รักษาธรรม คู่กับอารักขาประชาชน

1 มกราคม 2542
เป็นตอนที่ 6 จาก 10 ตอนของ

รักษาธรรม คู่กับอารักขาประชาชน

เมื่อมีธรรมาธิปไตยเป็นหลัก ตั้งตัวอยู่ในหลักได้แล้ว ต่อแต่นี้ก็ก้าวออกไปในการทำงาน อย่างที่กล่าวแล้วว่า จุดหมายของการงานทางด้านการเมืองนั้น เป็นเรื่องเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน คือ สร้างสภาพเอื้อและหนุนนำให้ชีวิตและสังคมสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของมันอีกชั้นหนึ่ง

การที่จะสร้างสภาพเอื้อนี้ขึ้นมานั้น เบื้องต้นก็อย่างที่กล่าวแล้ว คือ ประชาชนจะต้องอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีความเดือดร้อน สังคมมีความมั่นคงปลอดภัย และมีสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรม

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของนักการเมือง โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ทางด้านการปกครอง ก็คือ การที่จะจัดการบำรุงรักษา ให้ความคุ้มครองปกป้องโดยชอบธรรม ที่ท่านใช้คำว่าธรรมิการักขา คืออารักขาที่เป็นธรรม

สำหรับข้อที่ ๒ นี้ ตามหลักเดิมแยกรายละเอียดออกไปมาก ให้เห็นว่า มีคนกลุ่มใดประเภทไหนบ้างที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องเอาใจใส่ให้การคุ้มครองปกปักรักษา เช่น อาจจะแยกเป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน ชาวบ้านทั่วไป คนที่ประกอบการอาชีพ ผู้ทรงศิลปวิทยา พ่อค้าวาณิช สมณพราหมณ์ ชาวชนบท ตลอดจนคนที่อยู่ชายแดน และสัตว์บกสัตว์บินสัตว์น้ำ

นอกจากคุ้มครองรักษาให้อยู่ดีมั่นคงปลอดภัยแล้ว ก็ยังต้องช่วยเกื้อหนุนให้เขาสามารถทำสิ่งที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์ ก้าวหน้าไปได้ในกิจการต่างๆ

หากคุ้มครองรักษาประชาชนไม่ได้ ให้ความเป็นธรรม ให้โอกาสแก่ความเจริญงอกงามของชีวิตและสังคมไม่ได้ งานการเมืองการปกครองก็เรียกได้ว่าจะล้มเหลว เพราะว่าข้อนี้แหละ เป็นหลักพื้นฐานในการสร้างสภาพเอื้อ หรือสร้างโอกาสให้แก่ชีวิตและสังคมที่จะก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของมัน

ข้อต่อไปในด้านตรงข้าม นอกจากส่งเสริมคุ้มครองป้องกันแล้ว ก็จะต้องระวัง ปราบปราม แก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ให้มีสิ่งที่จะมาขัดขวางไม่ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข คือการกระทำทั้งหลายที่ไม่ชอบธรรม ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน ที่เป็นผลเสียแก่ชีวิตและสังคม

ข้อที่ ๓ นี้เรียกว่า มา อธรรมนิเสธนา แปลว่า แก้ไขป้องกันกำราบปราบปรามการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และไม่ชอบธรรม ตั้งแต่โจรผู้ร้าย อาชญากรรม ความอยุติธรรมทุกรูปแบบในสังคม ตลอดจนสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางจิตใจ และความเสื่อมถอยทางปัญญา

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หลักการ ต้องสนองความมุ่งหมายปัจจัยดี คือเศรษฐกิจที่ทั่วถึง และเพียงพอ >>

No Comments

Comments are closed.