ประโยชน์ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ (ฉบับย่อ)

18 กรกฎาคม 2531
เป็นตอนที่ 1 จาก 7 ตอนของ

ประโยชน์ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์
(โครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก)
พร้อมด้วยโปรแกรมเรียกค้นข้อมูลจากคัมภีร์ (BUDSIR)

พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นและทรงประทานคำสั่งสอนไว้เป็นหลัก ถ้าแปลอย่างง่ายที่สุด พระพุทธศาสนา ก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงและบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาของชาวพุทธทั้งปวง ธรรมวินัย ก็รวมอยู่ในพุทธพจน์คือพระดำรัสของ พระพุทธเจ้า ที่นำสืบกันมาในพระไตรปิฎก พุทธพจน์เท่าที่เราจะรู้ถึงได้ ก็คือคำสั่งสอนที่มีใน พระไตรปิฎก ธรรมวินัยที่เป็นศาสดาของชาวพุทธทั้งหมดจึงอยู่ในพระไตรปิฎก หมายความว่า พระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมวินัยที่เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา

ด้วยเหตุดังกล่าวมา พระไตรปิฎกจึงเป็นคัมภีร์สูงสุดของพระพุทธศาสนา ถือว่า เป็นหลักหรือเป็นมาตรฐานของคำสอน ความเชื่อถือ และการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งที่มาต้นเดิมของคำสอนทั้งหมด เป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและการปฏิบัติทุกอย่าง และเป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นกิจสำคัญยิ่งของชาวพุทธ ถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือ เป็นความดำรงอยู่ของ พระพุทธศาสนา กล่าวคือ ถ้ายังมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ แต่ถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกแม้จะมีการปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็ไม่ดำรงอยู่ คือ เสื่อมสูญไป

นอกจากพระธรรมวินัยแล้ว พระไตรปิฎกยังเป็นที่บันทึกลัทธิ ความเชื่อถือ ศาสนา ปรัชญา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม เรื่องราวเหตุการณ์ และถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ ในยุคอดีตไว้เป็นอันมาก แม้คำสั่งสอนในพระธรรมวินัยเอง ก็เกี่ยวข้องกับวิชาการหลายสาขา เช่น จิตวิทยา กฎหมาย การปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การแสวงหา และจัดการเกี่ยวกับโภคทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากภาษาบาลีเป็นรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งของภาษาไทย คำศัพท์จำนวนมากในภาษาไทยมาจากภาษาบาลี ในฐานะที่พระไตรปิฎกจารึกไว้เป็นภาษาบาลี และเป็นแหล่งเดิมแห่งคำศัพท์ภาษาบาลีที่นำมาใช้ในภาษาไทย การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงมีอุปการะเป็นพิเศษแก่การศึกษาภาษาไทย กล่าวโดยย่อ การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมีคุณค่าสำคัญไม่เฉพาะแต่ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อำนวยประโยชน์ในทางวิชาการด้านต่างๆ มากมาย เช่น ภาษาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา โบราณคดี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา เป็นต้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่มีขนาดใหญ่โตมาก มีเนื้อหามากมายอย่างที่ท่านบรรยายไว้ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ฉบับพิมพ์อักษรไทยมีจำนวนถึง ๔๕ เล่ม นับได้เกือบ ๒๒,๐๐๐ หน้า หรือ เป็นอักษรประมาณ ๒๔,๓๐๐,๐๐๐ ตัว การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นเรื่องใหญ่และยากมาก มีแต่เพียงนักปราชญ์และผู้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าถึงพระไตรปิฎก ทำให้การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจำกัดอยู่ในวงแคบอย่างยิ่ง ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากระบบที่ช่วยการค้นคว้า เช่น ดัชนี ในพระไตรปิฎกที่ใช้กันอยู่ ยังบกพร่องมาก แม้แต่นักปราชญ์และนักค้นคว้าทั้งหลาย ก็ทำงานเกี่ยวกับพระไตรปิฎกอย่างไม่สะดวก สิ้นเปลืองเวลาและแรงงานเกินกว่าที่ควร โดยที่พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาและเป็นแหล่งแห่งคำสอนดังกล่าวมาแล้ว ความจำกัดวงแคบและความไม่สะดวกในการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนา กับทั้งเปิดช่องให้ความเชื่อถือและการปฏิบัติต่างๆ ที่ผิดจากธรรมวินัยเกิดขึ้นและขยายตัวกว้างขวางออกไปโดยง่าย พร้อมกันนั้นก็ไม่เกื้อกูลต่อวงวิชาการด้านต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น

เป็นที่น่ายินดีว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้ง “โครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์” ขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐ และ สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ได้บรรจุข้อมูลพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ลงในคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้สร้างโปรแกรมสำหรับใช้ในการค้นข้อมูลนั้น เรียกว่า BUDSIR (BUDdhist Scripture Information Retrieval) สำเร็จแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๑ จึงจะทำให้การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น เป็นไปได้โดยสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ได้ผลดี อีกทั้งเกื้อกูลต่อการทำงานอื่นๆ เกี่ยวกับพระไตรปิฎกที่ยิ่งกว่าการศึกษาค้นคว้าได้อีกหลายอย่าง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปก. งานสืบค้น >>

No Comments

Comments are closed.