พระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน

17 สิงหาคม 2518
เป็นตอนที่ 13 จาก 24 ตอนของ

พระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน1

พระมหาเถรานุเถระที่เคารพนับถือ ท่านสหธรรมิกผู้เป็นนักศึกษา เจริญพรท่านสาธุชนผู้มาร่วมประชุมในที่นี้

การอภิปรายในวันนี้ ในฐานะที่ผู้พูดในขณะนี้เป็นพระ และมีญาติโยมฝ่ายอุบาสกมาอภิปรายอยู่ด้วย ๒ ท่าน ก็นึกว่าอยากจะให้ญาติโยมได้พูดมากๆ และตนเองเป็นฝ่ายฟัง โดยเฉพาะในที่นี้เป็นที่ประชุมของพระสงฆ์ การที่พระสงฆ์จะได้ฟังอุบาสก ผู้เป็นญาติโยมอุปถัมภ์มาพูดให้ฟัง แสดงทัศนะของท่านนั้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะฉะนั้น น่าจะได้รับฟังฝ่ายญาติโยมมากกว่า ในฝ่ายกระผมผู้เป็นพระสงฆ์ด้วยกัน ว่าจะสงวนตัวพูดให้น้อยสักหน่อย นอกจากนั้นก็มีข้อที่ควรขอประทานอภัยในที่นี้ด้วยคือ ได้เข้าใจชื่อเรื่องอภิปรายผิดไป เป็นความผิดของตนเอง แต่ก็ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยคือ จนกระทั่งก่อนที่จะเริ่มอภิปรายนี้เอง จำชื่อเรื่องที่จะอภิปรายเป็นว่า “พระสงฆ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน” หมายความว่าจำชื่อเรื่องแคบเกินไป ซึ่งความจริงนั้นชื่อเรื่องที่จะอภิปรายบอกว่า “พระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน” เป็นอันว่าในที่นี้จะต้องขยายขอบเขตการพูดให้กว้างขวางออกไป ทีนี้ตามหัวข้อเรื่องที่พูดนั้น เราเอาพระพุทธศาสนามาสัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ทำให้หัวข้อเรื่องนี้เป็นที่ควรแก่การสนใจ และเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับสภาวการณ์เป็นอย่างยิ่ง อย่างที่ท่านอาจารย์สมพรพูดไปแล้ว เพราะว่า

ประการที่ ๑ คำว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ง่าย มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับตัวเราทุกๆ คน เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้ เป็นเรื่องเฉพาะหน้า เป็นเรื่องที่เราเผชิญอยู่และต้องเผชิญ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ในตัว

ประการที่ ๒ ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นสถานการณ์ในยุคในสมัยที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความระส่ำระสาย มีความไม่สงบ มีความเดือดร้อน การดำรงชีวิตโดยทั่วไปรู้สึกว่าไม่สู้ปลอดภัย และสถาบันต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสังคมนี้ ก็รู้สึกว่ามีความไม่มั่นคงด้วย สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ควรตื่นเต้น และความตื่นเต้นนั้นก็จะก่อให้เกิดความสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นการที่นำเอาพระพุทธศาสนามาสัมพันธ์เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะที่ควร ทำให้เกิดความสนใจเป็นอย่างมาก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — บทบาทต่อไปควรเป็นอย่างไร— ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับศาสนธรรม >>

เชิงอรรถ

  1. หมายเหตุ: คำอภิปราย ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๘ (พิมพ์ครั้งแรกใน อนุสรณ์งานมอบประกาศนียบัตร ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดยานนาวา ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๘)

No Comments

Comments are closed.