มาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย

29 พฤษภาคม 2543
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

มาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย

ยกตัวอย่างว่า คนมีมาตรฐานการครองชีพสูง มีเงินทองของกินใช้มากมาย กินอาหารดีๆ แต่เป็นโรคอ้วนกันมากมาย เช่น ประเทศอเมริกา ซึ่งเวลานี้คนเป็นโรคอ้วนกันมาก ก็ถือว่าคุณภาพชีวิตไม่ดี อาหารการกินพรั่งพร้อมเป็นอยู่สะดวกสบาย ทำให้คนฝรั่งอ้วนเยอะเหลือเกิน ฝรั่งอเมริกันอ้วนแล้วก็ตามด้วยโรคอื่นๆ เข้ามาอีก

คนในประเทศพัฒนาแล้วเป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงกันมาก แสดงว่าคุณภาพชีวิตเสื่อม ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะเลิกวัดความเจริญเพียงด้วยมาตรฐานการครองชีพสูง และคำนี้เดี๋ยวนี้ก็ใช้น้อยลง จำกัดอยู่ในวงวิชาการและใช้วัดกันเฉพาะแง่เศรษฐกิจ แต่ไม่ได้วัดชีวิตที่ดีงาม

ทีนี้คุณภาพชีวิตที่กลายเป็นคำนิยมใช้กันเกร่อนั้นหมายถึงอะไร พูดอย่างหนึ่งก็คือ องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้มีสภาพชีวิตที่ดี แต่คนเรามีสภาพชีวิตอย่างไรจึงจะดี ก็ต้องดูชีวิตทั้งหมด หรือทั้งชีวิต ดูอย่างที่เรียกว่าองค์รวม ดูทุกด้านว่าด้านไหนดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ดูแค่วัตถุพรั่งพร้อม ไม่ใช่ดูแค่ได้กินได้อยู่เพียงมีปัจจัยสี่ว่า มีอาหารการกินพรั่งพร้อม เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวโก้เก๋สวยงาม มีที่อยู่ดีดี มียากินดี อย่างสมัยใหม่ ที่มีการแพทย์เจริญ มีเครื่องใช้ไม่ขาดแคลน ไม่ใช่แค่นั้น แต่จะเอาแค่ไหน ก็อย่างที่บอกแล้วว่ายาก

ก็ต้องมาคิดดูว่า ก่อนจะมีคำนี้นั้น สังคมไม่เคยมีคุณภาพชีวิตหรืออย่างไร โดยเฉพาะสังคมไทยของเรา เราก็คงต้องมีความคิดที่จะให้คนมีชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีชีวิตเป็นอยู่กันมาทุกยุคทุกสมัย คนทุกยุคทุกสมัยก็คงอยากจะอยู่ดี เขาก็คงมีความคิดเรื่องนี้

ลองมองดูในสายความคิดของเรานี่ เรามีไหม แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องชีวิตที่ดี หรือสภาพชีวิตที่ดี และถ้ามี เราใช้คำอะไร จึงบอกว่าอยากจะฝากให้คิด ถ้าเราจับได้ เราก็อาจจะได้อะไรบางอย่างเพิ่มขึ้น ถ้าเรานึกออกว่า คนไทยเราก็เคยมีแนวคิดเรื่องนี้อยู่ เราอาจจะมีศัพท์ที่ใช้หมายถึงสิ่งที่เรียกในปัจจุบันว่าคุณภาพชีวิตที่ดี

อยากจะเสนอคำหนึ่ง ที่จริงคำว่า “บุญ” นี่แหละ เป็นคำที่มีความหมายครอบคลุมคำว่าคุณภาพชีวิต

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มาตรฐานการครองชีพ วัดกันที่ไหน“บุญ” ครอบคลุมคำว่าคุณภาพชีวิต ได้แค่ไหน >>

No Comments

Comments are closed.