เพราะมัวรอผลจากการดลบันดาล คนจึงอ่อนแอแพ้การแข่งขัน

8 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 14 จาก 20 ตอนของ

เพราะมัวรอผลจากการดลบันดาล คนจึงอ่อนแอแพ้การแข่งขัน

ขั้นต่อไปคือ การเสริมความเข้มแข็ง เสริมความเข้มแข็งนี้ไม่ใช่หมายความว่า จะให้เขาทุกข์ แต่เสริมความเข้มแข็งเพื่อให้เขาเป็นสุขยิ่งขึ้น และมีศักยภาพที่จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น ในการเสริมความเข้มแข็งก็ต้องมีภูมิคุ้มกันต้านทานความอ่อนแอ คนเรามีทางที่จะเกิดความอ่อนแอได้หลายอย่าง เมื่อสักครู่ได้พูดถึงเทคโนโลยีในเชิงเสพ ที่ทำให้คนอ่อนแอแล้ว คราวนี้อะไรอีกที่ทำให้คนอ่อนแอ การหวังพึ่งอำนาจภายนอกมาช่วยก็เป็นอย่างหนึ่ง การพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก คือให้เขาคิดให้ ให้เขาทำให้ ระบบนี้จะทำให้คนอ่อนแอแน่นอน อำนาจดลบันดาลจากภายนอกมาจากไหน

๑. มาจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จากคนอื่น ระบบนี้เหมาะสำหรับยุคสมัยอื่น แต่การปกครองที่เป็นระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองที่ต้องการให้คนมาช่วยกันเอง มาพึ่งกันเอง มาทำกันเอง ไม่ใช่หวังความช่วยเหลือหรือความสำเร็จจากการหยิบยื่นให้ของผู้มีอำนาจหรือคนอื่นนอกชุมชน ดังนั้นในระบบการปกครองจึงต้องการสิ่งนี้ คือต้องการคนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองและสามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

๒. มาจากสิ่งเร้นลับ เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า ไสยศาสตร์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนอ่อนแอ เพราะว่าเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แทนที่จะคิดสู้คิดแก้ปัญหา ก็ถ่ายโอนภาระ ยกภาระไปให้เทวดาทำให้ ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้ ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอและตกอยู่ในความประมาท

ทางพระพุทธศาสนา ท่านไม่เคยเถียงว่า เทวดามีจริงไหม ไสยศาสตร์มีจริงไหม ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์มีจริงไหม เพราะมีหลักการที่ชัดเจนว่า ถึงมีถึงจริงก็ไม่หวังพึ่ง ตรงนี้เป็นจุดเด็ดขาด ถึงจริงก็ไม่เอา เพราะอะไร เพราะการหวังพึ่งเทพเจ้าและรอการดลบันดาลจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เร้นลับมีโทษอย่างน้อย ๔ ประการ ซึ่งเป็นการผิดหลักพุทธศาสนา คือ

๑. ไม่ทำการด้วยความเพียรพยายามของตน อย่างที่บอกแล้วว่า ถ่ายโอนภาระไปให้เทวดา แล้วตัวเองก็นอนรอผลที่หวังว่าเทวดาจะทำให้

๒. ผิดธรรมชาติมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา คนอย่างนี้จะไม่พัฒนาตนเอง เขามัวแต่หวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ให้สิ่งเหล่านี้ทำให้ พอปัญหามา ก็ยกปัญหาไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อยกปัญหาไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตัวเองก็ไม่ได้คิด ไม่หาทางออก เมื่อไม่คิดไม่พยายามก็ไม่พัฒนา ก็จมอยู่เท่าเดิม เพราะฉะนั้นชีวิตเดินหน้าไม่ได้ ผิดหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา

๓. พึ่งตนเองไม่ได้ สูญเสียอิสรภาพ คือ ต้องขึ้นกับสิ่งอื่น ไม่เป็นตัวของตัวเอง ความสำเร็จนั้นไม่อยู่ในวิสัยของเรา สิ่งนั้นจะสำเร็จหรือไม่อย่างไร ก็อยู่ที่ท่าน เราไม่มีทางรู้และทำอะไรไม่ได้ ได้แต่รอด้วยความหวัง ก็ต้องสูญเสียอิสรภาพเพราะต้องไปขึ้นกับสิ่งอื่น

๔. ตกอยู่ในความประมาท หมายความว่า ทำให้เรานิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่เร่งรัด ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ไม่ทำการที่ควรจะทำด้วยความเอาจริงเอาจัง ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเสียเปล่า

จะเห็นว่า ๔ ข้อนี้เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาทั้งนั้นเลย คือ

๑. หลักทำการด้วยความเพียร (กรรมวาท วิริยวาท)

๒. หลักการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนตลอดเวลา (ไตรสิกขา)

๓. หลักการพึ่งตนได้และมีอิสรภาพ (อัตตนาถะ และวิมุตติ)

๔. หลักความไม่ประมาท (อัปปมาทะ)

ฉะนั้นพระพุทธศาสนา จึงให้เปลี่ยนท่าทีต่อเทพเจ้าจากการไปหวังพึ่งอ้อนวอนมาเป็นมิตร แล้วแผ่เมตตาให้ แม้แต่ทำบุญก็ยังอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาด้วย เวลาพระสวดมนต์จะมีการชุมนุมเทวดา คือเชิญเทวดามาฟังธรรม ด้วยน้ำใจไมตรี หมายความว่า เราถือว่าเทวดายังต้องฟังธรรม จะได้เรียนรู้ธรรมะเอาไปใช้ปฏิบัติตัวให้ดี เอาไปพัฒนาตัวเอง เราก็เลยบอกว่านี่พระจะสาธยายบทสวดมนต์ บทสวดมนต์ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเวลานี้เราจะฟังธรรม เราก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เทวดา เชิญเทวดามาฟังธรรมด้วย ไม่ว่าจะทำอะไรเราก็ชวนเทวดามาทำด้วยในสิ่งที่ดี เรามีเมตตาต่อเทพเจ้า แต่เราไม่อ้อนวอน

มีลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่เปลี่ยนแปลงจากศรัทธาแบบเก่าอย่างได้รสอร่อยอย่างเดียว การกินอาหารที่ไม่อร่อยก็ต้องทุกขชัดเจนมาก พระพุทธเจ้าทรงเป็นยอดของคนมีฤทธิ์ ทรงมีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์มาก แต่ใครอ่านพุทธประวัติเคยเจอบ้างไหม ว่าพระพุทธเจ้ายอดของคนมีฤทธิ์ เคยเอาฤทธิ์ดลบันดาลผลที่ต้องการให้ใครบ้าง ในพุทธประวัติไม่มีเลย ในพุทธประวัติพระพุทธเจ้าผู้เป็นยอดของคนมีฤทธิ์ ไม่เคยใช้ฤทธิ์ดลบันดาลอะไรให้ใครเลย

พระพุทธเจ้าใช้ฤทธิ์เพื่องานเผยแพร่พระพุทธศาสนา คือ ในยุคนั้นเขามีค่านิยมถือว่าผู้มีฤทธิ์เท่านั้นเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงใช้ฤทธิ์เพื่อปราบฤทธิ์ ปราบให้เขายอมแล้วจะได้ฟังธรรม พอคนที่ผยองฤทธิ์ยอมฟังธรรมแล้วพระองค์ก็เลิกใช้ฤทธิ์ ต่อไปนี้ก็ให้ท่านอยู่กับความจริงนะ อยู่กับความจริงของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ในสังคมไทยเวลานี้เพี้ยนกันมาก เพราะฉะนั้นหลักการนี้จะต้องชัด โดยเฉพาะในวงการการศึกษาจะต้องมีท่าทีมั่นคง ถ้าไม่ชัดแล้วคนของเราจะมีความสัมพันธ์ที่ผิดแล้วจะอ่อนแอด้วย จะไปกันใหญ่ จะต้องให้คนทำการด้วยความเพียรของตน ต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาด้วยการสู้ปัญหา แก้ปัญหา เป็นต้น ต้องพัฒนาคนให้พึ่งตนได้ มีอิสรภาพ และมีความไม่ประมาท

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คนใฝ่เสพ มองเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย คนใฝ่สร้างสรรค์ มองเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยการศึกษาไม่เดินหน้า ทั้งชีวิตและสังคมไม่พัฒนา เพราะมัวหาความสุขจากสิ่งกล่อม >>

No Comments

Comments are closed.