ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

9 มีนาคม 2531
เป็นตอนที่ 2 จาก 6 ตอนของ

เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ1

ข้อคิดเบื้องต้น
เกี่ยวกับ
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

วันนี้ ทางคณะผู้จัดงานได้ตั้งชื่อเรื่องปาฐกถาให้อาตมภาพว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

เริ่มต้น ผู้ฟังบางท่านก็อาจจะสงสัยว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธนั้นมีจริงหรือ เป็นไปได้จริงหรือ

ปัจจุบันนี้ วิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรารู้จักกันอยู่ เป็นวิชาเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก

เมื่อพูดถึงวิชาเศรษฐศาสตร์และเรื่องราวเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์ เราก็ใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก เมื่อคิดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ เราก็คิดในกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกด้วย

ดังนั้น ถ้าจะมาพูดถึงเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก็ยากที่จะทำตัวเองให้พ้นออกไปจากกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์และภาษาเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกนั้น

เพราะฉะนั้น การพูดถึงเศรษฐศาสตร์แนวพุทธก็อาจจะเป็นการพูดถึงพระพุทธศาสนาด้วยภาษาเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ภายในกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าให้เราลองมาช่วยกันพิจารณาเรื่องนี้ บางทีอาจจะได้รับข้อคิดบางอย่าง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเศรษฐศาสตร์แนวพุทธจริง ก็อาจจะมีแนวคิดทางพุทธบางอย่างที่เอามาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์ได้บ้าง

เมื่อประมาณ ๑๕ ปีมาแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งคนหนึ่งชื่อว่า นาย อี.เอฟ.ชูมาเกอร์ (E.F. Schumacher) ได้พิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Small Is Beautiful มีผู้แปลเป็นภาษาไทยดูเหมือนจะใช้ชื่อว่า จิ๋วแต่แจ๋ว

ในหนังสือเล่มนี้ บทหนึ่งคือบทที่ ๔ ได้ตั้งชื่อว่า “Buddhist Economics” แปลว่า เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ

หนังสือเล่มนี้ และโดยเฉพาะบทความบทนี้ ได้ทำให้คนจำนวนมากทั้งในตะวันออกและตะวันตกเกิดความสนใจในเรื่องพุทธศาสนาด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจขึ้นมา จึงนับว่าท่านชูมาเกอร์นี้เป็นผู้มีอุปการคุณอย่างหนึ่ง ในการที่ทำให้เกิดความสนใจพุทธศาสนาในแง่เศรษฐศาสตร์ขึ้น

แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีก การที่ท่านชูมาเกอร์ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นโดยมีบทความเรื่องเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธนั้น และการที่ฝรั่งในสถานศึกษาต่างๆ หันมาสนใจเรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธนี้ ก็มีภูมิหลังที่ว่า มาถึงปัจจุบันนี้วิทยาการและระบบการต่างๆ ของตะวันตก ได้มาถึงจุดหนึ่งที่เขาเกิดความรู้สึกกันว่ามีความติดตันหรือความอับจนเกิดขึ้น

แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่ยอมรับภาวะนี้ ก็อาจจะเรียกว่า มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อจุดหนึ่ง ที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและวิธีปฏิบัติในวิทยาการสาขาต่างๆ

สรุปก็คือ มีความรู้สึกกันว่า วิชาการต่างๆ ที่ได้พัฒนากันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาของโลกและชีวิตให้สำเร็จได้ จะต้องมีการขยายแนวความคิดกันใหม่ หรือหาช่องทางกันใหม่

เมื่อเกิดความรู้สึกอย่างนี้กันขึ้น ก็จึงมีการแสวงหาแนวความคิดที่นอกจากวงวิชาการของตนออกไป อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการสนใจในพุทธศาสนา รวมทั้งปรัชญาอะไรต่ออะไรเก่าๆ โดยเฉพาะที่เป็นของตะวันออกขึ้นด้วย

อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นกันชัดเจนในประเทศตะวันตกปัจจุบัน ที่ว่าได้หันมาสนใจตะวันออก

ทีนี้ การที่ชูมาเกอร์จับหลักการของพุทธธรรมโดยพูดถึง Buddhist economics หรือพุทธเศรษฐศาสตร์นั้น เขาก็จับเอาที่เรื่องมรรคนั่นเอง มรรคนั้นเรารู้จักกันว่าเป็นข้อหนึ่งในอริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

มรรคนั้นเป็นข้อปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา

ชูมาเกอร์กล่าวว่า มรรคคือวิถีชีวิตของชาวพุทธนั้น มีองค์ประกอบอยู่ข้อหนึ่ง คือสัมมาอาชีวะ ซึ่งแปลว่า การเลี้ยงชีพชอบ ในเมื่อสัมมาอาชีวะนี้เป็นองค์ประกอบข้อหนึ่งในมรรคหรือวิถีชีวิตของชาวพุทธ ก็แสดงว่าจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Buddhist economics คือ เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ อันนี้คือจุดเริ่มต้นของท่านชูมาเกอร์

แต่ท่านชูมาเกอร์จะมีทัศนะอย่างไร เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธเป็นอย่างไร ตอนนี้อาตมภาพจะยังไม่พูดก่อน จะขอเล่าเรื่องคล้ายๆ นิทานเรื่องหนึ่งจากคัมภีร์พุทธศาสนาให้ฟัง

ที่จริงไม่ใช่นิทาน แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล เรื่องราวเรื่องนี้จะบอกอะไรหลายอย่างที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ในพุทธศาสนา และผู้ฟังก็อาจจะตีความของตนเองว่าพุทธเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า

สมัยหนึ่งในพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ขณะที่พระองค์เสด็จประทับ ณ พระเชตวัน ในพระนครสาวัตถี วันหนึ่งตอนเช้า พระองค์ได้ทรงพิจารณาว่า มีคนเข็ญใจคนหนึ่งอยู่ในเมืองอาฬวีห่างไกลออกไป เป็นผู้มีความพร้อม มีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะฟังธรรม พระองค์สมควรจะเสด็จไปโปรด

ดังนั้น วันนั้นตอนสาย พระองค์ก็เสด็จเดินทางไปยังเมืองอาฬวี ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป ๓๐ โยชน์ ตีเสียว่าประมาณ ๔๘๐ กิโลเมตร

เมื่อเสด็จถึงเมืองอาฬวี ชาวเมืองอาฬวีมีความนับถือพระองค์อยู่แล้ว ก็ต้อนรับ และในที่สุดก็จัดสถานที่เตรียมที่จะฟังธรรมกัน แต่จุดมุ่งของพระพุทธเจ้านั้น เสด็จไปเพื่อจะโปรดคนคนเดียวที่เป็นคนเข็ญใจนั้น พระองค์จึงทรงรั้งรอไว้ก่อน รอให้นายคนเข็ญใจคนนี้มา

ฝ่ายนายคนเข็ญใจนี้ได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา เขามีความสนใจอยู่แล้วอยากจะฟังธรรม แต่พอดีว่าวัวตัวหนึ่งของเขาหายไป เขาจึงคิดว่า เอ! เราจะฟังธรรมก่อน หรือหาวัวก่อนดีนะ คิดแล้วก็ตัดสินใจว่าหาวัวก่อน หาวัวเสร็จแล้วค่อยไปฟังธรรม

ตกลงเขาก็ออกเดินทางเข้าไปในป่า ไปหาวัวของเขา ในที่สุดก็ได้พบวัวนั้น และต้อนกลับมาเข้าฝูงของมันได้ แต่กว่าเขาจะทำอย่างนี้สำเร็จก็เหนื่อยมาก

ครั้นแล้วเขาจึงคิดว่า เอ! เวลาก็ล่วงไปมากแล้ว ถ้าเราจะกลับไปบ้านก่อนก็จะยิ่งเสียเวลา เราจะไปฟังธรรมเลยทีเดียว

ตกลงนายคนเข็ญใจคนนี้ ก็เดินทางไปยังที่เขาจัดเพื่อการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า เข้าไปฟังธรรม แต่มีความเหนื่อยและหิวเป็นอันมาก

พระพุทธเจ้า เมื่อทอดพระเนตรเห็นนายคนเข็ญใจนี้มา พระองค์ทรงทราบดีว่าเขาเหนื่อยและหิว พระองค์จึงได้ตรัสบอกให้คนจัดแจงทาน จัดอาหารมาให้นายคนเข็ญใจนี้กินเสียก่อน

เมื่อคนเข็ญใจคนนี้กินอาหารเรียบร้อยอิ่มสบายใจดีแล้ว พระองค์ก็แสดงธรรมให้ฟัง นายคนเข็ญใจนี้ฟังธรรมแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ก็เป็นอันว่าบรรลุความมุ่งหมายในการเดินทางของพระพุทธเจ้า

พระองค์แสดงธรรมครั้งนี้เสร็จ ก็ลาชาวเมืองอาฬวีเสด็จกลับยังพระเชตวัน แต่ในระหว่างทางนั้น พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้าว่า เอ๊ะ! วันนี้เรื่องอะไรนะ พระพุทธเจ้าถึงกับทรงให้คนจัดอาหารให้คนเข็ญใจรับประทาน

พระพุทธเจ้าได้ทรงรับทราบ ก็ได้ทรงหันมาตรัสชี้แจงแก่พระภิกษุเหล่านั้น

ตอนหนึ่งพระองค์ตรัสว่า คนที่ถูกความหิวครอบงำ มีความทุกข์จากความหิว แม้จะแสดงธรรมให้เขาฟัง เขาก็จะไม่สามารถเข้าใจได้

แล้วพระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา เป็นต้น แปลว่า ความหิวเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ที่หนักหน่วงที่สุด เมื่อทราบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จึงจะบรรลุนิพพานที่เป็นบรมสุข

นี่คือเรื่องที่อาตมภาพเล่าให้ฟัง ลักษณะทั่วไปของเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธนั้นคิดว่าปรากฏอยู่ในเรื่องที่เล่ามานี้แล้ว แต่ผู้ฟังก็อาจจะตีความไปได้ต่างๆ กัน

ถ้าหากมีเวลา เราอาจจะได้หันกลับมาวิเคราะห์เรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้จะขอผ่านไปก่อน ขอให้เป็นเรื่องของผู้ฟังที่จะตีความกันเอาเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< นิเทศพจน์ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์แห่งยุคอุตสาหกรรม >>

เชิงอรรถ

  1. ปาฐกถาธรรม ในมงคลวารอายุครบ ๗๒ ปี ของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กทม. วันพุธที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๑

No Comments

Comments are closed.