หลักการ ต้องสนองความมุ่งหมาย

1 มกราคม 2542
เป็นตอนที่ 5 จาก 10 ตอนของ

หลักการ ต้องสนองความมุ่งหมาย

จะต้องย้ำไว้ว่า หลักการนั้น คู่กับความมุ่งหมาย อย่างที่ภาษาพระเรียกว่า ธรรมะ คู่กับ อัตถะ

งานการของชีวิตและสังคมต้องมีจุดหมาย หรือประโยชน์ที่ต้องการ แต่การที่จะบรรลุจุดหมายนั้นได้ ก็ต้องทำหรือปฏิบัติการให้ถูกต้อง คือทำเหตุให้ตรงพอดีที่จะให้ผลที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น คือการกระทำหรือปฏิบัติการที่ถูกต้องตามความจริงแห่งความเป็นเหตุเป็นผล เราจึงวางหลักต่างๆ แห่งการกระทำขึ้น ดังที่เรียกว่า หลักการ

หลักการเป็นฐานแห่งปฏิบัติการ ที่จะนำไปอย่างถูกต้องสู่จุดหมาย เราวางหลักการที่เป็นธรรมไว้เพื่อเป็นฐานที่จะปฏิบัติการให้บรรลุจุดหมายที่ชอบธรรม หลักการก็สนองจุดหมาย และจุดหมายก็อาศัยหรืออิงอยู่กับหลักการ

เราถือกันว่า มนุษย์เราจะต้องเป็นอยู่และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามหลักการ หรืออย่างมีหลักการ ชีวิตและสังคมของเรา จึงจะดำรงอยู่ด้วยดี และได้ประสบผลดี ตามความมุ่งหมาย

อย่างไรก็ดี จะต้องระวังอยู่เสมอ ให้ทั้งสองอย่าง คือหลักการกับความมุ่งหมายนี้ คู่ไปด้วยกัน มิฉะนั้นอาจเกิดความผิดพลาด

บางทีเพลินไป ยึดถือแต่หลักการ ลืมนึกถึงความมุ่งหมาย ในแง่หนึ่ง อาจเป็นคนหนักแน่น แต่ก็จะติดอยู่กับที่ วนเวียนอยู่กับหลัก ไม่เดินหน้าไปไหน

โดยเฉพาะผู้นำ จะต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน และเป็นคนที่มีจิตใจมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมาย คำนึงอยู่เสมอถึงสิ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จ

เมื่อมุ่งมั่นต่อจุดหมาย โดยตั้งมั่นในหลักการ ก็จะก้าวไปอย่างมั่นคงสู่จุดหมายนั้น

การมีจุดหมายที่ชัดเจน ทำให้บริหารและดำเนินกิจการอย่างมีทิศทางเด่นชัด และทำให้มีพลังเข้มแข็งจริงจัง แล้วหลักการก็จะสนองจุดหมายนั้น จึงทำให้เดินหน้าก้าวไปอย่างมั่นคง

แต่ถ้ามีจุดหมายโดยไม่มีหลักการ ก็อาจจะกลายเป็นคนเลื่อนลอย ได้แต่หวัง โดยไม่มีหลักประกันที่จะทำให้สำเร็จ หรือไม่ก็ต้องเป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากล

นอกจากหลักการ และจุดหมายแล้ว ในการปฏิบัติที่จะเชื่อมโยงจากหลักการให้ถึงจุดหมาย ก็ควรจะมีวิธีการที่ฉลาดด้วย วิธีการนั้นอาศัยหลักการเป็นฐาน ผู้ฉลาดวิเคราะห์หลักการออกมาแล้ว ก็จัดสรรวิธีการต่างๆ เพื่อปฏิบัติการให้ก้าวไปจนบรรลุจุดหมาย เราจึงต้องการวิธีการที่ดีด้วย

บางลัทธิถือว่า วิธีการใดก็ตาม ไม่ว่าจะดีหรือร้าย จะนุ่มนวลหรือรุนแรง ถ้าทำให้สำเร็จผลบรรลุจุดหมายได้ ก็ถือว่าดี แต่ในทางพุทธศาสนาสอนว่า เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่ดี วิธีการต้องชอบธรรมด้วย

คนที่จะใช้วิธีการที่ดี เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีได้นั้น ถูกจำกัดขอบเขตให้แคบเข้า ทำงานได้ยากลำบากกว่าคนที่ไม่คำนึงถึงวิธีการว่าจะชอบธรรมหรือไม่ จะต้องมีสติปัญญาความสามารถพิเศษจริงๆ จึงจะทำได้สำเร็จ

ในที่สุด หลักการที่ดีงามชอบธรรม จะเป็นตัวจำกัดให้เราต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ชอบธรรม เพื่อบรรลุจุดหมายที่เป็นธรรม

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ธรรมาธิปไตย เป็นแกนจริยธรรมของประชาธิปไตยรักษาธรรม คู่กับอารักขาประชาชน >>

No Comments

Comments are closed.