— ข้อคิดบางประการที่ควรพิจารณาก่อน

9 สิงหาคม 2512
เป็นตอนที่ 8 จาก 24 ตอนของ

ข้อคิดบางประการที่ควรพิจารณาก่อน

เกี่ยวกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจการต่างๆ ในยุคที่บ้านเมืองก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ รับกับความเจริญแบบตะวันตกนั้น ความจริงก็มิใช่ว่าพระสงฆ์จะไม่มีการเคลื่อนไหวบทบาทเสียเลย แรกทีเดียวคณะสงฆ์ก็มีเค้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือนกัน ที่เห็นชัดคือ พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัว ที่จะให้พระสงฆ์เป็นกำลังสำคัญในการจัดการศึกษาแบบใหม่ของชาติ กิจการสำคัญที่ทรงริเริ่มขึ้นในด้านการคณะสงฆ์ ขอกล่าวถึงในที่นี้ ๓ อย่าง คือ

๑. การเริ่มการศึกษาแผนใหม่ โดยการตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด อาราธนาพระเป็นผู้สอนและเป็นผู้ดำเนินการ เริ่มแต่มูลศึกษาและประถมศึกษา และทรงฝากความหวังไว้เป็นอันมาก ที่จะให้พระสงฆ์เอาธุระและเป็นกำลังสำคัญในการนี้1

๒. การออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งนอกจากมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดการปกครองสังฆมณฑลให้เป็นแบบแผนเรียบร้อย คู่กันกับการปกครองฝ่ายพระราชอาณาจักรที่ได้แก้ไขจัดไว้ก่อนแล้ว หลักการที่สำคัญยิ่งก็คือ จะให้พระสงฆ์ได้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้การศึกษาที่ทรงริเริ่มจัดไว้แล้ว สอดคล้องและได้กำลังจากสายการปกครอง เป็นแบบแผนยิ่งขึ้น ข้อนี้เห็นได้ชัดจากบทบัญญัติมาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ. นั้น ไม่ว่ามาตราใดที่ว่าด้วยเรื่องหน้าที่เจ้าคณะระดับต่างๆ จะต้องกำหนดหน้าที่ในการดูแลจัดการศึกษาไว้ด้วย2 กรณีเช่นนี้นับเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของ พ.ร.บ. นี้ ที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับต่อๆ มา

๓. การทรงสถาปนาสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ขึ้น ๒ แห่ง คือ ทรงสถาปนามหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระราชบิดา และทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นที่เฉลิมพระเกียรติของพระองค์เอง3

การที่ทรงตั้งสถาบันทั้ง ๒ นี้ขึ้น มีหลักฐานแน่ชัดว่า ทรงมุ่งหมายจะปรับปรุงระบบการศึกษาปริยัติธรรมให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนวิชาการแผนใหม่ด้วย ดังจะเห็นได้จากข้อความในประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ฯ ว่า “เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรม และวิชาชั้นสูงสืบไปภายหน้า” คำว่าวิชาชั้นสูงในที่นี้ ตามที่ปรากฏในหลักฐานการใช้ในสมัยนั้น ตรงกับคำว่าอุดมศึกษา4 และที่ชัดยิ่งกว่านั้นคือ มีระบุไว้ในโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ ด้วยว่า จะให้สถาบันทั้ง ๒ นี้ เป็นวิทยาลัยหนึ่งๆ อยู่ในรัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย5

อย่างไรก็ตาม บทบาทของพระสงฆ์ในการจัดการศึกษาตามข้อที่ ๑ และ ๒ นั้น ไม่ปรากฏว่าได้เจริญก้าวหน้าเป็นหลักฐานมั่นคงยั่งยืน กลับปรากฏว่าบทบาทนี้ค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเกือบจะไม่เหลือเลย6

ส่วนบทบาทในข้อ ๓ ก็เป็นเพียงโครงการ ไม่ได้จัดดำเนินการขึ้นเป็นรูปแท้จริง ตลอดเวลา ๕๐ ปี นับแต่เริ่มตั้งขึ้นมา ความเป็นเช่นนี้ อาจเกิดจากสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ หรือทุกข้อประกอบกัน คือ

๑. ไม่สามารถแก้ทัศนคติเดิมของพระสงฆ์ต่อวิชาการสมัยใหม่ได้ พระสงฆ์จึงไม่สนใจ ไม่เอาธุระจริงจังในงานนี้ เป็นเหตุให้งานไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

๒. นโยบายการศึกษาในรัชกาลต่อมา คือสมัย ร.๖ เป็นไปในทางแยกการศึกษาออกจากวัด ซึ่งจะเห็นได้จากการแยกการศึกษาฝ่ายปริยัติธรรม และการศึกษาฝ่ายบ้านเมืองออกจากกัน ย้ายกรมธรรมการไปสังกัดกระทรวงวัง เปลี่ยนกระทรวงธรรมการเดิมเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อได้แยกการศึกษาสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะออกไปต่างหากแล้ว นโยบายการศึกษาของชาติที่ปรากฏในโครงการและแผนการศึกษาชาติต่อมาทุกฉบับ ก็ได้กำหนดไว้เฉพาะการศึกษาสำหรับราษฎรอย่างเดียว ไม่กำหนดการศึกษาฝ่ายสงฆ์เข้าไว้ด้วย ปล่อยให้แยกออกไปอยู่ในความรับผิดชอบของคณะสงฆ์ดำเนินการเป็นเอกเทศ ไม่อยู่ในแผนการศึกษารวมของชาติ และแม้ในด้านการศึกษาสำหรับราษฎรที่เคยให้พระสงฆ์มีบทบาทในการเข้าเรียน สอนและดำเนินการได้ ถึงคราวนี้ ก็ไม่กล่าวถึงบทบาทของพระสงฆ์ไว้ในแผนการศึกษาชาติอีกเลย

๓. นโยบายการศึกษาใหม่ มุ่งจัดการศึกษาในทางแผนเส้นราบ ตามคติว่า “ไม่ต้องปั้นเทวดาก็ได้ เมื่อยกมนุษย์ขึ้นทั้งกระบิ ก็ได้เทวดาเอง”7 นโยบายนี้ อาจทำให้แรงมุ่งหมายในการจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาหย่อนกำลังลงก็ได้

การไม่ยอมรับรู้ในวิชาการสมัยใหม่ ทำให้ระบบการศึกษาของพระสงฆ์ด้อยความสำคัญลง และเกียรติของสถาบันสงฆ์ต่ำต้อยลงอย่างไรนั้น จะเห็นได้ชัดโดยการเทียบเกียรติและฐานะของผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรม เมื่อเริ่มจะมีการศึกษาแผนใหม่กับสมัยปัจจุบัน เมื่อระยะ ๕๐-๗๐ ปีมาแล้ว พระสงฆ์ที่ได้เป็นเปรียญแม้เพียงชั้นต้น ก็จะเป็นที่สนใจ เป็นที่รู้จัก และนิยมนับถือของประชาชนทั่วไป หากลาเพศไป ก็จะเป็นผู้มีเกียรติในสังคม ได้รับการยกย่องเชื้อเชิญให้ดำรงฐานะ หรือตำแหน่งงานอันสูง (ขอให้ดูสถิติเปรียญรัชกาลที่ ๕ ข้างล่าง) แต่พร้อมกับที่สังคมภายนอกก้าวไปข้างหน้า และสังคมสงฆ์หยุดนิ่งอยู่กับที่ ฐานะของผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรมก็ถูกลดต่ำลงๆ จนเห็นได้ชัดในขณะนี้ว่า แม้แต่ผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรมชั้นสูงสุดในปัจจุบัน ก็ไม่มีเกียรติเท่าผู้สอบได้ชั้นต่ำสุดในสมัยก่อนโน้น ถึงยังดำรงเพศอยู่ก็ไม่เป็นที่รู้จักสนใจ ยิ่งถ้าละเพศไป ก็ยิ่งไม่ปรากฏ กลับจะเป็นที่เพ่งมองไปในทางหยามด้วย ถึงกับมักหาทางปิดบังประวัติเดิมของตน กลัวคนอื่นจะรู้ว่าไปจากสถาบันสงฆ์ ฐานะของบุคคลที่ไปจากสถาบันสงฆ์ ย่อมเป็นเครื่องหมายฐานะของตัวสถาบันเองด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เกียรติและฐานะของสถาบันสงฆ์ จึงไม่มีความหมายสำคัญอะไรต่อสังคม แม้แต่ชื่อตัวระบบการศึกษาเอง ก็หาคนเข้าใจได้ยาก

ความรู้สึกอย่างหนึ่ง ที่คอยต้านทานการเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิชาการสมัยใหม่ ก็คือความรู้สึกว่า พระสงฆ์ที่เรียนรู้วิชาการแบบใหม่แล้วจะสึก หรือกำลังเรียนเพื่อเตรียมตัวหาทางออกไปประกอบอาชีพในเพศคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นความรู้สึกของผู้ชอบเป็นอยู่ด้วยสักแต่ว่าความรู้สึก ไม่ยอมรับผิดชอบในการคิดหาเหตุผล และมองสภาพความจริงในสิ่งใดๆ ความจริงการเล่าเรียนวิชาการ ไม่ว่าแบบเก่า แบบใหม่ หรือแบบใดก็ตาม จะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ก็อยู่ที่การตั้งเจตนาของผู้นั้น หากมุ่งหน้าเอาเพศบัง แอบหาประโยชน์ตนถ่ายเดียว ก็ไม่เหมาะสม ควรตำหนิทั้งสิ้น แต่หากเล่าเรียนด้วยจิต เป็นกลางตามเหตุผล ถึงจะสึกจะอยู่ในภายหลัง ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับสังคมไทยที่ได้สร้างประเพณีบวชเรียนขึ้นมาเพื่อเตรียมคนให้แก่สังคมของตน และยังไม่ได้ยกเลิกประเพณีนั้น

ความจริงเรื่องการบวชสึกของผู้มีความรู้ หรือไม่มีความรู้ เป็นเรื่องสามัญเสมอกันมาโดยตลอด ผู้พูดส่วนมากมักพูดตามความรู้สึก มากกว่าที่จะได้พิจารณาหลักฐานข้อเท็จจริง ในแง่หนึ่ง ผู้มีความรู้ลาเพศไป คนก็รู้สึก ในเวลาเดียวกัน ผู้ไม่มีความรู้ หรือรู้ไม่ถึงขั้นที่คนสนใจ สึกไปมากมาย แต่ไม่สะกิดความรู้สึกของคน อีกแง่หนึ่ง ในการศึกษาปริยัติธรรมระบบเก่าด้วยกันเอง สมัยก่อนนี้ลาสิกขามากมายอย่างไร คนก็ลืมนึกถึง แต่เพ่งปัจจุบันนี้ถ่ายเดียว และอีกแง่หนึ่ง เมื่อในปัจจุบันนี้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาในระบบใหม่แล้ว คนก็เพ่งอีกว่าผู้เรียนแบบใหม่ เรียนจบแล้วสึก โดยไม่ได้พิจารณาว่าผู้ศึกษาจบระบบเก่าเป็นอย่างไร

ในที่นี้ จะแสดงสถิติการลาสิกขา เทียบระหว่างผู้ศึกษาตามแบบเก่าด้วยกัน แต่ต่างสมัย คือครั้งโบราณ กับปัจจุบันนี้อย่างหนึ่ง และเทียบระหว่างผู้ศึกษาตามแบบเก่ากับแบบใหม่ในสมัยปัจจุบันนี้ด้วยกันอีกอย่างหนึ่ง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๓ ถึง ๒๔๓๓ รวม ๒๐ ปี มีการสอบพระปริยัติธรรมรวม ๕ ครั้ง จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓8 คือ ๓๐ ปีต่อมา ได้สถิติเกี่ยวกับการลาสิกขา ดังนี้

พระภิกษุสามเณรสอบได้เป็นเปรียญทั้งหมด ๒๔๖ รูป9

ลาสิกขา ๑๔๗ รูป

คงอยู่ ๙๙ รูป10

ผู้ลาสิกขาคิดเป็น ๕๙.๗ %

สถิติผู้สอบ ป.ธ. ๙ ได้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึง ๒๔๙๗ ดังนี้

ผู้สอบได้ ป.ธ. ๙ ทั้งหมด ๗๗ รูป

ลาสิกขา ๔๖ รูป

คงอยู่ ๓๑ รูป

ผู้ลาสิกขาประมาณ ๕๙.๘ %

สถิติผู้สอบ ป.ธ. ๙ ได้ ตามระบบการศึกษาปริยัติธรรมแบบเดิม และผู้จบการศึกษาพุทธศาสตร์บัณฑิต ตามระบบการศึกษาแบบใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง ๒๕๑๒ มีตัวเลขเทียบกันดังนี้

ป.ธ. ๙ สำเร็จ ๘๘ รูป ลาสิกขา ๔๔ รูป

คงอยู่ ๔๓ รูป = ลาสิกขา ๕๐.๖ %

พธ.บ. สำเร็จ ๒๘๘ รูป ลาสิกขา ๑๓๗ รูป

คงอยู่ ๑๕๑ รูป = ลาสิกขา ๔๗.๖ %

ในด้านเกียรติของผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรมในสมัยก่อนสูงเพียงไร พึงดูจากสถิติเปรียญ ๒๔๖ ท่าน ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๓๓ ซึ่งสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓11 ดังนี้

ฝ่ายพระสงฆ์

เป็นสมเด็จพระสังฆราช ๑ ท่าน

สมเด็จพระราชาคณะ ๓ ท่าน

พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ๕ ท่าน

พระราชาคณะชั้นธรรม ๗ ท่าน

พระราชาคณะชั้นเทพ ๔ ท่าน

พระราชาคณะชั้นราช ๑ ท่าน

พระราชาคณะชั้นสามัญ ๑๕ ท่าน

พระครู ๖ ท่าน

ฝ่ายคฤหัสถ์

เป็นเจ้าพระยา ๑ ท่าน

พระยา ๘ ท่าน

พระ ๖ ท่าน

หลวง ๑๐ ท่าน

ขุน ๑๓ ท่าน

อธิบดี (มจ.) ๑ ท่าน

ดร. ๑ ท่าน

กำนัน ๑ ท่าน

ผู้ใหญ่บ้าน ๑ ท่าน

เกี่ยวกับเรื่องการลาสิกขาของพระสงฆ์นี้ ควรได้รับการพิจารณามากว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร และสภาพที่เป็นไปอยู่ มีมูลเหตุมาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ อยู่ในความสนใจของคนมาก และเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของสถาบันสงฆ์และพระศาสนา ในการพิจารณาเรื่องนี้ จะถือเอาความพอใจหรือความอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในใจของตนเองมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงและพิจารณาเหตุผลโดยรอบคอบ และหากจะคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการนี้อย่างไร ก็จะต้องกระทำด้วยความเข้าใจในเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างดีที่สุด

เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติที่ผ่านมา เห็นว่าประเพณีการสึกได้ตามพอใจ มีผลดีเหลือคุ้มผลเสียเป็นอันมาก ซึ่งจะได้พิจารณาต่อไป แต่เบื้องแรกนี้ พึงทราบทัศนคติในทางพระพุทธศาสนาที่มีต่อการสึกเสียก่อน

ตามหลักพระพุทธศาสนา ชาวพุทธมี ๔ ประเภท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือรวมเข้าเป็น ๒ พวกใหญ่ คือ บรรพชิต กับ คฤหัสถ์ การเป็นชาวพุทธไม่จำต้องเป็นภิกษุ ผู้ที่บวชเป็นภิกษุนั้นหมายถึงผู้ที่ต้องการปฏิบัติข้อบัญญัติต่างๆ อย่างมุ่งมั่นแข็งขันจริงจังโดยเต็มที่ เพื่อเข้าถึงจุดหมายของศาสนาให้ทันใจตน ข้อปฏิบัตินี้ย่อมเป็นของยากสำหรับคนทั่วไป ถ้าผู้เข้าบวชแล้วเห็นเหลือกำลังตน ไม่สามารถทำได้ ก็ย่อมต้องถอยคือ ละเพศออกมาเป็นคฤหัสถ์ตามเดิม ซึ่งก็ยังเป็นชาวพุทธอยู่ตามเดิม การบวชและสึก ไม่ใช่การเข้าสู่ศาสนาหรือออกจากศาสนา และไม่ใช่การแสดงออกว่าศาสนาดีหรือไม่ดี แต่เป็นการแสดงความสามารถของบุคคลนั้นเองว่า ทำได้หรือไม่ได้ ยังสู้ต่อไปหรือยอมแพ้ เหมือนการปีนต้นไม้ขึ้นเก็บผลไม้ที่ต้องการ ซึ่งรู้ว่าดีอยู่แล้ว การปีนขึ้นเก็บผลไม้ได้หรือไม่ได้ ไม่แสดงว่าผลไม้นั้นดีหรือไม่ดี แต่แสดงถึงความสามารถของบุคคลนั้นเอง

ทัศนคตินี้ มีพุทธพจน์ยืนยันตามเสียงสรรเสริญของคนนอกศาสนาว่า

“สาวกของพระสมณโคดมเหล่าใด แม้บาดหมางกับเพื่อนพรหมจรรย์แล้ว ลาสิกขาสึกไป สาวกเหล่านั้นก็ยังคงกล่าวสรรเสริญคุณพระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ เป็นแต่ติเตียนตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นว่า เรานี้ถึงจะได้มาบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ แต่ก็ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตได้ เป็นคนไม่มีบุญ มีบุญน้อยเสียแล้ว สาวกของพระสมณโคดมเหล่านั้น ถึงจะ (สึกไป) เป็นอารามิกก็ดี เป็นอุบาสกก็ดี ก็ยังคงประพฤติมั่นอยู่ในเบญจศีล”12

ในด้านผลดีของประเพณีนี้ พอยกตัวอย่างได้ดังนี้

๑. ข้อที่ปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว ก็คือ เป็นการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ที่ให้เสรีภาพในการปฏิบัติธรรมโดยสมัครใจ การสึกของบางคนอาจช่วยให้เขาบรรลุธรรมได้ง่ายขึ้น เพราะให้เกิดประสบการณ์ที่ชักนำเข้าสู่การเข้าใจธรรมได้ดีขึ้น ถ้าไม่สึกอาจเป็นผลเสีย กลายเป็นเสื่อมจากผลที่ต้องการก็ได้ ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่าง ผู้บวชๆ สึกๆ ถึง ๗ ครั้ง และบรรลุอรหัตตผลในที่สุด

๒. การบวชแล้วสึกได้ตามสมัครใจ โดยที่ยังคงได้รับความนับถือยกย่องตามควรนั้น เป็นเครื่องรักษาความบริสุทธิ์ และเสถียรภาพของสถาบันสงฆ์ในประเทศไทยให้คงอยู่ได้ถึงบัดนี้ เพราะการบวชอยู่ได้นั้น ต้องขึ้นกับกำลังศรัทธา และความสามารถของผู้บวชเองดังกล่าวแล้ว การสึกมิได้หมายความว่า บุคคลผู้สึกเป็นคนไม่ดี แต่หมายถึงการคลายความเพียร หมดกำลังความสามารถที่จะทำความดีทางสมณเพศให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วยอมรับและประกาศความไม่สามารถของตนโดยเปิดเผย หยุดยั้งการทำความดีทางสมณเพศไว้เพียงนั้น มีโอกาสออกมาทำความดีทางฆราวาสวิสัยต่อไป แต่ถ้าหมดกำลังความสามารถในทางสมณปฏิบัติแล้ว ยังจำใจ หรือถูกบีบบังคับให้ฝืนครองเพศอยู่อีก ทั้งที่ใจน้อมไปในฆราวาสวิสัยแล้ว ตนเองก็จะไม่ก้าวหน้าในสมณปฏิบัติต่อไป ทั้งจะคอยหาโอกาสทำการต่างๆ ที่ตนปรารถนาในฆราวาสวิสัย ชักนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันสงฆ์ส่วนรวมด้วย

ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้ให้โอกาสแห่งเสรีภาพเช่นนี้แก่ผู้บวชตลอดมา พระสงฆ์ที่มีความสามารถในกิจของฆราวาส เช่น การรบเป็นต้น ก็ได้รับโอกาสให้ออกมารับใช้บ้านเมืองในกิจการที่ตนสามารถนั้น และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี แม้มีความสามารถ ปรารถนาบริหารประเทศชาติให้ก้าวหน้า ก็อาจลาสิกขา ออกมาดำเนินงานนั้นในเพศฆราวาสได้ โดยนัยตรงข้าม ถ้าท่านเหล่านั้น ต้องฝืนทนครองเพศอยู่ ก็จะต้องหาทางดึงบทบัญญัติต่างๆ ทางธรรมวินัยลงมา หรือตีความให้เข้ากับความปรารถนาของตน และในเมื่อมีอำนาจก็จะทำได้ง่าย ด้วยอาศัยกาลเวลายาวนาน การพระศาสนาก็จะเสื่อมทรุดลงโดยลำดับ เหมือนอย่างสภาพที่เกิดขึ้นแล้วแก่พระพุทธศาสนาในหลายประเทศ ซึ่งถึงกับเข้าไปครอบงำกิจการของบ้านเมือง และพระสงฆ์มีชีวิตความเป็นอยู่เยี่ยงชาวบ้านก็มี นับว่าประเพณีนี้ ได้ช่วยให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทย คงความบริสุทธิ์อยู่ได้ โดยการไม่เข้าไปก้าวก่ายในการเมืองเป็นต้น

อย่างไรก็ดี ถ้ามีความจำเป็น หรือมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะแก้ไขสภาพนี้ ให้พระสงฆ์บวชแล้ว ต้องครองเพศไปโดยตลอดให้ได้ ข้อที่จะพึงแก้ไขนั้นจะต้องไม่ใช่แก้ที่การสึก แต่จะต้องแก้ไขที่การบวช โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีการบวช หรือถ้าเป็นไปได้ ต้องห้ามผู้ที่คิดจะสึก หรืออาจจะสึกไม่ให้บวช

๓. ประเพณีการบวชเรียนแล้วสึกได้ เป็นเครื่องรักษาดุลย์แห่งปริมาณของพระสงฆ์ และช่วยให้มีพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถคอยรับช่วงครองวัด และช่วยเหลือกิจการพระศาสนาอยู่สืบต่อกันมาได้ โดยที่สังคมไทยมีประเพณีส่งเสริมการบวช โดยถือว่าเป็นบุญทั้งผู้บวช และผู้จัดการให้บวช ในกรณีนี้ ถ้าสึกไม่ได้ นอกจากจะเกิดผลเสียดังกล่าวในข้อ ๒ แล้ว จำนวนผู้บวชจะต้องล้นประเทศแน่ แต่เพราะมีการสึกได้เช่นกัน จำนวนพระสงฆ์จึงเป็นไปโดยสมดุลย์ แต่ในกรณีนี้ ระยะการอยู่ในสมณเพศของผู้บวชแต่ละคนอาจสั้นมาก จนไม่สามารถรู้จักเข้าใจพุทธศาสนา ไม่สามารถช่วยตนเอง ไม่สามารถทำกิจศาสนา รักษาศาสนา และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมได้ การบวชเรียน คือ บวชแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งวิชาการทางศาสนาและทางโลก ได้ช่วยกระตุ้นให้มีการบวชมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน ก็ช่วยยืดเวลาอยู่ในสมณเพศออกไป ซึ่งอาจจะช่วยหน่วงเหนี่ยวให้บวชอยู่ตลอดไป หรืออย่างน้อยก็ให้มีผู้อื่นได้ศึกษาเล่าเรียนพอสมควร แล้วมาสืบต่อหน้าที่ต่อไป ทำให้มีพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถอยู่ครองวัด ปฏิบัติศาสนกิจ และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมได้

หลักการนี้สำคัญมากเพียงไร จะเห็นได้ชัดจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวกับจำนวนวัดและพระสงฆ์ทั่วประเทศ และคุณวุฒิของพระสงฆ์ที่อยู่ประจำวัดเหล่านั้น ขณะนี้ มีวัดทั่วประเทศกว่า ๒๐,๐๐๐ วัด แต่วัดจำนวนมากขาดพระสงฆ์อยู่ประจำ หรือมีจำนวนน้อยไม่พอแก่ประโยชน์ และที่มีอยู่ก็มักเป็นผู้บวชใหม่ มีพรรษาน้อยยิ่งนัก ทั้งมีวุฒิทางการศึกษาต่ำ หรือไม่มีวุฒิเลย สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในขณะที่ฐานะแห่งระบบการศึกษาของพระสงฆ์ ซึ่งไม่ได้รับการปรับปรุงนั้น ด้อยเกียรติลง จึงหมดหรืออ่อนแรงกระตุ้นให้ประชาชนนิยมการบวชเรียน และซ้ำร้ายระบบการศึกษาที่มีอยู่นั้นยังจำกัดวงแคบ ไม่แพร่หลายทั่วถึง ทั้งไม่ช่วยผู้ศึกษาในการอยู่ด้วยดี หรือเพียงอยู่รอดในสังคมอีกด้วย สภาพจึงยิ่งเสื่อมทรามลงอีกตามกัน

การบวชสึกตามข้อ ๒ นั้น มีลักษณะแง่หนึ่ง เหมือนการร่อนสิ่งที่มีค่า ส่วนการบวชสึกตามข้อ ๓ นี้ มีลักษณะคล้ายการปลูกต้นไม้ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่จะคงไว้ใช้ทำพืชพันธุ์ ส่วนอื่นๆ ก็นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ ต่อไป ตามควรแก่กรณี เหมือนผู้บวชส่วนหนึ่งที่จะเหลือคงอยู่ตลอด สำหรับทำหน้าที่สืบศาสนาโดยสมบูรณ์ ส่วนอื่นๆ ก็นำไปเป็นกำลังของประเทศชาติในเพศคฤหัสถ์ตามความเหมาะสมต่อไป หากมีความจำเป็นหรือปรารถนาจะแก้ไขให้ผู้บวชแล้วต้องคงอยู่ในเพศตลอดไปให้จงได้แล้ว ในกรณีนี้ จะต้องหาวิธีการอย่างอื่นที่ดีกว่ามาทดแทน เพื่อจะให้ได้พระสงฆ์ที่มีคุณภาพจำนวนพอเพียงมาอยู่ประจำ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนจำนวนวัดทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ หรือมิฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนรูปแบบของสถาบันคณะสงฆ์ใหม่ทั้งหมด13

ในเรื่องนี้ มีข้อควรกล่าวถึงไว้เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาอีก ๒ ประการ คือ

๑. ผู้บวชตามประเพณีบวชเรียนนั้น มักบวชแต่อายุยังน้อย โดยที่ตนเองยังไม่เข้าใจเรื่องการบวชและจุดมุ่งหมายในการบวช มิได้ตัดสินใจด้วยตนเอง แต่มีผู้ใหญ่ เช่น บิดามารดา เป็นผู้กำหนดหรือเลือกทางให้เดิน นับว่าผู้บวชเหล่านี้เป็นผลิตผลแห่งประเพณีของสังคม การถูกบีบบังคับให้ต้องบวชอยู่ก็ดี ไม่ให้ได้รับการศึกษาที่ควรได้รับตามสิทธิแห่งสมาชิกในสังคม เพื่อการดำเนินชีวิตด้วยดีในสังคมก็ดี ต้องถือว่าเป็นการบีบคั้น กลั่นแกล้งของสังคม อันไม่เป็นการยุติธรรม

๒. การศึกษาวิชาการต่างๆ ที่ควรศึกษาตามระบบการศึกษาของรัฐ เป็นสิทธิทางสังคมที่ผู้บวชตามประเพณีนี้พึงได้รับหรือไม่ รัฐควรรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ควรกำหนดไว้ในแผนการศึกษารวมของชาติ หรือตัดแยกขาดออกเป็นเอกเทศ ข้อนี้อาจเป็นปัญหาที่ควรได้รับการพิจารณา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวยืนยันได้แน่นอน ก็คือ การศึกษาวิชาการสมัยใหม่ ย่อมเป็นประโยชน์แก่พระสงฆ์นั้นเอง ในการที่จะเข้าใจโลกและชีวิต แล้วสะท้อนไปสู่การเข้าใจธรรม ช่วยให้การศึกษาธรรมได้ผลดียิ่งขึ้น ในเมื่อมีวิธีการศึกษาที่ถูกต้อง ประการหนึ่ง เป็นเครื่องช่วยพระสงฆ์นั้น ให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี และมีเกียรติในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในสมณเพศหรือลาสิกขาไปก็ตาม ประการหนึ่ง เป็นประโยชน์แก่สังคมในเมื่อพระสงฆ์นั้นสามารถช่วยทำงานให้แก่สังคมนั้นได้ในรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เป็นประโยชน์แก่รัฐในฐานะเป็นผู้เพิ่มกำลังในการผลิตได้ ไม่ไปเป็นภาระของสังคมในฐานะผู้ด้อยการศึกษา หรือเพิ่มปัญหาสังคมในฐานะผู้ว่างงาน เป็นต้น และเป็นประโยชน์แก่ตัวศาสนาเอง ในฐานะเป็นพระสงฆ์ที่มีความสามารถน่าเคารพนับถือ หรือเมื่อลาสิกขาไปแล้วก็อยู่ในฐานะผู้ได้รับการศึกษาอบรมดีแล้ว ทั้งในด้านวิชาการและความประพฤติ เป็นตัวแทนเชิดชูสถาบันสงฆ์ได้

ส่วนในด้านผลเสีย ก็ย่อมมีด้วยอย่างแน่นอน เช่น ถ้าระบบการบริหารควบคุมและการศึกษาไม่ดีพอ สถาบันสงฆ์ก็จะมีภิกษุสามเณรที่มากโดยปริมาณแต่ด้อยในคุณภาพ วัดจะกลายเป็นแหล่งแอบอิงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เช่นที่คนของสังคมภายนอกจะเข้ามาอาศัยรับบริการ (ทั้งจากสงฆ์และจากสังคม) โดยไม่สามารถทำหน้าที่ให้บริการแก่สังคมอย่างได้ผล ความประพฤติย่อหย่อนและความเสื่อมโทรมต่างๆ จะเป็นไปอย่างแพร่หลาย พูดง่ายๆ ว่าจะมีแต่การบวชแต่ไม่มีการเรียน สถาบันสงฆ์จะอ่อนแอ แม้ว่าจะมีจำนวนภิกษุสามเณรมากมายก็ตาม นอกจากนั้น ก็เป็นเหตุให้การปฏิบัติเพื่อมุ่งตรงที่จุดหมายสูงสุดของพระศาสนาเลือนลางไปได้โดยง่าย ภิกษุสามเณรจะเหินห่างจากอุดมคติและอุดมการณ์ของพระธรรมวินัย อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวโดยสรุป สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องระลึกไว้คือ การบวชเรียนหรือการบวชเข้ามารับการศึกษาในวัด เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะกลับเข้าไปอยู่และเข้าไปเป็นผู้นำในสังคม หรืออาจเรียกว่าการบวชและการเรียนแล้วมีเรือนนี้ เป็นประเพณีที่สังคมไทยได้สร้างขึ้นและได้ใช้ประโยชน์สืบต่อมาหลายศตวรรษ เมื่อเวลาผ่านไป ประเพณีนี้อาจไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอาจต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือถึงกับล้มเลิกเสียก็ได้ ถ้าหากเวลาที่จะต้องแก้ไขหรือล้มเลิกเช่นนั้นมาถึงแล้ว คนในสังคมไทยควรทำการนี้ด้วยสติสัมปชัญญะ โดยมีความเข้าใจทั้งอุดมคติของพระศาสนาและสภาพความเป็นจริงของสังคม อย่างน้อยต้องรู้ว่า ประเพณีการบวชเรียนนี้ยังกุมชะตากรรมของคนจำนวนมากมายผู้ร่วมอยู่ในสังคมเดียวกับตน และคนเหล่านั้นแทบทั้งหมดล้วนเป็นผู้อยู่ในฐานะด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบ ซึ่งเข้าอาศัยประเพณีนี้โดยไม่ได้รับแจ้งไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า จะมีการแก้ไขเพื่อล้มเลิกประเพณีลงไป การปฏิบัติในเรื่องนี้จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างใดก็ตาม จะต้องคำนึงเสมอ ถึงการช่วยปลดเปลื้องความต่ำต้อยอับจนและไม่ทับถมคนเหล่านั้น แม้แต่การติเตียนหรือประณามคนเหล่านั้น เช่นว่า เข้ามาอาศัยวัดเรียนวิชาออกไปประกอบอาชีพ ถ้ากล่าวว่าคลุมไปโดยมิได้ศึกษาความเป็นมาของบุคคล ก็เป็นการกระทำที่ควรถูกติเตียน เพราะเป็นการกล่าวว่าของคนที่มองเหตุผลด้านเดียว และเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ แม้ถ้าเขาจะยกหลักการทางธรรมมาอ้างยืนยันคำกล่าวของตนอย่างถูกต้อง ก็ควรถูกตำหนิว่า เป็นการอ้างหลักการอันชอบธรรมโดยบุคคลที่ไม่มีน้ำใจเป็นธรรม หากคิดว่าจะแก้ปัญหาสังคม การทำเช่นนี้ก็เป็นการขัดขวางการแก้ปัญหาหรือทำปัญหาสังคมให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่า ไม่เป็นทางแก้ปัญหาสังคมได้แต่อย่างใดเลย หนำซ้ำจะเป็นตัวอย่างที่คอยฟ้องถึงการขาดความลึกซึ้ง ขาดความจริงจัง และขาดความรู้จักตนเอง ที่ทำให้การพัฒนาและการแก้ปัญหาของสังคมเท่าที่เป็นมา ไม่อาจสำเร็จผลสมความมุ่งหมาย

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — บทบาทที่สูญเสียไป— ฐานะและสภาพปัจจุบันของสถาบันสงฆ์ >>

เชิงอรรถ

  1. ดู “เอกสารเรื่องจัดการศึกษาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่รวบรวมจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสครบร้อยปีนับแต่เสวยราชย์ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๑ หน้า ๙ และ ๒๓๖ เป็นต้น
  2. ดู พ.ร.บ. ที่อ้างถึง มาตรา ๑๓, ๒๔, ๒๖, ๓๑ และ ๓๗ และดูประกาศใช้ พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ ประกอบด้วย
  3. ดู ประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๓ รศ. ๑๑๕ หน้า ๒๖๓-๒๖๘
  4. ดู ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ๒๔๓๕-๒๕๐๗ หน้า ๑๗๑
  5. ดู ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ๒๔๓๕-๒๕๐๗ หน้า ๑๒๐
  6. บทบาทที่คงเหลืออยู่ในระยะสุดท้ายคือเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน เช่น เป็นผู้นำในการสร้าง เป็นต้น และการช่วยสอนบ้างเล็กน้อย
  7. ดู ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ๒๔๓๕-๒๕๐๗ หน้า ๒๗๑ และ ๓๓๕
  8. เก็บข้อมูลจากหนังสือ “เปรียญรัชกาลที่ ๕ ภาค ๑” ของหอสมุดแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๖๓
  9. ไม่นับจำนวนเปรียญรามัญ ๑๐ รูป
  10. ในจำนวนผู้ยังคงอยู่ ๙๙ รูปนี้ เป็นผู้ที่ไม่ทราบแน่ว่าลาสิกขาหรือไม่ เพราะยังสอบต่อไปอีก ๓๐ รูป
  11. สำรวจจากหนังสือ “เปรียญรัชกาลที่ ๕ ภาค ๑” พึงทราบว่าจำนวนตำแหน่ง และฐานันดรศักดิ์ ในสถิตินี้ สำรวจตามที่เป็นจริงใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เท่านั้น ในภายหลัง มีผู้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปอีก หรือได้รับตำแหน่งใหม่ก็มี แต่ไม่อาจสำรวจทั่วถึง จึงยุติเพียง พ.ศ. ๒๔๖๓ เท่านั้น
  12. ม.ม. ๑๓/๓๑๘/๓๑๖
  13. ดูสถิติต่างๆ เกี่ยวกับสภาพของสถาบันคณะสงฆ์ ในหัวข้อต่อไป

No Comments

Comments are closed.