มาตรฐานการครองชีพ วัดกันที่ไหน

29 พฤษภาคม 2543
เป็นตอนที่ 2 จาก 5 ตอนของ

มาตรฐานการครองชีพ วัดกันที่ไหน

ก่อนที่จะมานิยมใช้คำว่า quality of life หรือคุณภาพชีวิตนั้น เขานิยมใช้คำว่า “มาตรฐานการครองชีพ” ที่แปลจากฝรั่งเช่นเดียวกัน คือ standard of living ซึ่งในยุคก่อนนี้ใช้กันมาก อะไรๆ ก็มาตรฐานการครองชีพ ประเทศไหนมีมาตรฐานการครองชีพสูง ก็ถือเป็นดี

มาตรฐานการครองชีพสูงก็วัดกันที่เศรษฐกิจ เน้นเรื่องวัตถุด้านเดียว คือมุ่งหรือจ้องดูความความพรั่งพร้อมทางวัตถุ การมีเงินทอง สิ่งของเครื่องใช้ สิ่งบริโภค มั่งคั่งพรั่งพร้อม ซึ่งก็อย่างที่ว่าแล้ว คือมาจากฝรั่งอีกนั่นแหละว่า standard of living

ถ้าดูประวัติคำว่า standard of living นี่ ฝรั่งเริ่มใช้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๒ คือ พ.ศ. ๒๔๔๕ ซึ่งอีก ๒ ปี จะครบรอบ ๑๐๐ ปี ถ้าจะฉลองครบรอบศตวรรษของ(คำว่า)มาตรฐานการครองชีพ ก็อีก ๒ ปีข้างหน้า คงรอกันได้

อย่างไรก็ดี เวลานี้คนชักจะไม่ค่อยนิยม ว่าให้วัดความเป็นอยู่ หรือวัดความเจริญด้วยมาตรฐานการครองชีพสูง แต่หันมานิยมใช้คำว่า quality of life ซึ่งเป็นคำที่แม้แต่จะสืบกันว่าเกิดเมื่อไร ก็ค้นหาค่อนข้างยาก ที่จริงเคยมีคนใช้มานานมาก แต่ไม่เข้าพจนานุกรม (ถึงเดี๋ยวนี้ ก็เพิ่งมีพจนานุกรมของฝรั่งไม่กี่ฉบับหรือไม่กี่ชุดที่เอาลงแล้ว) เพราะถึงจะมีผู้ใช้ก็ไม่ถือเป็นศัพท์ทางการและไม่เป็นวิชาการ ไม่เหมือนกับคำว่ามาตรฐานการครองชีพ ที่ราชการและวงวิชาการใช้กับเรื่องเศรษฐกิจกันมานาน

ถ้าค้นดูประวัติการใช้ ถึงแม้จะมีผู้ใช้มาก่อน แต่พจนานุกรมสำคัญๆ ยอมรับ “คุณภาพชีวิต” ว่าเพิ่งเกิดขึ้นประมาณ ๔๐ ปี หลังคำว่ามาตรฐานการครองชีพ คือราว พ.ศ. ๒๔๘๕ แต่เพิ่งมานิยมใช้กันมากไม่กี่ปีนี้เอง และเดี๋ยวนี้ สำหรับสังคมวงกว้างกลายเป็นรู้จักคำว่าคุณภาพชีวิต มากกว่ามาตรฐานการครองชีพ ได้ยินพูดกันจนเป็นคำพูดเชิงโก้ แต่ไม่ค่อยเข้าใจความหมายกันจริง

คุณภาพชีวิตนี้เป็นการขยายความหมายออกไป คือ ไม่วัดกันเพียงด้านความพรั่งพร้อมทางวัตถุ แต่มองกว้างออกไป โดยดูที่สภาพแวดล้อม ดูที่การศึกษา ดูทางสังคม ดูทางการเมือง เป็นต้น ด้วย เช่น อิสรภาพ และความเป็นธรรมทางสังคม ก็ถือว่าเป็นคุณภาพชีวิต นับว่าเน้นด้านนามธรรมมากขึ้น

แต่ก็อย่างที่บอกแต่ต้นแล้วว่า คำว่าคุณภาพชีวิตนี่ ฝรั่งเองก็ยังไม่ชัด และยังให้ความหมายกันไปต่างๆ แต่พูดได้ว่ากว้างขึ้น ถ้าวัดที่มาตรฐานการครองชีพโดยมองที่เศรษฐกิจ หรือความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุที่พรั่งพร้อมนี่ ไม่แน่ เพราะเขาได้เห็นแล้วว่า บางทีแม้จะมีมาตรฐานการครองชีพสูง เป็นอยู่ดีแล้วอย่างประเทศพัฒนา แต่ความจริงกลายเป็นว่าคุณภาพชีวิตกลับเสื่อมโทรม พูดสั้นๆ ว่า “มาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คุณภาพชีวิต หรือ Quality of Life คืออะไรมาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย >>

No Comments

Comments are closed.