ศักยภาพของนักการเมืองและประชาชน ตัดสินคุณภาพของประชาธิปไตย

1 มกราคม 2542
เป็นตอนที่ 9 จาก 10 ตอนของ

ศักยภาพของนักการเมืองและประชาชน
ตัดสินคุณภาพของประชาธิปไตย

ขอสรุปว่า การปกครองประชาธิปไตยนั้น คือการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่นั้น หมายถึงการที่ประชาชนแต่ละคน ทุกๆ คนมีส่วนร่วมในการปกครองนั้น ก็คือมาร่วมกันปกครอง

แต่การที่ประชาชนจะมาร่วมกันปกครองให้ได้ผลดี ประชาชนแต่ละคนก็จะต้องมีคุณภาพ ที่ว่ามีคุณภาพนั้น ก็คือประชาชนนั้นจะต้อง

๑. เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ตั้งอยู่ในหลักการ เคารพกฎกติกา ยึดเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้ของชีวิตและสังคม เป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน

๒. ประชาชนจะเป็นธรรมาธิปไตยได้ ก็ต้องมีการศึกษา มีสติปัญญา มีความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นตัวธรรม คือ เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นประโยชน์สุขที่แท้ จึงจะมีศักยภาพที่จะปกครองตนเองได้โดยสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้อง

ครั้นแล้วประชาชนที่มีคุณภาพเหล่านั้น ก็เอาศักยภาพของแต่ละคนมาประสานกัน ช่วยกันสร้างสรรค์สังคมของตน ให้สงบสุข เจริญพัฒนา มีความดีงาม ยิ่งขึ้นไป

ถึงตอนนี้ งานของนักการเมืองก็เกิดขึ้น คือ

๑. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของประชาชน คือ นักการเมืองจะต้องจัดสรรสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ และสภาพสังคมให้เอื้อต่อการที่ประชาชนจะพัฒนาศักยภาพของตน ด้วยการศึกษา ให้เกิดสติปัญญา เจริญงอกงาม เป็นต้น

อย่างที่กล่าวแล้วว่า การที่มีการปกครองจัดสรรบ้านเมืองให้สงบสุข มีความมั่นคง ก็เพื่อให้เป็นสภาพเอื้อต่อความมุ่งหมายที่ว่า อย่างน้อยประชาชนจะได้พัฒนาศักยภาพของเขา ทำตัวเองให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ

๒. ดึงศักยภาพของประชาชนออกมาใช้งาน คือ นักการเมืองต้องหาทางที่จะดึงเอาศักยภาพของประชาชนให้ออกมามีส่วนร่วมอย่างดีที่สุดในการสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติ

ในขณะที่คนมีศักยภาพแตกต่าง ไม่เหมือนกัน มีฝีมือ มีสติปัญญา มีความรู้ศิลปวิทยาด้านต่างๆ นักการเมืองก็จัดสรรวิธีการที่จะดึงเอาศักยภาพของคนเหล่านั้นออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม

๓. ประสานศักยภาพของประชาชนเพื่อการสร้างสรรค์ คือ นักการเมืองต้องมีความสามารถที่จะเป็นศูนย์ประสานศักยภาพของประชาชน ให้ออกมาร่วมกันในการสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติของตนด้วยพลังสามัคคี เพื่อให้ชีวิตและสังคมดีงาม และก้าวขึ้นไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์

จุดหมายที่พึงประสงค์ในการทำงานการเมือง ซึ่งสามารถใช้เป็นเกณฑ์ทั่วไปที่จะวัดความสำเร็จของการทำงาน คือ

๑. สังคมสงบสุข มั่งคงปลอดภัย ประชาชนเป็นอยู่ดี มีความพอเพียงหรือพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

๒. แม้จะมีความสงบสุขพรั่งพร้อมเป็นอยู่ดี แต่ประชาชนก็ไม่ประมาท ไม่หลงละเลิงมัวเมาจมอยู่กับการเสพบริโภค ยังคงเอาใจใส่ ตั้งใจประกอบอาชีพการงาน และทำกิจหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี

๓. มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ที่เอื้ออำนวย ให้สังคมมีพลังที่จะก้าวต่อไปในการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ศิลปวิทยาการ ความดีงามทางจิตใจ และความงอกงามแห่งปัญญา

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แสวงปัญญาที่ทำให้ต้องการสิ่งที่ดีงามถูกต้อง และเป็นจริงจริยธรรมมาตรฐานของนักการเมือง ต้องไม่ขาดจริยธรรมพื้นฐานของชาวบ้าน >>

No Comments

Comments are closed.