จะเอาวิธีของฝรั่งมาใช้ ก็เจาะจับเอาของจริงมาไม่ได้

1 กันยายน 2537
เป็นตอนที่ 4 จาก 16 ตอนของ

จะเอาวิธีของฝรั่งมาใช้ ก็เจาะจับเอาของจริงมาไม่ได้

แม้แต่ในการที่คิดจะสร้างสรรค์ความเจริญให้ประเทศพัฒนาทางวัตถุนั้น เราก็คิดว่าเรานี้สร้างความเจริญแบบตะวันตก เราแสดงออกจนกระทั่งเห็นกันชัดเจนว่า เรามีค่านิยมที่ตามวัฒนธรรมตะวันตก

แต่พอเอาเข้าจริง แม้แต่เรื่องวัฒนธรรมตะวันตกนั้นเราก็ไม่รู้จริง เราไม่มีความเข้าใจจริงแม้แต่วัฒนธรรมตะวันตกที่เราไปนิยมนั้นด้วย แล้วอย่างนี้เราจะมีอะไรชัดเจนกับตัวเองบ้าง ตัวเองก็ไม่รู้จัก เรื่องของเขาที่ตัวไปตามก็ไม่รู้จริง

เวลาจะรับอะไรก็รับเอาแต่รูปแบบ ขาดอุดมการณ์ ขาดความเข้าใจในเนื้อหาสาระ เช่น วิธีการประชุม เราก็รับเอาแบบจากสังคมตะวันตกมา แต่พอประชุมเข้าจริง จะเห็นว่า คนไทยประชุม กับฝรั่งประชุม ไม่เหมือนกัน

ในการประชุมพิจารณาปัญหาต่างๆ ของฝรั่งนั้น เขาอาจจะเถียงกันอย่างหน้าดำหน้าแดง แต่เสร็จแล้ว เขาก็ยังคงอยู่ในแนวของการประชุมเพื่อวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมาย

แต่การประชุมของคนไทยนี้มีปัญหามาก เราจะออกนอกเรื่อง จะมาสู่เรื่องส่วนตัว และจะทะเลาะกัน แล้วก็กลายมาเป็นเรื่องของการโกรธแค้นส่วนตัวไป ทำไมเป็นอย่างนี้ เราเคยวิเคราะห์ไหม

รูปแบบการประชุมเรานำมา แต่สิ่งที่นำมาไม่ได้ หรือมองไม่เห็น คือส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ

เนื้อหาสาระสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเป็นตัวแกน ก็คือคุณค่าในจิตใจ ได้แก่สภาพจิตที่จะดำเนินการประชุมอย่างนั้นยังไม่มี

สภาพจิตอย่างไร คือภาวะจิตใจที่ใฝ่ปรารถนาต่อสิ่งที่เรียกว่าเป็นอุดมธรรม หรืออุดมการณ์

ในการประชุมที่จะดำเนินไปด้วยดีนั้น ทุกคนจะต้องมีความใฝ่ปรารถนาในจุดมุ่งหมายที่สูงสุดอะไรอย่างหนึ่ง คือต้องการเข้าถึงสิ่งนั้น

ถ้าคนเรามีความใฝ่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สูงสุดแล้ว ใจไปใฝ่รวมในที่เดียวกัน เมื่อทุกคนมุ่งสิ่งนั้นแล้ว สิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายนั้นจะมีความสำคัญเหนือตัวตนของแต่ละคน จนกระทั่งแต่ละคนยอมได้เพื่อเห็นแก่สิ่งนั้น

ธรรมดามนุษย์ปุถุชนทุกคน ไม่ว่าฝรั่ง ว่าไทย ว่าแขก ว่าจีน แต่ละคนก็มีความยึดถือในเรื่องตัวตนทั้งนั้น ไม่อยากจะให้มีอะไรมากระทบกระทั่งตัวตน เมื่อกระทบกระทั่งตัวตนก็มีความรู้สึกโกรธ มีความไม่พอใจ มีความเศร้าเสียใจ เป็นธรรมดา

แต่ในสังคมที่เขามีสาระของการประชุมอยู่ มีความใฝ่ปรารถนาในสิ่งที่ดีงามสูงสุด สิ่งดีงามสูงสุดที่ทุกคนใฝ่ปรารถนานั้นจะเป็นตัวสยบอัตตาของแต่ละคนได้ คือทุกคนเมื่อมุ่งหมายสิ่งที่สูงสุดอันนั้นแล้ว เมื่อยังไม่ถึงก็ไม่ยอมหยุด ใจก็จะมุ่งไปยังสิ่งนั้นอย่างเดียว แม้ตัวตนจะถูกกระทบกระทั่งก็เอาแหละ ก็ยอมได้ แม้จะเสียใจก็ต้องยอม เพราะว่าใจของเรามุ่งไปสู่สิ่งที่สำคัญเหนือกว่าและซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันสำหรับทุกคน

แต่ถ้าสิ่งที่มุ่งหมายแท้จริง ซึ่งสำคัญเหนือกว่าตัวตนและความใฝ่ในตัวธรรมที่เป็นอุดมการณ์เป็นตัวหลักนี้ไม่มีแล้ว ตัวตนของแต่ละคนก็จะเด่นขึ้นมา เพราะฉะนั้น มันก็ต้องปะทะกระแทกกัน แล้วความสนใจก็เบี่ยงเบนออกมาจากจุดมุ่งหมายของการประชุม มาสู่การกระทบกระทั่งระหว่างกัน เป็นส่วนตัวไป อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไป

ถ้าเราสร้างสรรค์สิ่งนี้ไม่ได้ เราก็จะได้แต่รูปแบบของวัฒนธรรมตะวันตกมา แต่เนื้อหาสาระจะไม่มี

ในสังคมแต่ละสังคม ที่สร้างสรรค์ความสำเร็จขึ้นมาได้โดยมีการพัฒนาอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีจุดหมายอันสูงสุดอย่างหนึ่ง ที่ทุกคนมุ่งหมายใฝ่ปรารถนาและทำให้ทุกคนรวมใจเป็นอันเดียวกัน ซึ่งเมื่อยึดถือในสิ่งนี้แล้ว ตัวตนของแต่ละคนจะมีความสำคัญเป็นรอง เรียกได้ว่า เอาจุดหมายสูงสุดนี้มาสยบอัตตาของแต่ละคนได้ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงสิ่งนี้แล้วทุกคนจะยอม

ในบางประเทศ ก็อาจจะเอาลัทธิชาตินิยม คือเพื่อความยิ่งใหญ่ของชาติของเรา ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบกระทั่งตัวตนของแต่ละคนทุกคนก็ยอมได้

ในบางประเทศ ก็อาจจะเอาพระผู้เป็นเจ้ามาสยบอัตตาของแต่ละคนได้

ในพระพุทธศาสนาก็มีธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นจุดหมายสูงสุด

เพราะฉะนั้น จึงมีหลักการสำคัญที่สอนว่า ให้เป็นธรรมาธิปไตย ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ทุกคนต้องใฝ่ธรรม ต้องถือธรรมเป็นบรรทัดฐาน และเพียรพยายามมุ่งที่จะเข้าให้ถึงธรรม

ถ้ายังไม่ถึงธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงามแล้ว ก็ไม่ยอมหยุด เพราะจุดหมายยังไม่บรรลุ ทุกคนจะยอมได้เพื่อเห็นแก่ธรรม

ถ้าทำได้อย่างนี้ สาระของระบบและรูปแบบต่างๆ เช่น การประชุมเป็นต้นก็จะมี แต่เวลานี้สังคมไทยเรามีไหม สิ่งที่เป็นจุดรวมใจอันนี้ ที่เป็นจุดหมายอันสูงสุดไม่มี เพราะฉะนั้น แต่ละคน พอเข้าที่ประชุมก็มุ่งไปที่ตัวเอง อัตตาของแต่ละคนก็ใหญ่ขึ้นมา แล้วก็ออกมากระทบกระทั่งกัน ในการประชุมจึงมีการถกเถียงที่ออกนอกลู่นอกทางไปเรื่อย และเกิดเรื่องส่วนตัวเป็นปัญหาอยู่เป็นประจำ

เพราะฉะนั้น การที่เรารับเอารูปแบบของวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาโดยไม่มีเนื้อหาสาระนี้ จึงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ที่เราจะต้องพยายามคิดแก้ไขให้ได้ อย่างที่กล่าวแล้ว

ในที่นี้ ขอเน้นเรื่องการไม่เข้าใจสังคมตะวันตกจริง มีความรู้ผิวเผิน มองแค่รูปแบบ เห็นแต่เปลือกภายนอก ติดแค่ชื่อแค่ตา แล้วก็รับเข้ามา

ยกตัวอย่าง แม้แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมของตะวันตก เราก็มักจะมองไปว่า ตะวันตกได้พัฒนามาด้วยตัณหาและโลภะ

เราเข้าใจเขาผิดอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ฝรั่งเขาก็พูดอยู่ปาวๆ ตำรับก็ว่าตำราก็มี ว่าฝรั่งที่พัฒนาอุตสาหกรรมเจริญมาได้นี้เพราะอะไร ก็เพราะ work ethic คือจริยธรรมในการทำงาน

ใน work ethic นั้น มีความสันโดษเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง ความสันโดษนี้เมื่อมาโยงเข้ากับความขยันหมั่นเพียร โดยเป็นตัวเอื้อแก่อุตสาหะ ก็กลายเป็นรากฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้ตะวันตกเจริญ

แต่มาบัดนี้ สังคมตะวันตก เช่น อย่างประเทศอเมริกานี้มีความพรั่งพร้อมฟุ่มเฟือยขึ้น ก็ได้เปลี่ยน(ตามที่เขาเองว่า)จากสังคมอุตสาหกรรมที่เป็นสังคมขยันขันแข็ง กลายไปเป็นสังคมบริโภค

คำว่า industry แปลว่า “อุตสาหะ” คือความขยัน อดทน ก็ได้แก่ความขยันหมั่นเพียรนั่นเอง

ที่ว่าเป็น industrial society ก็คือ สังคมอุตสาหกรรม หรือ สังคมแห่งความขยันหมั่นทำการด้วยอุตสาหะ

ตะวันตกสร้างสังคมขึ้นมาได้ด้วย work ethic คือจริยธรรมในการทำงาน โดยมีความสันโดษเป็นฐานของอุตสาหะ หมายถึงการที่บรรพบุรุษของเขาไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอตนในเรื่องการเสพวัตถุเพื่อหาความสุข แต่ตั้งหน้าตั้งตาเพียรพยายามสร้างสรรค์ผลิตผลขึ้นมาได้แล้วก็อดออม

เมื่อไม่เห็นแก่ความสุข ไม่บำเรอตนเอง ก็เอาผลผลิตนั้นไปทุ่มเป็นทุน คือเอาไปลงทุนทำงานต่อไป ด้วยเหตุนี้เขาจึงสร้างความเจริญแบบอุตสาหกรรมขึ้นมาได้

มาถึงปัจจุบันนี้ สังคมตะวันตกพ้นจากภาวะเป็นสังคมอุตสาหกรรม กลายมาเป็น postindustrial society (ผ่านพ้นหรือหลังยุคอุตสาหกรรม) และเป็น consumer society คือเป็นสังคมบริโภค

พอเป็นสังคมบริโภค ก็เห็นแก่กิน เห็นแก่เสพ เห็นแก่บริโภค แล้วก็เริ่มเสื่อม เวลานี้ในสังคมอเมริกันมีการวิเคราะห์ มีการทำงานวิจัย ที่แสดงผลออกมาว่า คนอเมริกันรุ่นใหม่เสื่อมจาก work ethic คือเสื่อมจากจริยธรรมในการทำงาน ขาดสันโดษ เห็นแก่การบริโภค ทำให้ความสามารถและประสิทธิภาพในการผลิตเสื่อมลง

คนไทยเรานึกว่าฝรั่งเจริญเพราะตัณหา แล้วไปปลุกเร้าให้คนมีความโลภ พร้อมกันนั้นก็มาติว่า พุทธศาสนาสอนให้มีความสันโดษ ทำให้คนไทยเราไม่สร้างสรรค์ความเจริญ

ที่จริงตัวเองจับจุดผิด ทำให้เราสร้างสรรค์ความเจริญไม่ถูกที่ พัฒนาไปแล้วเกิดปัญหามากมาย กลายเป็น ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา

ด้านรู้เขา แรงขับเคลื่อนที่ทำให้เขาสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาได้ คือ work ethic เราก็ไม่เข้าให้ถึง

ส่วนด้านตัวเอง เราก็ไม่รู้ สันโดษก็เหลือแต่ตัวศัพท์หรือถ้อยคำที่เราคลุมเครือไม่ชัดในความหมาย แถมเข้าใจผิดเพี้ยนไปเสียด้วยซ้ำ เลยไม่สามารถเอามาประสานประโยชน์กับอุตสาหกรรม1

ธรรมะเหล่านี้ เราไม่มีความชัดเจน พร้อมกันนั้น ในเวลาที่เราไปรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา แม้แต่จะพัฒนาอุตสาหกรรม เราก็ไปรับเอาแต่รูปแบบ แล้วก็เข้าใจผิด นึกว่าถ้ายั่วยุปลุกเร้าตัณหา ให้ประชาชนมีความโลภแล้วจะพัฒนาประเทศได้

เมื่อพัฒนาไปในแนวทางของตัณหาอย่างนี้ คนก็มีแต่ความอยากได้ แต่ไม่อยากทำ

มองหาสิ่งที่จะเสพบริโภค แต่ไม่คิดที่จะประดิษฐ์คิดค้น หรือพยายามผลิตขึ้นมา

ในระบบตัณหานั้น คนไม่อยากทำงาน แต่ที่ทำก็เพราะจำเป็น เนื่องจากมีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องทำจึงจะได้ ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็จำใจทำไป หรือไม่ก็ทุจริต หรือไม่ก็หาทางได้ผลประโยชน์ทางลัด ทำให้มีการกู้หนี้ยืมสิน หรือลักขโมยเอาเงินมาเพื่อจะหาวัตถุสิ่งเสพให้ได้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องทำงาน

เมื่อเป็นอย่างนี้ ประเทศชาติจะเจริญได้อย่างไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สังคมไทย ไฉนตกต่ำถึงเพียงนี้ดูของเขาก็ไม่เอาให้ชัด ด้านของเราก็ห่างเมินจนพร่ามัว >>

เชิงอรรถ

  1. สันโดษ คือ ความรู้จักอิ่มรู้จักพอในวัตถุเสพบริโภค มีความพึงพอใจเป็นสุขได้ด้วยสิ่งที่ตนมี ไม่มัววุ่นวายกับการหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเอง แต่รู้จักออมเวลา แรงงาน และความคิด เอาไปใช้ในการทำหน้าที่ และในการสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์

    พระพุทธเจ้าสอน ให้สันโดษในวัตถุบำเรอความสุข แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

    เมื่อเราสันโดษในวัตถุบำรุงความสุข เราก็สามารถที่จะไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ เพราะเรามีเวลา แรงงาน และความคิด ที่จะไปทุ่มให้แก่งานสร้างสรรค์

No Comments

Comments are closed.