“มองเชิงจุดหมาย” หรือ “มองเชิงปัจจัย” จุดตัดสินเทคโนโลยีเพื่อหายนะหรือเพื่อพัฒนา

8 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 11 จาก 20 ตอนของ

“มองเชิงจุดหมาย” หรือ “มองเชิงปัจจัย” จุดตัดสินเทคโนโลยีเพื่อหายนะหรือเพื่อพัฒนา

เมื่อพูดถึงเรื่องความสุข ตอนนี้จะแทรกเรื่องความสัมพันธ์กับวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะกับเทคโนโลยีว่า ทำอย่างไรจะให้ความสัมพันธ์นั้นเกิดผลในทางการศึกษา โดยเฉพาะยุคนี้ซึ่งเป็นยุคที่วัตถุเจริญพรั่งพร้อม ทำอย่างไรเราจึงจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ถ้าเราให้การศึกษาที่ไม่ถูกต้อง คนจะได้รับโทษมากกว่าได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

การสัมพันธ์กับวัตถุก็เริ่มจากการมองความสัมพันธ์นั่นเอง ว่าเรามองความสัมพันธ์กับวัตถุหรือมีท่าทีต่อวัตถุอย่างไร ถ้าเรามองความสัมพันธ์ผิดมันก็ไม่เป็นการศึกษา แล้วคนก็เสียด้วย แทนที่จะได้ประโยชน์จากการศึกษา ก็กลายเป็นเสื่อมจากการศึกษา แทนที่จะได้ประโยชน์จากวัตถุเช่นอุปกรณ์เทคโนโลยีนั้นก็เลยได้โทษมาแทน แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเรามองการศึกษาได้ถูกต้องคนก็จะยิ่งพัฒนาด้วยการศึกษานั้น แล้วก็จะยิ่งมีความสุขด้วย ทีนี้จะทำอย่างไร การมองความสัมพันธ์กับวัตถุมี ๒ แบบ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ขอย้ำอีกแง่หนึ่งว่า

๑. มองเชิงจุดหมาย คือ มองวัตถุตลอดจนเทคโนโลยีเป็นเครื่องบำรุงบำเรอให้ความสุข เสริมความสะดวกสบาย เป็นจุดหมายของชีวิต ซึ่งเป็นวงจรที่วนอยู่กับที่ ถ้ามองเพียงเท่านี้ก็จะตันแล้วจบแค่นั้น

๒. มองเชิงปัจจัย คือมองวัตถุรวมทั้งเทคโนโลยีเป็นเครื่องเกื้อหนุน หรือเป็นตัวเอื้อโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิตที่ดี ในการที่เราจะพัฒนาชีวิตของเรา ในการที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามยิ่งขึ้น

ในการมองวัตถุนั้น คนจะมองสองแบบอย่างนี้ แต่คนจำนวนมากจะมองแง่แรกอย่างเดียว คือมองเชิงจุดหมายว่าวัตถุเทคโนโลยีเป็นเครื่องบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบายให้เรา ความสุขอยู่ที่การมีสิ่งเหล่านั้นไว้เสพบริโภคให้มากที่สุด แต่คนที่มีการศึกษาจะมองความหมายที่สองด้วย และความหมายที่สองนี่จะโดดเด่นขึ้นมา คือมองเป็นปัจจัย ซึ่งตรงตามหลักพุทธศาสนาซึ่งเรียกวัตถุว่าเป็นปัจจัย คือเป็นตัวเกื้อหนุน ทำให้เกิดโอกาสในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ก้าวไปสู่สิ่งที่ประเสริฐยิ่งขึ้นไป สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ถ้าเราไม่มีวัตถุ ไม่มีปัจจัย เราก็ไม่สามารถทำการสร้างสรรค์ ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามได้ เพราะฉะนั้นวัตถุเช่นอุปกรณ์เทคโนโลยีนี้หลายอย่างเราจึงถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่จำเป็นในความหมายที่ชัดว่าเพื่อเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนให้เรามีโอกาสทำสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

การมองเชิงจุดหมายนั้น มาด้วยกันกับการมองเชิงเสพ ถ้าเรามองเชิงเสพ เราก็มุ่งใช้วัตถุเพื่อให้มันบำเรอเรา เพื่อให้เราไม่ต้องทำ ถ้าเราจะต้องทำอะไร เราจะทุกข์หมด มันจะต้องบำเรอเรา เทคโนโลยีมาทำแทนเราหมด เรามีความสุข ความสุขของเราอยู่ที่มันรับใช้เรา บำเรอเรา ทำให้เราสบายคือไม่ต้องทำอะไร และนั้นคือความสุขที่เป็นจุดหมาย ทีนี้ถ้าเกิดเราต้องทำอะไร เราก็ทุกข์

ถ้าเรามองเชิงปัจจัย เราต้องการจะทำสิ่งที่ดีงาม เราจะทำอยู่แล้ว พอเทคโนโลยีมา วัตถุมา ทำให้เราสะดวกในการทำนั้นยิ่งขึ้น เพราะเราได้เครื่องช่วยทำให้สะดวกยิ่งขึ้น เราอยากจะทำอยู่แล้ว เราได้ทำเราก็มีความสุข ยิ่งมีเครื่องช่วยให้เราทำได้ดีได้มากยิ่งขึ้น เราก็ยิ่งมีความสุขกันใหญ่ ถ้าเด็กสามารถมีความสุขในการทำการสร้างสรรค์ก็ปลอดภัยแล้ว ในการศึกษาเวลานี้เด็กเป็นอย่างไร เด็กมองวัตถุด้วยความสัมพันธ์เชิงไหน ข้อที่ต้องระวังมากคือการมีความสัมพันธ์มองวัตถุเชิงเสพและเชิงจุดหมาย ซึ่งเป็นกันมากในสังคมของเรา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อจิตสำนึกในการศึกษาเกิดขึ้น แม้แต่ความยากก็กลายเป็นความสุขเมื่อใฝ่เสพ คนก็อ่อนแอลง ทุกข์ง่ายแต่สุขได้ยาก เมื่อใฝ่สร้างสรรค์ คนก็เข้มแข็งขึ้น สุขได้ง่ายและทุกข์ได้ยาก >>

No Comments

Comments are closed.