ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์แห่งยุคอุตสาหกรรม

9 มีนาคม 2531
เป็นตอนที่ 3 จาก 6 ตอนของ

ข้อจำกัด
ของ
เศรษฐศาสตร์แห่งยุคอุตสาหกรรม

๑. การแยกตัวโดดเดี่ยวเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ทีนี้หันกลับมาพูดถึงเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน เศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันนี้ ได้แยกเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจออกมาพิจารณาต่างหาก โดดเดี่ยวจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ของชีวิตมนุษย์ และจากวิทยาการด้านอื่นๆ

เรียกว่าเป็นไปตามแนวของ specialization คือ ความชำนาญพิเศษในทางวิชาการ หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นลักษณะของความเจริญในยุคอุตสาหกรรม

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณากิจกรรมของมนุษย์ เศรษฐศาสตร์จึงได้พยายามตัดนัยหรือแง่ความหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐกิจออกไปเสีย เมื่อจะพิจารณาเรื่องกิจกรรมการดำเนินชีวิตอะไรก็ตามของมนุษย์ ก็จะพิจารณาในแง่เดียว คือแง่ที่เกี่ยวกับวิชาการของตนเองเท่านั้น

การที่เศรษฐศาสตร์แยกตัวออกมาโดดเดี่ยวอย่างนี้นี่แหละ นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งจะต้องมาพิจารณาว่า ทัศนะของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร?

ถ้ามองในแง่ของพุทธศาสนา เศรษฐศาสตร์ไม่แยกโดดเดี่ยวจากความรู้และความจัดเจนด้านอื่นๆ ของมนุษย์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่แยกโดดเดี่ยวจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ในการแก้ปัญหาของมนุษย์

เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์ไม่เป็นศาสตร์ที่เสร็จสิ้นในตัวโดยลำพัง แต่อิงอาศัยกันกับวิทยาการด้านอื่นๆ ในระบบความสัมพันธ์ของชีวิตและสังคม ถ้ามีกิจกรรมอันใดอันหนึ่งขึ้นมา เราก็สามารถมองได้หลายแง่ ยกตัวอย่างเช่น การโฆษณา

การโฆษณาเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏในสังคม และเป็นกิจกรรมที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจได้แน่นอน ในแง่ของเศรษฐกิจนั้น การโฆษณาเป็นการชักจูงใจให้คนมาซื้อของ ซึ่งจะทำให้ขายของได้ดีขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนทำให้ของนั้นแพงขึ้นไปด้วย

ทีนี้ ถ้าพิจารณาในแง่สังคม การโฆษณาก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยมของสังคมด้วย โดยที่ว่าคนที่จะโฆษณานั้นเขามักจะอาศัยค่านิยมของสังคมนั้นเอง มาเป็นเครื่องช่วยในการที่จะจัดวิธีการโฆษณาให้ดึงดูดใจคนโดยสัมพันธ์กับจิตวิทยา คือใช้จิตวิทยาสังคมเป็นเครื่องมือเอาค่านิยมไปใช้ในทางเศรษฐกิจ

ในทางจริยธรรม การโฆษณาก็มีความหมายเหมือนกัน เช่นอาจจะต้องคิดว่า วิธีการโฆษณาของบริษัท หรือกิจการ หรือธุรกิจนั้น เป็นการชักจูงให้คนมัวเมาในวัตถุมากขึ้นหรือไม่ อาจจะมีผลไม่ดีทางจิตใจอะไรบ้าง หรืออาจจะใช้ภาพที่ไม่เหมาะไม่ควร ทำให้เกิดผลเสียทางศีลธรรมอย่างไร

ทางฝ่ายการเมืองก็มีเรื่องต้องพิจารณาว่า จะมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับการโฆษณานี้ เช่นว่าจะควรควบคุมหรือไม่อย่างไร เพื่อผลดีในทางเศรษฐกิจก็ตาม หรือในทางศีลธรรมก็ตาม

แม้แต่ในทางการศึกษาก็ต้องเกี่ยวข้อง เพราะอาจจะต้องพยายามหาทางสอนคนให้รู้เท่าทัน ให้พิจารณาการโฆษณาอย่างมีวิจารณญาณว่า ควรจะเชื่อคำโฆษณาแค่ไหน ซึ่งเมื่อให้การศึกษาดีแล้ว ก็มีผลย้อนกลับมาทางเศรษฐกิจอีก ทำให้คนนั้นมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นในการที่จะซื้อข้าวของเป็นต้น

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า กิจกรรมต่างๆ ในสังคมมนุษย์นั้นมีแง่พิจารณาหลายแง่ ซึ่งสัมพันธ์โยงกันไปหมด จะพิจารณาแง่หนึ่งแง่เดียวไม่ได้

Specialization หรือความชำนาญพิเศษในวิทยาการเฉพาะแง่ใดแง่หนึ่งนั้น ความจริงก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ตราบเท่าที่เรายังไม่ลืมความมุ่งหมายเดิม กล่าวคือ การที่เรามีกิจกรรมหรือวิทยาการพิเศษต่างๆ ขึ้นมานั้น ก็เพื่อเป็นส่วนร่วมกันในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์

ถ้าเรากำหนดขอบเขตของตัวเองให้ดี กำหนดจุดที่เป็นหน้าที่ของตัวเองให้ดี ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง และกำหนดจุดที่จะประสานกับวิทยาการสาขาอื่นๆ ให้ดีแล้ว ก็จะเป็นการร่วมกันทำงานในการแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

จุดผิดพลาดก็อยู่ที่ว่า จะเกิดความลืมตัว นึกว่าวิทยาการของตัวเองนั้นแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หมด ถ้าถึงอย่างนั้นแล้ว ก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้น และจะแก้ปัญหาไม่สำเร็จด้วย

เมื่อยอมรับกันอย่างนี้แล้ว ข้อสำคัญก็อยู่ที่จะต้องจับจุดให้ได้ว่า เศรษฐศาสตร์นี้จะโยงต่อกับศาสตร์ หรือวิทยาการอื่นๆ หรือกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ที่จุดไหน

เช่นว่า เศรษฐศาสตร์จะเชื่อมโยงกับการศึกษาที่จุดไหน จะเชื่อมโยงกับจริยธรรมที่จุดไหน ในการร่วมกันแก้ปัญหาของมนุษย์

ถ้าจับอย่างนี้ได้ ก็มีทางที่จะทำให้การที่ตนเป็นศาสตร์วิทยาที่ชำนาญพิเศษโดยเฉพาะนั้น เกิดประโยชน์ขึ้นอย่างแท้จริง

การที่ชูมาเกอร์พูดว่า ในเมื่อสัมมาอาชีวะเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของมรรคมีองค์ ๘ ก็ทำให้เห็นว่าจะต้องมี Buddhist economics คำของชูมาเกอร์นี้ยังมีความหมายแฝงต่อไปอีกด้วย คือ

ข้อที่ ๑ แสดงว่า สัมมาอาชีวะนั้นมีความสำคัญมาก หรือว่าเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในทางพุทธศาสนาจึงได้จัดเป็นองค์มรรคขึ้นมาข้อหนึ่ง แสดงว่าพระพุทธศาสนายอมรับความสำคัญของเศรษฐกิจ ยกให้เป็นองค์มรรคข้อหนึ่งเลยทีเดียว

แต่ ข้อที่ ๒ มองในทางกลับตรงกันข้าม ก็มีความหมายว่า สัมมาอาชีวะ หรือเรื่องราวทางเศรษฐกิจนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่งในบรรดาองค์ประกอบหลายอย่างของวิถีชีวิตที่ถูกต้องที่จะแก้ปัญหาของชีวิตได้ ซึ่งในทางพุทธศาสนานั้นก็ได้บอกไว้ว่า มีองค์ประกอบถึง ๘ ประการด้วยกัน

๒. ไม่เป็นอิสระจากจริยธรรม แต่ไม่ใส่ใจจริยธรรม

ในบรรดาองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของมนุษย์ซึ่งมีหลายอย่างนั้น ในที่นี้จะยกขึ้นมาพูดสักอย่างหนึ่ง คือเรื่อง จริยธรรม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระในฐานะที่เป็นบุคคลผู้ทำหน้าที่ทางจริยธรรมมากสักหน่อย

เรามาพิจารณาโดยยกเอาจริยธรรมเป็นตัวอย่างว่า จริยธรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น มีผลสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างไร

โดยทั่วไป เราก็มองเห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรื่องจริยธรรมนั้น มีความหมายสำคัญต่อเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

แต่ในที่นี้ จะขอให้เรามายอมเสียเวลากันสักนิดหน่อย ดูตัวอย่างบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า จริยธรรมนั้นมีความสัมพันธ์และสำคัญต่อเรื่องเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์อย่างไร

สภาพทางจริยธรรมย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ยกตัวอย่าง เช่นว่า

ถ้าท้องถิ่นไม่ปลอดภัย สังคมไม่ปลอดภัย มีโจรผู้ร้ายมาก มีการลักขโมย ปล้นฆ่า ทำร้ายร่างกายกันมาก ตลอดกระทั่งว่าการคมนาคมขนส่งไม่ปลอดภัย ก็เห็นได้ชัดว่า พ่อค้าหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ จะไม่กล้าไปตั้งร้าน ไม่กล้าไปลงทุน คนก็อาจจะไม่กล้าเดินทางไปเที่ยว ชาวต่างชาติก็ไม่กล้าที่จะมาทัศนาจร อะไรอย่างนี้ ผลเสียทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่มองเห็นได้ง่าย

ในการโดยสารรถยนต์อย่างในกรุงเทพฯ ถ้าคนโดยสารซื่อสัตย์ คนเก็บตั๋วซื่อสัตย์ คนรถซื่อสัตย์ นอกจากว่ารัฐจะได้เงินเข้าเป็นผลประโยชน์ของรัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ก็อาจจะทุ่นเงิน ประหยัดทรัพย์ ไม่ต้องมาเสียเงินจ้างคนคุม นายตรวจ ตลอดจนกระทั่งว่าบางทีไม่ต้องมีคนเก็บตั๋วก็ได้ เพราะใช้วิธีของความซื่อสัตย์ อาจจะให้จ่ายตั๋วใส่ในกล่องเอง อะไรทำนองนี้

ในเรื่องของบ้านเมืองโดยทั่วไป ถ้าพลเมืองเป็นคนมีระเบียบวินัย ช่วยกันรักษาความสะอาด รัฐก็อาจจะไม่ต้องเสียเงินมาก เพื่อจ้างคนกวาดขยะจำนวนมากมาย และการใช้อุปกรณ์ก็สิ้นเปลืองน้อย ทำให้ประหยัดเงินที่จะใช้จ่าย

ในทางตรงข้ามหรือในทางลบ พ่อค้าเห็นแก่ได้ ต้องการลงทุนน้อย แต่ให้ขายของได้ดี ใช้ส่วนประกอบที่ไม่ได้มาตรฐานปรุงอาหาร เช่นใช้สีย้อมผ้าใส่ในขนมเด็ก หรือใช้น้ำส้มที่ไม่ใช่น้ำส้มสายชูจริง แต่เป็นน้ำกรด หรือใช้น้ำยาประสานทอง ใส่ในลูกชิ้นเด้ง อะไรทำนองนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดอันตราย มีผลเสียต่อสุขภาพของคน

เมื่อคนเสียสุขภาพแล้ว ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองในการรักษาพยาบาลคนนั้นอีก แล้วเราก็จะต้องใช้จ่ายเงินมากมายในการตรวจจับและดำเนินคดี นอกจากนั้น คนที่เสียสุขภาพแล้ว ก็เสียประสิทธิภาพในทางแรงงาน ทำให้การผลิตลดลงหรือเสื่อมเสียไปอีก

พ่อค้าที่เห็นแก่ได้อย่างเดียวนั้น ทำการในขอบเขตกว้างขวางออกไป โดยปลอมปนสินค้าที่ส่งไปขายต่างประเทศ ก็อาจจะทำให้สูญเสียความไว้วางใจ ในที่สุดผลเสียหายทางเศรษฐกิจก็สะท้อนกลับมา คืออาจจะสูญเสียตลาดการค้าขายในต่างประเทศ เสียรายได้ที่จะเข้าประเทศ

พ่อค้าที่เห็นแก่ได้นั้น เมื่อทำธุรกิจในระบบการแข่งขันเสรี ก็อาจจะทำให้การค้าเสรีกลายเป็นไม่เสรีไป ด้วยความเห็นแก่ได้ของตัวเอง โดยใช้วิธีแข่งขันนอกแบบ ทำให้การแข่งขันเสรีนำไปสู่ความหมดเสรีภาพ เพราะอาจจะใช้อิทธิพล ทำให้เกิดการผูกขาดในทางตลาดขึ้น อาจจะเป็นการทำให้หมดเสรีในแบบ หรือหมดเสรีนอกแบบก็ได้

หมดเสรีนอกแบบ ก็เช่นว่า ใช้เงินจ้างมือปืนรับจ้าง ฆ่าผู้แข่งขันในทางเศรษฐกิจเสีย อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็หมดเสรีเหมือนกัน แต่หมดเสรีนอกแบบ บางทีในตำราเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้เขียนไว้ด้วยซ้ำ

ในทางต่างประเทศ บริษัทต่างประเทศส่งยาที่ห้ามขายในประเทศของตนเข้ามาขายในประเทศด้อยพัฒนา ก็เกิดเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน เสื่อมเสียคุณภาพและประสิทธิภาพของแรงงานในทางเศรษฐกิจ และเสียค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น สิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ

ในอีกด้านหนึ่ง พ่อค้าโฆษณาเร้าความต้องการให้คนอยากซื้อสินค้า ก็สิ้นเปลืองค่าโฆษณา เอามาบวกเข้าในต้นทุน ทำให้สินค้าแพงขึ้น คนก็พากันซื้อสินค้าทั้งที่ไม่จำเป็น และแพงโดยไม่จำเป็นด้วย มีความฟุ่มเฟือย ใช้ทิ้งใช้ขว้าง โดยไม่คุ้มค่า บางทีใช้เดี๋ยวหนึ่งก็เปลี่ยน เดี๋ยวหนึ่งก็เปลี่ยน

อันนี้ก็เป็นความสิ้นเปลืองในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาสัมพันธ์กับค่านิยมของคนที่ชอบอวดโก้ ชอบอวดฐานะ ทำให้พ่อค้าได้โอกาสเอาไปใช้ประโยชน์ เอากลับมาหาเงินจากลูกค้าอีก

คนที่มีค่านิยมชอบอวดโก้ อวดฐานะ ก็อาจจะซื้อสินค้าที่แพงโดยไม่จำเป็น โดยไม่พิจารณาถึงคุณภาพ เอาความโก้เก๋นี้มาเป็นเกณฑ์ ทั้งๆ ที่แพงก็ซื้อเอามา

ยิ่งกว่านั้น คนจำนวนมากในสังคมของเรา ซึ่งชอบอวดโก้แข่งฐานะกัน พอมีสินค้าใหม่เข้ามา แต่เงินยังไม่พอ ก็รอไม่ได้ ต้องรีบกู้ยืมเงินเขามาซื้อ เป็นหนี้เขา ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงในทางเศรษฐกิจ เสร็จแล้วตัวเองก็มีฐานะแย่ เศรษฐกิจของชาติก็แย่ ดุลการค้าของประเทศก็เสียเปรียบเขาไป

ฉะนั้น ค่านิยมของคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียดุลการค้าระหว่างประเทศ

ค่านิยมไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจโดยตรง แต่มีผลต่อเศรษฐกิจมาก

คนในวงการธุรกิจคนหนึ่งเคยพูดให้ฟังว่า ถ้าเห็นพี่น้องชาวซิกส์คนหนึ่งนั่งรถมอเตอร์ไซค์ ให้สันนิษฐานได้เลยว่ามีเงินล้าน ถ้าหากเห็นพ่อค้าชาวซิกส์นั่งรถเก๋ง ให้สันนิษฐานว่ามีเงินเป็นสิบเป็นร้อยล้าน

แต่ถ้าเห็นคนไทยนั่งรถมอเตอร์ไซค์ ท่านลองไปบ้านนอกดู ๕๐% อาจจะกู้ยืมเงินเขามาซื้อ นี่ก็เป็นเรื่องของค่านิยมเหมือนกัน

ทีนี้ ถึงแม้นั่งรถยนต์ก็เหมือนกัน บางทีมีเงินไม่เท่าไรหรอกก็ไปกู้ยืมเขามา หรือใช้ระบบผ่อนส่ง เราก็เลยมีรถเก๋งนั่งกันเกร่อไปหมด แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดมาก จราจรติดขัดมากก็มีผลเสียทางเศรษฐกิจอีก ผลที่สุดมันวุ่นกันไปหมด เรื่องทางสังคมกับเศรษฐกิจนี้หนีกันไม่พ้น

เรื่องค่านิยมอวดเด่นอวดโก้ถือหน้าถือตานี้ ในสังคมไทยเรามีเรื่องพูดได้มาก

คนไทยบางคนทั้งๆ ที่มีเงินมีฐานะดีพอสมควร แต่จะตีตั๋วเข้าไปดูการแสดงเพียงค่าตั๋ว ๒๐ บาท หรือ ๑๐๐ บาท เสียไม่ได้ ต้องการจะแสดงว่าฉันมีอิทธิพล ก็ไปหาทางเข้าดูฟรี ไปเอาบัตรเบ่ง วางโต อวดโก้เข้าดูฟรี ไม่ยอมเสียเงิน ๒๐ บาท หรือ ๑๐๐ บาท

แต่คนๆ เดียวกันนี้แหละ อีกคราวหนึ่ง ต้องการแสดงความมีฐานะมีหน้ามีตา จัดงานใหญ่โตเลี้ยงคนจำนวนมากมาย เสียเงินเป็นหมื่นเป็นแสนเสียได้

ลักษณะจิตใจหรือคุณค่าทางจิตใจแบบนี้ มีผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งบางทีนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเข้ามาเมืองไทย เจอเข้าแล้ว ต้องขออภัย พูดว่า หงายหลังไปเลย คือแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตก เพราะว่ามาเจอลักษณะนิสัยจิตใจและพฤติกรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอเข้าแบบนี้แล้วคิดไม่ทัน ไม่รู้จะแก้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ในเรื่องเศรษฐกิจนี้ เราจะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆ (ทางสังคมซึ่งโยงกับจิตใจ) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเหล่านี้ด้วย

โดยเฉพาะไม่ควรลืมที่จะย้ำว่า เรื่องศรัทธาความเชื่อต่างๆ มีผลในทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก

เราต้องมีความเชื่อถือต่อธนาคาร มีความเชื่อถือตลาดหุ้น ถ้าเกิดความไม่เชื่อถือ หมดศรัทธาเมื่อไร บางทีตลาดหุ้นแทบจะล้มเลย ธนาคารบางทีก็ล้มไปได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น การมีศรัทธาก็ดี การเชื่อแม้แต่คำโฆษณาก็ดี จึงมีผลต่อพฤติกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

แล้วซ้อนเข้าไปอีก ความมีศรัทธาก็ดี ความหมดศรัทธาก็ดี ในหลายกรณี เป็นอาการที่ปลุกเร้ากันขึ้น เช่น ด้วยการโฆษณา เป็นต้น

ในวงงานของเรา ถ้านายงานวางตัวดี มีความสามารถหรือมีน้ำใจ ลูกน้องรักใคร่ศรัทธา ลูกน้องมีความสามัคคี ขยัน ตั้งใจทำงาน ก็ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น

ถ้านายจ้างนั้นมีความดีมาก ลูกน้องรักใคร่เห็นใจ บางทีกิจการของบริษัทจะล้ม ลูกน้องก็พากันเสียสละช่วยกันทุ่มเททำงานเต็มกำลังเพื่อกู้ฐานะของบริษัท ไม่หลีกหนีไป แม้กระทั่งยอมสละค่าแรงงานที่ตนได้ก็มี แทนที่จะเรียกร้องเอาอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ภาวการณ์ยังขึ้นต่อเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่ต่างกันในสังคมนั้นๆ อีกด้วย

ฉะนั้น คุณค่าทางจิตใจเหล่านี้จึงเป็นตัวแปรในทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น ซึ่งเราก็เห็นกันชัดๆ ว่า ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความรักงาน ความตรงต่อเวลา มีผลต่อสิ่งที่เราเรียกว่า productivity คือการเพิ่มผลผลิต รวมทั้ง efficiency คือความมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก

ในทางตรงข้าม ความเบื่อหน่าย การคดโกง ทุจริต ความรู้สึกแปลกแยก ท้อถอย ความขัดแย้ง แม้แต่ความกลุ้มใจกังวลในเรื่องส่วนตัว ก็มีผลลบต่อ productivity ทำลายการเพิ่มผลผลิตนั้นได้ เรื่องนี้ไม่จำเป็นจะต้องพรรณนา

ในวงกว้างออกไป เกี่ยวกับลัทธิชาตินิยม ความรู้สึกชาตินิยม ถ้าปลูกฝังให้มีขึ้นในคนได้ ก็อาจจะทำให้คนในชาตินั้น ไม่ยอมซื้อของนอกใช้ ทั้งๆ ที่ว่าของนั้นดี ล่อใจให้อยากจะซื้อ อยากจะบริโภค เขาจะสลัดความต้องการส่วนตัวได้ เพื่อเห็นแก่ความยิ่งใหญ่แห่งชาติของตน จะใช้แต่ของที่ผลิตในชาติ และตั้งใจช่วยกันผลิต เพื่อให้ชาติของตนมีความเจริญรุ่งเรือง มีความเป็นเอก มีความยิ่งใหญ่

จนกระทั่ง บางทีถึงกับว่ารัฐบาลต้องชักชวนให้คนในชาติหันไปซื้อของต่างประเทศก็มี เช่นอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น

ชาตินิยมนี้ ก็เป็นเรื่องของอาการทางสังคมที่แสดงออกแห่งคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.