ชุมชนจะเข้มแข็ง ถ้ายึดเอาบุญเป็นศูนย์กลาง

29 พฤษภาคม 2543
เป็นตอนที่ 5 จาก 5 ตอนของ

ชุมชนจะเข้มแข็ง ถ้ายึดเอาบุญเป็นศูนย์กลาง

คำว่าบุญนี่เป็นคำที่คนไทยสมัยก่อนพูดแล้วก็เรียกได้ว่าซาบซึ้งจริงๆ ไปทำบุญที่วัด เดินผ่านบ้านคนที่ไม่ได้ไป เขาถามว่าไปไหนมา ตอบว่าไปทำบุญมา คนที่ไปทำบุญมาก็แจกบุญไปด้วย คนที่อยู่บ้านก็อนุโมทนาด้วย พอบอกว่าอนุโมทนาบุญด้วย จิตใจก็ผ่องใสชื่นบานไปด้วยกับคนที่เขาไปทำบุญมา แม้ตัวเองไม่ได้ไป ก็พลอยมีจิตใจร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส สดชื่น

บุญของชาวบ้านนี้ดูจะเน้นจิตใจมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความจำกัดเฉพาะอย่างนั้น ได้บอกเมื่อกี้แล้วว่า คติบุญในพระพุทธศาสนา เราเห็นได้ในเรื่องมฆมาณพ ที่ว่าเริ่มต้นก็จัดสภาพแวดล้อมของส่วนรวมให้ดี ทำสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ความเป็นอยู่ในชุมชน อันนี้เขาเรียกว่าทำบุญ ตามคำภาษาบาลีว่า บุญกรรม หรือบุญกรณ์

นายมฆะนั้น เริ่มแรกแกก็ทำบุญด้วยความคิดริเริ่มและสมัครใจของตัวเอง ตามปกติ แกก็ทำงานทำอาชีพอยู่ด้วยกันกับคนอื่น ที่หมู่บ้านก็มีลานบ้าน ชาวบ้านไปทำงานกัน เมื่อทำงานไปก็ต้องมีการพักบ้าง และเพื่อจะให้การพักได้ผลดี มฆมาณพแกก็จัดที่นั่งพักผ่อนให้สะอาดเรียบร้อย น่าพัก น่าสบาย คนอื่นเห็นที่ที่แกจัดไว้น่าพัก เขาก็มาอาศัยพักบ้าง แกก็ไม่ถือสา ไม่ใช่จะหวงว่าที่ของฉันนะอย่าเข้ามา แต่แกคิดว่า เออ คนอื่นเขาจะได้มีความสุข เราทำให้เขามีความสุขได้ก็ดีแล้ว แกก็ไปทำที่จุดอื่นอีก คนอื่นเขามาเห็นที่สะอาดสบายดีก็เข้าไปพัก แกก็มีความสุขด้วย ที่ทำให้คนอื่นเขามีความสุข

เรื่องนี้สำคัญนะ การเห็นคนอื่นมีความสุขแล้วตัวเองพลอยมีความสุข หรือความที่สุขด้วยการทำให้คนอื่นเป็นสุขนี่ อันนี้เรียกว่ามีเมตตากรุณา ซึ่งทำให้คนเป็นสุขด้วยกัน ไม่โดดเดี่ยวอ้างว้างห่างเหิน ไม่ใช่สุขแบบแปลกแยก และไม่ต้องแย่งความสุขกัน นายมฆะนี้แกทำไปจนกระทั่งสถานที่ที่จัดเรียบร้อยน่าสบายนั้นกว้างขยายออกไปมากขึ้น

ต่อมา ในบริเวณหมู่บ้านมีอะไรที่ไม่เรียบร้อย หนทางขรุขระ รถที่มาเข้าออกไม่สะดวก แกก็ไปถากไปถาง ทำให้เรียบร้อย แกกลับบ้านค่ำๆ บ่อยๆ คนอื่นก็ถามว่า อ้าว ไปทำอะไรกลับมาบ้านมืดค่ำ แกก็บอกว่าไปทำบุญ คนอื่นเขาก็สนใจ

ไปๆ มาๆ ก็มีพรรคพวกคนหนุ่มๆ มาร่วมทำบุญจนเป็นกลุ่มเป็นคณะ ก็กลายเป็นกลุ่มนักทำบุญขึ้นมา เที่ยวไปบำเพ็ญประโยชน์ ไปสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นทำสะพาน ขุดบ่อน้ำ ถากถางทำความสะอาด อะไรพวกนี้ และกลุ่มนี้ก็บอกว่าไปทำบุญกัน ก็เลยเป็นคณะทำบุญ

ต่อมา ก็เผื่อแผ่ให้ความรู้แก่คนอื่น มาพบปะพร้อมกันประชุมกัน พูดกันปรึกษากันว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม อยู่กันเป็นสุขในชุมชนของตน ก็เน้นกันที่เรื่องของชุมชน ให้ชุมชนได้อยู่กันอย่างมีความสุข ทุกๆ คนแต่ละคนก็อยู่ด้วยความสุข และอยู่กันด้วยชีวิตร่วมสัมพันธ์ที่ดี อย่างนี้แหละถือว่าอยู่กันด้วยบุญด้วยกุศล

ตามที่ได้เล่าเรื่องเก่าแก่นี้มา คำว่าบุญ เมื่อมองจากเรื่องมฆมาณพ ก็เริ่มที่ชุมชน คือการทำให้ชุมชนอยู่กันดี ให้ทุกคนมีความสุขด้วยกัน

ต่อมา เรามีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน วัดก็เป็นแหล่งที่จะดำรงรักษาและเผื่อแผ่ให้บุญมั่นคงอยู่ได้ยั่งยืน และขยายกระจายงอกงาม เพราะวัดเป็นแหล่งของคุณธรรมความดี ที่จะคอยเตือนสำนึกของชาวบ้านว่า ให้ทำความดีกันต่อไป ให้มีคุณธรรม ให้มีความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีศรัทธา มีเมตตา และเป็นแหล่งที่จะให้ปัญญา ให้ความรู้ความเข้าใจ สอนให้ประชาชนรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ที่แท้จริง วัดก็จึงเป็นศูนย์กลางของบุญ ทำให้บุญเจริญแผ่กว้างขวางงอกงามออกไป พร้อมด้วยความร่มเย็นเป็นสุขของชุมชน

เพราะเป็นมาอย่างนี้แหละ เรื่องภูมิธรรม ภูมิปัญญา ก็จึงมีวัดเป็นแหล่งศูนย์กลาง ช่วยรักษาให้บุญดำรงอยู่และเจริญงอกงามขยายออกไป เกิดเป็นชีวิตที่ดีงามด้วยกัน เวลาพูดถึงวัด ก็พูดในฐานะที่เป็นศูนย์กลางชุมชน มีความหมายรวมถึงชุมชนด้วย วัดกับชุมชนก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นี่เป็นเรื่องของชีวิตที่เป็นมาแต่เดิม ถ้ามองอย่างนี้ เราก็จะเห็นภาพทั้งรูปธรรมและนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมก็อย่างที่มองเห็น คือ เกิดมีชุมชนขึ้นมา แล้วกลางชุมชนนั้นก็มีวัด และวัดนั้นก็เป็นแหล่งของคุณธรรมความดี และเรื่องของปัญญาความรู้ความเข้าใจ พร้อมกันนั้น ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชาวบ้าน เพื่อให้ความดีงามและปัญญานั้นเจริญงอกงามแผ่ออกไป เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีงามและความสุขในชุมชนนั้น โดยความเป็นอยู่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องบุญ

เป็นอันว่าขอฝากให้คิด คำว่าบุญนี้ จะเป็นคำที่สื่อความหมาย แสดงถึงแนวคิดของคนไทยแต่เดิม ในเรื่องที่เราเรียกปัจจุบันว่าคุณภาพชีวิตหรือไม่ ถ้าหากว่าเป็น มันมีความหมายกว้างแคบกว่ากันอย่างไร และอย่างน้อยเราจะได้คติอะไรมาใช้ประโยชน์ ขอพูดไว้แค่นี้ก่อน

เรื่องที่มฆมาณพทำบุญนั้นมีอะไรบ้าง ก็มีเรื่องการจัดสิ่งแวดล้อมให้รื่นรมย์น่าอยู่ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นสัปปายะ จะได้อยู่กันด้วยดี และชีวิตชุมชนที่อยู่รวมกัน ก็อยู่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงาม ไม่เบียดเบียนกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูล พร้อมกันนั้น ก็ชวนกันเลิกละอบายมุข ทำชุมชนให้ปลอดจากสุรายาเสพติดการพนัน หันไปทำสิ่งที่เป็นการสร้างสรรค์ และขยันหมั่นเพียรในอาชีพการงาน โดยต่างก็มีการงานที่ต้องทำ มีภาวะที่เรียกอย่างปัจจุบันว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< “บุญ” ครอบคลุมคำว่าคุณภาพชีวิต ได้แค่ไหน

No Comments

Comments are closed.