ง. งานวิจัย และงานนิพนธ์

18 กรกฎาคม 2531
เป็นตอนที่ 5 จาก 7 ตอนของ

ง. งานวิจัย และงานนิพนธ์

งานวิจัยและงานนิพนธ์ทั้งหลายที่เกี่ยวโยงหรือพาดพิงถึงพระพุทธศาสนา จะต้องยึดเอาพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นต้น เพราะพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาดังได้กล่าวแล้ว

การใช้ประโยชน์ในข้อนี้ ต้องอาศัยการรวบรวมวิเคราะห์และประสานเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เป็นอันมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะสำเร็จได้ด้วยการใช้ BUDSIR ทำงานสืบค้น และงานตรวจสอบที่กล่าวแล้ว ในข้อ ก. และ ข. จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก

๑. งานวิจัย และงานนิพนธ์โดยทั่วไป อาจเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาโดยตรง กล่าวคือวิจัยเกี่ยวกับหลักธรรมหลักวินัย ก็ได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของชีวิตและสังคมในปัจจุบันก็ได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาการด้านต่างๆ ก็ได้ เช่น หลักการเจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนาตามพุทธประสงค์ ปัญหาเกี่ยวกับความดี-ความชั่วสุขทุกข์ตามนัยแห่งพุทธปรัชญา พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจ พุทธศาสนากับประชาธิปไตย พระพุทธศาสนากับจิตวิเคราะห์ เสรีภาพในทัศนะของพระพุทธศาสนา ศึกษาเปรียบเทียบพระพุทธศาสนากับปรัชญาภวนิยม อุดมรัฐตามแนวพุทธมติ ครูในอุดมคติ วรรณคดีบาลีในภาษาไทย วัด วินัยและชีวิตไทย ฯลฯ งานวิจัยทำนองนี้ ได้มีผู้ทำกันมากในระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งผู้ทำวิจัยมักต้องประสบปัญหาและความเหนื่อยยากลำบากเป็นอันมากในการค้นคว้า รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล เพราะเข้าถึงพระไตรปิฎกที่เป็นแหล่งเดิมได้ยาก แต่เมื่อมีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์แล้ว การทำงานวิจัยอย่างนี้จะสะดวกและง่ายขึ้นอย่างมากมาย

๒. งานนิพนธ์อีกอย่างหนึ่งที่มีคุณค่ามาก และได้มีนักปราชญ์บางท่านทำไว้บ้าง ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ แต่ยังมีจำนวนน้อย เพราะในเวลาที่ผ่านมางานประเภทนี้ไม่มีอุปกรณ์ช่วย จึงต้องใช้ความรอบรู้ในพระไตรปิฎกอย่างกว้างขวางทั่วถึงและใช้ความเพียรพยายามมาก ได้แก่ การเก็บรวบรวมพุทธพจน์ และเรื่องราวในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับบุคคล เรื่องราวหรือเนื้อหาสาระอย่างเดียวกัน นำมาจัดเรียงโยงต่อเข้าด้วยกัน โดยมีประเด็นความหรือสารัตถะหรือแนวโครงเรื่องอันหนึ่งอันเดียวเป็นแกนร้อยตรึงไว้ เช่น พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ (ของ พุทธทาสภิกขุ); “The Word of the Buddha (ของท่าน Nyanatiloka ชาวเยอรมัน); Some Sayings of the Buddha (ของ F.L. Woodward), The Life of the Buddha (ของท่าน Ñānamolī ชาวอังกฤษ) เป็นต้น เมื่อมีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ก็จะสามารถใช้ BUDSIR ทำงานประเภทนี้ได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็วเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับเล็ก ซึ่งมีผู้คิดทำกันมานานแล้ว ก็มีทางที่จะสำเร็จเป็นจริงได้ง่ายขึ้นอีกมากมาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ค. งานประมวล โดยเฉพาะการจัดทำพจนานุกรม และสารานุกรมจ. งานสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก >>

No Comments

Comments are closed.