สันโดษไม่ดี ไม่สันโดษจึงดี

26 ตุลาคม 2525
เป็นตอนที่ 2 จาก 7 ตอนของ

สันโดษไม่ดี ไม่สันโดษจึงดี

งานของพระพุทธเจ้าอย่างแรกที่สุด ก็คือการตรัสรู้ อะไรทำให้พระองค์ได้ตรัสรู้ พระองค์ได้ทำงาน คือ มีความเพียรพยายามอย่างมีประสิทธิภาพจนประสบความสำเร็จให้ตรัสรู้ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าได้ และพระองค์ก็เคยตรัสไว้ จึงจะขอยกความจากพระสูตรโดยตรง มีความตอนหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เรารู้ชัดถึงคุณ (คุณนี้หมายถึงคุณค่าก็ได้) ของธรรม ๒ ประการ คือ ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลายหนึ่ง ความเป็นผู้ทำความเพียรไม่ระย่อท้อถอยหนึ่ง ดังที่เป็นมา เราตั้งความเพียรไว้ไม่ย่อหย่อนว่า จะเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที แม้เนื้อและเลือดในสรีระเหือดแห้งไปก็ตาม หากยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรง ความเพียรความบากบั่นของบุรุษแล้ว จะไม่หยุดความเพียรเสีย

ภิกษุทั้งหลาย โพธิญาณเราบรรลุด้วยความไม่ประมาท ธรรมอันเป็นเครื่องปลอดโปร่งรอดพ้นจากเครื่องผูกพัน เราบรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท”

นี่เป็นข้อความสำคัญในพระสูตรตอนหนึ่งที่มาในอังคุตตรนิกาย ต่อจากนี้พระองค์ได้ตรัสเตือนแนะนำพระภิกษุทั้งหลาย ให้บำเพ็ญเพียรตามอย่างที่พระองค์ได้เคยทรงมาแล้ว

ข้อความตอนนี้อาจจะไม่ใช่แสดงคุณธรรมทั้งหมดที่พระพุทธเจ้ามี ที่ทำให้พระองค์มีประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ

จุดที่อยากจะชี้ลงไปเพื่อทำให้เกิดความสะดุดใจเป็นที่สังเกตก็ตรงที่ว่า “ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย” อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องการเน้น ส่วนอันที่สองว่า ความเป็นผู้ทำความเพียรไม่ระย่อท้อถอย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา คือ เรื่องความเพียรนั้น เราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นหลักสำคัญ แต่ทีนี้ความไม่สันโดษนี่ บางท่านอาจรู้สึกแปลกหรือขัดหูหน่อย เคยได้ยินว่าความสันโดษนี่เป็นคุณธรรมสำคัญ มาตอนนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“คุณธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นข้อแรกด้วยที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้ คือความเป็นผู้ไม่สันโดษ แต่ไม่ใช่สันโดษเฉยๆ ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย”

ที่ต้องการชี้ก็คือว่า เราเคยนึก เราเคยได้ยิน และพูดกันมากเรื่องความสันโดษ ก็ถือเป็นคุณธรรมใหญ่อย่างหนึ่ง แล้วเราก็จะเห็นนักธรรมะพูดว่า ความไม่สันโดษนี่เป็นสิ่งที่ผิด ไม่ใช่คุณธรรม เป็นอกุศล แต่คราวนี้ชี้มาทางตรงกันข้าม ถ้าหากท่านไม่เคยได้ยินก็ต้องทำให้เกิดเป็นความสงสัยขึ้นมาก่อน จะได้มาช่วยกันชี้แจงให้เกิดความชัดเจนต่อไป เรามาพูดว่าความไม่สันโดษกลายเป็นสิ่งดีไปแล้ว พระพุทธเจ้าเองตรัสว่า พระองค์ไม่สันโดษจึงได้ตรัสรู้

ทีนี้ ต่อไปจะได้พูดถึงว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความสันโดษนี่ไม่ดี จะให้แปลกใจโดยสร้างความฉงนสนเท่ห์ก่อน ก็อ้างพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่งที่ตรัสว่า

“ดูก่อนนันทิยะ อย่างไรอริยสาวกชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยความประมาท?

อริยสาวกนั้นสันโดษด้วยความเลื่อมใสอันมั่นคงในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ สันโดษด้วยศีลที่อริยชนยอมรับ ย่อมไม่เพียรพยายามให้ยิ่งขึ้นไป…”

แล้วพระองค์ก็บรรยายต่อไป จนในที่สุดตรัสว่า

“… เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกนั้นก็จึงไม่มีปัญญารู้เข้าใจธรรมะทั้งหลาย”

อันนี้สันโดษไม่ดีเสียแล้ว นี่คือ สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นแต่ต้นว่า มันอาจจะกลับกันกับที่เคยพูดกันมาว่า สันโดษนี่เป็นคุณธรรมสำคัญที่ดี ถ้าไม่สันโดษละก็ผิดธรรมะ แต่ในที่นี้พระพุทธเจ้าติเตียนความสันโดษ และทรงยกย่องความไม่สันโดษ และยกย่องในฐานะเป็นคุณธรรมที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้เสียด้วย เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

ในวงการศึกษาธรรมะนั้น อาจมีจุดพลาดตรงนี้ คือ พูดกันไม่ทั่วถึง ไม่รอบด้าน เมื่อศึกษาไม่รอบด้านก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้สองแง่ ฝ่ายหนึ่งก็จะพูดว่าสันโดษ นี่เป็นคุณธรรมหรือหลักธรรมที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลร้าย เมื่อคนทั้งหลายมีความสันโดษ ก็ทำให้งอมืองอเท้า ไม่อยากขวนขวายเพียรพยายามทำสิ่งที่ควรทำ ไม่อยากสร้างตัวสร้างหลักฐาน เป็นต้น

ถ้ามองในแง่พัฒนาประเทศชาติ ก็ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาหรือด้อยพัฒนา อะไรอย่างนี้ นี่ก็เป็นฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็เคยมีแม้แต่ท่านผู้ใหญ่ที่เคยแนะนำว่า ไม่ให้พระสอนสันโดษ เพราะท่านเห็นว่าสันโดษนี้เป็นหลักธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

ทีนี้ อีกฝ่ายหนึ่งก็พูดถึงแต่เรื่องความสันโดษ จะต้องสันโดษเท่านั้นจึงจะดี จึงจะถูกต้อง ไม่สันโดษเป็นผิดพลาดหมด สองฝ่ายนี้หาจุดยุติไม่ได้ก็ขัดกัน เพราะฉะนั้น จึงน่าจะมีการศึกษาให้ถ่องแท้ว่า พุทธประสงค์เป็นอย่างไรในเรื่องความสันโดษ และไม่สันโดษนี้

สรุปความที่ยกพุทธพจน์มากล่าวเมื่อตะกี้ก็ให้เห็นว่า ความไม่สันโดษนี้เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ส่วนสันโดษนั้นก็มีหลักฐานอยู่ในที่อื่นแน่นอนแล้ว ก็เป็นคุณธรรมเช่นกัน เป็นอันว่าความสันโดษเป็นคุณธรรมข้อหนึ่ง ความไม่สันโดษเป็นคุณธรรมอีกข้อหนึ่ง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะเป็นได้อย่างไร…สันโดษก็เป็นคุณธรรม ไม่สันโดษก็เป็นคุณธรรม เป็นคุณธรรมทั้งคู่ได้อย่างไร?

ในทางตรงกันข้ามก็บอกว่า ความสันโดษก็เป็นอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ผิด เป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ความไม่สันโดษก็เป็นสิ่งที่ผิดเหมือนกัน ผิดทั้งคู่อีก มีถูกทั้งคู่ และผิดทั้งคู่ ยิ่งน่าสงสัยไปใหญ่

จะขอขยายความนิดหนึ่ง คือให้สังเกตว่าเวลาตรัสว่า สันโดษหรือแม้จะตรัสว่าไม่สันโดษก็ตาม จะไม่ได้ตรัสแต่เพียงถ้อยคำลอยๆ แค่นั้นมันจะต้องมีอะไรตามมาอีก อันนี้แหละคือจุดที่ว่าถ้าจะพลาดก็พลาดตรงนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เห็นคุณค่าของธรรมสองประการ ข้อแรกก็คือความไม่สันโดษ ที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้นะ พระองค์ตรัสต่อไปว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สันโดษในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เกื้อกูล

เอาละ…นี่ก็เป็นแง่ที่หนึ่ง ความไม่สันโดษที่เป็นคุณธรรม ในเมื่อตามมาด้วยคำว่าในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วก็เป็นสิ่งที่ดีงามชอบธรรม เป็นคุณธรรมสำคัญ

ถ้าหากว่าสันโดษอย่างที่อริยสาวกเมื่อกี้ สันโดษด้วยศรัทธา สันโดษด้วยศีล สันโดษในกรณีนี้คือสันโดษในกุศลธรรม พอใจแล้ว มีคุณธรรมแค่นี้มีความดีงามแค่นี้ พอแล้ว อย่างนี้เป็นอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ท่านเรียกว่าเป็นความประมาท เราจะเห็นชัดว่าในทั้งสองกรณีนี้ ความสันโดษและความไม่สันโดษจะเกี่ยวเนื่องกับความประมาทและความไม่ประมาท

ความไม่สันโดษในกุศลธรรมก็มาคู่กับความไม่ประมาท คือ เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรม แล้วก็ไม่ประมาท ก็จะเพียรพยายามสร้างบำเพ็ญสิ่งที่ดีงามนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ทีนี้ สันโดษ ถ้าสันโดษในกุศลธรรม คิดว่าแค่นั้นพอแล้ว ก็ทำให้เกิดความประมาทคือไม่คิดปรับปรุงตัวเอง ไม่คิดแก้ไข ไม่คิดพยายามสร้างสรรค์เร่งรัดตนเองให้ก้าวหน้า

ทีนี้ ที่ว่าสันโดษเป็นคุณธรรม เป็นสิ่งที่ดี สันโดษอย่างไร ก็จะมีพุทธพจน์ตรัสต่อไปอีกเหมือนกัน อาจจะไม่ได้สังเกต ในพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องสันโดษ เรียกว่าทุกแห่ง ถ้าไม่ใช่คาถา ถ้าเป็นคาถา บางทีข้อความถ้อยคำมันจำกัด เติมอะไรไม่ได้ ก็จะมีแต่ตัวหัวข้อธรรมะ แต่ถ้าเป็นความร้อยแก้วแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสเสมอเลยทีเดียวว่า “ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร ด้วยบิณฑบาต ด้วยเสนาสนะ ด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” นี่ชัดเลย แล้วก็ยังตรัสต่อไปอีกว่า “เธอเหมือนอย่างนกที่มีแต่ปีกบินไป ต้องการจะไปที่ไหน เมื่อใด ก็ไปได้เองทันที”

พุทธพจน์นี้ ถ้าหากว่าอ่านให้จบ จะเห็นชัดถึงความหมายว่า สันโดษคืออะไร และมีความมุ่งหมายอยู่ที่ไหน และถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเห็นทันทีว่าความสันโดษกับความไม่สันโดษนี่มันไปกันได้ด้วย ความสันโดษนั่นแหละคือเป็นเบื้องต้นของความไม่สันโดษ หรือเป็นตัวเกื้อหนุนความไม่สันโดษ แต่จะต้องจับให้ถูก

ทีนี้ สันโดษที่เป็นคุณธรรมนั้น คือ สันโดษสำหรับพระ ในปัจจัยสี่ ถ้าพูดอย่างภาษาญาติโยมชาวบ้านก็คือ สันโดษในวัตถุ สิ่งที่จะเอามาบริโภคใช้สอย หรืออาจจะพูดว่า วัตถุที่ปรนเปรอบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ในแง่นั้นให้สันโดษ แต่ทีนี้เมื่อมีความสันโดษแล้ว เรามีความพอใจ รู้จักอิ่มรู้จักพอในด้านวัตถุที่จะมาบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเองแล้ว เราก็จะมีเวลาและมีกำลังแรงงานเหลือที่จะเอาไปใช้ทำกิจหน้าที่ของเรา สิ่งที่เป็นกิจที่เป็นการงานนั้นนั่นแหละเป็นพวกกุศลธรรม

พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ เป็นพระโพธิสัตว์ งานของพระองค์ก็คือการทำหน้าที่แสวงหาสัจธรรม จะต้องให้ตรัสรู้ให้ได้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงเอาใจใส่เท่าไรว่า พระองค์จะสะดวกสบายเรื่องความเป็นอยู่ นั่นแสดงว่าพระองค์สันโดษในเรื่องวัตถุปัจจัยสี่ แต่ต่อจากนั้นพระองค์ไม่สันโดษแล้ว คือทรงไม่สันโดษในการที่จะบำเพ็ญกุศลธรรมหรือในการที่จะก้าวหน้าในการแสวงหาสัจธรรม

ประจักษ์พยานหลักฐานที่แสดงถึงการที่พระพุทธเจ้าไม่สันโดษอย่างไรนั้นมีมากมาย ตอนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงออกบรรพชา เสด็จไปแสวงหาความรู้ก่อน ไปสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ตามพุทธประวัติว่าอย่างนั้น ไปศึกษาจนกระทั่งจบความรู้อาจารย์ แล้วพระองค์ไม่พอพระทัยในผลสำเร็จนั้น อาจารย์ชวนบอกว่าท่านนี่นะเรียนเก่งมากจบความรู้ของข้าพเจ้าแล้ว ในฐานะที่ท่านมีสติปัญญาดี ขอเชิญมาช่วยกันสั่งสอนอบรมศิษย์ต่อไป

พระพุทธเจ้าไม่ทรงพอพระทัย ไม่อิ่ม ไม่สันโดษด้วยผลสำเร็จนั้น ถือว่ายังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายของพระองค์ พระองค์ก็ขอลาจากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วก็เสด็จไปสำนักอุททกดาบส รามบุตร ที่มีชื่อเสียง แล้วก็ศึกษาปฏิบัติจนกระทั่งหมดภูมิความรู้ของอาจารย์ เมื่อประสบความสำเร็จนั้นแล้ว อาจารย์ก็ชวนอีกแหละว่า เอาละท่านก็ได้ศึกษาจนหมดภูมิของข้าพเจ้าแล้ว ต่อแต่นี้ไป มาร่วมกันเป็นอาจารย์สั่งสอนกุลบุตรรุ่นหลังต่อไปเถิด

พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงพอพระทัย คือว่า ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ขอลาจากสำนักนั้นไปอีก แล้วก็ไปทรงหาวิธีการอย่างอื่น ไปบำเพ็ญทุกรกิริยา ไม่เห็นว่าจะประสบความสำเร็จ พระองค์ก็ค้นคว้าต่อไปจนกระทั่งได้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วพระองค์ก็มาตรัสว่า เราเห็นคุณค่าของธรรมสองประการ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วก็บำเพ็ญความเพียรไม่ระย่อ จึงได้ตรัสรู้ ไม่ระย่อนี่หมายความว่าถ้ามองเห็นจุดหมาย แน่ใจด้วยเหตุผลว่าจะสำเร็จตามนี้ทางนี้ถูกต้อง ทำให้ไม่กลัวตายอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่า ตอนที่ประทับนั่งตั้งพระทัยเลยว่า เอาละ…ถ้ายังไม่บรรลุโพธิญาณแล้ว แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่เส้นเอ็นกระดูก พระองค์ก็จะไม่ยอมลุกขึ้น นี่เป็นความเด็ดเดี่ยวของพระทัย นี่เป็นตัวอย่างของความไม่สันโดษเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมองข้าม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานความไม่สันโดษ ที่เป็นพระจริยาวัตรของพุทธเจ้า >>

No Comments

Comments are closed.