สถาบันสงฆ์และความสัมพันธ์กับสังคม

20 กุมภาพันธ์ 2526
เป็นตอนที่ 21 จาก 24 ตอนของ

สถาบันสงฆ์และความสัมพันธ์กับสังคม1

กระผมขอเรียนถามท่านเจ้าคุณเรื่องปัญหาของสถาบันสงฆ์ในปัจจุบัน เพราะเท่าที่สังเกตเห็นว่า การปฏิบัติในปัจจุบันกับพระธรรมคำสอนมันแตกต่างกันมาก

เราต้องแยกความหมายและคุณค่าเดิม ที่มีอยู่ในพระธรรมคำสอน กับความหมายและคุณค่าของสถาบันสงฆ์ที่มีอยู่จริงๆ ในปัจจุบัน เมื่อเห็นครบทั้งสองด้านแล้ว จึงจะเข้าใจเรื่องนี้ได้

การที่เราจะทำอะไรให้เหมาะสมให้ถูกต้อง เราต้องเริ่มจากการรู้จักตัวเอง

เราไม่ค่อยมีความเข้าใจคุณค่าความหมายของพระสงฆ์ในสังคม สังคมของเราในวงกว้าง ไม่รู้จักตัวเอง เรามองดูตัวเองไม่ออก เราจึงคิดไม่แจ่มแจ้ง

ถ้าเราจะเปรียบเทียบสังคมเป็นเหมือนกับตัวเรา สถาบันต่างๆ เปรียบเสมือนอวัยวะส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา ตัวเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ องค์ประกอบแต่ละส่วนก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามส่วนของมัน

ในปัจจุบันท่านเจ้าคุณมีความเห็นว่า สถาบันสงฆ์ควรอยู่ส่วนไหนของสังคม เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ดูเหมือนสถาบันสงฆ์ค่อนข้างจะลอยๆ อยู่อย่างไรพิกล

ทุกส่วนของสังคมก็ต้องมีความเกี่ยวโยงกัน เท่าที่คนเห็นว่าสถาบันสงฆ์ลอยอยู่นั้น เป็นในแง่บทบาท มันมีหน้าที่พิเศษ บทบาทพิเศษ ซึ่งถ้าจะใช้คำพูดอาจจะเรียกว่าเป็นพลังส่วนหนึ่งที่ช่วยกำกับสังคมในแง่ดุลยภาพ

ฐานะเดิมของสถาบันสงฆ์ นี่พูดในอดีต สถาบันสงฆ์มีหน้าที่หลักคือเป็นผู้นำทางปัญญา หน้าที่ของพระตามหลักธรรมก็เป็นหน้าที่ทาง “การแสดงหลักธรรมทั้งหลักความจริงและหลักความประพฤติ”

ความเป็นผู้นำของพระก็คือ การเป็นผู้นำทางปัญญา ซึ่งรวมไปถึงการแนะนำเกี่ยวกับปัญหาในด้านชีวิตประจำวัน แม้แต่ใครจะแต่งงานก็ยังมาปรึกษาขอฤกษ์ยาม หรือคำแนะนำทางจิตใจจากพระที่เคารพนับถือ

แต่ก่อนนี้นักปกครองมีอดีตเป็นลูกศิษย์วัดกันทั้งสิ้น พระก็มีบทบาทสามารถแนะนำสั่งสอนแม้กระทั่งพระมหากษัตริย์

พระแต่ก่อนมีความรู้มีสติปัญญาที่จะแนะนำเขาได้

หน้าที่รองละครับท่าน

เราจะเห็นได้ในสังคมชนบทของเรา วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมใช่ไหม เมื่อเป็นผู้นำทางปัญญา ชาวบ้านมีเรื่องอะไรก็ต้องไปปรึกษาทุกอย่าง ในชีวิตประจำวัน แม้เรื่องที่ฆราวาสทะเลาะกัน เมื่อเป็นเช่นนี้วัดก็เป็นสมบัติส่วนรวมของสังคม มีความผูกพันพึ่งพิงกันอย่างใกล้ชิด

ของที่ชาวบ้านจะบริจาคก็บริจาคให้วัด เพราะใครมีงานมีการก็ยืมจากวัดทั้งนั้น คนก็เห็นว่าจะสร้างอะไรก็ต้องสร้างให้วัด เพราะเป็นของกลาง เด็กก็เรียนที่วัด โตขึ้นก็บวชที่วัด ทุกคนในหมู่บ้านไม่มีใครสามารถพ้นจากวัดได้

แต่มาในสังคมปัจจุบันนี้ หน้าที่บทบาทและสถานภาพของวัดและพระสงฆ์เปลี่ยนไปหมด ความเป็นศูนย์กลางของสังคมหลุดไป สาเหตุคือการศึกษา เพราะการศึกษาหลุดออกไปจากวัดโดยเกือบจะสิ้นเชิงเมื่อการศึกษาตะวันตกแพร่เข้ามา นี่เป็นสภาพที่ควรมอง

แต่ความจริงบทบาทสำคัญยังมีอยู่ แต่คนมองไม่เห็น คือการช่วยให้ความเป็นธรรมแก่สังคม แง่นี้ไม่มีใครมองเห็น

ตามประเพณีนิยม เราเรียกการบวชว่า “บวชเรียน” ใช่ไหม ที่เป็นดังนี้เพราะว่าเวลาเด็กแกโตขึ้นมา พ่อแม่ก็เอาไปฝากวัดให้เรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ และกลับไปทำมาหากินต่อไป ส่วนพวกหัวดี หลวงพ่อก็จับบวชเณรและศึกษาต่อไป ถึงพวกที่กลับไปอยู่บ้านแล้ว พออายุครบก็มาบวชพระอีก เมื่ออยู่ในฐานะเป็นพระสงฆ์ ก็มีหน้าที่ทำงานให้แก่วัด ทำงานให้แก่หมู่บ้าน และในวัดนอกจากธรรมวินัยก็มีวิชาการทุกแขนงให้เรียน ตั้งแต่การก่อสร้าง งานศิลป ไปจนถึงการรักษาโรค

ในด้านความเป็นธรรมเราจะเห็นว่า คนในชุมชนไม่ว่าจะฐานะอย่างใดก็มีสิทธิ์ “บวชเรียน” เท่ากันหมด

ต่อมาเมื่อรัฐรับการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาจัดในคราวที่รับอารยธรรมตะวันตกเข้ามา ตอนแรกก็ให้ทางวัดช่วย แต่มาตอนหลังวัดก็ลดบทบาทลงมาจนหมด

การจัดการศึกษาตามหลักประชาธิปไตยต้องจัดการศึกษาให้ทั่วถึง แต่เมื่อรัฐจัดการศึกษาไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเอาชั้นสูง แค่การศึกษาขั้นพื้นฐานเพียง ๔ ปีให้อ่านออกเขียนได้ ก็ไม่ค่อยจะทั่วถึงอยู่แล้ว

อีกอย่างหนึ่งระบบการศึกษาของเรา เป็นแบบที่คนจะต้องไต่ขึ้นไปให้สูงสุด เป็นระบบการศึกษาแบบขั้นบันได ไม่มีความสำเร็จประโยชน์พร้อมบริบูรณ์ในแต่ละขั้นแต่ละตอน การหวังความก้าวหน้าในชีวิต จำเป็นต้องเรียนจนถึงขั้นสูง ใครๆ ก็แหงนหน้าไปที่มหาวิทยาลัย

ในเมื่อระบบเป็นอย่างนี้ก็ย่อมมีผลเสียอยู่ในตัว คือคนที่มีโอกาสมากกว่าในทางเศรษฐกิจและทางภูมิศาสตร์ ก็สามารถไต่บันไดขึ้นไปได้สูง ส่วนพวกที่อยู่ในชนบท ถ้าต้องการเรียนสูงก็ต้องเข้ามาในเมือง จะเรียนต่อก็ต้องเข้าเมืองเข้ากรุงเทพฯ ถ้าพ่อแม่ไม่มีเงินก็หมดโอกาส ถึงจะมีหัวดีก็ตาม

ผลจากการวิเคราะห์สถิติออกมา ลูกเกษตรกรในชนบทที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยจึงมีไม่ถึง ๖% ทั้งๆ ที่เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ

รัฐทราบไหมว่าเด็กจำนวนที่ตกหายไปนั้นหายไปไหน คงคิดว่าไปทำไร่ไถนากระมัง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ประเพณีเก่าในเรื่องการบวชเรียน ยังไม่ลืมเลือนออกไปจากใจชาวบ้าน

อาตมาเคยถามพระที่ลาเพศหลังจากเรียนจบวิชาการขั้นสูงไปแล้ว ว่าตอนจะบวชคิดอย่างไร เขาก็ว่า ตอนจะบวชพ่อแม่บอกว่าจน ไม่มีปัญญาส่งให้เรียน จึงเอาไปฝากวัดบวชจะได้มีทางก้าวหน้าบ้าง

ชาวชนบทเขาคิดอย่างนี้จริงๆ ลูกเขาอาจจะมีทางก้าวหน้าบ้าง ชาวไร่ชาวนาถือตามประเพณีว่าลูกแกเมื่อได้บวชก็จะได้เรียน แต่ในสังคมที่เจริญแล้ว กลับมองว่าวัดไม่มีหน้าที่จัดการศึกษาในฐานะที่ผู้เข้ามาเป็นทั้งพระทั้ง “พลเมือง” แต่จะต้องจัดการศึกษาในฐานะที่เป็นพระอย่างเดียว

แต่ตามความเข้าใจของเด็กที่จะบวช แกต้องการเข้ามาเล่าเรียนในฐานะเป็น “พลเมืองธรรมดา” ด้วย และโดยมากมักมีความเข้าใจในแง่นี้ มากกว่าจะเข้าใจและตั้งใจบวชเพื่อพระศาสนา พ่อแม่แกให้บวชเพื่อได้เรียนแกก็บวช การขัดกันก็เกิดขึ้น คนในถิ่นเจริญมองไปในแง่หนึ่ง คนในชนบทห่างไกลมองไปอีกแง่หนึ่ง เด็กชนบทเข้ามาเรียนหนังสือ คนเมืองมองในแง่ว่าแกเข้ามาเกาะศาสนาเอาเปรียบสังคม ความจริงแล้ว แกเป็น “ผู้เสียเปรียบ” แกตกหล่นจากระบบการศึกษาแบบขั้นบันไดของสังคมไทยเรา ซึ่งไม่ได้เอาใจใส่และไม่เข้าใจแกอย่างถูกต้อง

เชื่อไหม เณรทั่วประเทศมีประมาณแสนสองหมื่นรูป พระหนุ่มๆ ที่มาจากเณรอยู่ในวัยเล่าเรียนอีกมากมาย คนไม่เข้าใจก็มองว่าพระไม่ทำอะไร

ในสภาพปัจจุบัน คนที่เราเอาเข้ามาในสถาบันสงฆ์ ส่วนมากจึงเป็นประชาชนที่เข้ามาเพื่อการศึกษา ในฐานะของพลเมือง และเป็นคนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาของรัฐ เมื่อรัฐไม่ยอมรับความจริงในข้อนี้ การเกื้อหนุนการศึกษาทางด้านนี้ก็ไม่มี พระก็ทำไปตามบุญตามกรรม และมักทำไปอย่างไม่ยอมรับความจริงเช่นเดียวกันด้วย

อาตมาเองก็เป็นคนชนบทและได้เข้ามารับการศึกษาในระบบนี้ด้วย

ท่านเจ้าคุณคิดว่าเราควรจะยอมรับความจริงเสียที หรืออย่างไรครับ

เราต้องรู้จักสังคมของเราให้ดีขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการรู้จักตัวเราเอง

ปีหนึ่งๆ รัฐให้งบประมาณสำหรับการศึกษาของพระภิกษุสามเณร โดยถือว่าเป็นงบด้านสาธารณูปการ เมื่อ ๕ ปีที่แล้วให้มาล้านห้าแสนบาท มาระยะหลังนี้ให้ปีละสองล้านห้าแสนบาท

สำนักเรียนต่างจังหวัดได้รับเงินค่าบำรุงเพียงปีละ ๕๐ บาทบ้าง ๓๐ บาทบ้าง ที่พูดนี้ไม่ใช่พูดเพื่อจะให้ได้เงินมากขึ้น อาตมาอยากจะให้สำนึกความจริงกันว่ามันมีอยู่อย่างไร ควรช่วยกันหนุนให้พระท่านตระหนักว่าท่านจะต้องทำสิ่งนี้ หันมาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง เราอาจจะได้เงินมาจากประชาชน การร่วมมือระหว่างวัดกับประชาชนยังดีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้เราหันหลังให้ความจริง จึงไม่ได้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควร พระท่านเองก็อยากจะทำดี อะไรคือสิ่งที่ดี เมื่อตอบจากความรู้ความเข้าใจไม่ได้ ก็ต้องหันไปยึดประเพณีและความนิยม จึงทำได้เพียงการสร้างโบสถ์สร้างศาลาตามประเพณีนิยม เสร็จแล้วชาวเมืองก็มาติเตียนท่านซ้ำลงไปอีก

เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ท่านคิดว่าควรแก้ไขอย่างไร

อาตมาถึงบอกว่า ควรจะกลับมาศึกษาตัวเราเอง อันนี้คือสิ่งที่เราไม่รู้กัน ถ้าเรารู้ตัวว่าบทบาทสำคัญของพระที่มีอยู่ในขณะนี้ เป็นการช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในด้านการศึกษา เราก็จะเห็นทางแก้ปัญหา

ถ้าคุณสำรวจสถิติของจำนวนผู้เข้ามารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะเห็นในทางตรงกันข้ามกับวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยทั่วไป พระเณรที่เล่าเรียนที่นี่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์มาจากบ้านนอก แต่เมื่อมองมหาวิทยาลัยทั่วไป มีกี่คนที่มาจากชนบท

นอกจากนั้น เด็กวัดที่อาศัยวัดเป็นที่พักตอนเรียนอยู่ในเมืองมีอยู่เท่าไร

พระเรียนจบแล้วท่านไปไหนล่ะครับ

ท่านที่สึกออกไปมีมาก ก่อนสึก บางทีก็ได้ทำงานให้วัด มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ว่าโดยทั่วไปท่านไม่ทันได้ช่วยสถาบันสงฆ์ เพียงแต่มาอาศัยเรียนแล้วก็ออกไปทำงานให้กับรัฐ สถาบันสงฆ์จึงกลายเป็นสถาบันที่ “ให้” มากกว่า “รับ” วัดเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตคนทำงานส่วนหนึ่งให้แก่รัฐ ในขณะที่กำลังผลิตของตนเองอ่อนลงไปทุกๆ ที หนำซ้ำยังไม่ได้รับการยอมรับในการทำหน้าที่ของตนอีกด้วย

เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว อาตมาสำรวจสถิติพระเณรที่เรียนอยู่ ปรากฏว่ามีสองแสนสามหมื่นองค์ แต่รัฐบาลให้เงินเพียงหนึ่งล้านห้าแสนบาท แต่การศึกษาในภาคของรัฐ ตั้งแต่ชั้นมัธยมขึ้นไปจนถึงมหาวิทยาลัย มีคนเรียนทั้งหมดสี่แสนกว่าคน ได้งบประมาณปีนั้น หนึ่งพันห้าร้อยหกสิบกว่าล้านบาท ขอให้เปรียบเทียบคำนวณเอาเอง

เพราะฉะนั้น ระบบการศึกษาของเรา จึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเสียบ้าง ไม่ดำเนินไปตามความมุ่งหมายเสียบ้าง การแก้ไขก็โดยเรายอมรับความจริงเสีย และตั้งความมุ่งหมายของการทำงานในด้านนี้ให้ตรงตามสภาพที่เป็นจริง หรือแก้ไขสภาพที่เป็นจริงให้ตรงกับความมุ่งหมาย จะเอาอย่างไรก็เอาให้แน่สักอย่าง

ปัจจุบันมีการวิจารณ์สถาบันสงฆ์กันอย่างกว้างขวาง ได้มีความพยายามแก้ไขอย่างไรบ้างครับท่านเจ้าคุณ

อาตมาพูดได้ว่าเรารู้จักตัวเองน้อย ไม่ค่อยเข้าใจคุณค่า และบทบาทของพระในสังคมไทย บทบาทแต่เดิมในสังคมไทยเรามีความหมาย แต่ในปัจจุบันมันไม่มีความหมายหรือมีก็น้อยลง ยิ่งเราทำให้มันไม่มีความหมายมันก็ยิ่งไปกันใหญ่

แต่ก่อนนั้นเรามีพิธีกรรมจริง แต่มันเป็นเพียงเครื่องประกอบ พระมีฐานะเป็นผู้นำทางปัญญาและทางคุณธรรม จากฐานะนี้ก็สร้างรูปแบบขึ้นมาเป็นความเคารพ ความเลื่อมใสศรัทธาที่แสดงออกทางประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นี่มันเพียงรูปแบบเท่านั้น ถ้าความเป็นผู้นำยังคงอยู่ในเนื้อหาสาระ พิธีกรรมก็จะเป็นไปแต่เพียงในขอบเขตที่ถูกต้อง และเป็นเครื่องประกอบที่มีความหมาย

เมื่อเนื้อหาสาระหมดไปแต่พิธีกรรมยังคงอยู่ เราก็ไปนึกว่ารูปแบบคือพิธีกรรมนั้นมันเป็นตัวจริงต่อไป ความหมายเดิมเป็นอย่างไรเราไม่รู้ เราก็ยึดมั่นในรูปแบบ แล้วแต่งเติมเสริมต่อรูปแบบนั้นออกไปตามความยึดมั่น จนคลาดเคลื่อนไปไกล เมื่อไขว้เขวไป ในระยะยาวคนก็เห็นว่าพิธีกรรมนั้นเป็นเรื่องตลก ไร้สาระ

สถาบันสงฆ์ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

เดี๋ยวนี้เราได้แต่ติเตียนโดยไม่หาสาเหตุว่า มันอยู่ที่ไหน เช่นพูดว่าพระสร้างโบสถ์ไม่ดี สิ้นเปลืองเงินทองมากมาย ไม่มีประโยชน์อะไร หวังแต่เพียงไปสวรรค์ แล้วก็พูดได้เพียงแค่นั้น

ถ้าเราเข้าใจสถาบันสงฆ์เสียหน่อยว่า เดิมมันเป็นศูนย์กลางของสังคม ทุกคนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน การสร้างวัด สร้างกุฏิทุกคนก็ได้ใช้ได้สอย สิ่งของต่างๆ เวลามีงานก็มายืมจากวัด วัดเป็นสถานที่ลูกหลานมาเล่าเรียนกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณค่าที่มารองรับฐานะของวัด ส่วนเรื่องสวรรค์นั้นเป็นอุดมคติ

ต่อมาฐานะของวัดในการเป็นศูนย์กลางของสังคมหมดไป คนไม่เห็นชัดในคุณค่าที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ว่าจะสร้างไปทำไม แต่การยึดถือคติในเรื่องการสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดยังมีอยู่ ค่านิยมในการสร้างเพื่อให้ได้บุญที่สุด จึงเบนจากการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุด มาเป็นการสร้างสิ่งที่สวยงามเด่นหรูหราที่สุด ผลที่สุดก็กลายเป็นโบสถ์เป็นเมรุที่มีแต่ความสวยงาม นี่คือความไขว้เขว

เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่าวัดมีความหมายที่แท้จริงต่อสังคมอย่างไร ถ้าเรารู้จักตัวเองก็จะเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้เพียงแค่นี้ เมื่อพระท่านสร้างโบสถ์ ถึงเราไปด่าท่านว่าทำไม่ถูก ก็แก้ปัญหาไม่ได้ นอกจากทำลายกัน จริงอยู่ มันไม่ดีเราต้องปราม แต่ในเวลาเดียวกันเราจะต้องรู้ว่าการแก้ปัญหาระยะยาวไม่ใช่เพียงแต่การเล่นงานกัน โดยไม่ยอมศึกษาให้เข้าถึงว่าสาเหตุมันอยู่ที่ไหน

แต่ก่อนพระสอนนักปกครองได้ แต่เดี๋ยวนี้เหลือเป็นเพียงพิธีกรรมที่รักษาเอาไว้ ถึงเวลาก็เทศน์ไป ฟังหรือไม่ฟังก็แล้วแต่

เมื่อความเป็นผู้นำทางปัญญาเสียไป เหลือแต่เพียงรูปแบบที่รักษาเอาไว้ตามประเพณี นักศึกษาจะเชื่อถือว่าพระเป็นผู้นำทางปัญญาไหม ไม่มีทาง แต่กลายเป็นมีพระภูมิใจว่านักศึกษาเข้าพวกตน ในบางกรณีตรงข้าม เวลามีพระเข้าข้างนักศึกษา นักศึกษาชอบใจแต่ไม่ได้ภูมิใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ นี่แหละคือปัญหาสังคมอย่างแรงและลึกซึ้ง ขอให้คิดความหมายเอาเอง

ถ้าหากว่าเราจะให้พระท่านเลิกทำอะไรต่ออะไร อย่างที่ทำเดี๋ยวนี้ ไปให้ทำอย่างอื่นทันทีก็ไม่ได้ การแก้ปัญหาระยะยาวอาตมาคิดว่า ต้องใช้ความร่วมมือสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ หน้าที่ของสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมของเรา และจัดให้ได้ทำงานให้ตรงกับหน้าที่ของตน

บทบาทของพระสงฆ์ควรจะเปลี่ยนอย่างไร

พระต้องทำตัวให้พร้อมที่จะเป็นผู้สอนเขาได้ ถึงเวลานี้ถ้าคนมาหาพระเพื่อความรู้ พระก็ไม่ค่อยมีอะไรจะให้เขา ครั้นพระจะออกไปหาเขาก็สอนเขาไม่ค่อยได้ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ไปไม่รอด

ทำอย่างไร จะทำให้พระเป็นผู้พร้อม ทางด้านรัฐจะต้องมองเห็นความสำคัญของการศึกษาของพระ ขณะนี้การศึกษาของรัฐเอง รัฐก็ทำไม่ได้เต็มที่แล้ว พอหันมาหาพระ พระก็ถูกทอดทิ้งจนหมดประสิทธิภาพแล้ว ถ้าจะไปสอนนักเรียน วัดหนึ่งจะทำหน้าที่ได้สักกี่องค์

พระสงฆ์เองควรจะปรับปรุงตัวอย่างไร บางครั้งพอมาสนใจวิชาการทางโลกหรือทางสังคม ก็ถูกหาว่าห่างเหินพระศาสนา พออยู่แต่ในวัด ก็กลายเป็นพระล้าสมัยพูดกับฆราวาสไม่รู้เรื่อง

คนที่ไปที่สุดทั้งสองอย่างตามที่โยมว่ามา อาตมาก็ว่ามี แต่คิดว่าเป็นคนส่วนน้อย พวกที่เห็นว่าพระควรแยกตัวออกจากสังคมพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งก็เข้าใจว่าพระก็คนเหมือนกัน ไม่ยอมแยกว่า พระควรจะมีบทบาทที่แตกต่างกับส่วนอื่นของสังคมอย่างไร อยากให้พระเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับคนธรรมดา สองพวกนี้เราไม่ต้องคำนึงมากนักเพราะมีไม่มาก แต่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าพระควรเป็นผู้มีรู้ความเข้าใจในหลักธรรมของตนเอง และสามารถแสดงออกมาในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับสังคม โดยปรับให้เข้าใจได้ง่าย และให้เขาเห็นคุณค่า อย่างน้อยคนทั่วไปก็อยู่ในประเภทนี้ หรือพอจะชี้ให้เห็นชอบอย่างนี้ได้

แต่สำคัญว่าพระเรารู้จักตัวเองแค่ไหน รู้จักลักษณะความสัมพันธ์ของพระกับสังคมไหม จริงอยู่สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันหนึ่งต่างหาก แต่ก็ต้องมีภาระเกี่ยวข้องกับสังคม เรื่องนี้พระเองก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้เต็มที่ ยังไม่ยอมรับความจริง อย่างเช่นเรื่องพระเณรมาจากเด็กพลเมือง ที่ตกหล่นจากระบบของรัฐจำนวนสองแสนกว่าคน ถ้าพระจะเอาเรื่องนี้จริงจังสักอย่างหนึ่ง ก็จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ไม่น้อย

ขณะนี้ความเป็นจริงกับสภาพความเข้าใจของเรามันขัดกันตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงแก้ปัญหาไม่ได้

เท่าที่ผมสังเกตในแต่ละวัด พระสงฆ์มีความประพฤติตามพระธรรมวินัยอ่อนแก่แตกต่างกัน ทำไมในส่วนของวัดเองยังไม่มีความเป็นระเบียบที่เหมือนกัน

อันนี้เป็นเรื่องกลไกทางการปกครอง ในส่วนของสถาบันสงฆ์เราก็ต้องยอมรับว่า ยังมีความบกพร่องอยู่ไม่น้อย แต่ว่าพื้นฐานการแก้ปัญหาระยะยาวมันสัมพันธ์กับปัญหาที่พูดมาแล้ว คือ เรายังไม่เข้าใจคุณค่าหน้าที่และความหมายของสถาบันสงฆ์ต่อสังคม

ยกตัวอย่างสักข้อคือวัตถุประสงค์ในการบวช เรายืนยันว่า บวชแล้วก็ไม่ควรสึก ถ้าใครสึกก็ถือว่าไม่ดีไม่งาม แต่คนที่มาบวชพร้อมทั้งพ่อแม่กลับคิดว่า มาบวชเพื่อเรียนตามประเพณีไทย เมื่อบวชแล้วระบบการศึกษาของวัดก็ให้ไม่พอ แกต้องดิ้นรนเพื่อชีวิตแก เพราะแกไม่ได้ตั้งใจที่จะบวชอยู่ตลอดชีวิต แกอาจจะสนใจและรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ในด้านกิจของสงฆ์ แต่แกก็ห่วงอนาคตที่ไม่แน่ว่าอาจจะสึก ก็ต้องแสวงหาความมั่นใจไว้

เมื่อสภาพการณ์เป็นแบบนี้ แต่คณะสงฆ์ไม่ปรับปรุงระบบการศึกษา พระเณรก็ย่อมดิ้นรน ถ้ามีช่องทางก็ต้องออกไป เมื่อทางวัดคุมไม่อยู่ พระเณรก็ไปเรียนข้างนอกในระบบของคฤหัสถ์ นอกระบบของพระ ทางวัดก็ไม่มีโอกาสควบคุมความประพฤติ ในด้านวิชาการหลักสูตรการศึกษาก็เป็นเรื่องทางโลกล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับธรรมวินัย

ผลออกมาก็คือความผูกพันในทางจิตใจไม่มี วัดกลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัย เพราะวัดไม่มีอะไรจะให้แก่พระ นอกเหนือจากนั้น ในความรู้สึกของพระเณร ระบบการศึกษาของวัดกลายเป็นเครื่องบังคับพระ วัดและเจ้าอาวาสกลายเป็นศัตรูกับลูกวัด คอยกีดกันพระเณรไม่ให้ไปเรียนที่โน่นที่นี่ ลูกวัดต้องการอย่างอื่นในสิ่งที่วัดไม่มี การปกครองในวัดจะเป็นไปด้วยดีต้องอาศัยความผูกพันทางจิตใจ วัดต้องมีอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของพระเณร เพราะวัดไม่มีอำนาจอาชญาเด็ดขาด เมื่อเครื่องผูกพันจิตใจไม่มี การปกครองของวัดก็เสียหมด

อย่างกรณีพระมหาจัด เจ้าอาวาสสามารถไล่ออกจากวัดนี่ไงครับ

นั่นเป็นการอาศัยอำนาจของทางบ้านเมือง วัดและเจ้าอาวาสไม่มีอำนาจทางอาชญาเด็ดขาด จึงต้องอาศัยอำนาจของบ้านเมืองช่วย เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน ทำตามอำนาจบ้านเมืองได้ แต่อำนาจที่แท้ของวัดอยู่ที่ธรรมวินัยซึ่งเกิดจากความผูกพันกันทางจิตใจ แต่เจ้าอาวาสใช้อำนาจของทางบ้านเมืองอย่างเดียว ก็เอื้ออำนวยในการเป็นศัตรูกัน แต่ถ้ารู้จักใช้ ก็เป็นเครื่องสนับสนุนการปฏิบัติการตามธรรมวินัย

กรณีพระมหาจัด เราไม่ควรจะมุ่งไปมองอยู่แต่ในเรื่องนี้2 ปัญหาอื่นนอกเหนือจากนั้นมีอยู่อย่างกว้างขวางเยอะแยะ ปัญหาและการแก้ไขในระยะยาวมันอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจ

ถ้าฝ่ายหนึ่งตั้งตัวเป็นศัตรูกับเจ้าอาวาส อีกฝ่ายหนึ่งตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระมหาจัด มันก็จะไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น

ทางแก้เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เข้าใจสภาพ จัดระบบให้มันถูกต้อง ในเมื่อเรายังรับเด็กลูกชาวไร่ชาวนาเข้ามาเล่าเรียนในฐานะที่เป็นพลเมือง เราก็ต้องยอมรับความจริงและจัดการศึกษาที่ให้มันบรรลุจุดมุ่งหมายทั้งสองด้าน

เมื่อเด็กมาบวชเรียน ในแง่ของพระของเณร เราก็ควรให้บรรลุจุดประสงค์ทางศาสนาด้วย ในแง่ของพลเมือง ก็ควรช่วยแกในทางโลกด้วย ถ้าแกมีศรัทธามีจิตใจมั่นคงอยากบวชต่อไป ก็จะสืบศาสนาต่อไป และถ้าสึกไปก็ไม่เป็นภาระหนักก่อปัญหาแก่สังคม สามารถช่วยตัวเองได้ ทำประโยชน์แก่สังคมได้

เราต้องยอมรับความจริง วัดมีอะไรให้กับพระเณรๆ ก็ไม่ต้องไปสับสนวุ่นวาย อย่าลืมว่าเรื่องนี้ ยังไม่เป็นที่เข้าใจของสังคม แม้จากหนังสือพิมพ์ก็มีบทความว่า พระเณรที่เรียนหนังสือหนังหาเป็นกาฝากสังคม แสดงถึงความไม่รู้และความผิวเผินที่แพร่หลายอยู่ในสังคม ถ้าเป็นอย่างนี้ ยิ่งแก้ปัญหาก็ยิ่งเป็นการทำลาย หรือยิ่งรกรุงรัง

แต่ก่อน ถ้ามองสถาบันสงฆ์กับการเมือง รู้สึกจะมีความกลมกลืนกัน เพราะการเมืองไม่ค่อยมีความแตกแยกทางความคิด แต่ปัจจุบันมันมีขึ้นมา แบ่งเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ พระควรจะยืนอยู่จุดไหน

เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่วิธีการเข้าถึงปัญหาก็ทำกันไม่ค่อยถูก อย่างเรื่องพระเดินขบวน แทนที่เราจะพิจารณาที่จุดนั้น กลับไปยกอ้างขึ้นมาเถียงว่า ทำไมพระผู้ใหญ่ไปเจิมป้ายพรรคการเมืองได้ เดินขบวนแค่นี้ไม่ได้ กลายเป็นการแบ่งแยกคน แทนที่จะแยกเรื่อง การวิเคราะห์ปัญหา เราต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ เจิมป้ายก็เรื่องเจิมป้าย เดินขบวนก็เรื่องเดินขบวน เราจะเอาไปเปรียบเทียบกันทำไม

ที่จริงเราก็ยอมรับว่า การเจิมป้ายเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากพราหมณ์ มันเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขอยู่แล้ว ทำไมต้องเอามาอ้างว่าสิ่งนั้นมันผิด เพื่อการกระทำของเราจะถูก การอ้างสิ่งที่เราถือว่าไม่ดีมาเป็นเหตุในการกระทำของเรา เท่ากับยอมรับว่า การกระทำของเราไม่ดี ถ้าเราจะรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องอะไรเราถึงอ้างเอาการกระทำที่เราว่าไม่ดีมาสนับสนุนการกระทำของเราที่เราว่าดี ถ้าเจิมป้ายไม่ดี มันก็ไม่ดี ถ้าเดินขบวนไม่ดี มันก็ไม่ดี การอ้างว่าเจิมป้ายไม่ดี ก็ไม่ช่วยให้เดินขบวนกลายเป็นดีขึ้นมา ถ้าอ้างก็กลายเป็นแข่งขันกันทำไม่ดี

สังคมมีปัญหาอยู่แล้ว เรายังมาแข่งขันสร้างปัญหา เรื่องอะไรต้องทำอย่างนั้น

การเจิมป้ายมันก็มีแง่ที่น่าคิดเหมือนกัน อย่างเช่นเขานิมนต์ไปฉันเพล พอฉันเพลเสร็จก็นิมนต์เจิมป้าย พระก็ขัดไม่ได้ เรื่องนี้ชาวบ้านเขาก็ยอมรับ

ส่วนการเจิมป้ายพรรคการเมืองนั้น ถ้าเขาเชิญมาทุกพรรค พระก็ไปเจิมทุกพรรคโดยไม่มีการขัดนิมนต์ มันก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนบางพรรคเขาไม่นิมนต์ เพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เขาถือศาสนาแบบบริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่ต้องเจิมก็ได้ หรือบางพรรคเขาอาจไม่นิมนต์ เพราะเขาไม่นับถือศาสนาเลยก็ได้ แม้แต่ในเรื่องเดียวกัน บทบาทของพระกับคฤหัสถ์ก็ไม่เหมือนกัน บทบาทนี้ควรไม่ควรอย่างไรเราต้องแยกให้ดีว่า บทบาทนั้นพระควรจะอยู่ในส่วนไหนของเรื่อง อย่างชาวบ้านเขาแต่งงาน เขานิมนต์พระ คู่บ่าวสาวก็มีบทบาทอย่างหนึ่ง พระก็มีบทบาทอีกอย่างหนึ่งในพิธีเดียวกัน พระร่วมงานแต่งงานก็ได้นะ แต่พระซึ่งมีบทบาทเฉพาะของตน จะเข้าไปร่วมรื่นเริงกับคฤหัสถ์ในงานนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้

อย่างในกรณีของพระเดินขบวนล่ะครับ

ถ้าพระไปสวดชยันโตให้พวกที่เดินขบวน ก็คงเทียบกับกรณีพระเจิมป้ายได้ แต่ทีนี้ท่านเล่นทำบทบาทเดียวกับชาวบ้าน

แต่ในกรณีพระเดินขบวนนี้ เราต้องพิจารณาด้วยความเห็นใจว่าท่านอยู่ในสถานการณ์อย่างไร ถ้าท่านเข้าไปอยู่ที่นั่นด้วยความเห็นอกเห็นใจชาวบ้าน และอยู่ในเหตุการณ์เฉพาะหน้า ตัดสินใจไปอย่างกระทันหัน อาจตัดสินใจผิดพลาดได้ เมื่อผิดพลาดแล้ว ก็ยอมรับเสีย ควรเห็นใจ เราน่าจะพิจารณาไปเป็นเฉพาะกรณี แต่ก็ไม่ควรให้กรณีนี้ไปทำลายหลักการ

ต้องระวังให้ดี ถ้าหากว่าเรายังไม่แน่ใจก็ควรศึกษาให้แน่ใจเสียก่อนว่า ในกรณีนี้พระควรวางตัวอย่างไร กิจกรรมนี้ควรสนับสนุนหรือไม่ ถ้าควรสนับสนุน พระควรสนับสนุนอย่างไร อย่างเช่นชาวนาเดินขบวนเป็นสิ่งที่ถูกหรือไม่ พระควรสนับสนุนหรือไม่ ถ้าควรสนับสนุน พระควรจะวางกิริยาอาการอย่างไร ต้องว่ากันไปให้ชัดทีละอย่างๆ และจะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน

คิดว่าการบวชของพระควรจะเป็นไปในรูปไหนครับ การบวชยังคงมุ่งนิพพานอยู่หรือไม่

การบวชของพระตามประเพณีไทยนั้นเป็นการขยายบทบาทไปสู่สังคม แทนที่เราจะรอรับคน เราก็เอาเด็กมาบวชกล่อมเกลาอุปนิสัย ถ้าแกมีอุปนิสัยที่เรียกว่ามี “บารมีแก่กล้า” เราก็ได้คนที่อยู่ตลอด และใกล้ชิดกับเราแต่ต้น ถ้าไม่ตลอดเราก็ได้ “คน” ที่ดีให้แก่สังคม เราจะยอมรับระบบนี้ไหม ถ้าเราจะเลิก ก็ต้องบอกว่า “ฉันจะรับคนเบื่อโลกเท่านั้น”

ที่เป็นอยู่ขณะนี้เราทำอย่างแรก แต่เราไม่ยอมรับความเป็นจริงว่าเราทำแบบนี้ เรากลับแสดงอาการทำนองว่า ต้องการแต่คนที่เบื่อโลกเท่านั้น เท่ากับเราพูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง

การบวชก็ต้องมุ่งนิพพานแน่นอน นิพพานคืออะไร คือ กำจัด โลภะ โทสะ โมหะได้ เป็นประโยชน์ ใช้ได้และจำเป็นทุกยุคทุกสมัย อย่างน้อยในระหว่างนี้ เราควรจะยอมรับความจริง ในเรื่องการลดกิเลส ไม่จำเป็นต้องมีวัตถุมาก มีเพียงให้สมควรแก่อัตภาพ อาหารก็กินพอดำรงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีจนเกินไป นี่ก็เป็นแนวทางแห่งนิพพาน

พระท่านก็ปฏิบัติในแนวนิพพานตั้งแต่ต้น เช่นการพิจารณาปฏิสังขาโย แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่รู้ความหมายของการพิจารณาว่าอาหารเรากินเพื่ออะไร

เรื่องการที่พระสะพายกล้องใบ้หวยและอะไรต่างๆ ที่เป็นเดียรฉานวิชชาล่ะครับ

ถ้าเราเข้าใจสภาพ จะเห็นว่าปัญหานี้สัมพันธ์กับเรื่องที่พูดมาแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงแล้วแก้ปัญหาอย่างนี้ แบบรุนแรงเราก็จะได้แต่เจ้าอาวาสที่เป็นศัตรูของลูกวัด แต่เดี๋ยวนี้เรามีเจ้าอาวาสบางส่วนที่เข้าใจสภาพการณ์จึงให้การศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูกวัด

ปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุอยู่ที่ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ทำให้พระมีเวลาว่างมากเกินไป แม้ว่าจะมีเรียนบ้าง แต่ก็เพียงแค่ดูหนังแล้วไปสอบเอา ถ้าไม่ดูหนังเสือก็ไม่มีใครเขาว่า ผลที่สุดพระก็ใช้เวลาว่างไปในทางใดทางหนึ่ง ถ้าไม่ทางดีก็ทางเสีย การแก้ปัญหา เราก็ต้องแก้ระบบการศึกษาและการทำงานของพระไม่ให้พระมีเวลาว่าง แก้ที่การศึกษาอย่างเดียว ก็คลุมไปถึงงานด้วย ถ้าเราเพียงกวดขันกันมันก็แก้ปัญหาได้เฉพาะหน้าเท่านั้น

ท่านเจ้าคุณช่วยมองอนาคตของพุทธศาสนาหน่อยครับ ว่าจะเป็นอย่างไร

มันก็น่ากลัวอยู่นะ เราไม่ได้ยอมรับและนำเอาประโยชน์ที่มีอยู่ของพุทธศาสนามาใช้ อย่างภารกิจในการศึกษา เราจะปรับปรุงเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้มาก แต่ถ้าเราไม่ยอมรับ ปล่อยให้มันเป็นปัญหา มันก็จะกลับกลายเป็นโทษอย่างใหญ่หลวง การที่เราปล่อยให้เด็กในชนบทเข้ามาบวชตามประเพณี แต่เมื่อบวชแล้วเรากลับปล่อยปละละเลยไม่ให้ได้รับการศึกษา ต่อไปแกก็จะเป็นเครื่องถ่วงหรือไม่ก็กลายเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันสงฆ์ เมื่อแกสึกออกจากวัดก็ไม่มีความรู้อะไร กลายเป็นปัญหาสังคม ถึงจะมีความรู้ก็เป็นความรู้ที่สังคมไม่ยอมรับ

แต่ก่อน จบนักธรรมโทออกไป เขาจะรับเข้าไปเป็นตำรวจ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เขารับแต่มัธยม ๖ แกก็หมดทางไป เมื่อแกไปเรียนในโรงเรียนฆราวาส คณะสงฆ์ไม่ยอมรับ ก็ป้องกันไม่ให้ไปเรียน ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ก็เกิดขึ้น

สถาบันสงฆ์เองก็ไม่ได้คนดีมาใช้ ในที่สุดสถาบันสงฆ์ก็กลายเป็นทางผ่าน เป็นเพียงที่อยู่อาศัย ผลดีแทนที่จะได้มาก ก็ได้เพียงอย่างเดียว คือเด็กจากบ้านนอกไม่มีเงินก็อาศัยวัดนี่แหละเป็นที่อยู่อาศัย ถ้าไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีโอกาส

อาตมาพูดได้ว่า แม้ว่าวัดจะอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมแบบนี้ ก็ยังสามารถช่วยผดุงความเป็นธรรมของสังคม และช่วยประสานสังคมไว้ เพราะมันไม่ได้มีความหมายกับเด็กเท่านั้น พ่อแม่เด็กด้วย เพราะเขายังคิดว่าเขามีความหวังในชีวิต จึงมีความสัมพันธ์กับสังคม ถ้าไม่มีความหวัง เมื่อเรียนจบแล้วก็ออกไปไถนาตามเดิมอย่างเดียว คนจะแบ่งแยกกันชัดเจน สังคมจะแตก

เรื่องพิธีกรรมต่างๆ มีปัญหาอย่างไรบ้างครับ

อย่างที่พูดแล้วว่ามันเคยมีความหมาย เพราะมันเชื่อมโยงกับหลักธรรมและบทบาทความเป็นผู้นำของสงฆ์ แต่เมื่อควาหมายมันหมดไป ก็กลายเป็นสิ่งที่เหลวไหล คนอาจคิดว่าศาสนาพุทธเป็นที่มาของสิ่งเหลวไหล เพราะเราไม่รู้ความเป็นมาแต่เดิม

ศาสนาพุทธที่บริสุทธิ์กับศาสนาพุทธที่ไม่บริสุทธิ์ แตกต่างกันอย่างไรครับ

บริสุทธิ์หมายถึงล้วนๆ หรือตัวแท้ของมันคือหลักที่ว่าด้วยการดำเนินไปสู่นิพพาน แต่เมื่อศาสนาอยู่ในสังคมมนุษย์ที่ใด มันก็ต้องเอาตัวแท้ออกไปให้กับที่นั่น และการที่เขาจะรับนั้นก็ต้องเอาตัวแท้ผสมผสานกับของเก่าของเขา และเขาจะรับเท่าที่รับได้ มีประโยชน์แก่เขาแค่ไหนเพียงใด จะเข้าใจรับได้แค่ไหนเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำให้เข้าถึงกันได้แค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจ เราก็จะใจกว้างขึ้น เราจะไม่ไปช่วยเฉพาะแต่คนที่เลิศลอยแล้วเท่านั้น แต่เราต้องช่วยคนที่ห่างที่สุดด้วย พุทธศาสนาจะต้องไม่จำกัดตัวเอง และเพราะอย่างนี้แหละ จึงมีพุทธศาสนาที่เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ มีเรื่องผีสางไสยศาสตร์เข้ามาปะปน

แต่ทีนี้มันมีปัญหาอยู่ว่า เราไปสัมพันธ์กับเขาจนไม่รู้จุดมุ่งหมายของเราเอง แต่ถ้ารู้จุดของเราที่เรียกตามแบบของคุณว่า “จุดยืน” เราก็จะดึงเขามาสัมพันธ์กับเราได้โดยเราไม่ต้องเสียจุดยืน หรือจุดมุ่งหมายของเรา ถ้าเราไม่รู้จุดก็กลายเป็นว่าเราถูกเขาฉุดออกไป ถ้าเข้าใจจุดหมายดีและมั่นคงในปฏิปทา สิ่งที่เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ ก็เป็นเพียงบันไดหรือขั้นตอนระหว่างก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ แต่ถ้าไม่เข้าใจและมั่นในจุดหมายแล้ว แม้แต่สิ่งที่บริสุทธิ์ก็จะถูกทำให้ไม่บริสุทธิ์

โครงสร้างเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ท่านมีความเห็นว่าดีแล้ว หรือควรแก้ไขอย่างไร

เรื่องควรแก้ไข มันควรแน่ๆ จุดสำคัญของการปกครองมันอยู่ที่วัดแต่ละวัดกับระบบการศึกษา ควรวางเรื่องนี้ให้แน่นอนชัดเจน และมีผลทางปฏิบัติ แต่ที่เป็นอยู่การปกครองคณะสงฆ์เป็นแบบหลวมๆ มหาเถรสมาคมก็ไม่ได้มีอำนาจมากมายอะไร บางอย่างมีน้อยกว่าวัด อยู่กันไปวันๆ

แล้วอำนาจของอธิบดีกรมการศาสนา ในฐานะของเลขาธิการมหาเถรสมาคม ซึ่งมีเสียงบอกว่าเอาอำนาจทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับคณะสงฆ์

อันนี้ว่าโดยหลักการเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง แต่เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนี้ ปัญหาในขณะนี้อยู่ที่การเพิกเฉยละเลย ไม่ทำสิ่งที่ควรทำต่างหาก จนบางครั้งนึกอยากให้บ้านเมืองทำกับคณะสงฆ์แรงๆ และให้ฝ่ายบ้านเมืองศึกษากิจการฝ่ายพระศาสนาให้มีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นกว่านี้

เราจะต้องยอมรับว่าบุคคลในสังคมต้องเกี่ยวข้องกับรัฐ การไม่เล่นการเมืองคือการมีบทบาททางการเมืองอย่างหนึ่งใช่ไหม? และการเล่นการเมืองย่อมเป็นการทำลายอำนาจทางการเมืองของตนเองอย่างหนึ่ง มันมีความหมายทางการเมืองมากนะ ถ้าพระเข้าใจเรื่องนี้ดี จะดำรงฐานะของตนไว้ได้ ถ้าไม่เข้าใจ จะถูกเขาหลอก นึกว่าตัวได้แต่กลายเป็นทำลายตนเอง

แต่ก่อนนี้วงจรของระบบการเมืองอาจมองได้อย่างนี้ พระมหากษัตริย์ ฟังพระ มีอะไรพระว่าได้เพราะเคยเป็นลูกศิษย์กันมาก่อน และในทำนองเดียวกัน พระก็ต้องฟังประชาชน ประชาชนเป็นผู้ควบคุมพระอีกที ถ้าพระประพฤติไม่ดี ประชาชนไม่นับถือ เป็นวงจร คุมกันโดยไม่ต้องใช้อำนาจอาชญา

ต่อมา พระไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ได้เป็นผู้นำทางปัญญาต่อไป ผู้ปกครองบางคน เรียนเมืองนอกมาตลอดไม่ได้ผ่านเมืองไทยเลย ถึงแม้จะมีความเคารพก็มีตามประเพณีเท่านั้น ตอนหลังการณ์เป็นว่า พระต้องไปเอาใจผู้ใหญ่ให้มาช่วยบำรุงวัด อย่างนี้เสียแล้วใช่ไหม นี่คือความเคลื่อนคลาดของสังคม

ในเมื่อพระต้องเอาใจชาวบ้านให้มาบำรุงวัด มันก็เสียระบบ ไม่มีการควบคุมกัน แต่ก่อนพระนเรศวรทรงมีความเกรงใจสมเด็จพระวันรัต ไม่ใช่ไปพูดเฉยๆ แต่ท่านมีความเกรงใจกันอยู่ เป็นรุ่นครูอาจารย์ พระต้องเทศน์ให้พระมหากษัตริย์ฟังและเทศน์กันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เทศน์กันอย่างพอเป็นพิธี เดี๋ยวนี้พระไปเทศน์ที่ไหนๆ บางทีสักแต่ว่าฟัง ไม่ได้เข้าใจความหมาย สมัยหลังๆ นี้ ระบบสังคมเสียไปแล้ว นักปกครองไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่มีใครจะเตือนเขาได้

ขอเรียนถามประวัติส่วนตัวหน่อยครับท่านเจ้าคุณ

อาตมาบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มาเรียนกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนวัดปทุมคงคาถึงชั้นมัธยมปีที่ ๓ สุขภาพตอนนั้นไม่ค่อยดี จึงกลับไปบ้านแล้วก็บวช เลยอาศัยมาในระบบที่ถูกตัดปล่อย ตอนที่บวชนั้นความคิดเห็นก็ไม่ได้กว้างไกลอะไร เพียงแต่บวชเข้ามาแล้วก็เรียนมาเรื่อยๆ จากอำเภอศรีประจันต์ เข้ามาจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วก็เข้ามากรุงเทพฯ แล้วก็เรียนทางบาลี เข้ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเรียนบาลีควบไปด้วย ได้ประโยค ๙ จึงบวชเป็นพระ

ไปศึกษาต่อเมืองนอกหรือเปล่าครับ

เปล่า เรียนแค่เมืองไทย เคยไปต่างประเทศก็เพียงแค่การเยี่ยมเยียนดูการศึกษาทางศาสนาในประเทศทางเอเซีย

กระผมได้ยินว่า ท่านเจ้าคุณเคยไปบรรยายในมหาวิทยาลัยที่อเมริกา

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วเขานิมนต์ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนีย ไปอยู่ที่นั่นสองเดือน ในอเมริกานั้นบางแห่งอย่างที่วิสคอนซิน เขาจัดสอนพระพุทธศาสนาสูงจนถึงชั้นปริญญาเอก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศาสนจักรกับอาณาจักร: ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับอำนาจการเมืองภาคผนวก: วิเคราะห์ปัญหา และลู่ทางแก้ไขปัญหาการศึกษาของสถาบันสงฆ์ >>

เชิงอรรถ

  1. หมายเหตุ: สัมภาษณ์พิเศษ พิมพ์ครั้งแรกใน ประชาชาติ ๕ มกราคม ๒๕๑๘ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรัชญาการศึกษาไทย สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ๒๕๑๘
  2. กรณีพระมหาจัด ได้เคยตอบในที่อื่นมาก่อนแล้ว ผู้คิดจะตัดสินถูกผิด ควรไปศึกษาเรื่องให้ชัดเจน ไม่ใช่ตัดสินตามข่าวที่ว่าต่อๆ กันมา

No Comments

Comments are closed.