จริยธรรมมาตรฐานของนักการเมือง ต้องไม่ขาดจริยธรรมพื้นฐานของชาวบ้าน

1 มกราคม 2542
เป็นตอนที่ 10 จาก 10 ตอนของ

จริยธรรมมาตรฐานของนักการเมือง
ต้องไม่ขาดจริยธรรมพื้นฐานของชาวบ้าน

ที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างของจริยธรรมในการปกครอง โดยเฉพาะ ๕ ข้อที่เรียกว่า จักรวรรดิวัตร หรือหน้าที่ของผู้ปกครองยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่าจักรพรรดิ ในความหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีความสามารถปกครองให้บ้านเมืองดีโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ

ขอทวน ๕ ข้ออีกครั้งหนึ่งว่า

๑. ธรรมาธิปไตย เป็นผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ ยึดถือหลักการ กฎกติกา ความจริง ความถูกต้อง ประโยชน์สุขที่แท้ของประชาชน เป็นหลักเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน

๒. ธรรมิการักขา จัดการบำรุง คุ้มครองรักษา ที่ชอบธรรม ให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ตลอดจนสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสัตว์บกสัตว์บินสัตว์น้ำ

๓. อธรรมการนิเสธนา ป้องกัน แก้ไข กำราบ ปราบปราม ไม่ให้มีการกระทำที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นธรรม

๔. ธนานุประทาน จัดสรรแบ่งปันเฉลี่ยทรัพย์สินเงินทอง ปัจจัยยังชีพ ให้ทั่วถึง แก่คนที่ขาดแคลนยากไร้ ให้เพียงพอที่จะเป็นอยู่ได้ทั่วกัน

๕. ปริปุจฉา แสวงปัญญา รู้จักปรึกษาสอบถาม เข้าหาผู้รู้ผู้ทรงคุณ ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ และยิ่งๆ ขึ้นไป

ในประเพณีการปกครองแบบพุทธของเมืองไทย นอกจากจักรวรรดิวัตร ๕ ข้อ ที่ขยายย่อยออกไปเป็น ๑๒ ข้อแล้ว ยังมีหลักอื่นๆ อีก เช่น หลักทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นความประพฤติส่วนพระองค์ของพระราชา หรือความประพฤติส่วนตัวของผู้ปกครอง ๑๐ ข้อ และราชสังคหวัตถุ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ปกครอง ซึ่งมี ๔ ข้อ ได้แก่

๑. ปรีชาสามารถในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร เรียกว่า สัสสเมธ

๒. ปรีชาสามารถในการทะนุบำรุงข้าราชการ เรียกว่า ปุริสเมธ

๓. ปรีชาสามารถในการยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน ในเรื่องอาชีพ โดยเฉพาะธุรกิจการค้าพาณิชย์ต่างๆ ให้คนมีทางประกอบอาชีพ และได้รับการส่งเสริมสนับสนุน เรียกว่า สัมมาปาสะ

๔. ความสามารถในการพูดจาปราศรัย สร้างความรู้ความเข้าใจ รู้จักสื่อสาร เพื่อให้สังคมหรือคนในบ้านเมืองนั้นเดินหน้าไปด้วยกันได้ดี เรียกว่า วาชเปยะ

อย่างที่พูดแล้วข้างต้นว่า จริยธรรมพื้นฐานที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของทุกคนนั้น นักการเมืองต้องมีอยู่แล้ว ก่อนที่จะก้าวไปสู่การมีจริยธรรมของนักการเมืองเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้ตามหน้าที่ เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงไม่ต้องพูดถึงจริยธรรมพื้นฐานเหล่านั้น เช่นการมีศีล ๕ การเว้นจากอบายมุข ความเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นต้น

ขอลงท้ายหน่อยว่า เวลานี้ เรามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราบอกกันว่า ประชาธิปไตยมีระบบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด หรืออย่างต่ำก็เลวน้อยที่สุด

ถึงแม้ระบบจะดี แต่ถ้าคนไม่ดี คือไม่มีคุณภาพ ระบบก็ไม่อาจให้สัมฤทธิ์จุดหมาย ดังนั้น ประชาธิปไตยที่ดี จึงต้องมีประชาชนที่มีคุณภาพ ถ้าทั้งระบบก็ดี และประชาชนก็มีคุณภาพ คือ ดีทั้งคน ดีทั้งระบบ เราก็จะได้ประชาธิปไตยที่ดีแท้จริง

นักการเมืองเป็นทั้งประชาชนส่วนหนึ่งในตัวเอง เป็นทั้งตัวแทนที่บ่งชี้คุณภาพของประชาชน และเป็นผู้นำของประชาชนในการพัฒนาคุณภาพในตนเองของประชาชนแต่ละคน ถ้าจะให้ประชาธิปไตยดีมีคุณภาพ นักการเมืองจะต้องเป็นที่แสดงออกแห่งการพัฒนาคุณภาพของประชาชน

จริยธรรมเป็นหลักประกันคุณภาพของคน ถ้านักการเมืองไม่มีจริยธรรม ก็ไม่อาจเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพ และก็เป็นเครื่องฟ้องด้วยว่าคงยากที่จะมีประชาชนซึ่งมีคุณภาพที่จะให้มีประชาธิปไตยที่ดี จึงจะต้องมีระบบที่รัดกุมและมีคนที่มีคุณภาพ ที่จะเลือกสรรนักการเมืองที่มีจริยธรรม และจะต้องเอาใจใส่ให้มีการพัฒนาจริยธรรมของนักการเมืองกันอย่างจริงจัง

ปัญหาก็พันเป็นวงจรว่า แล้วทำอย่างไรจึงจะได้คนหรือประชาชนมีคุณภาพ ที่จะมาเลือกสรรนักการเมืองที่มีจริยธรรม ถึงตอนนี้ ก็คงต้องโยนปัญหานั้นต่อไปให้แก่การศึกษาของชาติ ซึ่งก็เป็นกิจการที่ขึ้นต่อนักการเมืองอีกนั่นเอง

เรื่องจริยธรรมของนักการเมือง ขอกล่าวไว้เพียงนี้ก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศักยภาพของนักการเมืองและประชาชน ตัดสินคุณภาพของประชาธิปไตย

No Comments

Comments are closed.