เลิกเสียที ความสับสนพร่ามัว และความขลาดกลัวที่เหลวไหล แน่วแน่ ชัดเจน มั่นใจ คือทางออกอันเดียวของสังคมไทย

1 กันยายน 2537
เป็นตอนที่ 14 จาก 16 ตอนของ

เลิกเสียที ความสับสนพร่ามัว และความขลาดกลัวที่เหลวไหล
แน่วแน่ ชัดเจน มั่นใจ คือทางออกอันเดียวของสังคมไทย

อุดมธรรมที่จะนำจิตสำนึกของสังคมนี้มีความสำคัญมาก เวลานี้เรามีอุดมธรรมนั้นหรือเปล่า เราพูดกันว่า ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ๆ บอกว่านี้เป็นอุดมการณ์ของเรา แต่เรามีความชัดเจนในอุดมการณ์นี้หรือเปล่า

ความจริง ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ยังไม่ใช่อุดมการณ์สูงสุด อุดมการณ์สูงสุดจะต้องเป็นหนึ่งเดียว หมายความว่า ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ นั้น จะต้องอิงอยู่บนอุดมการณ์สูงสุดนั้นอีกทีหนึ่ง และนั่นคืออุดมธรรม

อุดมธรรมจะเป็นแกนร้อย ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทั้งสามให้เป็นหนึ่งเดียวอีกทีหนึ่ง จะเป็นสามอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ชัดเจน มันพร่า

ฉะนั้น ต้องถือว่าสิ่งนี้คนไทยขาดมาก คือการขาดอุดมการณ์สูงสุด ขาดอุดมการณ์ที่เป็นศูนย์รวมแห่งความคิดจิตใจที่เป็นหนึ่งเดียว และให้เป็นหนึ่งเดียว คือขาดอุดมธรรมที่จะนำจิตสำนึกของสังคมหรือของชาติไทย

เราพูดว่า พุทธศาสนานี้คนไทยส่วนใหญ่นับถือ เป็นศาสนาของคนไทย หรือเป็นศาสนาประจำชาติ

แต่หลายคนจะแย้งว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนา แต่ทำไมประเทศไทยจึงเป็นอย่างนี้ คือเต็มไปด้วยปัญหาอย่างที่พูดมาเมื่อกี้นี้ ที่ว่าสังคมของเราเด่นในการมีปัญหาที่ต่ำทรามของโลก คนไทยมีชื่อเป็นอันดับต้นๆ ในเรื่องที่เป็นความต่ำทรามเหล่านั้น แล้วประเทศไทยเรานับถือพุทธ ทำไมประเทศไทยจึงเป็นอย่างนี้เล่า

หลายคนจะมาติเตียนพุทธศาสนา คล้ายๆ จะให้พระพุทธศาสนารับผิดชอบ เป็นทำนองว่า เพราะนับถือพุทธศาสนาคนไทยจึงแย่ คนไทยจึงตกต่ำ

ถ้าแค่นับถือกันธรรมดายังแย่อย่างนี้ ยิ่งไปบัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติเข้าด้วย จะมิยิ่งแย่ใหญ่หรือ คนไทยนับถือพุทธศาสนา ขนาดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญยังต่ำทรามขนาดนี้แล้ว ถ้าบัญญัติจะขนาดไหน

ถ้าจะมาติเตียนกันอย่างนี้ ก็จะต้องให้ใช้ปัญญาพิจารณากันสักหน่อย ขอถามสัก ๓ อย่างว่า

๑. คนไทยนับถือพุทธศาสนากันจริงหรือเปล่า หรือเป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือนับถือเพียงถ้อยคำพร่ำแต่วาจา ขอให้สำรวจกันให้จริง

๒. คนไทยรู้พุทธศาสนากันจริงหรือเปล่า ขอให้สำรวจดูซิว่า คนไทยรู้พุทธศาสนาแค่ไหน คนไทยทั่วไปตอบว่าอะไรเป็นพุทธศาสนา

๓. คนไทยมีความตั้งใจจริงไหมที่จะเอาพุทธศาสนามาใช้ในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สังคม และได้เอามาใช้หรือเปล่า

ถ้าได้ทำตามนี้แล้วสิ เราจึงจะบอกว่าพระพุทธศาสนาจะต้องรับผิดชอบ ถ้าคนไทยนับถือพุทธศาสนาจริง รู้พุทธศาสนา และได้มีความตั้งใจที่จะนำเอาพระพุทธศาสนามาใช้ในการแก้ปัญหาสังคมและสร้างสรรค์ประเทศชาติ ถ้าได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วคนไทยยังแย่ จึงมีความชอบธรรมที่จะพูดว่าพุทธศาสนาทำให้ประเทศไทยต่ำทรามอย่างนี้ และเราจะยอมรับ แต่ขอให้ตอบคำถาม ๓ ข้อนี้ให้ได้เสียก่อน

เพราะฉะนั้น จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ถ้าจะให้พุทธศาสนารับผิดชอบที่ว่าประเทศไทยนี้นับถือพุทธศาสนาแล้วเจริญหรือเสื่อม พุทธศาสนาจะต้องเป็นอุดมการณ์ของชาติ แล้วคนไทยได้ทำอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าได้ทำอย่างนั้นแล้วไม่สำเร็จ ค่อยว่ากัน

เพราะฉะนั้น ตอนนี้จึงมีปัญหาว่า ในท่ามกลางความพร่ามัวของสังคมไทย ที่คนไทยกระจัดกระจายสับสน ไม่มีอะไรชัดเจน ไม่มีจุดรวมใจ ไม่มีเป้าหมายสูงสุด อย่างที่เป็นอยู่นี้ เราจะเอาอย่างไร

เราจะปล่อยสังคมไทยให้โทรมและทรามอยู่อย่างนี้ เราจะอยู่กันไปวันๆ ต่างคนต่างหาผลประโยชน์ของตัวไปคนละทิศละทาง ปล่อยให้ปัญหาร้ายๆ ทั้งหลาย โหมกระพือรุมล้อมเข้ามาอย่างนี้หรือ หรือจะพยายามแก้ไข อันนี้คือคำถาม

และถ้าจะแก้ไข เห็นด้วยไหมที่จะต้องมีแนวทางในการแก้ไขอย่างที่กล่าวมานั้น คือจะต้องมีจุดหมายสูงสุดเป็นที่รวมใจ หรือมีสิ่งที่ยึดเป็นอุดมการณ์อย่างที่กล่าวมา แล้วเอาสิ่งนี้มาเป็นแกนให้แก่อุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ที่เราพูดถึงกันอย่างพร่ามัวนั้นอีกชั้นหนึ่ง

ถ้าไม่มีแกนอันนี้ แม้แต่อุดมการณ์ ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ก็จะตื้อไม่แจ่มจ้า เวลานี้ใครตอบได้ว่ามีความชัดเจนในเรื่องนี้ หรือพูดกันไปอย่างนั้นเอง

อนึ่ง สิ่งที่เราจะเอามาเป็นอุดมธรรมนำจิตสำนึกของสังคม หรือเป็นอุดมการณ์ของชาตินี้ จะต้องมีลักษณะดีที่จำเป็นประกอบด้วย อย่างน้อยอุดมการณ์นั้นจะต้องมีลักษณะที่เอื้อเฟื้อ ไม่บีบคั้นกลุ่มชนอื่นผู้มีลัทธิศาสนาที่นับถือต่างออกไป สิ่งสำคัญที่พึงย้ำคือ นอกจากจะไม่เบียดเบียน ไม่บีบคั้นแล้ว ยังเกื้อกูลด้วย

ลักษณะที่ไม่บีบคั้นไม่เบียดเบียนต่อลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่นนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะถ้าขาดลักษณะนี้เสียแล้ว ประโยชน์ที่จะได้ก็จะกลายเป็นเสียไป หรือมิฉะนั้นก็จะไม่คุ้ม

ผลเสียไม่ใช่แค่แตกแยก แต่จะเป็นการทำร้ายเบียดเบียนข่มเหงกันอีกต่างหาก

ถ้าลัทธิศาสนาที่มีลักษณะแบ่งแยก รังเกียจเดียดฉันท์ผู้อื่น และบังคับศรัทธา ได้รับการยกขึ้นเป็นอุดมการณ์ของชาติ สังคมก็จะสูญเสียเสรีภาพในการนับถือศาสนา และอาจจะถึงกับเกิดการรบราฆ่าฟันกันเพราะลัทธิศาสนาเป็นเหตุ

พระพุทธศาสนามีลักษณะที่จำเป็นข้อนี้แน่นอน คือมีความใจกว้าง ไม่แบ่งแยก ไม่จำกัดตัว ไม่บังคับศรัทธา แต่สนับสนุนเสรีภาพทางศาสนา โดยเฉพาะถือหลักเสรีภาพในการใช้ปัญญา

ถ้าแม้ได้รับการยกขึ้นเป็นอุดมการณ์ของชาติ ก็ไม่เป็นเหตุให้กลายเป็นการได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง แต่เป็นโทษอีกด้านหนึ่ง คือมิใช่ว่ามาช่วยแก้ปัญหาความตกต่ำเสื่อมโทรมของสังคม แต่กลับทำให้กลุ่มคนในสังคมเบียดเบียนข่มเหงทำร้ายกัน

ในทางตรงข้าม เมื่อพระพุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์ของชาติ กลับจะทำให้ลัทธิศาสนาต่างๆ ดำรงอยู่ได้ด้วยดี ทั้งในแง่ของบรรยากาศที่มีเสรีภาพในการนับถือ และในแง่ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล แทนที่จะได้อย่างหนึ่งเสียอย่างหนึ่ง ก็กลายเป็นได้สองชั้น

พุทธศาสนามีลักษณะที่ว่านี้ปรากฏให้เห็นชัด ไม่ว่าจะโดยหลักการก็ตาม หรือโดยประวัติศาสตร์ก็ตาม

ขอให้ใช้ปัญญาตรวจสอบและพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ว่าเป็นความจริงตามที่ว่านี้หรือไม่

จำเป็นที่สังคมทั้งหมดจะต้องมีอุดมธรรมหรืออุดมการณ์ร่วมสักอย่างหนึ่ง ถ้าเรามีความคิดชัดและมั่นใจในความจำเป็นและประโยชน์แล้ว ก็ไม่ควรจะมัวกลัวอยู่

สิ่งที่ควรกลัวไม่กลัว กลับไปกลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว เช่น กลัวว่าจะมีการแตกแยก กลัวอย่างนั้นอย่างนี้

สิ่งที่ควรกลัว ก็คือสังคมที่จะเสื่อมโทรม ที่จะไม่รู้จักพัฒนา ที่ย่ำแย่มีแต่ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่นี้ ที่พ่อแม่ขายลูกไปเป็นโสเภณี ที่คนติดเอดส์กันมากมาย ที่สถาบันต่างๆ ในสังคมฟอนเฟะ ประชาชนหวังพึ่งไม่ได้ อย่างนี้ไม่กลัวหรือ

สิ่งที่ควรกลัวไม่กลัว กลับไปกลัวต่อสิ่งที่จะเอามาใช้แก้ปัญหา แล้วไม่เอาสิ่งที่จะแก้ปัญหามาใช้ จะว่าสังคมไทยนี้มีมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น จะต้องคิดกันอย่างจริงจัง ในเรื่องของหลักหรือตัวของสิ่งที่จะใช้แก้ปัญหา

จริงไหมที่ว่าจะต้องมีอะไรที่เป็นอุดมการณ์ของสังคม ที่ว่าจะต้องมีจุดหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม ถ้าจำเป็นแล้วก็ต้องคิดกันให้ชัด

เมื่อคิดได้แล้ว ถ้าจะมีปัญหาที่เป็นห่วงกันอยู่บ้าง เช่น ความแตกแยกแบ่งพวก หรือการบีบคั้นกัน ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาในกรณีของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น จึงขอให้คิดกันให้ชัดว่า ที่พูดมานี้ เป็นจริงหรือไม่

ถ้าไม่ยอมแก้ปัญหาเพราะมัวกลัวสิ่งที่จะแก้ปัญหา ก็ต้องพูดว่ากลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว ส่วนสิ่งที่ควรกลัว คือปัญหาความเสื่อมโทรมของสังคม กลับไม่กลัว นี่เราเป็นอะไรกัน

ควรพูดย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า สำหรับพระพุทธศาสนานั้น การพิจารณาว่าควรบัญญัติให้เป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุผลอย่างอื่น ไม่ใช่เหตุผลเกี่ยวกับการกลัวความแตกแยก หรือกลัวชาวพุทธจะไปบีบคั้นข่มเหงผู้อื่น เพราะในแง่นี้ผลจะกลับตรงข้าม

กลายเป็นว่า ถ้าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะกลับเป็นการช่วยสร้างความอยู่รอดปลอดภัยให้แก่ลัทธิศาสนาอื่นด้วยซ้ำ ต้องย้ำว่า ความจริงในเรื่องนี้ ถ้าใครยังไม่ชัด ขอให้ไปศึกษาให้แจ่มแจ้ง ไม่ควรจมอยู่ในความไม่รู้หรือคาดคิดเอาเอง

ถ้ายังจะยกเหตุผลเกี่ยวกับการกลัวความแตกแยกบีบคั้นทางศาสนามาเป็นข้อถกเถียงในกรณีนี้ จะกลายเป็นการแสดงถึงการขาดความรู้ในเรื่องศาสนา และความไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านหลักการ และในด้านประวัติศาสตร์ ความกลัวแง่นี้ ควรตัดไปได้เลย ควรจะพิจารณาเหตุผลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” มีเมื่อไร คนไทยจะเป็นชาวพุทธได้อย่างดีสังคมไทย เลื่อนลอยกันต่อไป หรือเด็ดเดี่ยวด้วยจิตสำนึกที่จะแก้ไข >>

No Comments

Comments are closed.