ก. งานสืบค้น

18 กรกฎาคม 2531
เป็นตอนที่ 2 จาก 7 ตอนของ

ประโยชน์ของการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกด้วยคอมพิวเตอร์ ที่มีมากมายหลายประการนั้น อาจประมวลสรุปได้ดังนี้

ก. งานสืบค้น

งานสืบค้นสำหรับพระไตรปิฎก ที่สามัญที่สุดคือ การค้นหาว่าพระสูตรชื่อนั้นๆ เช่น มหาสติปัฏฐานสูตร จักกวัตติสูตร องคุลิมาลสูตร เป็นต้น หรือชาดกชื่อนั้นๆ เช่น โสมทัตตชาดก วานรชาดก มโหสถชาดก มหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น มาในพระไตรปิฎก เล่มใด ข้อไหน หน้าเท่าไร การค้นในลักษณะเช่นนี้เป็นของง่ายเกินไปสำหรับการค้นพระไตรปิฎกด้วยคอมพิวเตอร์หรือ BUDSIR เพราะ BUDSIR ค้นรายละเอียดได้ทุกอย่าง แม้แต่คำทุกคำ โดยสรุป การสืบค้นโดยทั่วไปจะมีดังนี้

๑. ค้นคำ หรือศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ทั่วไป หรือ ศัพท์ธรรม

  • ผู้ศึกษาธรรมวินัย อาจค้นหาศัพท์ทางธรรมวินัย เช่น ปัญญา กรุณา สติ สมาธิ สีลอุโปสถ ธรรมกาย ปริยัตติ ปรมัตถ์ สามัคคี กุศล อกุศล บุญ บาป ธุดงค์ วัตร สมาทาน สังฆกรรม สังฆทาน อติเรกจีวร ปวารณา กาลิก สันนิธิ จีวร เสนาสนะ ฯลฯ
  • ผู้ศึกษาภาษาไทย ก็อาจค้นหาถ้อยคำที่นำมาใช้ในภาษาไทย เช่น อนุโลม ปฏิโลม ปฏิวัติ ปฏิรูป ปฏิภาค สังหาริมะ บัณฑิต สุจริต อุปมา ปริญญา ชาติ ชีวิต อาวุธ ทายาท ทารก ธุระ สภา อดีต อนาคต ปัจจุบัน ธาตุ ราชทูต ราชทัณฑ์ สันติ ราชูปโภค ราชกกุธภัณฑ์ ราชบุตร ราชินี มเหสี ชายา ภคินี โอรส รมณีย์ จตุจักร ฯลฯ

๒. ค้นชื่อ หรืออสาธารณนาม ไม่ว่าจะเป็นชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ ชื่อพระสูตร ชื่อชาดก และชื่อหมวดตอนต่างๆ ของคัมภีร์ หรือชื่อเฉพาะใดๆ ก็ตาม เช่น อานนฺท ลุมฺพินี สาริปุตฺต อนุรุทฺธ ยโสธรา ปฏาจารา อาภสฺสรา มคธ คนฺธาร อุชฺเชนี อจิรวตี กปิลวตฺถุ คิชฺฌกูฏ พาราณสี ชีวก เทวทตฺต เวสาลี สุวณฺณภูมิ สิริมา เวฬุวน เชตวน ลิจฺฉวี สุมนา กปิชาตก เตวิชฺชสุตฺต ราชวคฺค ฯลฯ

๓. ค้นวลี และประโยคสำนวนแบบ อันเป็นกลุ่มคำสั้นๆ อาจจะเป็นคำหรือศัพท์ที่มาด้วยกันเป็นชุด ซึ่งเป็นประโยชน์มากทั้งสำหรับนักศึกษาธรรมวินัยและสำหรับนักไวยากรณ์ หรือนักภาษาศาสตร์ทั่วไป ในการหาหลักฐาน ตัวอย่างเทียบเคียง วิเคราะห์หาความหมายที่แท้จริง ตลอดจน ความเป็นมา และศึกษาวิธีใช้เป็นต้น เช่น อิธ วา หุรํ วา, ปริมุขํ สติ ปกฺขเปติ, อจฺเฉจฺฉิ ตณฺหํ วิวตฺตยิ สญฺโญชนํ, อาตุ มาริ มาตุ มาริ, มาโร ปาปิมา, กจฺจิ ภิกฺขเว ขมนียํ กจฺจิ ยาปนียํ, กายนุตฺถ ภิกขเว เอตรหิ กถาย สนฺนิสินฺนา สนฺนิปติตา ฯลฯ

๔. ค้นข้อความ ซึ่งอาจเป็นข้อความยาวๆ หลายประโยค หลายบรรทัด หรือคาถาภาษิตต่างๆ ที่นำมาอ้างในการเทศนาสั่งสอน เป็นต้น เช่น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ, สพฺพปาปสฺส อกรณํ, นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ, วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ, สจฺจํ เว อมตา วาจา, ธมฺมจารี สุขํ เสติ, อวิชฺชา ปรมํ มลํ, ฯลฯ

๕. ค้นบทสวด หลักธรรม หลักวินัยต่างๆ นักศึกษาหรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป อาจต้องการทราบว่า บทสวดมนต์บทนั้นบทนี้ แม้แต่บทที่ง่ายที่สุดและใช้กันอยู่เป็นประจำ เช่น นโม ตสฺส…, พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ, อิติปิ โสภควา… มีมาในพระไตรปิฎกหรือไม่ ถ้ามี อยู่ ณ ที่ใด เกิดขึ้นมาอย่างไร ใครกล่าวขึ้น ถ้าถูกตัดตอนออกมา ความเต็มว่าอย่างไร หลักธรรมต่างๆ ที่เรียน – สอน – ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชาวพุทธหรือในทางจริยธรรมทั่วไป เช่น กตัญญูกตเวที เบญจศีล อบายมุข พรหมวิหาร ๔ สติปัฏฐาน ๔ มีมาในพระไตรปิฎกที่ไหนบ้าง ท่านสอนไว้อย่างไร หลักวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ที่เรียกว่าสิกขาบทต่างๆ เช่น ภิกษุดื่มสุรา ฉันอาหารกลางคืน เอาโต๊ะเก้าอี้ของส่วนรวมออกไปใช้แล้วไม่เก็บงำ ฯลฯ เป็นความผิดสถานใด ข้อไหน เหตุใดจึงบัญญัติให้เป็นความผิด มีรายละเอียดว่าอย่างไร การบวชนาค (บรรพชา อุปสมบท) การทอดกฐิน มีความเป็นมาอย่างไร ฯลฯ (ข้อนี้อาศัยการค้นตามหลักข้อ ๑-๒-๓ นั่นเอง แต่มักซับซ้อนกว่าและอาจต้องใช้ผสมกันทั้ง ๓ ข้อ)

การค้นคำ ศัพท์ วลี หรือข้อความ ด้วย BUDSIR จะให้ได้รายละเอียดที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง เกินวิสัยที่การสืบค้นตามปกติจะทำได้ และสำหรับสิ่งที่การค้นตามปกติใช้เวลามากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งอาจเกินเดือน เกินปี BUDSIR ก็บอกได้ภายในเวลารวดเร็วชั่ววินาที รายละเอียดที่ BUDSIR บอกตามปกติ ได้แก่

    ก. แสดงจำนวนครั้งทั้งหมดที่คำหรือข้อความนั้นปรากฏในพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม เช่น ค้น “อานนฺท” จะบอกทันทีในวินาทีเดียวว่า ปรากฏในพระไตรปิฎก ๑,๙๖๖ ครั้ง
    ข. แสดงบัญชีพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ตามลำดับว่า เล่มใดมีคำหรือข้อความนั้นปรากฏกี่ครั้ง
    ค. แสดงบัญชีเฉพาะในเล่มหนึ่งๆ ว่า ในเล่มนั้น คำหรือข้อความนั้น ปรากฏที่ข้อไหน หน้าใดบ้าง ตามลำดับ จนจบเล่ม
    ง. แสดงคำหรือข้อความนั้น ให้เห็นตามที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือจริงๆ สุดแต่จะเลือกให้แสดงที่หน้าใด โดยมีแถบไฟสีเขียวส่องคำหรือข้อความนั้นให้เด่นชัดขึ้นเป็นพิเศษด้วย

ในประเทศอังกฤษ สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ได้เพียรพยายามทำหนังสือสำคัญสำหรับใช้ค้นถ้อยคำและเรื่องราวในพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า Tipitakam Concordance มาเป็นเวลานาน เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงบัดนี้ เป็นเวลา ๓๖ ปี เสร็จไปแล้วเป็นหนังสือขนาดใหญ่ประมาณ ๑,๓๐๐ หน้า ก็ยังไม่จบ ถึงเพียงอักษร แต่เมื่อมีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์นี้ ก็เท่ากับมีหนังสือค้นเล่มนั้นอยู่ในตัวอย่างจบสิ้นสมบูรณ์แล้วในทันที

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ประโยชน์ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ (ฉบับย่อ)ข. งานตรวจสอบ >>

No Comments

Comments are closed.