สันโดษที่ถูกต้องมีธรรมฉันทะ

26 ตุลาคม 2525
เป็นตอนที่ 7 จาก 7 ตอนของ

สันโดษที่ถูกต้องมีธรรมฉันทะ

ขอสรุปว่า ฉันทะที่ถูกต้องนี่ก็คือ ธรรมฉันทะที่จะไปสัมพันธ์กับความสันโดษ ทำให้เกิดความสันโดษที่ถูกต้อง แล้วก็ทำให้เกิดความไม่สันโดษที่ถูกต้องด้วย แล้วก็จะทำให้เกิดวิริยะ—ความเพียร จิตตะ—ความเอาใจใส่การงาน วิมังสา—ความคิดพิจารณาไตร่ตรองสอบสวน เกิดสมาธิแล้วก็เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจจริง แล้วก็นำไปสู่แม้แต่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ที่ว่าเป็นวิมุตติความหลุดพ้น แต้ถ้าในทางตรงข้ามไปเร้าความอยากที่ผิด ไม่ใช่อยากแบบฉันทะ ก็จะอยากแบบตัณหา เมื่ออยากแบบตัณหาจะมีความสันโดษที่ผิดพลาด คือ สันโดษในกุศลธรรมในการงานเสียแล้ว งานแค่นี้พอแล้ว ไม่เอาแล้ว วัตถุประสงค์ของงานสำเร็จแค่นี้พอแล้ว ไม่เอาแล้วกลายเป็นประมาท แต่จะไปเสริมความไม่สันโดษที่ผิดอีก คือ จะไปไม่สันโดษในเรื่องของสิ่งปรนเปรอต่างๆ หาวัตถุอามิสมาบำรุงบำเรอตัวเอง ก็คือเกิดความโลภ แล้วเกียจคร้านไม่อยากทำงาน หาทางลัด เมื่อเกิดหาทางลัดก็เลยต้องทุจริต เมื่อทุจริตก็เกิดปัญหาขึ้นทั้งส่วนตนและสังคม

เพราะฉะนั้น จึงมีวิถีทางอยู่ ๒ ทาง วิถีทางหนึ่งนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน คือวิธีการของตัณหา และอีกวิถีทางหนึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงาน ก็คือ ฉันทะ และมีข้อโยงกันอยู่ที่ว่าสำหรับปุถุชนนั้น มันมีตัณหาอยู่เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามีตัณหาแล้ว ให้หากลวิธีที่จะทำให้ตัณหานั้นเป็นปัจจัยกระตุ้นฉันทะต่อไป แล้วฉันทะนั้นจะนำไปสู่การทำงานด้วยใจรัก มีความสุข มีสมาธิ และนำไปสู่ความเป็นเลิศของงานนั้น หรือทำให้งานสำเร็จผลอย่างดีเลิศ แล้วก็นำไปสู่ประโยชน์สุขทั้งส่วนตน และสังคมประเทศชาติ

นี่คือเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเป็นเพียงแง่หนึ่ง ยังไม่ใช่ตัวประสิทธิภาพเอง แต่เป็นฐานของความมีประสิทธิภาพ ว่าที่จริงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมีหลายแง่ คือ หลักธรรมที่จะเสริมประสิทธิภาพนี่มีหลายอย่าง วันนี้ก็เลือกมาพูดแง่หนึ่ง ซึ่งเห็นว่าเป็นแง่สำคัญ ถ้าเรามีฉันทะมีความไม่สันโดษในกุศลธรรมนี่ เรามีฐานที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคล แล้วก็ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศชาติที่ถูกต้องได้อย่างแน่นอน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฉันทะทำให้ขยัน ตัณหาทำให้ขี้เกียจ

No Comments

Comments are closed.