ชีวิตที่แบก – ชีวิตที่เบา

12 กันยายน 2535
เป็นตอนที่ 3 จาก 11 ตอนของ

ชีวิตที่แบก – ชีวิตที่เบา 1

ขอเจริญพร วันนี้ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ เป็นวันที่คุณโยมชม รักตะกนิษฐ ได้ถึงแก่กรรมมาครบ ๒ ปี โยมคุณหญิง พร้อมด้วยคุณหมู และหลานๆ ก็ได้ทำบุญอุทิศกุศลแก่ท่าน เรียกตามภาษาพระว่า บำเพ็ญทักษิณานุประทาน ทั้งนี้ด้วยความมีน้ำใจรำลึกถึงท่าน ไม่ทอดทิ้ง เป็นการอุทิศกุศลให้ตามประเพณีของชาวไทย ที่อิงอาศัยหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อถึงวันที่ครบรอบเวลาแต่ละช่วงระยะเราก็มีการประกอบพิธีกรรม จัดบำเพ็ญกุศลอย่างนี้

แม้จะไม่ถึงเวลาอย่างนี้ โยมคุณหญิง และลูกหลานก็ได้ทำบุญอุทิศแก่ท่านเรื่อยมา เช่น ด้วยการตักบาตรประจำเกือบทุกวัน เป็นต้น โดยเฉพาะ หลานที่ใกล้ชิดที่สุด คือ บิ๋ม ซึ่งวันนี้ไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย เพราะติดขัดกิจสำคัญ คือ การสอบซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น คงมาแต่น้องของบิ๋ม คือ บี กับ บิ๊บ

ถ้าไม่ติดสอบ บิ๋ม ก็คงได้มาร่วมพิธีแน่นอน เพราะเป็นหลานปู่ที่ใกล้ชิดที่สุด ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ ก็อยู่กับท่าน เวลาท่านล่วงลับไปแล้วก็รู้สึกว่าจะมีใจผูกพันมาก คิดถึงคุณปู่ตลอดเวลา เมื่อไรมีโอกาสก็ทำอะไรต่ออะไรอุทิศให้แก่ท่านเรื่อยๆ เช่นว่า ทานเจทุกวันที่ ๑๒ คือวันที่ถึงแก่กรรมทุกเดือนๆ เป็นประจำ และถ้ามีเหตุการณ์พิเศษ เช่น ฝันถึงคุณปู่ก็ทำบุญถวายสังฆทานอุทิศ เป็นต้น แสดงถึงการมีน้ำใจผูกพัน และเป็นการกระทำที่เนื่องจากคุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวที เป็นเรื่องของน้ำใจ การกระทำทั้งหมดนี้ เรียกว่า การบำเพ็ญญาติธรรม ซึ่งเป็นส่วนของผู้ที่ใกล้ชิดที่สุด

บัดนี้ คุณโยมชม ก็ได้ล่วงลับไปแล้ว ท่านจากเราไปแล้ว ชีวิตสังขารของท่านก็แตกดับสลายไป ตามหลักพระไตรลักษณ์ โดยเฉพาะข้อที่เรารู้จักกันมากก็คือ อนิจจัง ได้แก่ ความไม่เที่ยง

ในเวลาที่มีท่านผู้ใดผู้หนึ่งจากไป แม้แต่เมื่อคุณโยมชมล่วงลับไป จะมีผู้ใหญ่บางท่านพูดทำนองว่า ‘เอ้อ! ท่านสบายแล้ว’ หรือว่า ‘เขาไปสบายแล้ว’ การพูดอย่างนี้แสดงถึงความรู้สึกภายใน คือเราคงมีความนึกคิดในใจลึกๆ อยู่บ้างว่า ชีวิตนี้เป็นของที่หนัก อาจจะใช้คำอย่างที่บางคนพูดว่า ‘ต้องดิ้นรน’ มีความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งก็คือมีความทุกข์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ในเวลาที่มีผู้สิ้นชีวิตไป บางคนจึงรู้สึกเหมือนอย่างกับที่อุทานว่า ‘เอ้อ! สบายแล้ว’ สบายก็หมายความว่า ไม่ต้องทนทุกข์ ไม่ต้องแบกต้องหามอะไรอีก ความคิดอย่างนี้ก็มีส่วนถูกเหมือนกัน ดังจะได้อธิบายต่อไป

ชีวิตของเรานั้น ตามหลักธรรม ก็ได้แก่คำว่า เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ ๕ หมายความว่า ชีวิตของเราประกอบขึ้นจากหน่วยย่อยๆ ต่างๆ จัดเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ได้ ๕ หมวด เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ ๕ กอง หรือ ๕ ประเภท หน่วยย่อยที่รวมกันเป็น ๕ ประเภทนี้ ก็ได้แก่

๑. รูป คือ สิ่งที่เป็นร่างกาย สิ่งที่เป็นรูปธรรม

๒. เวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์

๓. สัญญา ความจำได้หมายรู้ การกำหนดรู้จักสิ่งรู้ต่างๆ

๔. สังขาร คือ ความนึกคิดต่างๆ ตลอดจนความดี ความชั่ว ที่ประกอบกับความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เป็นคุณสมบัติของจิตใจ ปรุงแต่งใจของเราให้เป็นไปต่างๆ ปรุงแต่งใจเสร็จแล้วก็ปรุงแต่งความคิด ปรุงแต่งเป็นการพูด และการกระทำต่างๆ ที่แสดงออกทางกาย

๕. วิญญาณ คือ ตัวความรู้ ที่ทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ลิ้มรส อะไรต่างๆ เหล่านี้

ทั้งหมดนี้เรียกว่าขันธ์ ๕ ทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประกอบกันเข้าเป็นชีวิตของเรา ว่าที่จริงที่เราเป็นอยู่ หรือที่เรามีชีวิตอยู่นี้ ก็เหมือนกับว่าเราแบกขันธ์ ๕ ของเราอยู่ตลอดเวลา แบกแล้วก็พามันไป แล้วก็บริหาร ประคับประคอง บางครั้งเป็นเพียงบริหาร แต่บางครั้งก็ถึงกับประคับประคอง

ที่ว่า แบกหาม บริหาร ประคับประคองนี้ ก็เห็นได้ง่ายๆ เริ่มแต่ส่วนที่ปรากฏชัดที่สุด คือ ร่างกายหรือรูปขันธ์

รูปขันธ์ นี้ชัดมาก ร่างกายของเรานี้เราต้องคอยบริหารและต้องบริการมันตลอดเวลา เราต้องถือเป็นภาระ วันหนึ่งๆ โยมต้องให้เวลาแก่ร่างกายนี้มาก ตื่นนอนขึ้นมาก็ต้องพาไปล้างหน้า ถึงเวลาเย็นก็พาไปอาบน้ำ แล้วก็ทำกิจต่างๆ ต้องจัดที่ให้อยู่ ต้องหาอาหารให้รับประทาน บำรุงเลี้ยงไว้ หาปัจจัย ๔ มาอุปถัมภ์ค้ำจุนอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายนี้ แม้แต่จะเดินไปสักหน่อย เราก็ต้องแบกมันไป บางทีเราไม่รู้ตัวหรอกว่า ต้องแบกมัน จนกระทั่งเหนื่อยขึ้นมาจึงรู้ตัวว่า โอ้โฮ มันก็หนักเหมือนกัน จะเห็นได้ชัด เช่น เวลาเดินขึ้นภูเขา จึงรู้ตัวว่า แหม! ร่างกายของเรานี้ หนักไม่ใช่น้อยๆ เลย เราแบกหนักเยอะทีเดียว ก็เป็นอย่างนี้แหละ

ที่จริงเราต้องเหน็ดต้องเหนื่อย ต้องแบกร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา ต้องบริหารประคับประคอง ต้องระวังไม่ให้ไปถูกอะไรบาดเจ็บ ไม่ให้เจ็บป่วยไข้ ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็ต้องรักษา รวมความว่ามันไม่ใช่ของที่ยั่งยืน เราจึงต้องคอยระวัง ทีนี้ถ้าเกิดเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา เกิดโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน เราก็ต้องบริหารประคับประคอง ต้องเอาหยูกเอายามารักษา ต้องปฏิบัติตัวต่างๆ ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า รักษาเยียวยา เพื่อที่จะให้หายโรค ตลอดชีวิตของเรานี้ วันเวลาผ่านไปกับการบริหารขันธ์ ๕ ในส่วนรูปธรรมเยอะทีเดียว แค่นี้ก็เห็นชัดว่า สำหรับส่วนที่ปรากฏที่สุดนี้ เราต้องหมดเวลาไป อย่างที่เรียกว่า อุทิศเวลาให้แก่ร่างกายที่เป็นขันธ์แรกนี้มากเท่าไร แต่ไม่ใช่เท่านี้หรอก

ขันธ์ต่อไป เราก็ต้องคอยเป็นภาระบำรุงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน แต่มันเป็นนามธรรม บางทีโยมก็มองไม่ค่อยเห็น ได้แก่ เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ แม้ว่ามันจะเป็นนามธรรม และมองไม่เห็น แต่ที่จริงเราต้องแบกภาระและรับใช้มันมาก การที่เราดำเนินชีวิตอยู่ส่วนมาก ก็คือการใช้เวลาในการที่จะแสวงหาความสุข หาอะไรมาปรนเปรอให้มันได้มีความสุข การที่เราทำอะไรต่ออะไรวุ่นวายกันนี่ มีจุดประสงค์สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ การหาความสุข เพราะฉะนั้น เราจึงต้องแบกภาระที่จะรับใช้เวทนาขันธ์

นอกจากหาความสุขแล้ว ภาระอันหนึ่ง ก็คือ เราต้องหลีกเลี่ยงความทุกข์ การบริหารชีวิตของเราก็เพื่อหลบเลี่ยงความทุกข์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าเราหมดเวลาไปกับการที่จะหาความสุข แล้วก็หลีกเลี่ยงความทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่แค่นี้ เมื่อมองดูขันธ์ต่อไป เราก็รับใช้และบริหารอีก

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ หรือการกำหนดหมาย ทำความรู้จักสิ่งต่างๆ เราจะอยู่ในโลกได้ เราจะต้องกำหนดหมายอะไรต่ออะไรเพื่อให้รู้จักสิ่งต่างๆ ต้องจำได้ว่า อันนี้เป็นอันนี้ ว่าอะไรเป็นอะไร เริ่มต้นตั้งแต่เด็กเล็กๆ เกิดมาไม่นาน พ่อแม่ก็ต้องสอนแล้วว่า เอ้อ! กำหนดรู้จักไว้นะ อันนี้คืออันนี้ เราต้องเรียนรู้มากมาย ต้องเข้าโรงเรียน

การเข้าโรงเรียนก็เพื่อไปรับใช้สัญญานี่แหละมาก คือต้องไปทำความรู้จัก อันโน้น อันนี้ มากมาย เสร็จแล้วต่อมา สัญญาก็ไม่มั่นคง พออยู่มานานขึ้น สัญญาก็เสื่อมลง กำหนดจำอะไรไม่ค่อยได้ ก็เป็นปัญหาอีกแล้ว คราวนี้เป็นภาระหนักทีเดียว มันบีบคั้นชีวิตของเราเพราะว่าเราจะต้องเดือดร้อนเพราะสัญญาของเราไม่ดี และเราก็ต้องประคับประคองบริหารมัน

สัญญานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เราอยากจะดูโทรทัศน์ อยากจะฟังวิทยุ ก็เพื่อสนองสัญญาด้วย เราจำได้หรือกำหนดหมายไว้ว่าอันนี้เราพอใจ ถูกใจ เราก็อยากจะดูอันนี้ต่อ แล้วสัญญาก็คอยมาทวงอยู่เรื่อย นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แล้วต่อไป

สังขาร ความคิดปรุงแต่ง ก็เป็นตัวการใหญ่อีกเหมือนกัน คนเราใจอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องคิด เมื่อคิดไปๆ เราก็ต้องหาข้อมูลมาให้มัน ต้องใช้พลังงานในการคิดนั้น ถ้าคิดไม่ดีบางทีก็วุ่นวายใจ ถ้าคิดดีก็สบายไป

ที่นี้ คิดแล้วไม่พอ คิดแล้วก็อยากจะพูดอยากจะทำอีก ก็พูดและทำไปตามที่คิดนั่นแหละ การที่เราทำไปตามที่คิดนี้ เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต คนเราจะทำอะไรก็เริ่มต้นมาจากคิดก่อน คิดปรุงแต่งไปอย่างไรก็พาชีวิตไปอย่างนั้น คนที่ขยัน คนที่ทุจริต คนที่ไปลักไปโกง คิดอย่างไรก็นำพาชีวิตของเขาไปอย่างนั้น เราก็ต้องแบกรับภาระกับความคิดของเราเรื่อยไป อันนี้ก็เป็นภาระใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง

ตกลงว่า สังขารนี้เป็นขันธ์ที่เราต้องแบกต้องหาม ต้องบริหารอย่างสำคัญ ถ้าเราจะให้ชีวิตของเราดำเนินไปดี เราก็ต้องบริหารสังขารของเราให้ไปในทางที่ถูกต้อง คือให้เป็นความคิดที่ดีงาม เป็นการสร้างสรรค์ เป็นคุณประโยชน์ ต้องหลีกเลี่ยงความคิดที่เป็นโทษ ที่นำไปสู่ความเสียหาย คนที่จะทำความดี ก็เป็นภาระในการที่จะต้องระวังความคิดของตนเอง ระวังการกระทำของตนเอง และนี่ก็เป็นภาระอันสำคัญ แล้วต่อไปสุดท้าย

วิญญาณ คือ ตัวรู้ที่ออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ที่เรียกว่า เห็น ได้ยิน เป็นต้น ชีวิตเราแต่ละวันนี้ หมดไปกับเรื่อง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ดู ฟังอะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งวันเลย จนกระทั่งเราแทบจะพูดได้ว่า ชีวิตของเราก็คือ การได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ได้สัมผัส แล้วก็ได้มีความรู้สึกทางจิตใจ อันนี้คือตัววิญญาณ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่มีบทบาทนำพาชีวิตของเราไป เราต้องบริหารมัน ต้องรับใช้มัน

นี่แหละคือขันธ์ ๕ นี่แหละคือทั้งหมดของชีวิตเรา เราทำอะไรต่างๆ ดำเนินชีวิตไปทั้งหมด เป็นการบริหารขันธ์ ๕ นี้ทั้งนั้น มันเป็นของหนัก เราจะต้องเพียรพยายามให้ มันอยู่ได้ด้วยดี แม้แต่เพียงให้มันอยู่รอด ก็นับว่าเป็นภาระที่หนักอยู่แล้ว

แต่ทีนี้ ซ้ำหนักยิ่งกว่านั้นอีก ก็คือ เรามีความยึดในชีวิตร่างกายเป็นตัวตนขึ้นมา ว่าร่างกายนี้ จิตใจนี้ เป็นตัวของเรา พอยึดตัวเรา ก็จะมีของเรา พอมีของเราขึ้นมา ตัวเราก็จะไปจับโน่นจับนี่เพิ่มขึ้นมาขยายตัวของเราออกไป แล้วก็จะแบกภาระมากขึ้นตามลำดับ ไม่เคยมีบ้าน เราก็มามีบ้าน ไม่เคยมีข้าวของทรัพย์สมบัติ เราก็มีสมบัติ พอมีอะไรเข้ามาเป็นของของเรา เราก็แบกสิ่งนั้นเพิ่มเข้าไป

เป็นอันว่า นอกจากตัวชีวิตของเราแล้ว เราก็แบกสิ่งอื่นเพิ่มเข้ามา ยิ่งใครมีมากเท่าไร ก็แบกมากเท่านั้น จนเต็มไปหมด อันนี้ก็เกิดจากอาการของใจที่เรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่น แต่เริ่มต้น ก็คือ ความยึดในตัวเราก่อน เมื่อมีการยึดในตัวเราก็จะมีของเรา แล้วภาระในการแบกก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ นี้แหละคือชีวิตของมนุษย์ที่มันเป็นภาระ เมื่อแบกไปๆ ในที่สุดก็เหนื่อย เข้าหลักที่พระท่านบอกว่า

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา

แปลตามตัวอักษรว่า ขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์ นี่เป็นภาระเหลือเกิน

แปลเป็นภาษาไทยก็อาจจะได้ความว่า ‘ชีวิตนี้ต้องแบกหนักจริงเน้อ!’ ทำนองนี้ เราต้องแบกชีวิตของเราไปอยู่อย่างนี้ จนกระทั่ง บางเวลาก็อาจจะคิดขึ้นมาว่า เอ๊ะ ถ้าวางมันลงได้เราคงสบาย มีความสุข

ทีนี้ การแบกภาระอะไรต่างๆ นี้ ถ้าว่าตามทางธรรมแล้ว มันอยู่ที่ใจไปแบก การวางใจไม่ถูกต้องเป็นตัวแบก ทำให้เกิดปัญหา เป็นทุกข์ เป็นภาระ ถ้าหากว่าใจไม่ไปยึด ไม่ไปติด ไม่ไปถือค้างไว้ ถึงแม้มันจะเป็นภาระ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราวางใจให้ถูกต้อง ก็ทำตามหลัก ตามหน้าที่ แล้วเราก็สบาย

อย่างร่างกายของเรา ก็รู้ว่ามันเป็นขันธ์ มันไม่เที่ยง ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ เรารู้เท่าทัน มีอะไรที่ต้องปฏิบัติก็ทำไป แต่ไม่เกิดความยึดติดถือมั่น ไม่ยกเอาความปรารถนาขึ้นมาต่อต้านกฎแห่งธรรมชาติ หรือกฎแห่งความเป็นจริง ถ้าเราไม่ถือเอาไม่พาให้ความปรารถนานั้นมาขัดแย้งกับความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็จะเบาลง เพราะการที่เรารู้เท่าทันนั่นเอง เราก็ปฏิบัติไปตามเหตุผล ก็เป็นเรื่องสบายๆ ท่านเรียกว่า วางใจให้ถูกต้อง

ตกลงว่า ตัวที่เป็นภาระ ตัวที่หนักอยู่ที่การวางจิตใจไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย คือ ความยึดติดถือค้างเอาไว้ในใจ แล้วก็แบกเอาไว้ในใจ ก็เลยเป็นภาระหนัก ทีนี้ ถ้าวางใจให้ถูกต้องแล้ว ก็เป็นการปลงภาระลงได้ แม้เราจะยังดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ เรายังทำกิจหน้าที่การงาน ยังต้องแสวงหาอาหารมารับประทาน แม้ว่ามันจะเป็นภาระอยู่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อวางใจให้ถูกต้องมันก็สบายขึ้น อันนี้แหละคือจุดสำคัญ ตัวที่ทำให้เราหนัก ก็คือ ความยึดถือ หรือ ถือค้างไว้ ท่านบอกว่า

ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก

การถือเอาภาระนี้แบกค้างไว้ เป็นทุกข์ในโลก นี้ก็เพราะเราแบกค้างใจไว้น่ะสิ

โยมมีภาระอยู่ในโลก แบกขันธ์ ๕ แบกอะไรต่างๆ อยู่แล้ว มันเป็นภาระ แต่มันเป็นภาระที่เป็นไปตามกฎธรรมดา ก็ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น อย่าไปถือค้างใจไว้อีกส่วนหนึ่ง ถ้าเราถือค้างใจไว้อีกส่วนหนึ่ง เราถือตัวตนซ้ำสำทับเข้าไป ยึดมั่นในตัวตนของเรา ในของของเรา ตัวตนนี่แหละ เป็นตัวการสำคัญที่จะเป็นภาระใหญ่

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ต้องวางใจให้ถูกต้องแล้วก็วางภาระลงเสีย ถ้าวางภาระลงได้ ก็จะมีความสบาย เบาลงไป ชีวิตนี้ก็จะมีความปลอดโปร่ง จะมีความเบาทุกข์ หรือหายจากทุกข์ หมดทุกข์ไปเลย และก็จะมีความสุข ความโล่ง ฉะนั้น จึงมีคาถาพุทธภาษิต ที่ตรัสไว้ว่า

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา อย่างที่กล่าวไว้เมื่อกี้ว่า ขันธ์ ๕ หรือชีวิตนี้เป็นภาระต้องแบกหนักจริงเน้อ

ทีนี้ต่อไป ท่อนที่ ๒ ก็บอกว่า ภารหาโร จ ปุคฺคโล ตัวคนแต่ละคนนี่แหละ เป็นผู้แบกภาระ คือตัวตนที่สมมติกันเป็นนาย ก. นาย ข. เป็นต้น นี่แหละ แบกภาระเอาไว้

บอกต่อไปอีกว่า ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือภาระแบกค้างไว้เป็นทุกข์ในโลก

ลงท้ายท่านบอกว่า ภารนิกฺเขปนํ สุขํ วางภาระลงเสียได้เป็นสุข

ตกลงว่า ลงท้ายเป็นสุข พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ลงท้ายต้องให้เราเป็นสุข ไม่ให้เราเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นหรอก สอนเราเพื่อให้เราหมดทุกข์ มีความสุข ท่านไม่ได้สอนเรา เพื่อให้เรามีความทุกข์ ท่านสอนเราเพื่อให้เราปฏิบัติได้ถูกต้อง เพื่อให้เราหมดทุกข์

ตกลงจุดหมายก็ไปอยู่ตรงท้าย บอกว่า วางภาระลงเสียได้ แต่มิใช่หมายความว่า ตัดความรับผิดชอบ เลิกทำหน้าที่อะไรต่างๆ มิใช่อย่างนั้น สิ่งที่จะพึงปฏิบัติไปตามธรรมดาของเหตุผลก็ทำไป ร่างกายของเรานี้ต้องบำรุงรักษาเยียวยาด้วยปัจจัย ๔ เราก็รักษามันไป ทำให้ถูกต้องด้วยความไม่ประมาท แต่ว่าใจของเรานี่แหละวางให้ถูกต้อง คือ ไม่ไปยึดติดถือมั่นค้างไว้ ไม่ไปแบกภาระไว้ เมื่อทำใจถูกต้องแล้ว มันก็โปร่งก็เบา ท่านเรียกว่า เป็นการวางภาระลงได้

พระอรหันต์ท่านมีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นโอโรหิตภาโร แปลว่า ผู้มีภาระอันวางลงแล้ว คือเป็นผู้วางภาระลงได้ เหมือนกับว่าเมื่อก่อนนี้ เอาภาระอะไรแบกไว้บนบ่า เดินไปก็แบกเรื่อยไปเลย หลายท่านนี่ตลอดเวลาใจไม่เคยว่าง เพราะเอาอะไรๆ มาค้างใจไว้ แบกอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็มีความทุกข์หนักอยู่ตลอดเวลา พอปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องวางใจถูกต้อง อย่างพระอรหันต์ ก็วางลงได้ ก็ปฏิบัติไปตามความสัมพันธ์ ตามความจำเป็นที่ต้องเกี่ยวข้อง เรามีหน้าที่ต้องเกี่ยวข้อง เราก็ทำไป แต่ไม่มาถือค้างใจอยู่ พอไม่ค้างใจ เราก็เบา สบาย เรียกว่า ปลงภาระลงได้

นี่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับบุคคลที่ยังดำเนินชีวิตอยู่ในโลก คนเรานี้ บางทีไม่รู้สึกตัว เวลามีคนจากไป ท่านที่รู้จักล่วงลับไป ก็มีการปลงอย่างที่ว่า ‘เอ้อ! เขาสบายแล้ว’ โดยเฉพาะท่านผู้ใหญ่มักจะพูด เพราะท่านผู้ใหญ่มักจะผ่านชีวิตมาเยอะจนชักรู้สึกว่าชีวิตนี่เป็นภาระ เด็กๆ ยังไม่รู้สึก เพราะฉะนั้น เด็กๆ จึงไม่ค่อยพูดคำนี้ ต่างจากผู้ใหญ่ที่มีความรู้สึก ซึ่งอย่างน้อยก็ฝังลึกในใจว่า การมีชีวิตอยู่ หรือดำเนินชีวิตอยู่นี้ เป็นของหนัก เป็นภาระอย่างที่กล่าวแล้ว

ในเมื่อมีภาระเราก็แยกภาระนี้ให้ถูกต้อง คือ เป็นภาระที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้องตามเหตุผลแล้ว มันก็จะไม่มีปัญหาอะไรมากมาย เพียงแต่อย่าไปยึดไปติดถือค้างไว้ ทำใจให้ถูกต้อง เมื่อทำใจวางใจให้ถูกต้องแล้ว เราก็สบาย มีความสุขด้วย แล้วการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น ก็จะเป็นไปอย่างพอดี เพราะถ้าไปยึดมั่น ถือค้างเกินไปแล้ว เราจะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไม่พอดี พอปฏิบัติไม่พอดี ก็เกิดปัญหาซ้ำเติมตัวเราให้มีความทุกข์มากยิ่งขึ้น

ตกลงว่านี่เป็นคติอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ชีวิตแต่ละชีวิตนี้ก็ประกอบด้วย ขันธ์ ๕ เมื่อเรามีขันธ์ ๕ แล้ว เราก็

๑. รู้เท่าทันขันธ์ ๕ รู้ว่าชีวิตของเราประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยๆ ต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เป็นไปตามพระไตรลักษณ์ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอรู้เท่าทันก็สบายไปขั้นหนึ่ง

๒. วางใจให้ถูกต้อง อย่างที่ว่า ปฏิบัติต่อภาระอันนี้ มิให้เป็นภาระที่ค้างใจ แล้วก็จะมีความสุข สบายจริงๆ

อาตมภาพได้กล่าวมาทั้งนี้ก็ปรารภการที่คุณโยมชม รักตะกนิษฐ ได้ถึงแก่กรรมมาครบ ๒ ปีแล้ว โยมคุณหญิงก็ได้ทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน วันนี้เราก็ได้คติจากชีวิตของท่านด้วย โดยที่มาพิจารณา เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เราปฏิบัติต่อชีวิตได้ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น แล้วก็ด้วยจิตใจที่สงบนี้ เราก็มาปฏิบัติต่อกันด้วยคุณธรรมอย่างที่ว่า อยู่ด้วยกันอย่างสามัคคีพร้อมเพรียง มีความคิดนึกในทางที่ดีต่อกัน พยายามปรารถนาดีต่อกันให้มีความสุข แม้ท่านผู้ใดจากไปก็ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ท่าน ขอให้ท่านมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปในสัมปรายภพนั้น

วันนี้ อาตมภาพ ขออนุโมทนา โยมคุณหญิง พร้อมด้วยลูกหลาน และโยมญาติมิตร ที่ใกล้ชิด หลายท่านที่ได้มาซึ่งได้มีจิตใจที่ประกอบด้วยไมตรีจิตมิตรภาพต่อกัน นับว่าโยมทุกท่านมีใจเป็นกุศล

ขอให้ทุกท่านร่วมกันตั้งจิต น้อมใจ อุทิศกุศลทั้งหมดนี้ ไปให้แก่คุณโยมชม รักตะกนิษฐ ขอให้ท่านมีความสุขในสัมปรายภพยิ่งๆ ขึ้นไป โดยที่ว่าขอให้ท่านได้รับทราบและอนุโมทนาบุญกิริยาที่โยมคุณหญิงกระจ่างศรี และลูกหลาน ได้บำเพ็ญแล้ว ขอให้บุญนี้จงเป็นไปเพื่อความดีงามและคติที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปในสัมปรายภพนั้น และขอให้คุณโยมทุกท่าน เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงามในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ทรัพย์สิน มุมสำคัญของการปฏิบัติธรรมรสจืดของความจริง >>

เชิงอรรถ

  1. ธรรมกถา ในการบำเพ็ญกุศลครบ ๒ ปี คุณชม รักตะกนิษฐ แสดงเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕

No Comments

Comments are closed.