ความไม่สันโดษ ที่เป็นพระจริยาวัตรของพุทธเจ้า

26 ตุลาคม 2525
เป็นตอนที่ 3 จาก 7 ตอนของ

ความไม่สันโดษ ที่เป็นพระจริยาวัตรของพุทธเจ้า

คุณธรรมคือความไม่สันโดษนี้ ควรจะได้รับการเน้นและยกย่องในหมู่พุทธศาสนิกชนได้มาก แต่ต้องเป็นความไม่สันโดษที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา เพราะเป็นพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าทีเดียว

ทีนี้ ถ้าเรามองความไม่สันโดษเป็นธรรมสำคัญ เราจะเห็นว่าความสันโดษในเรื่องสิ่งบริโภคที่จะเอามาบำรุงบำเรอตัวเอง หมายความว่า เอากิจหน้าที่การงานวัตถุประสงค์ที่ดีงามนี้เป็นใหญ่ ส่วนการดำเนินชีวิต การมีปัจจัยสี่อะไรต่างๆ นั้น เป็นเพียงองค์ประกอบเกื้อกูล การมีปัจจัยสี่ การมีวัตถุอำนวยความสะดวกนั้น จะต้องมีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องเกื้อหนุนในการที่จะบำเพ็ญกิจหน้าที่ การกระทำสิ่งที่ดีงามเพื่อเข้าถึงจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์ ถ้าอย่างนี้แล้วรับกันเลย สันโดษ กับ ไม่สันโดษ ความสันโดษก็เป็นฐานรองรับแก่ความไม่สันโดษอย่างที่ว่ามาแล้ว และความไม่สันโดษนั้นก็เป็นความไม่ประมาท

เรื่องความสันโดษที่พูดกัน ที่ว่าเป็นปัญหามากก็เพราะไม่ได้พูดให้ชัดว่า สันโดษในเรื่องอะไร? มีเป้าหมายหรือความมุ่งหมายอย่างไร? เมื่อเราพยายามอธิบายแต่เพียงความหมายของคำ มันก็ยิ่งพร่าออกไป สันโดษที่ตรัสไว้โดยไม่พูดว่าสันโดษในเรื่องอะไร ก็มีแต่ในคาถาอย่างที่พูดมาแล้ว เช่น บอกว่า สนฺตุฏฺี ปรมํ ธนํความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

หรือในมงคลสูตรก็บอกว่า “สนฺตฏฺี จ กตฺุตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ความสันโดษ ความกตัญญู (และอะไรต่างๆ อีกมากมายในมงคล ๓๘ ความสันโดษก็เป็นมงคลหนึ่งในมงคลเหล่านั้น) เป็นมงคลอันอุดม

ในคาถาอย่างนี้ไม่ได้บอกไว้ชัดเจนว่า ให้สันโดษในอะไร แต่ถ้าเป็นข้อความร้อยแก้วจะบอกชัดทีเดียวว่าสันโดษในอะไร นี่เป็นแง่หนึ่งที่เกี่ยวกับการศึกษาธรรมะ คือต้องสะกิดบอกกันว่าไม่ใช่พูดแต่เรื่องความหมายของธรรมข้อนั้นๆ เท่านั้น แต่จะต้องทำความเข้าใจให้ครบถ้วนทุกแง่ด้วย เช่นในแง่นี้ก็คือ จะต้องมองความหมาย โดยสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายของธรรมะข้อนั้นๆ และโดยสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นๆ ด้วย อย่างความไม่สันโดษนี่ชัดเจนว่า จะสัมพันธ์กันกับความเพียรพยายาม เช่นในข้อสองแห่งคุณธรรมที่ให้ตรัสรู้นั้น ก็จะตามมาด้วยความเพียรที่ไม่ยอมระย่อท้อถอย

ถ้าเราสันโดษผิดก็ตาม ไม่สันโดษผิดก็ตาม ก็จะเกิดผลร้ายขึ้นมาทันที ฉะนั้นต้องจับจุดให้ถูก สันโดษต้องสันโดษในเรื่องเครื่องอำนวยความสะดวกทางวัตถุ แต่ต้องไม่สันโดษในกุศลธรรม ถ้าไปจับสันโดษผิดสันโดษในกุศลธรรมก็หยุดเลย เป็นผลเสียเลยทีเดียว มันจะเสียอย่างไร ถ้าพระโสดาบันสันโดษในเรื่องกุศลธรรม พระโสดาบันนั้นก็กลายผู้ประมาทไม่ก้าวหน้า ไม่ต้องได้บรรลุเป็นสกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ต่อไป ไม่ต้องไปแล้ว เป็นโสดาบันอยู่นั้นเอง เรียกว่า เป็นอริยสาวกผู้ประมาท

ทีนี้ ถ้าหากว่าไม่สันโดษอย่างผิดพลาด คือ ไม่สันโดษในสิ่งอำนวยความสะดวก มุ่งหาแต่วัตถุบำรุงบำเรอตนเอง เขาเรียกว่ามุ่งหาอามิส ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วงานก็หยุด งานก็เสีย ใจก็ไม่อยู่กับงาน เมื่อใจก็ไม่อยู่กับงาน ทำงานก็ไม่ได้ผลดี งานก็ไม่สำเร็จผลด้วยดี แล้วดีไม่ดีความไม่สันโดษนี่ ก็สนับสนุนความโลภ เมื่อโลภแล้วได้ไม่ทันใจก็ต้องทุจริตอะไรอย่างนี้ เป็นต้น ตัวไม่สันโดษก็นำมาซึ่งความทุจริต มันก็เป็นเรื่องของผลร้าย

ในจุดนี้ ก็สรุปแต่เพียงว่า เรื่องสันโดษและไม่สันโดษนี่ไม่ใช่คุณธรรมที่เราจะเข้าใจเฉพาะตัวลอยๆ แต่จะต้องเข้าใจโดยสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นเป้าของมันว่า สันโดษในอะไร ไม่สันโดษอะไร แล้วก็มีความมุ่งหมายอะไร อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

ถ้ามีความเข้าใจร่วมกันอย่างนี้แล้ว ก็จะศึกษาให้ลึกลงไปอีกว่า ความสันโดษที่ดีและความไม่สันโดษที่ดีนี่ จะต้องมีรากฐานอีกว่าเกิดจากอะไร ทำอย่างไรจึงจะมีสันโดษที่ดีและไม่สันโดษที่ดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สันโดษไม่ดี ไม่สันโดษจึงดีความอยากที่ดี >>

No Comments

Comments are closed.