนื้อไม่มี เหลือแต่ขวด หมายความว่าเหลือรูปแบบ เนื้อในอาจจะกลายไป เมื่อขวดคือ รูปแบบ มันยังอยู่นี่ มันก็มองในแง่ดีก็คือขวดมันยังอยู่ มันก็มีโอกาสที่จะไปเอาเนื้อกลับมาใส่ใหม่ ดีกว่าขวดหมดไป

สำคัญว่าตอนนี้ ขวด นอกจากว่าเนื้อในมันค่อนข้างจะหายไปเกือบหมด มันยังมีเนื้ออื่น ของแปลกปลอมเข้ามาปนเยอะ หรือเข้ามาแทนที่เสีย อันนี้ที่มันทำให้วิถีพุทธหายไป แล้วตอนนี้ที่สำคัญก็คือนอกจากเนื้อหายไปหรือหายไปเป็นส่วนใหญ่ คนของเราก็ชักไปชอบขวดอื่นอีก ก็เลยมีปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ไปเห็นภาชนะอื่นที่มันสวยงามกว่า แม้แต่ขวดเดิมก็อยากจะทิ้งแล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่

ทีนี้ก็เลยว่า ขวดคือ รูปแบบ เราต้องรู้จักปรับเหมือนกัน โดยที่ข้อสำคัญก็คือว่า ทำอย่างไรจะให้เนื้อหาสาระนี่มันอยู่หรือกลับมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคมได้ ทีนี้ที่ท่านอาจารย์และคณะนักวิจัยมาวันนี้ ก็มีหนังสือแจ้งมา และก็ท่านอาจารย์ ดร.นิเชต ก็ส่งคำถามมาเยอะเลย อาตมภาพว่าวันนี้อาตมภาพคงตอบไม่ไหว และก็ไม่มีความรู้จะตอบด้วย

ก็คิดว่าคงจะเป็นแบบข้อคิดข้อสังเกตมากกว่า ว่าจะดำเนินการไปในลักษณะไหนดี จะคุยกันไปดีไหม ก็เริ่มต้นตั้งแต่อันแรก ท่านอาจารย์ก็บอกว่า คุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเด็กไทยในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร แค่ข้อนี้ก็ใช้เวลานาน นี่อาตมภาพก็อย่างที่ว่า คิดว่าคุยกันแบบข้อคิด ข้อสังเกต แต่ว่าไหนๆ อันนี้เป็นข้อแรกก็พูดสักนิดหน่อย คือ ไม่ได้ตั้งใจเอาเป็นเรื่องใหญ่ ก็ลองมาปรับแต่งเป็นคำพูดดู

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป(คุณสมบัติของเด็กไทย กับการจัดการศึกษา) >>

เชิงอรรถ

  1. เนื้อหาในเว็บไซต์แห่งนี้ ได้รับการแบ่งตอน และจัดปรับซอยย่อหน้าให้ถี่ขึ้นกว่าต้นฉบับเดิม เพื่อความสะดวกในการอ่าน

No Comments

Comments are closed.