จุดเริ่มและจุดปลายแห่งสัมฤทธิผลของการศึกษา

8 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 19 จาก 20 ตอนของ

จุดเริ่มและจุดปลายแห่งสัมฤทธิผลของการศึกษา

ขอข้ามไปถึงข้อแปดเลย คือ เรื่องสัมฤทธิผลของการศึกษา การสัมฤทธิ์ผลของการศึกษามี ๒ จุด คือจุดเริ่มกับจุดปลาย

จุดเริ่มก็คือตอนที่คนเริ่มเข้าสู่กระบวนการศึกษา หรือเมื่อการศึกษาเกิดขึ้นในตัวคน ถ้าเรายังไม่สามารถนำคนเข้าสู่กระบวนการศึกษาได้ การศึกษาก็ยังไม่สำเร็จแม้แต่ในขั้นต้น ทำอย่างไรคนจะเข้าสู่กระบวนการศึกษาได้ หรือการศึกษาจึงจะเกิดขึ้นในตัวเขา การศึกษาที่อยู่ข้างนอก เราจัดอะไรแทบล้มแทบตาย มันก็ไม่เป็นการศึกษาที่แท้จริง เพราะการศึกษาที่แท้จริงอยู่ในตัวคน

เรื่องนี้ต้องมาสู่หลักที่เรียกว่าปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกก็คือตัวบุคลากรทางการศึกษา มีครูอาจารย์ เป็นต้น รวมทั้งระบบการบริหารทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการจัดสรรสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อให้เกิดการศึกษาขึ้นในตัวคน ระบบทั้งหมดนี้เราเรียกว่า ระบบกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก เราก็มาช่วยกันจัดสรรข้อมูลความรู้ จัดสภาพแวดล้อมให้ดี มีโรงเรียนที่ดี มีกิจกรรมต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เหล่านี้ทั้งหมด เราเรียกว่าองค์ประกอบของการศึกษา แต่ไม่ใช่ตัวการศึกษา มันเป็นปัจจัยของการศึกษา

ที่จริงเราจัดปัจจัยของการศึกษาต่างๆ ต่างหาก เราไม่ได้ให้การศึกษาแก่คน เราไม่สามารถให้การศึกษาแก่คนได้ เราได้แต่ให้ปัจจัยแห่งการศึกษาแก่เขา ทีนี้ปัจจัยในการศึกษาจะสำเร็จผล เมื่อคนเกิดการศึกษาขึ้นมาในตัวของเขา กัลยาณมิตรนี่เป็นปัจจัยในการศึกษา เราจึงมาจัดสรรอำนวยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา เช่น ข้อมูล เป็นต้น ให้เขา แล้วหาทางทำให้เขาเกิดการศึกษาขึ้นมา

การที่จะเกิดการศึกษาก็คือมีองค์ประกอบภายในเกิดขึ้น องค์ประกอบภายในตัวยืนที่สำคัญก็คือโยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตรเป็นปัจจัยภายนอกมาจัดสรรโอกาส พอโยนิโสมนสิการเกิดขึ้น เขารู้จักคิด คิดเป็น เขาก็พึ่งตนเองได้ เขาจะรู้จักปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ รู้จักหาความรู้ รู้จักใช้สิ่งต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ หาความจริงได้ หาประโยชน์ได้จากสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์และสถานการณ์ทั้งหลาย พร้อมกันนั้นจะต้องพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ อีก ๖ ข้อ ที่เป็นองค์ประกอบภายในขึ้นมาด้วย

องค์ประกอบภายนอกอย่างเดียว แต่องค์ประกอบภายในมากถึง ๖ อย่าง คือ ความมีวินัยที่เรียกว่า สีลสัมปทา ความใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ที่เรียกว่า ฉันทะ ความมีจิตสำนึกในการศึกษาที่เรียกว่า อัตตสัมปทา การมีแนวคิดความเชื่อและทัศนคติเชิงเหตุผล ที่เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา ความกระตือรือร้นด้วยจิตสำนึกในกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า ความไม่ประมาท และตัวแกนที่ว่าเมื่อกี้คือ โยนิโสมนสิการ ทั้งหมดนี้พัฒนาขึ้นจากการรู้จักธรรมชาติของมนุษย์ในการฝึกตน ทั้งหมดเหล่านี้ เราเรียกว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของการศึกษาที่เกิดขึ้นในตัวคน ถ้าไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ยังไม่มีการศึกษา

เราจะพูดถึงการศึกษาในลักษณะที่ย้อนกัน คือบอกว่า ในแง่ของกัลยาณมิตร เราต้องจัดสรรสิ่งแวดล้อมและข่าวสารข้อมูลเป็นต้นให้ดีที่สุด จัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่ในแง่ของตัวเด็กจะต้องให้เขาพัฒนาขึ้นจนเขาสามารถหาประโยชน์ได้แม้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด นี่เป็นคู่กัน เราจะจัดสรรสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดให้เขาเรื่อยไปไม่ได้ เราไม่สามารถอยู่กับเขาและเป็นผู้จัดให้เขาได้ตลอดไป สังคมคือโลกและชีวิตแห่งความเป็นจริงรอเขาอยู่ โลกและชีวิตนั้นมิใช่มีแต่สิ่งที่ดี มันมีส่วนที่ร้ายด้วย เพราะฉะนั้นเด็กจะต้องมีความสามารถในตัวเองที่จะเอาดีจากสิ่งเหล่านั้น และนี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นอันว่า เราจัดสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด แต่พร้อมกันนั้นก็พัฒนาในตัวเด็กให้สามารถเอาประโยชน์ได้แม้แต่จากสิ่งที่เลวที่สุด ถ้าอย่างนี้ก็เป็นอันว่าการศึกษาดำเนินไปได้ ถ้าเด็กเข้าสู่กระบวนการนี้ ถึงจุดนี้เราเรียกว่า เป็นผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาในจุดเริ่มต้น

ต่อไป จุดปลายก็คือผลจากคนมีการศึกษาที่จะไปทำให้เกิดขึ้น ซึ่งดูที่ความสำเร็จของมนุษยชาติ เพราะมนุษย์ที่พัฒนามีการศึกษาดีจะไปสร้างความสำเร็จให้แก่มนุษยชาติ

อะไรคือความสำเร็จของมนุษยชาติ ระบบสังคมในปัจจุบันและค่านิยมต่างๆ ที่เป็นไปในสังคมกำลังจะพรางตาเราให้เราไม่เห็นจุดหมายที่แท้จริง หรือความสำเร็จของมนุษยชาติ เวลานี้ สังคมอยู่ในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ คนเริ่มมองไปว่าผลประโยชน์คือจุดหมายของชีวิต คือจุดหมายของกิจการ และจุดหมายของโลก เขามองว่าการมีสิ่งเสพสิ่งบำเรอความสุขพรั่งพร้อมสมบูรณ์นี้คือจุดหมาย

ในการดำเนินกิจการต่างๆ ในระบบแข่งขัน เวลาวัดความสำเร็จคนยุคนี้เอาอะไรเป็นเกณฑ์วัด ที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นตั้งโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมาโรงหนึ่ง อะไรเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จของโรงพยาบาลนั้น ยุคนี้คนมีความโน้มเอียงที่จะบอกว่า ความสำเร็จคือการได้กำไรสูงสุด และเวลานี้กิจการแทบทุกอย่างในสังคมจะมองแบบนี้ ความสำเร็จคือกำไรสูงสุด

แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษยชาติ คืออะไร มนุษย์สร้างสรรค์อารยธรรมขึ้นมา มีการศึกษาเป็นต้น เพื่ออะไร ก็เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่ โลกที่น่าอยู่ก็รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติด้วย นี่ใช่ไหม คือจุดหมายที่เราต้องการ ความสำเร็จที่แท้ของมนุษย์อยู่ที่นี่ แต่เวลานี้คนเริ่มไม่มองหรือมองข้าม หรือถูกพรางตาด้วยระบบของผลประโยชน์ในสังคมแห่งการแข่งขัน เพราะ
ฉะนั้นก็จะมองว่า กำไรสูงสุดคือความสำเร็จ

เพราะฉะนั้น การศึกษาจะต้องวัดความสำเร็จด้วยการทำให้คนสามารถสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่ ถ้าไม่สามารถทำอย่างนี้ จะสร้างอะไรขึ้นมาได้เท่าไรก็ไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง การศึกษาต้องร่วมในจุดหมายนี้ ถ้าเราพัฒนาคนไปเพื่อสนองค่านิยมของสังคมเพียงเพื่อให้เขาสามารถไปสร้างกำไรสูงสุด ก็น่ากลัวอันตรายมาก

ในขั้นประนีประนอม เมื่อดำเนินกิจการในยุคนี้อย่างต่ำจะต้องวางจุดหมายสองชั้น

  1. จุดหมายสูงสุด คือการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่ และ
  2. จุดหมายรอง จึงเป็นกำไรสูงสุด

จุดหมายรองต้องหนุนและไม่ขัดกับจุดหมายสูงสุด ต้องเอื้อต่อกัน ถ้าจุดหมายรองขัดต่อจุดหมายสูงสุดก็ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดหมายรองจะต้องเป็นรองอยู่เรื่อยไป อย่าให้เป็นจุดหมายสูงสุดเป็นอันขาด ถ้าอย่างนี้ก็พอยอมได้ เรียกว่าประนีประนอม เวลานี้จะต้องเตือนต้องย้ำเรื่องนี้กันว่า การศึกษายังช่วยมนุษย์ให้สร้างสิ่งนี้ไม่ได้ คือจุดหมายที่เป็นความสำเร็จของมนุษยชาติ และในเมื่อความสำเร็จของมนุษยชาติที่ว่านี้ต้องพึ่งการศึกษา การศึกษาจะต้องเน้นจุดหมายนี้และจะต้องพัฒนามนุษย์ให้ทำให้สำเร็จให้ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การมีข้อมูลความรู้มาก ไม่เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของการศึกษาปฏิรูปการศึกษาที่แท้ต้องถึงขั้นปฏิรูปอารยธรรม >>

No Comments

Comments are closed.