นิเทศพจน์

14 กุมภาพันธ์ 2548
เป็นตอนที่ 1 จาก 6 ตอนของ

นิเทศพจน์

เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ นี้ เดิมเป็นปาฐกถาธรรม ซึ่งได้แสดงในมงคลวารอายุครบ ๗๒ ปี ของ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๑ มูลนิธิโกมลคีมทองได้ขออนุญาตตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือครั้งแรกในช่วงกลางปีเดียวกันนั้น

ต่อมา พระภิกษุชาวอังกฤษรูปหนึ่งมีความพอใจได้แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อเรื่องว่า Buddhist Economics โดยขอใช้นามบาลีเป็นชื่อผู้แปลว่า J.B. Dhammavijaya (เจ.บี. ธัมมวิชัย) แล้วมอบถวายแก่ผู้เรียบเรียง และมูลนิธิพุทธธรรมได้ขออนุญาตพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในช่วงกลางปี ๒๕๓๕ เกิดเป็นฉบับพากย์ไทย กับฉบับพากย์อังกฤษแยกต่างหากกัน จนกระทั่งคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติได้ขอพิมพ์ทั้งสองพากย์รวมเป็นเล่มเดียวกันเมื่อกลางปี ๒๕๓๗

ใกล้กันนั้น Mr. Bruce Evans ชาวออสเตรเลีย และ Mr. Jourdan Arenson ชาวอเมริกัน มีฉันทะอยากจะให้เรื่อง Buddhist Economics ครอบคลุมเนื้อหาธรรมด้านเศรษฐกิจที่มีในงานเล่มอื่นของผู้เรียบเรียงด้วย จึงได้ขออนุญาตขยายหนังสือ Buddhist Economics นั้น โดยได้ร่วมกันเลือกแปลเนื้อหาบางตอนจากผลงานของผู้เรียบเรียง ๕ เรื่อง ในหนังสือ ๔ เล่ม นำมาจัดร้อยเรียงให้กลมกลืนต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน

เรื่องบางส่วนที่รวมจากหนังสือ ๔ เล่มนั้น มาจาก Buddhist Economics ฉบับเก่า หนังสือพุทธธรรม คำบรรยายเรื่อง “ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย” (ยังต้องค้นหา พ.ศ. ที่พูด) และข้อเขียนเมื่อครั้งไปเป็นวิทยากรที่ Harvard University ซึ่งได้บรรยายในการประชุมทางวิชาการที่ University of California at Berkeley เมื่อปี 1981 เรื่อง “Foundations of Buddhist Social Ethics” ที่ผู้จัดพิมพ์ในอเมริกาขอนำไปพิมพ์เป็น Introduction ของหนังสือ Ethics, Wealth and Salvation (พิมพ์เผยแพร่โดย University of South Carolina Press ในปี 1990)

ผลงานใหม่นี้ ผู้รวบรวมทั้งสองจัดทำเป็น 2nd edition ของหนังสือชื่อเดิมคือ Buddhist Economics แต่เติมชื่อรองลงไปว่า A Middle Way for the market place และมูลนิธิพุทธธรรมได้ขออนุญาตพิมพ์เผยแพร่ในช่วงกลางปี ๒๕๓๗

ถึงตอนนี้จึงมี Buddhist Economics ๒ ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาตรงและเท่ากับพากย์ไทยเดิมเฉพาะฉบับ 1st edition ส่วนฉบับ 2nd edition มีเนื้อหาเพิ่มเติม

ต่อมา สำนักพิมพ์ Fischer Media ในเยอรมนีได้ส่งหนังสือภาษาเยอรมันเล่มหนึ่งมาถวาย พิมพ์ในปี 1999 ชื่อว่า Buddhistische Ökonomie แปลโดย Dr. Mirko Frýba ปรากฏว่าแปลจาก Buddhist Economics นั่นเอง (ฉบับ 2nd edition) ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้ขออนุญาตก่อน คงคิดว่าเจ้าของไม่หวงลิขสิทธิ์ ทำเสร็จแล้วค่อยบอกก็ได้ (ที่จริงไม่หวงคือไม่รับค่าตอบแทน แต่ก็ต้องขอรักษาความถูกต้องแม่นยำ) และต่อมาส่งเอกสารมาให้ดูว่าหนังสือนั้นได้เป็น Top Seller (เรียกตามคำเยอรมัน) แต่ทางเรายังจะต้องตรวจดูอีก

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้เรียบเรียงเองได้ปรับปรุงและเพิ่มเติม เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ฉบับเดิมพากย์ไทย พิมพ์ครั้งที่ ๗ โดยจัดปรับรูปแบบในเนื้อเล่มเดิม และเขียนส่วนเพิ่มต่อท้ายเป็น “บทพิเศษ: หลักการทั่วไปบางประการของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (เศรษฐศาสตร์มัชฌิมา)” ทำให้หนังสือพากย์ไทยที่พิมพ์ใหม่นี้มีเนื้อหามากกว่าฉบับแปลภาษาอังกฤษเดิม แต่ก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับ Buddhist Economics ฉบับ 2nd edition อย่างใดเลย

ต่อมาในปี ๒๕๔๖ บริษัท สื่อเกษตร จำกัด ได้ขอพิมพ์ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ รวมในหนังสือชื่อ สลายความขัดแย้ง นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ โดยคงเนื้อหาตามฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๗ นับว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๘ ส่วนในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ (ที่ ๙/๒๕๔๘) ได้ถือโอกาสปรับปรุงเพิ่มเติมเล็กน้อย โดยเฉพาะในท้าย “บทพิเศษ”

รวมความว่า เวลานี้หนังสือ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ และ Buddhist Economics ของผู้เรียบเรียง มีหลายฉบับ ซึ่งมีเนื้อหามากน้อยไม่เท่ากัน

ขอทำความเข้าใจว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เล่มที่ท่านอ่านถืออยู่นี้ คือฉบับที่ปรับปรุง-เพิ่มเติมในการพิมพ์ครั้งที่ ๗ (๒๕๔๓) และครั้งนี้ (ที่ ๙/๒๕๔๘) ส่วน Buddhist Economics เป็นฉบับเดิม 1st edition ที่แปลโดย J.B. Dhammavijaya (๒๕๓๕)

 

 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ >>

No Comments

Comments are closed.