— บทบาทต่อไปควรเป็นอย่างไร

9 สิงหาคม 2512
เป็นตอนที่ 12 จาก 24 ตอนของ

บทบาทต่อไปควรเป็นอย่างไร

เบื้องต้นพึงกำหนดก่อนว่า ศาสนาต่างๆ ไม่เฉพาะพระพุทธศาสนาจะยังคงมีความหมายต่อไปในสังคม แม้จะถูกกระทบกระเทือนหรืออ่อนกำลังลงบ้าง ในเมื่อยังมีสภาพต่อไปนี้ในสังคม คือ

๑. ชีวิตมนุษย์ไม่อาจเป็นอยู่ได้และมีความหมายด้วยวัตถุอย่างเดียว แม้จะสามารถสร้างวัตถุสนองความต้องการได้ทุกสิ่ง แต่ก็จะต้องเหนื่อยหน่ายเพราะความไม่รู้จักจบสิ้น และไม่สามารถสนองความต้องการได้เต็มจริง คุณค่าทางจิตใจจะต้องยังคงมีความหมายอยู่ต่อไป

๒. มนุษย์ยังไม่สามารถสร้างระบบการควบคุมทางสังคมในด้านความประพฤติให้ได้ผลแท้จริง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องยึดเหนี่ยวควบคุมจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ระบบการศาล ตำรวจ หรือคุกตะราง เป็นต้น ก็ตาม

๓. มนุษย์ยังไม่มีความรู้จริงถึงที่สุดเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะชีวิตของตน แม้ว่าจะเจริญด้วยวิทยาศาสตร์มากมาย

สำหรับพระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบที่ช่วยการดำรงอยู่ได้ข้ออื่นๆ อีก เช่น

๑. เมื่อสังคมขยายกว้างขึ้น ต้องการการรวมตัวกันในขอบเขตกว้างขวาง พระพุทธศาสนาไม่เป็นเหตุขัดขวางสภาวการณ์นี้ ด้วยเรื่องความรังเกียจกันทางเชื้อชาติ การแบ่งแยกเพราะความเชื่อถือ หรือการขัดขวางทัศนะแบบเสรี เป็นต้น กลับเป็นเครื่องสนับสนุนอีกด้วย

๒. เมื่อพระสงฆ์ดำรงตนในขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส พอเหมาะพอดีตามหลักธรรม ก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายกิจการของรัฐ ไม่ขัดกับการปกครองประเทศ

๓. การค้นพบต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ไม่กระทบกระเทือนหลักพระพุทธศาสนา ในเมื่อสังคมถูกครองด้วยเหตุผล และมีเสรีภาพทางความคิดมากขึ้น กลับเข้ากับหลักพุทธศาสนาได้ดี

หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีหลักการเพื่อความรับผิดชอบและปฏิบัติตามหน้าที่ เป็นไปเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีของผู้ปฏิบัติตามสภาพชีวิตนั้นๆ มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น การที่มีเสียงว่า หลักธรรมบางอย่างขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของสังคมนั้น ย่อมต้องเกิดจากความเคลื่อนคลาดบางประการ ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจเคลื่อนคลาดของผู้กล่าวนั้นเอง หรือความเคลื่อนคลาดในการประพฤติปฏิบัติของบุคคล หรืออาจถึงกับเป็นความเคลื่อนคลาดในการประพฤติปฏิบัติของสังคมที่เชื่อถือสืบต่อกันมาก็ได้ เพราะความเคลื่อนคลาดในการประพฤติปฏิบัติ อาจเกิดจากการตีความหมายธรรมผิด ซึ่งสืบเนื่องมาจากเหตุหลายอย่าง เช่น

๑. ความไม่รู้จริงเพราะขาดการศึกษา หรือศึกษาไม่พอ

๒. สภาพความเป็นอยู่ ผลักดันให้นำมาเป็นเหตุผลอ้างให้ประพฤติเช่นนั้น

๓. ผู้สอนหรือผู้เผยแผ่สอนให้เคลื่อนคลาดเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

๔. การยึดติดแต่เพียงแง่ใดแง่หนึ่งของหลักธรรม

๕. การเห็นแก่ความง่าย ตีความให้เข้ากับความต้องการของประชาชน

๖. สนองความต้องการของผู้มีอำนาจ

๗. ยอมผ่อนตามอิทธิพล ความเชื่อถือเดิม หรือตามหลักลัทธิศาสนาอื่นๆ

จึงจำเป็นจะต้องพยายามช่วยกันศึกษาความหมายของหลักธรรม ให้ถูกต้องชัดเจน ควรศึกษาว่า เพราะเหตุใดคำสอนเรื่องกรรม ซึ่งมีหลักการให้มีความรู้สึกรับผิดชอบ กลับกลายเป็นเหตุอ้างสำหรับปัดความรับผิดชอบ เพราะเหตุใดสันโดษซึ่งมีหลักการให้รวมกำลังงานทุ่มเทลงในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ จึงกลับกลายเป็นข้ออ้างสำหรับความเกียจคร้านเฉื่อยชา ไม่เอาธุระในกิจของส่วนรวม ดังนี้เป็นต้น

ข้อที่ว่า พระสงฆ์ควรมีบทบาทอย่างไรต่อไปนั้น คงอยู่ที่หลักการอันมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คือในฝ่ายตนเองก็มีหน้าที่ในการศึกษาและปฏิบัติ คือศึกษาเพื่อให้ตนปฏิบัติได้ถูกต้อง พร้อมทั้งสามารถแนะนำแก่ผู้อื่นต่อไปได้ด้วย และปฏิบัติคือประพฤติตามหลักธรรมเพื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง และของสถาบันสงฆ์ ในฝ่ายความสัมพันธ์กับสังคมคฤหัสถ์ ก็มีหน้าที่ในการให้การศึกษา การเผยแผ่ และ การสงเคราะห์ การให้การศึกษาย่อมหมายถึงการอบรมสั่งสอนแนะนำผู้อื่นให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี ซึ่งอาจต้องอาศัยความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม การเผยแผ่ ย่อมหมายถึงการช่วยให้มีการประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นประโยชน์แผ่ออกไปในสังคมอย่างกว้างขวาง และการสงเคราะห์ย่อมอยู่ในขอบเขตแห่งคุณธรรมที่หวังประโยชน์ อนุเคราะห์แก่ประชาชนโดยบริสุทธิ์ใจ พร้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ทางสมณเพศของตน รักษาเกียรติและความบริสุทธิ์ของสถาบันสงฆ์ไว้ด้วย1

เท่าที่ได้พิจารณามา บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมี ๒ แบบ คือ

๑. บทบาทที่สืบเนื่องมาจากสังคมแบบเดิม

๒. บทบาทที่เกิดจากความรู้สึกตัวของพระสงฆ์ แล้วเริ่มต้นขึ้นใหม่

ในสังคมเมืองนั้น บทบาทอย่างเดิมกล่าวได้ว่าหมดสิ้นไปแล้ว แต่เมื่อพระสงฆ์รู้ตัวแล้วจะทำอย่างไร ควรดึงบทบาทเดิมกลับมาหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการจะกลับไปดึงบทบาทเดิมคืนมานั้นไม่เป็นการสมควร เพราะบทบาทบางอย่าง เช่น การแพทย์ การพยาบาล การมหรสพเริงรมย์ ไม่เป็นของจำเป็น หรือสมควรจะดึงกลับมา การที่ว่าจะเริ่มมีบทบาทช่วยเหลือสังคมอีก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปดึงเอาบทบาทเดิมคืนมา

แม้แต่ในสังคมชนบทที่พระสงฆ์ยังมีบทบาทเดิม เมื่อสังคมยังคงสภาพเดิมก็ต้องพยายามรักษาบทบาทเดิมไว้นั้นแง่หนึ่ง แต่เมื่อหมู่บ้านนั้นกำลังเจริญขึ้นเป็นสังคมแบบตัวเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องผืนรักษาบทบาทเดิมไว้ทั้งหมด เพราะเมื่อมีความเจริญแบบใหม่เข้าไปแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำบทบาทบางอย่าง เช่น การแพทย์ เป็นต้น ผู้อื่นมีหน้าที่มีความชำนาญโดยตรง ทำหน้าที่ได้ ก็ให้รับไปได้ เพราะเดิมก็ไม่ใช่บทบาทโดยหน้าที่อยู่แล้ว เป็นทำนองช่วยไว้ก่อนในเมื่อเขายังทำเองไม่ได้เท่านั้น ควรจะคิดในแนวทางที่จะเริ่มบทบาทใหม่ หรือปรับปรุงบทบาทที่มีอยู่แล้วให้เข้ากับสภาพใหม่อย่างไร

อันที่จริง การที่มีสถาบันอื่นๆ มารับภาระเอาบทบาทที่พระสงฆ์เคยทำอยู่เดิมไปนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบทบาทที่พระสงฆ์จะไปช่วยประชาชนได้มีเพียงเท่านั้นหรือ ถ้าหากมีเพียงเท่านั้น ถ้าอย่างนั้น ความเจริญแบบใหม่เข้ามาช่วยได้แล้ว พระสงฆ์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ต้องเอาไว้ก็ได้ หากไม่มีเพียงเท่านั้น ถึงเสียบทบาทเดิมไปก็ยังทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกประโยชน์อย่างนั้นมีหรือไม่ ก็เห็นว่ามี การสงเคราะห์ยังมีมากกว่านั้น

จึงยุติได้ว่า พระสงฆ์ควรตระหนักมั่นอยู่เสมอในหน้าที่เดิมแท้ของตนตามธรรมวินัย และจากฐานนี้จึงเริ่มบทบาทใหม่ หรือปรับปรุงบทบาทเก่าขึ้นในรูปใหม่ให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แทนที่จะดึงหรือหวงแหนหน่วงเหนี่ยวบทบาทเดิมไว้ และเท่าที่มองเห็นในปัจจุบัน พระสงฆ์ก็โน้มเอียงไปในทางที่จะทำเช่นนั้น ส่วนการที่ว่าจะเริ่มบทบาทใหม่ หรือปรับปรุงบทบาทเก่าขึ้นในรูปใหม่อย่างไรบ้างนั้น ก็รวมอยู่ในหลักการเดิม ๓ อย่างที่กล่าวแล้ว คือ การศึกษา การเผยแผ่ และการสงเคราะห์ สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ จะนำหลักการเหล่านี้ไปทำบทบาทอะไรบ้าง มีวิธีการอย่างไร และมีผลดีผลเสียอย่างไร ซึ่งคงไม่มีโอกาสพิจารณาในที่นี้ได้ทั้งหมด จะพูดถึงเฉพาะส่วนที่ควรสังเกตเป็นพิเศษตามที่พอนึกได้เท่านั้น

ในด้านการศึกษานั้น การศึกษาสำหรับพระสงฆ์เอง ไม่ขอพูดถึง แต่เฉพาะในด้านการศึกษาสำหรับประชาชน ซึ่งหมายเอาเยาวชนเป็นสำคัญนั้น น่าจะพิจารณาถึงความควรหรือไม่ควรก่อน ในกรณีนี้ ก็มองเห็นแง่ดีบางอย่าง เช่น

๑. พระสงฆ์มีหน้าที่ในการให้การศึกษาอยู่แล้ว อย่างน้อย เมื่อไม่พูดถึงวิชาการอย่างอื่น ก็ต้องทำการสอน ทำการอบรมในด้านศีลธรรม และสัจธรรมอยู่เป็นประจำ หากให้พระร่วมในการศึกษา ก็เท่ากับสนับสนุนให้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น หากไม่ให้พระมีส่วนในการศึกษาเลย ก็เท่ากับว่าตัดพระออกจากหน้าที่ส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน

๒. แง่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระมีเวลาทำงานเต็มที่ เพราะนอกจากการบำเพ็ญปฏิบัติสมณธรรมต่างๆ โดยหน้าที่ของท่านในทางประโยชน์ส่วนตนแล้ว พระก็มีหน้าที่โดยข้อผูกมัดทางสังคมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จะต้องอนุเคราะห์ประชาชนด้วยการให้ธรรมทานแก่เขาด้วย เวลาที่เหลือจากการปฏิบัติสมณกิจ ก็เป็นเวลาว่างที่จะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ไม่มีภาระเรื่องอื่นๆ ที่เป็นส่วนตัวมากมาย สละเวลาได้เต็มที่ แม้แต่การที่พระเป็นผู้ไม่มีครอบครัว ปราศจากกังวล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระจะทำงานในเรื่องที่จะช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้นด้วย หมายความว่าเป็นบุคคลที่เป็นสมบัติของส่วนรวม เป็นของกลาง ไม่เป็นของผู้ใด ซึ่งประชาชนก็รู้สึกกันอย่างนั้น

๓. แง่ดีอย่างต่อไปก็คือ พระนั้นมีความจำเป็นจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ดีกว่าชาวบ้านอยู่แล้ว การให้การศึกษาอบรมนั้น ไม่ใช่ให้แต่ความรู้อย่างเดียว นี้เป็นหลักการศึกษาทั่วไป ไม่ว่าจะใช้ศัพท์แสงต่างไปอย่างไร ก็มีความหมายว่าต้องให้มีความประพฤติดีงามด้วย พระซึ่งมีความประพฤติปฏิบัติโดยหน้าที่ที่จะต้องดีงามอยู่แล้ว ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กแก่เยาวชน เพราะเหตุนั้น ความรู้สึกในฐานครูกับศิษย์ก็จะเกิดขึ้นได้ คือมีความรู้สึกมีทัศนคติในฐานเคารพนับถืออย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันที่จะให้การศึกษาได้ผลสมความมุ่งหมายอีกแง่หนึ่ง

๔. อีกแง่หนึ่ง การศึกษาที่พระสงฆ์จัดทำนั้นลงทุนน้อย ที่ว่าลงทุนน้อยเพราะพระอยู่ตัวคนเดียว ชาวบ้านเลี้ยงอยู่แล้ว และไม่ต้องเลี้ยงใครด้วย อาหารก็สองมื้อเท่านั้น ผ้านุ่งห่มก็ใช้เพียงจีวร สบง สังฆาฏิ อย่างละผืน อาจจะมีผ้าประกอบเล็กๆ น้อยๆ การที่จะแสวงหาความเริงรมย์อะไรก็ไม่ต้องมี ถ้าปฏิบัติจริงๆ ตามสมณวิสัยก็ไม่มีรายจ่ายอะไรมากมาย เรียกว่าความเป็นอยู่ถูกมาก เดือนหนึ่งๆ พระก็ใช้ปัจจัยไม่กี่บาท เมื่อพระไม่มีความจำเป็นในด้านความเป็นอยู่ ในด้านการหาเลี้ยงชีพบีบบังคับ ในแง่หนึ่ง ก็สามารถทำงานได้เต็มที่ ในแง่หนึ่งก็ไม่ต้องมาคอยคิดที่จะหาสิ่งที่จะมาปรนเปรอตนเอง แล้วก็รู้สึกสำนึกในหน้าที่ว่าประชาชนเลี้ยงตนอยู่ จะต้องช่วยเหลืออนุเคราะห์ประชาชนเหล่านั้น เมื่อพระไม่ต้องมีรายจ่ายมากมาย ก็เป็นการลงทุนน้อย เป็นแง่ดีอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์จะช่วยประเทศชาติได้

อาจมีข้อแย้งว่า ถ้าพระไม่มีข้อผูกพันในทางเงินเดือน ที่จะเป็นเครื่องผูกมัดให้ปฏิบัติหน้าที่ พระก็จะไม่ตั้งใจปฏิบัติการงาน เพราะไม่มีเครื่องบังคับ ไม่มีอำนาจผลักดันให้ต้องทำงาน แต่เท่าที่ได้ทำงานมาแล้วในทางสงฆ์ เห็นว่าการทำงานด้วยศรัทธานั้น ได้ผลดีกว่าทำด้วยเหตุบีบบังคับโดยอำนาจหรืออะไรก็ตาม ถ้าหากมีอุดมคติของตนเอง หากเปิดโอกาสให้พระได้ทำงานด้วยจิตใจมุ่งเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมตามที่ท่านมีอุดมคติดีแล้ว ก็จะทำงานได้ดียิ่งกว่า ไม่ต้องไปติดอยู่กับอามิส หรืออย่างที่ว่า เอ อันนั้นยังไม่มาเราจะทำงานไปทำไม ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถึงจะมีหรือไม่มีก็ทำงานกันไปได้ ขอให้อยู่ในอุดมคติก็แล้วกัน การทำงานแบบนี้ได้ผลดีกว่า ส่วนการที่ว่าจะให้ทำงานได้จริงหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าเราจะต้องวางระบบการบริหารให้ดี ให้รัดกุม

เพื่อให้เห็นตัวอย่าง จะกล่าวถึงการศึกษาที่จัดอยู่แล้ว หากจะเห็นว่าเป็นการยกย่องตนเอง ก็ขอประทานอภัย กล่าวคือ เรื่องการจัดการศึกษาของพระสงฆ์อย่างที่เรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ การศึกษาแบบนี้ เท่าที่จัดทำมาตามประสบการณ์ ก็เห็นว่าได้ผลพอสมควร แต่การลงทุนนั้นเห็นว่าน้อยมาก มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือมหาจุฬาฯ และมหามกุฏฯ ได้รับงบประมาณแผ่นดินประจำปี แห่งละ ๑๕๐,๐๐๐ บาทเท่ากัน มหาจุฬาฯ มีพระสงฆ์เล่าเรียนอยู่ ๑,๐๙๑ รูป แบ่งเป็นคณะเป็นโรงเรียนเป็นแผนกต่างๆ เฉพาะขั้นอุดมศึกษาอย่างเดียว ก็มีประมาณ ๒๐๐ รูป มีผู้สำเร็จปริญญาปีละประมาณ ๓๕-๔๐ รูป แม้จะไม่อยู่ด้วยงบประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทอย่างเดียว จะมีศาสนสมบัติกลางช่วยทางหนึ่ง และมูลนิธิอาเซียอุปถัมภ์อีกทางหนึ่ง รวมเงินก็ราว ๕๕๐,๐๐๐ บาท กิจการที่มหาจุฬาฯ จัดทำ นอกจากให้การศึกษาแก่พระสงฆ์แล้ว ก็ยังมีงานเผยแผ่ต่างๆ พระธรรมทูต พระธรรมจาริก การส่งพระที่จบการศึกษาไปอยู่ต่างจังหวัด โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นต้น รายจ่าย ๕๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนมากก็ใช้เป็นค่าสมนาคุณอาจารย์ฆราวาส เพราะอาจารย์ฆราวาสก็ต้องมาช่วยสอนในวิชาการบางอย่าง มาช่วยอนุเคราะห์ แต่ความเป็นอยู่ของฆราวาสจะทำอย่างพระไม่ได้ ก็ต้องมีสมนาคุณ แต่ว่าท่านอาจารย์ฆราวาสเหล่านั้น ก็มักจะมีศรัทธา คือรับปัจจัยในราคาที่ต่ำกว่าปกติ ไม่เท่าทั่วๆ ไป อย่างเช่นอัตรา ๕๐ บาท ก็รับเพียง ๓๐-๔๐ บาท เป็นต้น หรือบางท่านก็สละให้ทั้งหมด ส่วนพระสงฆ์เองที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ ครูอาจารย์ ชั้นไหนก็แล้วแต่ อยู่ด้วยปัจจัย ๒๕๐-๔๐๐ บาท ก็พอเป็นค่าอาหารบ้าง ค่าพาหนะไปสอนบ้าง ถึงจะเป็นชั้นผู้ใหญ่แค่ไหนก็ตาม เรียกว่าอยู่แถวๆ ๔๐๐-๕๐๐-๖๐๐ บาทเดือนหนึ่งๆ มีอาหาร ๒ มื้อ บางทีก็ไปบิณฑบาตได้ แต่เดี๋ยวนี้บิณฑบาตไม่ค่อยได้ ก็อาจอาศัยโดยวิธีอื่นบ้างตามสมควร ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ถึงแม้ได้รับปัจจัยน้อย ก็ดำเนินงานไปได้ เป็นตัวอย่างอันหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ มิใช่ว่าพระสงฆ์ไม่มีข้อบังคับทางเงินเดือนแล้ว จะไม่อยู่ในระเบียบ จะไม่ทำงานอะไรอย่างนั้นเป็นอันตัดไปได้ ทำได้โดยต้องมีอุดมคติของตนเอง คือหวังว่าจะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมแท้จริง2

ถ้าพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง ก็จะเห็นชัดอีกอย่างว่า การดำเนินงานมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งจะเล็ก-ใหญ่แค่ไหนก็ตามอย่างที่เป็นอยู่นี้ โดยใช้ทุนดำเนินงานเท่านี้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย หากใช้วิธีการและผู้ดำเนินงานอย่างที่ทำกันทั่วๆ ไป เพราะทุนนั้นน้อยเพียงไร หากจะให้เห็นเป็นรูปชัด ลองเทียบดู อย่างเช่นกับงบประมาณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งบประมาณที่ใช้ในมหาวิทยาลัยนี้ ๑ วัน ก็มากกว่าที่ใช้ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๑ ปี หรือถ้าเอางบประมาณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มหาจุฬาฯ ฝ่ายสงฆ์ ก็ใช้ไปได้ ๑,๐๐๐ กว่าปี เป็นตัวเลขความจริงที่มีอยู่

๕. แง่สุดท้ายที่นึกได้ขณะนี้ เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทของไทย คือ การที่ว่า เมื่อพระสงฆ์มีส่วนในการจัดการศึกษาแล้ว จะไม่ข้ามเลยไปถึงการเข้าไปก้าวก่ายหรือครอบงำกิจการของรัฐ อย่างที่เคยเป็นมาแล้วในหลายประเทศอื่น ทั้งนี้ เพราะมีบทบัญญัติทางวินัยและคำสอนทางธรรม ให้พระสงฆ์ต้องพึ่งอาศัยฆราวาสในการเลี้ยงชีพ เป็นอยู่ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ให้สละ ไม่สะสมโลกียสมบัติ ไม่แสวงอำนาจ ถึงอยู่ท่ามกลางสังคมก็ให้ดำรงตนเป็นอิสระ ไม่เข้าไปคลุกคลี และเหตุผลที่เป็นลักษณะเฉพาะของไทย คือ ประเพณีการรักษาความบริสุทธิ์ของสถาบันสงฆ์ไว้ โดยยอมให้มีการถ่ายเทระบายสมาชิกอย่างเสรีและเปิดเผย เป็นเครื่องประกันไม่ให้บทบัญญัติและคำสอนถูกดึงลงมาหาผลประโยชน์จนเสียหลัก

บทบาทหลักต่อไป คือ การเผยแผ่ บทบาทนี้ หากเปรียบเทียบกับบทบาทด้านอื่น ก็นับว่าเป็นบทบาทที่คณะสงฆ์จัดทำมากที่สุด มากกว่าอย่างอื่น แต่ถ้าจะพิจารณากันว่าเป็นอย่างไร ได้ผลหรือไม่เพียงใด ก็จะต้องพูดถึงรายละเอียดเป็นอันมาก และก็ไม่ค่อยเกิดปัญหาในการที่จะริเริ่มดำเนินงานเหมือนอย่างบทบาทอื่น จึงจะขอข้ามไปก่อน ไม่พิจารณา

ในด้านการสงเคราะห์ งานส่วนที่พระสงฆ์จะทำได้โดยตรงก็คือการสงเคราะห์ทางจิตใจเป็นหลัก ส่วนการสงเคราะห์ทางวัตถุก็มีได้โดยอ้อม ด้วยการแนะนำชักจูงผู้อื่นให้กระทำหรือนำสิ่งหรือบริการที่ได้รับจากผู้อื่นมาเฉลี่ยแบ่งปันให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป ส่วนที่ว่าการสงเคราะห์ควรมีอะไรบ้าง อย่างไรนั้น ย่อมสุดแต่ความเหมาะสมกับกาลเทศะ เช่นสภาพและระดับความเจริญของสังคมนั้นๆ เป็นต้น บทบาทที่ควรนำมากล่าวมีตัวอย่าง เช่น

๑. การให้คำแนะนำทางจิตใจ เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตต่างๆ

๒. การเป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นทางจิตใจ ด้วยความประพฤติเป็นตัวอย่าง ตลอดจนสถานที่ของวัดวาอารามที่สงบร่มรื่น เป็นองค์ประกอบสำหรับหล่อเลี้ยงจิตใจของสังคมอย่างหนึ่ง

๓. การให้คำแนะนำปรึกษาด้านอื่นๆ เท่าที่ทำได้ เช่น ในทางวิชาการเป็นต้น ที่ผู้ปรึกษาสะดวกใจและสนิทใจ

๔. ในสังคมชนบทที่กำลังพัฒนา เมื่อชาวบ้านยังไม่พร้อมที่จะช่วยตนเอง ในการพัฒนานั้นได้ พระซึ่งเป็นผู้นำในท้องถิ่นอยู่แต่เดิมแล้ว หากได้ท่านเป็นศูนย์กลาง และท่านได้มีโอกาสเตรียมตัวพร้อม ก็อาจจะเป็นผู้ปิดช่องว่างที่มีอยู่ในงานพัฒนา และจะเป็นผู้นำชี้ช่องทางในการที่ท้องถิ่นจะรับความเจริญใหม่ๆ ได้ บทบาทนี้อาจประกอบด้วยการเสนอแนะ ให้ความคิดริเริ่มว่า ในถิ่นนั้นมีอะไรที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แล้วเป็นศูนย์รวมชักชวนประชาชนมาทำงานนั้น หรืออาจเป็นที่ปรึกษาที่ชาวบ้านมาขอความเห็นว่า จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นในถิ่น จะควรหรือไม่ควร ถ้าพระมีความรู้ก็แนะนำได้ เป็นการให้ความอุ่นใจแก่ประชาชน

๕. การสงเคราะห์ทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสามัญในศาสนาทั้งหลาย และยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่สำหรับประชาชนทั่วไปแม้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ในฐานะเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ สืบเนื่องมาจากความเร้นลับของชีวิต อย่างที่บางท่านเรียกว่าการบำรุงขวัญ ข้อนี้ได้แก่บทบาทประเภทพิธีกรรมต่างๆ

การที่พระสงฆ์จะปฏิบัติงานต่างๆ มีบทบาทในทางสังคมใดประการใดนั้นก็ยึดเอาหลัก ๓ ประการ คือ การศึกษา การเผยแผ่ และการสงเคราะห์ แล้วตั้งตนอยู่ในคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ ความบริสุทธิ์ ความเสียสละ และความมีความรู้มีสติปัญญา เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชนได้ เมื่อประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นนี้แล้ว ก็ดำเนินงานได้ และความจริงพระสงฆ์ในปัจจุบัน ท่านก็ได้เริ่มและกำลังทำงานในบทบาททั้ง ๓ อย่างนั้นอยู่แล้วมากบ้างน้อยบ้าง ตามประเภทงาน ตามกาลเทศะ และตามคุณสมบัติของตัวท่าน ในการนี้มีคุณธรรมอยู่ข้อหนึ่ง ที่จะช่วยให้พระสงฆ์สร้าง และรักษาคุณสมบัติ ๓ ประการที่กล่าวแล้วไว้ และปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทของตนได้ คือความสันโดษ ความสันโดษนั้นเป็นธรรมสำคัญที่จะช่วยให้ทำงานได้ เพราะความสันโดษ หมายถึง การไม่คอยใฝ่แสวงหาสิ่งต่างๆ มาปรนเปรอความสุขของตน มีความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุแต่พอควร เท่าที่ชีวิตจะดำเนินไปโดยผาสุก แล้วสงวนกำลังงานที่จะพึงสูญเสียไปเพราะการแส่หาความสุขสำราญนั้นไว้ เอาแรงงานทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตน มาทุ่มเทลงในการปฏิบัติหน้าที่ของตนและบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมโดยเต็มที่ สันโดษมีหลักการอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงต้องการอย่างนี้ คือสันโดษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่สันโดษเพื่ออยู่นิ่งๆ หรือเฉื่อยชา เป็นหลักที่คิดว่าจะทำให้พระสงฆ์ทำงานได้เต็มที่ เท่าที่พูดมาก็มากพอสมควร ขอโอกาสยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทในปัจจุบันพระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน >>

เชิงอรรถ

  1. บทความนี้ เขียนชะงักไว้เพียงเท่านี้ ข้อความต่อจากนี้ไป ดัดแปลงจากคำบรรยายในเวลาสัมมนา
  2. มีเรื่องที่ควรพูดเพิ่มเติมไว้ในที่นี้เล็กน้อย คือ เคยมีผู้กล่าวทำนองว่า พระสงฆ์ที่มาบวชเล่าเรียนศึกษาวิชาการต่างๆ แล้วอยู่บ้างสึกไปบ้างนั้น เป็นการเอาเปรียบสังคม ผู้พูดเช่นนี้น่าจะมุ่งให้เข้าใจเหตุผลว่า การบวชเป็นพระนั้นมีความเป็นอยู่และได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างสะดวกสบาย และผู้ที่จะบวชนั้น ราวกับว่าเป็นผู้มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ จึงเข้ามาบวชได้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนคลาดความจริงถึงตรงข้าม ที่จริงแล้ว ต้องมองในทางกลับกันว่า พระสงฆ์ที่เข้ามาบวชนั้นต้องสละความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ยอมงดความสุขสำราญต่างๆ แม้จะมีประเภทที่ควรถูกกล่าวหาเช่นนั้นอยู่บ้าง แต่เมื่อกล่าวโดยส่วนรวม โดยเฉพาะที่เป็นพระนักเรียนนักศึกษา ส่วนมากที่สุดจะมีความเป็นอยู่ขาดแคลนขัดสนอย่างมาก และการที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการอยางที่เขายอมรับกันและที่เป็นไปโดยชอบ ก็ยากหนักหนา กลายเป็นถูกสังคมเอาเปรียบเสียเป็นส่วนมาก และการบวชนั้นก็มิใช่เป็นอภิสิทธิ์อันใด สถาบันสงฆ์ต้อนรับทุกคนที่เต็มใจจะเข้ามาบวชโดยเสรี หากผู้ใดเห็นว่าการบวชเรียนเป็นการได้เปรียบ ก็น่าจะเข้าบวชเสียเองทีเดียว มองในแง่ของรัฐ การศึกษาในเพศพระยิ่งน่าจะเป็นที่พอใจมาก ตรงตามนโยบาย เพราะเป็นการช่วยการศึกษาของรัฐ รัฐได้ผล มีผู้ได้รับการศึกษา โดยรัฐไม่ต้องลงทุน หรือลงทุนแต่น้อยที่สุด

No Comments

Comments are closed.