(จะใช้สมาธิ ต้องเข้าใจประโยชน์ และขอบเขต)

28 ตุลาคม 2548
เป็นตอนที่ 8 จาก 9 ตอนของ

ถ้าอาจารย์ไม่มีอะไรถามก็จะต่อไปอีกนิดหนึ่ง เอาเป็นข้อคิดเป็นเรื่องๆ เพราะในนี้ที่ท่านอาจารย์ถามมามีเรื่องหนึ่ง หลายโรงเรียนจัดการฝึกสมาธิอะไรต่างๆ อันนี้เป็นข้อสังเกตที่ดีที่ควรจะติดกันให้เหมาะด้วย คือบางทีมันก็สุดโต่งเหมือนกัน การฝึกสมาธิเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน คำว่าสมาธิดี แต่การใช้สมาธิก็อาจจะผิดได้ การฝึกสมาธิก็ผิดได้ ไอ้ตัวสมาธิมันเป็นกุศล แต่ใช้ไม่เป็นมันก็เสีย อันนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

ความจริงพุทธประวัติก็เป็นบทเรียนบอกเราอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเผชิญมาและก็บอกไว้แล้ว เราก็ไม่ค่อยเอามาใช้ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้ในแนวทางมัชฌิมาปฏิปทานั้น พระองค์ไปทดลองวิธีปฏิบัติ ของสำนักต่างๆ มา และสำนักที่ยอดเยี่ยมก็คือสำนักสมาธิ อาฬารดาบสกาลามโคตร อุททกดาบสรามบุตร ได้สมาธิถึงสมาบัติ ๘ อาฬารดาบสนั้นได้สมาบัติ ๗ ได้ถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ ส่วนอุททกดาบสรามบุตรนั้นได้ครบ ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ก็สุดยอดสมาธิแล้ว แล้วทำไมพระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ทาง

ที่แน่ๆ ต้องเอาบทเรียนตรงนี้ให้ดีนะ พระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมาธิกับสำนักสุดยอดสมาธิมา เสร็จแล้วบอกไม่ใช่ทาง ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติไม่ดี ใช้ไม่ดี ดีไม่ดีไปเป็นแบบสมาธิแบบก่อนพุทธกาล หรือในยุคต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าได้ทรงละทิ้งสละมา สมาธิมันอยู่ในระบบบูรณาการของการพัฒนาชีวิตใช่ไหม มันต้องอยู่ในระบบศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นองค์ประกอบอันหนึ่ง และมันต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกันนะ แยกขาดไม่ได้ และก็ต้องเข้าใจว่าในระบบของมัน มันเกื้อหนุนกับปัญญาอย่างไร โดยเฉพาะกับปัญญา ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว ก็จะใช้สมาธิผิด สมาธิก็อาจจะไปแยกส่วนไป เช่น แบบฝรั่งที่ยุคที่เกิดเป็นปัญหาทางจิตใจมาก พอเจอสมาธิก็เลย แฟชั่นสมาธิเกิด ก็ปฏิบัติสมาธิกันใหญ่ ก็เพื่อหาความสุขทางจิตใจเท่านั้นเอง ก็เพื่อพ้นไปจากปัญหาความวุ่นวายความเครียดของเขา แต่มันไม่อยู่ในระบบการพัฒนาชีวิต ไม่อยู่ในระบบการพัฒนามนุษย์นะ จะต้องเอาสมาธินี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบการพัฒนามนุษย์ หรือพัฒนาชีวิตให้ได้ คืออยู่ในระบบบูรณาการ ต้องเอาสมาธิบูรณาการเข้าไปในระบบนี้ อย่าให้เป็นสมาธิโดยตัวของมันเอง หรือสมาธิเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง และดีไม่ดีก็ไปติด ไปเพลิน ไปหลงสมาธิ แค่ติดสุขสมาธิ ท่านก็ถือว่าผิดพลาดแล้ว ประมาทแล้ว บางคนก็มีปัญหาชีวิตมาก ก็พอให้ได้สมาธิมาไปหลบปัญหานั่งสมาธิ มีความสุขก็ไม่ว่า แต่อย่าให้ติดเพลิน อย่านึกว่ามันแค่นี้ เดี๋ยวจะนึกว่า อ้อสมาธิเราได้ประโยชน์ได้เป็นสมาธิก็อยู่นี่ ไม่เข้าใจถึงประโยชน์ หรือความมุ่งหมายที่มันจะใช้ประโยชน์ต่อไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นการศึกษาในโรงเรียน ถ้าครูไม่เข้าใจเรื่องศีล สมาธิ ปัญญาเพียงพอ ก็อาจจะนำ สมาธิไปใช้ผิดๆ ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเหมือนกันนะเรื่องนี้ ความเข้าใจเรื่องหลักการนี่ก็ต้องให้ชัดเจนในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย อย่างน้อยเราน่าจะต้องมาพิจารณากันว่าควรจะเข้าใจอย่างน้อยแค่ไหนถึงจะไปดำเนินการการศึกษา จะเรียกว่าวิถีพุทธแนวพุทธอะไรก็แล้วแต่นี่ได้ ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดความผิดพลาดเสียหาย อาจารย์มีอะไรอยากให้ถามบ้าง เดี๋ยวอาตมาพูดเรื่อยเปื่อยไม่ตรงจุด

อาจารย์: เมื่อสักครู่ได้ฟังพระเดชพระคุณพูดถึงเรื่องการใช้ชีวิตที่กลมกลืนสอดคล้องกับธรรมชาติ ทีนี้อยากจะเรียนถามว่าในพุทธประวัติที่ชัดๆ มีกล่าวถึงตอนไหน อย่างไรบ้าง เป็นคำสอน เป็นจริยวัตรของพระพุทธองค์ จะได้นำไปกล่าวอ้างได้ถูกต้องขอรับ

ท่านเจ้าคุณฯ: ก็จะเป็นทำนองพุทธพจน์ที่ตรัสถึงสถานที่ต่างๆ ด้วยความชื่นชม ชื่นชมธรรมชาติ เป็นรมณีย์ ตรัสถึงที่นั่นเป็นรมณีย์ ที่นี่เป็นรมณีย์ คำว่ารมณีย์นี่แหละ เป็นที่น่ารื่นรมย์ ก็ป่านั้นป่านี้ สถานที่นั้น ที่นี้ เป็นรมณีย์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เยอะ ในพุทธประวัติที่เป็นเรื่องเล่าอย่างที่ว่า เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะจะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าไปแคว้นศากยะ ส่งอำมาตย์มาหลายท่าน แล้วก็ไม่กลับไป ทีนี้ท่านกาฬุทายีนี่เป็นผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ก็ยังไม่ลืมเรื่องนี้ ในที่สุดก็ได้อาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จไปกบิลพัสดุ และในการอาราธนาพระพุทธเจ้านั้น จะเป็นเรื่องเป็นวรรณคดีเลยว่า พระกาฬุทายีนี่ได้พรรณนาความงามของป่าบนเส้นทางเสด็จตลอด ตั้งแต่ที่นั่นไปถึงกบิลพัสดุ์สวยงามอย่างไร บรรยายเหลือเกิน

และอีกอย่างคือ เถรกถา เถรกถาก็คือ กถาของพระเถระที่ท่านได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว กล่าวถึงการปฏิบัติของท่านในระหว่างที่จะก้าวไปสู่การบรรลุธรรม แล้วหลังจากบรรลุธรรมแล้วเกิดปีติ เกิดความอิ่มใจแล้ว ท่านก็กล่าวคำที่แสดงความปลาบปลื้มปีติเหล่านี้ขึ้นมา หลายท่านจะกล่าวถึงความงามของธรรมชาติ กล่าวถึงฝน ถึงเมฆ ถึงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ถึงป่า ถึงเขา อะไรต่างๆ เหล่านี้ ในเถรคาถานี้เยอะ นี่ก็คือฉันทะนั่นเอง แสดงว่าท่านผู้ตรัสรู้แล้วหมดกิเลสนี่นะ ท่านมีความสุขกับธรรมชาติ เป็นเรื่องฉันทะนี่ คนไม่รู้ก็นึก อ้าวทำไมพระยังไปชื่นชมติดใจอะไรกับเรื่องต้นไม้สวยๆ งามๆ มันคนละอย่าง ตัณหามันมีตัวตน แต่ฉันทะมันเป็นความชื่นชม ความดี ความงาม เป็นต้น ของสิ่งนั้นมันไม่มีตัวตนเกิดขึ้น ให้แยกให้ดีเราไปที่ไหน

อาตมาเทียบบ่อยๆ เช่นอย่าง ไปเห็นกระรอก กระรอกมันก็เต้นไปเต้นมา มันก็ทำท่าโน้น ท่านี้นะ ก็ดูสวยงามดี มีคนสองคนไปเห็นกระรอก คนหนึ่งว่าไอ้ตัวนี้ถ้าเราเอาไปลงหม้อแกงอร่อยดี นี่เรียกว่า จะหาความสุขจากการเสพ เรียกว่าตัณหา คือ มีตัวตนเกิดแล้ว จะเอาไปกิน แต่ทีนี้อีกท่านชื่นชมว่ากระรอกนี่งามอยู่ในป่าที่กลมกลืนกัน ขอให้เจ้ากระรอกนี้จงมีร่างกายที่แข็งแรง ปราดเปรียวอยู่สวยอย่างนี้เรื่อยไปเถิด อยู่ในธรรมชาติที่งดงามอย่างนี้ก็เป็นความรู้สึกชื่นชม ปรารถนาดีต่อสัตว์ หรือธรรมชาตินั้นตามสภาพของมันเอง ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับตัวเองใช่ไหม ถ้าตัณหาจะมีตัวตนเกิดขึ้นมา แต่ถ้าเป็นเรื่องฉันทะจะเป็นความปรารถนาต่อสิ่งนั้นๆ ตามสภาวะของมัน เหมือนเราไปเห็นต้นไม้งาม เราก็ชื่นชมความงาม ความดีของมัน ก็จบใช่ไหม ก็มีความสุขต่อเราด้วย เราก็มีความสุขและก็มีความชื่นชมที่ว่า ถ้ามันยังไม่ดีเราก็อาจจะเกิดความปรารถนาจะทำให้มันดีอีก ก็คือย่างเดียว เพราะฉะนั้นฉันทะมันไม่เกี่ยวกับตัวตน ตัณหามันมีตัวตนขึ้นมาทันที

อาจารย์: ถ้าผมจะสรุปว่าเรื่องของตัณหานั้นจะมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง

ท่านเจ้าคุณฯ: เจริญพร

อาจารย์: ส่วนฉันทะนั้นจะมีสังคมจะมีสภาพแวดล้อม

ท่านเจ้าคุณฯ: อ๋อ มันเป็นสภาวะของสิ่งนั้น มันเป็นความชื่นชมต่อความดี ความงาม ความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นเอง
เจริญพร แต่ท่านอาจารย์เห็นด้วยไหม สิ่งที่พูดวันนี้สำคัญ

อาจารย์: เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ แต่มีอยู่นิดหนึ่ง พระเดชพระคุณพูดถึงเรื่องสมาธิ

ท่านเจ้าคุณฯ: เรื่องอะไรนะ

อาจารย์: เรื่องสมาธิ

ท่านเจ้าคุณฯ: อ๋อ เจริญพร

อาจารย์: ปกติที่เราใช้ฝึกเด็ก เราใช้อานาปานสติ

ท่านเจ้าคุณฯ: เจริญพร

อาจารย์: ทีนี้ถ้าจะมีการทำให้เกิดปัญญาขึ้นในสมาธิในขณะที่ฝึกสมาธิ

ท่านเจ้าคุณฯ: เจริญพร

อาจารย์: จะมีทางเป็นไปได้ไหม

ท่านเจ้าคุณฯ: เจริญพร

ท่านเจ้าคุณฯ: อ้าวนี่แหละ เราต้องนึกไปถึงสมาธิของท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร ก็ไปถึงสมาธิสูงสุดอย่างนั้น ทำไมไม่เกิดปัญญาล่ะ นี่ต้องถามแล้วใช่ไหม ก็หมายความว่า สมาธิไม่จำเป็นต้องให้เกิดปัญญา แต่มันสร้างความพร้อมที่จะให้เกิดปัญญา หรือเป็นสภาพเอื้อ คือให้จิตอยู่ในภาวะที่เอื้อต่อการทำงานของปัญญา หนึ่ง หรือ สอง ต่อการปรากฏขึ้นของปัญญา เช่นว่า ปัญญาความรู้ความเข้าใจนี่ มันพร้อมจะปรากฏอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่นว่า ธรรมชาติแวดล้อมเรานี้ สิ่งทั้งหลายที่เรามองเห็นนี่ มันไม่ได้ปิดตัวมันเอง มันก็เป็นของมันตามสภาวะใช่ไหม แต่เรามีกิเลสใช่ไหม ปิดบังทำให้เรามองไม่เห็นความจริง พอสมาธิมาช่วยจิตให้กิเลสเหล่านั้นสงบ ความใสของจิตเกิดขึ้นก็เป็นภาวะเอื้อต่อการปรากฏของปัญญา เข้าใจไหม อันนี้อันที่หนึ่งนะ

สองก็ เอื้อต่อการทำงานของปัญญาก็คือว่า จิตของคนทั่วไปมันวุ่นวายพลุ่งพล่าน อารมณ์นู้นอารมณ์นี้ขึ้นมา หมายความว่าเรื่องนั้นมาที เรื่องนี้มาที เหมือนน้ำในแก้วนี้ที่มันไม่นิ่ง มันถูกกวนวุ่นอยู่ ไอ้เศษของที่มันลอยอยู่ในนั้น มันก็พล่านไป วุ่นไป ทีนี้มันมีของอย่างหนึ่งที่อยู่ในแก้วที่เราต้องการจะมองอันเล็กๆ ทีนี้ไอ้เศษของชิ้นอื่นมันไม่อยู่นิ่งนี่ อันนั้นก็มาที อันนี้ก็มาที เดี๋ยวอันนี้ผ่านไปแล้วโผล่นิดหนึ่ง อันนั้นบังอีกแล้ว มันก็บังของมัน ยิ่งมีกิเลสมาก มันก็ยิ่งบังมากใช่ไหม อารมณ์เยอะแยะ ไอ้นั้นไอ้นี่มาบังเห็นเดี๋ยวเดียวไม่ชัดสักทีนึง

ทีนี้พอจิตสงบ สมาธิเกิด ไอ้เจ้าอารมณ์ต่างๆ ที่มันมาวุ่นวายพลุ่งพล่านกันอยู่เนี่ย มันก็นอนกันหมด ตกตะกอนหมด น้ำก็ใส ก็มองเห็นใช่ไหม ก็เอื้อต่อการทำงาน ต่อการที่จะมอง

แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือว่าไอ้สมาธิมันจัดให้องค์ธรรม คือ คุณสมบัติอย่างอื่นในจิตใจของเรานี่อยู่ในภาวะที่พร้อมบริบูรณ์ เช่นว่า จิตที่มันไม่มีสมาธิ อาจจะเกิดความหดหู ท้อแท้ หรืออย่างน้อยขุ่นมัว ไม่สบาย อะไรอย่างนี้ มันไม่พร้อมจะทำงาน คิดการอะไรก็ไม่ดี หรือไม่งั้นก็ถูก บิดเบือน เช่น มีโลภะ โทสะ มองอะไรต่ออะไร เจ้าสิ่งนี้ก็มาระบายสี แต้มสีไปหมด ทีนี้พอสมาธิเกิดขึ้น ตอนนี้ ไอ้ความท้อแท้ ความหดหู อะไรต่ออะไรมันหายไปหมด จิตมันคล่องแคล่ว ท่านเรียกว่า จิตเหมาะแก่งาน สมาธิก็ทำให้จิตเป็นภาวะอยู่ในภาวะที่เหมาะแก่งาน ท่านเรียกว่า เป็นกมฺมนีย พอจิตเหมาะแก่การใช้งาน คราวนี้ปัญญา ก็เอาจิตนี้มาใช้ประโยชน์ จะคิด จะนึก จะพิจารณาอะไรได้เต็มที่ ได้ประโยชน์

เพราะฉะนั้นในการที่ท่านเจริญสมาธินี้ ท่านจึงเอามาเกื้อหนุนปัญญา โดย ๒ ประการ อย่างน้อย ๑ ก็คือ เอื้อต่อการปรากฏขึ้นของปัญญา ๒ ให้ปัญญาทำงานได้สะดวก ได้ผลดี มีประสิทธิภาพสูงสุด ทีนี้จิตของเราที่มีความคล่องแคล่ว ลักษณะจิตที่มีสมาธิ อย่างหนึ่ง คือความแคล่วคล่องนะ แล้วก็เรียกว่าเข้มแข็ง มั่นคง มั่นแน่ว มันก็ไปได้ดีสิใช่ไหม ปัญญาก็พิจารณาอะไรได้เต็มที่ ปัญญาก็ทำงานได้ผล ตกลงก็นี่แหละ ปัญญาก็ใช้ประโยชน์จากจิตที่เป็นสมาธิอีกทีหนึ่ง

แต่ส่วนพวกสำนักสมาธิต่างๆ ที่ว่ามีมาก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้นี่ เขานึกว่าสมาธิอย่างเดียวนี่ ด้วยการทำจิตให้มันนิ่ง ในที่สุดมันจะบรรลุจุดหมายเอง ก็เลยจบแค่นั้น เลยกลายเป็นจิตไปดูดดื่ม ไปกลมกลืนหายเข้าไปในอะไรต่ออะไร จะเห็นว่าลัทธิสมาธินี่ จุดหมายท้ายสุดมันจะมีว่า ดึง ดื่ม ดูดกลืนหายเข้าไปในอะไรสักอย่าง ในภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง จิตมันดูดกลืนเข้าไปเลย ก็จบกัน สมาธิก็จะไปจบที่นี้ ที่พระพุทธศาสนาบอกว่า มันต้องให้เกิดปัญญา ที่รู้แจ้งความจริงของสภาวธรรมสิ่งทั้งหลาย ก็เลยต้องมาต่ออีก สมาธิก็เลยไม่พอ สำหรับเด็กทั่วไปก็คือว่า ทำอย่างไรจะให้สมาธิมันเป็นของที่อยู่ในชีวิตจริง ไม่ใช่ไปเป็นของที่เพียงไปนั่งอยู่เฉยๆ ไอ้นั่นเราต้องมองให้สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตที่แท้จริง ก็คือมันเป็นการฝึกส่วนหนึ่ง

การฝึกส่วนหนึ่งที่ว่า ตามปกติเราไม่มีเวลาที่จะทำจิตให้สงบอย่างนี้ เราก็หาโอกาสไปทำจิตให้สงบนิ่ง เป็นวิธีฝึก แล้วก็ให้จิตที่มันฝึกได้ผลอย่างนั้นเข้ามาอยู่ในชีวิตที่แท้จริง ถ้านำมาใช้ในชีวิตที่แท้จริงไม่ได้ มันก็ยังไม่สำเร็จผลอะไร เหมือนกับคนที่ว่า ในแง่หนึ่งเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่จะว่ายน้ำ ก็ไปว่ายน้ำอยู่แค่ในสระว่ายน้ำที่เขาจัดให้ ว่ายอยู่นั่นแหละไม่ไปไหนสักที ลงแม่น้ำก็ไม่ได้ ไปทะเลก็ไม่ได้ ก็หมายความว่า ว่ายในสระแล้วต้องไปในแม่น้ำ ไปในทะเลต่อไป คือให้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ สถานการณ์จริง เจริญพร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กัลยาณมิตร ช่วยบ่มอินทรีย์ ให้คนมีความพร้อมในการศึกษา)(สติ กับ สมาธิ) >>

No Comments

Comments are closed.