๒๐๐ ปี กรมพระปรมานุชิตฯ กับสังคมไทย

21 มิถุนายน 2534
เป็นตอนที่ 6 จาก 11 ตอนของ

๒๐๐ ปี กรมพระปรมานุชิตฯ
กับสังคมไทย1

ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ และเพื่อนสพรหมจารี
ขอเจริญพร ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมทั้งท่านที่สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

อาตมภาพมาในวันนี้ ต้องขอออกตัวตามความเป็นจริงว่า ที่ได้รับนิมนต์มานี้ เป็นการมาพูดในเรื่องที่ตนเองมีความรู้น้อยเป็นอย่างยิ่ง หรือเกือบจะเรียกได้ว่าไม่รู้เรื่อง เพราะมีความรู้น้อยทั้งในส่วนที่เป็นพระประวัติขององค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และน้อยทั้งในแง่ที่เกี่ยวกับผลงานของพระองค์

อย่างไรก็ตาม ก็พูดได้ดังที่ทราบกันคือ พระองค์ทรงเป็นปูชนียบุคคลของวงการคณะสงฆ์ไทย และของชาวไทยทั้งหมดด้วย การที่เราจัดงานครั้งนี้ก็เป็นการมายกย่อง เทิดทูน บูชาบุคคลที่ควรบูชา ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องกับคติในทางพระพุทธศาสนาที่ว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคลอันอุดม อย่างที่เราสวดมงคลสูตร ในบาทคาถาแรกว่า

ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

และการบูชาอย่างนี้ ย่อมมีความหมายอย่างน้อย ๒ ประการด้วยกัน

ประการที่ ๑ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที โดยรำลึกถึงพระคุณของท่านผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้ให้แก่พระศาสนา และสังคมไทย

อีกประการหนึ่ง ก็เป็นการยกย่องบุคคลที่ควรยกย่องให้เป็นทิฏฐานุคติ สำหรับคนรุ่นหลังหรืออนุชนจะได้มีแบบอย่างที่ดีงามสืบต่อไป อันจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

สำหรับการมาพูดในโอกาสนี้ ถ้าจะพูดในเรื่องพระประวัติก็ตาม หรือผลงานของพระองค์ก็ตาม ในที่ประชุมนี้ ก็มีมากมายหลายท่าน ที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี ซึ่งถือได้ว่ารู้ดีกว่าตัวอาตมภาพผู้พูดนี้ และเราก็สามารถหาเอกสารอ่านได้มากมาย เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาพูดในเรื่องพระประวัติและผลงานของพระองค์ นอกจากจะพูดถึงแง่คิดบางอย่างบางประการ

โดยเฉพาะในเวลาอันสั้นนี้ก็คงพูดได้ในแง่ของข้อสังเกตต่างๆ โดยยึดเอาองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นหลัก แล้วเชื่อมโยงเข้ากับสภาพสังคมไทย ตลอดจนปัญหาการพัฒนาสังคมไทย ที่เป็นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลในสังคมไทยสมัยเก่า เป็นบุคคลในสมัยอยุธยา ต่างจากพวกเราปัจจุบันที่เป็นคนในยุครัตนโกสินทร์

จริงอยู่ ตามพระประวัตินั้น พระองค์ได้ประสูติในสมัยกรุงเทพฯ นี้ แต่กรุงเทพฯ นี้ตั้งชื่อเลียนแบบอยุธยา สมัยแรกก็เรียกกันว่าอยุธยา สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ทรงเรียกสมเด็จพระมหาสมณเจ้าว่าเป็นพระกรุงศรีอยุธยา ทีนี้เราเป็นคนสมัยนี้ เป็นคนรัตนโกสินทร์ ก็เท่ากับว่าเป็นคนคนละยุคสมัย ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือว่า พระองค์เป็นบุคคลหรือเป็นพระในสังคมไทยสมัยเก่า

ทีนี้ สภาพสังคมสมัยเก่าว่าโดยสัมพันธ์กับพระศาสนาก็คือ เรื่องวัด เรื่องพระ เรื่องการพระศาสนา และวัฒนธรรมไทยโดยทั่วไป ซึ่งต่างจากสภาพที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบันมาก ถ้าเราวางใจไม่ถูก จะเห็นเป็นเหมือนกับว่า ท่านเป็นคนละพวกกับเราทีเดียว เพราะว่าบรรยากาศ สภาพแวดล้อมทางสังคม และสถาบันคณะสงฆ์ในสมัยนั้นต่างกันเป็นคนละแบบกับที่เป็นอยู่ในสมัยนี้

พูดสั้นๆ ว่าพระองค์อยู่ในยุคที่พระพุทธศาสนากับสังคมไทย หรือพระพุทธศาสนากับชีวิตของประชาชนหรือวิถีชีวิตของสังคมนี้ กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างกับสมัยนี้ที่เรารู้สึกมีความแบ่งแยก คล้ายๆ ว่าพระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องหนึ่ง สังคมไทยทั่วไปของชาวบ้านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จนกระทั่งว่า เรื่องของชาวบ้านก็อย่างหนึ่ง เรื่องทางธรรมก็อย่างหนึ่ง หรือการดำเนินชีวิตของชาวบ้านก็เรื่องหนึ่ง จริยธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนละเรื่อง คนละพวก หรือคนละประเภทกัน

พวกเราในปัจจุบันมีความรู้สึกแยกต่างหากกันอย่างนี้ ซึ่งในสมัยโน้นไม่เป็นอย่างนี้ ในสมัยก่อนนั้นมีความกลมกลืนกันเป็นอย่างมาก โดยที่ว่าในทางรูปธรรมนั้นจะเห็นว่า วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เป็นศูนย์กลางของชีวิตทางสังคม เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม

ปัจจุบันนี้ถ้าเราจะพูดว่าวัดเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทย และสังคมไทย เราก็คงจะพูดไม่สะดวกปาก คือ จะต้องแบ่งใจ โดยอาจจะพูดถึงวัฒนธรรมไทย ในความหมายว่าเป็นวัฒนธรรมไทยเก่าๆ เพราะวัฒนธรรมไทยที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้เป็นวัฒนธรรมอย่างอื่นไปแล้ว มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ เป็นวัฒนธรรมบริโภค เป็นวัฒนธรรมอะไรก็ตามซึ่งที่เป็นอยู่จริงนี้ มันเป็นของที่รู้สึกกันว่ามาจากภายนอก เหมือนกับว่าสังคมไทยขณะนี้ไม่ใช่มีวัฒนธรรมไทย ดังที่เรามักจะพยายามพูดถึงวัฒนธรรมไทย ในความหมายว่าเป็นวัฒนธรรมเก่า ซึ่งอาจจะไม่มีชีวิตชีวาอยู่จริงในสังคมไทยขณะนี้

ฉะนั้น เราจะต้องแยกว่าวัฒนธรรมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคืออะไร ในที่นี้ถ้าหมายถึงวัฒนธรรมที่เป็นอยู่จริงในชีวิตของสังคมไทยส่วนใหญ่ เราไม่อาจจะพูดได้เต็มปากว่า ปัจจุบันนี้วัดเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทย เราพูดได้แต่เพียงว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมเก่าที่อาจจะผ่านพ้นยุคสมัยไปแล้ว

ยิ่งถ้าพูดถึงการศึกษาโดยเฉพาะก็ยิ่งชัดเจน ในด้านการศึกษาที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมนั้น วัดปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการศึกษาของมวลชน หรือของทวยราษฎร์อย่างสมัยก่อนแล้ว

หันไปมองดูบุคคลที่อยู่ในวัดคือ พระสงฆ์ สมัยก่อนนั้น พระมีบทบาทเป็นผู้นำในทางจิตใจ และทางสติปัญญา มีความรู้เหนือกว่าประชาชน สามารถแนะนำประชาชนได้ แต่ปัจจุบันนี้เราไม่แน่ใจที่จะยอมรับบทบาทและฐานะอันนี้

ในสมัยก่อน พระเป็นอยู่โดยมีชีวิตกลมกลืนกับสังคม อยู่กับชาวบ้านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างบริบูรณ์ทีเดียว โดยที่ว่าแม้แต่ผู้ที่เข้ามาบวชคือตัวพระเอง ก็มาจากบุคคลทุกระดับชั้นในสังคม เช่นอย่างองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าเองก็ทรงเป็นเจ้าเป็นนายเป็นพระราชโอรสมาผนวช ในสมัยนั้นเราจึงพบว่า พระที่มาจากทุกระดับชั้นของสังคมนั้น มีตั้งแต่เจ้าไปจนถึงชาวนา แต่ในปัจจุบันนี้ พระส่วนใหญ่ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว พระส่วนใหญ่สมัยนี้มาจากชาวชนบท เป็นลูกชาวไร่ชาวนา นี่เป็นสภาพต่างๆ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

แม้แต่วิธีการศึกษาในชีวิตแบบไทยสมัยโบราณก็ต่างจากสมัยนี้ คือในการเรียน การศึกษา ลูกศิษย์มาเรียนกับครูอาจารย์เป็นการส่วนตัว เหมือนอย่างที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าเองก็ทรงเรียนวิชากับสมเด็จพระวันรัตนที่เป็นพระอาจารย์เป็นส่วนพระองค์ และลูกศิษย์ของพระองค์เองก็มาเรียนกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า อย่างเป็นการส่วนตัวเหมือนกัน ต่างจากสมัยนี้ที่เราจัดเป็นสถาบัน เป็นชั้นเรียนอะไรต่างๆ ขึ้นมา วิถีชีวิตมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ฉะนั้นปัจจุบันนี้ เราจึงอยู่ในบรรยากาศของวัฒนธรรมหรือสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ต่างออกไป

เมื่อคนไทยแปลกแยกกับสังคมไทย

บัดนี้ ยูเนสโกมายกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม อันนี้ก็เป็นข้อดี เพราะทำให้คนมีความสนใจขึ้นมา โดยหันมาให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมไทยที่เรามองเป็นเรื่องเก่าๆ นี้ แต่เพราะสภาพแวดล้อมของสังคมมันเปลี่ยนไปอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติหรือตามสภาพของความเป็นจริง เราจึงเห็นว่า คนที่จะสนใจในเรื่องนี้มีไม่เท่าไร เพราะคนทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังข่าวนี้แล้วมีความรู้สึกว่า บุคคลที่ได้รับยกย่องในกรณีนี้ คือองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้านั้น เหมือนกับเป็นบุคคลในสังคมอื่นที่ไม่ใช่สังคมของเขา นี่คล้ายๆ อย่างนี้ นี้เป็นข้อที่จะต้องตระหนักไว้อย่างหนึ่ง

การจัดงานนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อให้คนไทยเราทั่วไปเห็นคุณค่าแห่งงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น แต่ความมุ่งหมายของเราจะสำเร็จอย่างนั้นได้ มีเงื่อนไขสำคัญว่าเราจะต้องแก้ปัญหานี้ได้ด้วย คือความเหินห่างแปลกแยกทางวัฒนธรรม ที่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ได้เหินห่างแปลกแยกจากวัฒนธรรมที่เป็นมาแต่เดิมแล้ว บรรยากาศทางวัฒนธรรมได้เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งเราพูดกันว่าคนไทยทั่วไปไม่มีความภูมิใจในวัฒนธรรมไทย

ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่สำเร็จ การกระทำของยูเนสโกจะช่วยได้เพียงในระดับหนึ่ง แต่จะแก้ปัญหาสำคัญที่เป็นจุดมุ่งหมายไม่สำเร็จ คือ เราจะไม่สามารถทำให้คนทั่วไปเห็นคุณค่างานของพระองค์อย่างแท้จริง อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตประการหนึ่ง

ต่อไปประการที่สอง ก็เป็นเรื่องเดียวกัน แต่มองแคบ หรือกระชับกระชั้นเข้ามาอีก คือที่บอกว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นบุคคลในยุคเก่านั้นน่ะ ยุคเก่าของพระองค์สมัยนั้นเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อด้วย หมายความว่า เป็นช่วงต่อของการมีความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย เป็นช่วงต่อที่ไทยเราจะก้าวมาสู่ยุคใหม่ ออกมาจากวัฒนธรรมแบบไทยเดิมที่พูดถึงเมื่อกี้

ในช่วงสมัยนั้น ไทยเรากำลังต้อนรับวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามา และก็ได้มีการปะทะกันทางวัฒนธรรม ซึ่งได้ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาในสังคมไทยอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสืบมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ คือ ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมไทยเดิมกับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ไม่ประสานสอดคล้อง ไม่สามารถจะกลมกลืนกันได้ และการที่คนไทยเราจำนวนมากละทิ้งวัฒนธรรมไทย หันไปรับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเป็นอย่างมาก

ทีนี้ ต่อจากยุคของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส แล้วก็ปรากฏว่า สังคมไทยได้หันเบนออกไป หรือตีจาก จากวัฒนธรรมไทย คนไทยหันไปนิยมวัฒนธรรมวัตถุของตะวันตก นิยมวิชาการตะวันตก ศึกษาวิชาการตะวันตก ชื่นชมแนวความคิดเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์

การนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ยุคใหม่

ในช่วงนั้นปรากฏว่า ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่ามาจากตะวันตกได้เฟื่องฟูขึ้นมามาก พร้อมกันนั้น ความเชื่อถือในวัฒนธรรมเก่าๆ ก็ถูกผนวกเข้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความงมงาย ความคร่ำครึเหลวไหล อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพที่เกิดขึ้นในสายตาของคนในยุคสมัยใหม่

พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ก็เป็นเรื่องที่พ่วงมากับวัฒนธรรมไทยด้วย จึงถูกคนไทยในยุคที่เปลี่ยนแปลงนั้น มองเป็นเรื่องเก่าที่คร่ำครึล้าสมัยด้วย และบางทีก็จัดเอาเป็นเรื่องจำพวกงมงายไปเลย

แต่ในเวลาเดียวกันก็ปรากฏว่า บุคคลที่เป็นผู้นำทางพุทธศาสนาในยุคนั้น ซึ่งมีความรักในพระพุทธศาสนา ก็ได้พยายามที่จะปรับตัวเข้ากับยุคสมัย โดยการพยายามอธิบายพระพุทธศาสนาให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาที่แท้นั้นเป็นวิทยาศาสตร์ หรือสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์

ถ้าเราหันกลับไปดูวรรณกรรมในยุคนั้น คือในยุคช่วงต่อนี่เราจะเห็นว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือการที่ว่าผู้นำของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาได้พยายามพูดให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร

ในหลวงรัชกาลที่ ๔ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นพระองค์หนึ่งที่ได้ทรงนำในเรื่องนี้ พระองค์ได้พยายามที่จะขจัดสิ่งที่ถือว่าเป็นความงมงายออกไป จากความเชื่อถือและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา และได้ทรงพยายามที่จะฟื้นฟูนำพุทธศาสนากลับไปสู่ยุคพระไตรปิฎก โดยแยกเอาเรื่องของความเชื่อถือที่มาในยุคหลัง เช่นอรรถกถาที่มีสิ่งเหลวไหลปนเข้ามามากออกไป โดยถือว่า อันนี้เป็นเรื่องของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และพร้อมกันนั้นก็ทรงพยายามอธิบายพระพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล

ถ้าเราดูการอธิบายพระพุทธศาสนาของวรรณกรรม หรือวรรณคดีในยุคก่อนนั้น คือ ถือเอาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นหลัก แล้วหวนย้อนถอยหลังไป เราจะเห็นว่า การอธิบายพระพุทธศาสนาในยุคก่อนนั้น จะเป็นเรื่องของการที่พูดไปตามความเชื่อถือ หรือศรัทธาที่สืบๆ กันมา แล้วก็อธิบายเพื่อส่งเสริมศรัทธาให้มากขึ้น โดยมุ่งที่ความไพเราะ แล้วก็ให้เห็นสิ่งอัศจรรย์ต่างๆ เช่น อธิบายพุทธประวัติก็เต็มไปด้วยฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์

แต่ถ้าดูในยุคต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นแล้ว จะเห็นว่าการอธิบายเริ่มเปลี่ยนไป ท่านจะอธิบายพุทธประวัติในแบบที่พยายามพูดให้เห็นเป็นเรื่องของความจริง และเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล

ถ้าเรามองอย่างนี้ ก็จะเห็นภาพอย่างที่บอกเมื่อกี้ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นหลักหรือเป็นองค์แทนแห่งยุคสมัยเก่าของวัฒนธรรมไทยเดิม แล้วก็มองสมเด็จพระมหาสมณเจ้าองค์ต่อมา ซึ่งเป็นผู้นำในยุคหลังจากนั้น คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่าเป็นองค์แทนของยุคสมัยใหม่ หรือพระพุทธศาสนาในยุคใหม่

ขอให้ดูหนังสือที่สองพระองค์ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับพระประวัติของพระพุทธเจ้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้นทรงพระนิพนธ์เรื่องที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ปฐมสมโพธิ คือ ปฐมสมโพธิกถา แล้วเรามาดูหนังสือประวัติพระพุทธเจ้า ที่นิพนธ์โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์หลัง กรมพระยาวชิรญาณวโรรส คือ หนังสือพุทธประวัติ ๒ เล่มแรกในชุดที่มี ๓ เล่ม จะเห็นชัดเจนว่าการอธิบายเรื่องราวทั้งหลายนั้นแตกต่างกันไปคนละแบบ อย่างที่กล่าวเมื่อกี้แล้ว

ปฐมสมโพธิกถา นั้น เล่าสิ่งที่เชื่อถือสืบต่อกันมา โดยมุ่งหวังที่จะเจริญศรัทธาของสาธุชน โดยใช้ถ้อยคำ ท่วงทำนอง และวิธีอธิบายอันไพเราะ แล้วก็ให้เห็นถึงความเป็นอัศจรรย์ต่างๆ มีฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์มากมาย

แต่พอมาดูหนังสือพุทธประวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แนวการบรรยายและอธิบายก็เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นว่า จะเอาแต่ข้อมูลความจริง และพยายามพูดให้เห็นเป็นเหตุเป็นผล แม้แต่สิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์ก็พยายามตีความให้เห็นว่า เป็นเรื่องเป็นเหตุเป็นผลเป็นไปได้อย่างไร

แนวการอธิบายสองแบบของสองพระองค์นี้ ในแง่ของยุคสมัย ก็จัดได้ว่าไม่ห่างกันมากนัก เราคงต้องถือว่า องค์หนึ่งเป็นผู้ทรงอยู่ที่ปลายยุคเก่า อีกองค์หนึ่งเป็นต้นยุคใหม่ นี่คือความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งในทางวัฒนธรรมไทยและในทางกระแสความคิด

ถ้าเรามองสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นองค์ปลายสุดของยุควัฒนธรรมไทยเดิม สมมติว่าเราตัดแยกอย่างนี้ พระองค์ก็เด่นขึ้นมาในวัฒนธรรมอันนั้น เราสามารถพูดได้ว่า พระองค์เป็นผู้ที่สามารถรักษาเกียรติภูมิหรือเป็นศักดิ์เป็นศรีของวัฒนธรรมไทยแห่งยุคสมัยเก่าได้ พระองค์อยู่ปลายสมัย แต่ก็ทรงรักษาเกียรติภูมิไว้ได้ ทำพระองค์ให้เด่นขึ้นมาโดยทำให้คนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทยเดิม

ในเวลาเดียวกันเราก็เริ่มยุคใหม่ โดยมีบุคคลสำคัญอย่างในหลวง รัชกาลที่ ๔ แล้วก็สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสที่พยายามนำพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยเข้าสู่ยุคใหม่ ให้สอดคล้องกลมกลืนกับความเชื่อถือและกระแสความคิดแบบใหม่ โดยที่พระองค์ก็เป็นผู้ที่มีพระปรีชาสามารถ เราจึงมีบุคคลผู้เริ่มต้นยุคใหม่ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกัน เมื่อมองในแง่นี้ก็ถือได้ว่า บุคคลผู้นำในยุคทั้งสองนั้น ทั้งท่านผู้ที่เป็นปลายสุดของยุคเก่า และท่านผู้เริ่มต้นยุคใหม่ ต่างก็ได้ทำหน้าที่ของท่านเป็นอย่างดีแล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าคนในยุคต่อมาจะทำหน้าที่ของตนเองอย่างไร

คนไทยรับความเจริญใหม่
แบบนักสืบเหตุหรือนักเสพผล

พวกเราในยุคใหม่นี้มีหน้าที่อย่างไร ปัญหาสำคัญที่เป็นมาก็คือ เราจะเห็นว่าคนไทยในยุคต่อมาไม่ได้มีความคิดที่จะพยายามนำเอาวัฒนธรรมไทยเดิมเข้าประสานกับวัฒนธรรมตะวันตก หรือย่อยของเก่ากับของที่เข้ามาใหม่ให้กลมกลืนกัน นอกจากจะละเลยไม่รักษาสิ่งที่ดีในวัฒนธรรมไทยของตนไว้แล้ว ก็ไม่ได้พยายามในการที่จะรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างพินิจพิจารณาเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้ไหวทันที่จะศึกษาตรวจสอบวัฒนธรรมที่ตนจะรับเข้ามาให้เข้าถึงแก่นถึงราก แล้วกลั่นกรองเลือกรับเอาส่วนที่ดีที่เป็นสาระเข้ามา พร้อมทั้งรับเข้ามาในลักษณะที่จะย่อยให้เข้าเป็นเนื้อเป็นตัวของตน

ผลสืบเนื่องจากความผิดพลาดนี้ก็คือ ต่อมาเราได้มีภาพที่แสดงว่า คนไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตกแบบหยิบเอามาทั้งดุ้น แล้วยิ่งกว่านั้น ยังมีคำที่กล่าวหากันอยู่ซึ่งน่าจะเป็นความจริงว่า เราไม่สามารถรับเอาเนื้อหาสาระที่แท้ของวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาด้วย แม้แต่วิทยาการของตะวันตก เราก็รับเอามาโดยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ก็จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง คือเป็นปัญหาของการเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ หรือวัฒนธรรมภายในกับวัฒนธรรมภายนอก

ที่พูดมานี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นี้ด้วย เพราะพระองค์ทรงมีบทบาทอยู่ในช่วงที่เราเริ่มต้นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนยุคสมัย โดยมีการเผชิญกับวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยนั้น ซึ่งคนไทยเราจะต้องพิจารณา ทบทวน ตรวจสอบตนเองในเรื่องนี้ คือการที่ว่าทำอย่างไรเราจะประสานวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมภายนอกให้กลมกลืนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้สอดคล้องเป็นประโยชน์แก่กันได้

ปัญหานี้ก็ยังคงเป็นปัญหาเด่นของสังคมไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน คือการที่เราไม่ได้ใช้วิจารณญาณ เรารับวัฒนธรรมตะวันตกในสภาพที่เป็นผลผลิตสำเร็จรูป เพื่อเอามาบริโภค มากกว่าจะรับเอาในส่วนที่เป็นเหตุปัจจัยเพื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ พูดสั้นๆ ว่า เรามองความเจริญแบบนักเสพผล ไม่มองแบบนักทำหรือนักสร้างเหตุ

ขอย้ำว่าปัญหานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือลักษณะการรับวัฒนธรรมในสมัยหลังนี้ เป็นการรับผลผลิตเอามาง่ายๆ โดยไม่ได้สืบค้นลงไปหาเหตุปัจจัย ถ้าเรารับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างฉลาด เราจะต้องสืบค้นหาเหตุปัจจัยของความเจริญของตะวันตก แล้วก็รับให้ตรงเหตุปัจจัยที่จะเอามาใช้ เพราะฉะนั้นจะถือว่าเป็นความผิดพลาดหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยเราก็ไม่สามารถประสานแล้วก็ย่อยวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้เท่าที่ควร ขอผ่านเรื่องนี้ไป

ไม่แยกเก่าแยกใหม่ จึงจะเป็นไทยอันเดียว

ต่อไปประการที่สาม ก็เรื่องเดียวกันอีกนั่นแหละ แต่เป็นอีกแง่หนึ่ง ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทยปัจจุบันเช่นเดียวกันคือ ปัญหาการแยกระหว่างเก่ากับใหม่ ซึ่งโยงไปหาทัศนคติแบบที่ว่า ถ้าเอาก็ยึดถือและยกเต็มที่ ถ้าไม่เอาก็ตีให้แหลกลาญ

ในสังคมไทยนี้เท่าที่สังเกต จะมีอย่างนี้บ่อย ซึ่งทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่าสืบทอดต่อกันไม่ได้ คือเราไม่สามารถสืบต่องานและไม่สามารถสานต่อความคิด ยกตัวอย่างเช่น คนเก่าทำอะไรไว้ดี พอคนใหม่เข้ามาก็ทิ้งเลยทั้งหมด แล้วก็เริ่มกันใหม่ จะเป็นอย่างนี้อยู่เสมอ แม้ในกิจกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องล้มและก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่อยู่เรื่อยไป เป็นอย่างนี้อยู่เนืองนิตย์

อย่างนี้คือสภาพที่ว่า ถ้าเอาก็ยึดเต็มที่ ถ้าไม่เอาก็ตีแหลกลาญ ท่าทีนี้เมื่อนำมาปฏิบัติในการมองเก่ากับใหม่ มันก็จะกลายเป็นการแบ่งชัดลงไปและไม่ยอมรับกันระหว่างพวกเก่ากับพวกใหม่

พวกเก่ายึดถือเก่า ก็บอกว่า เก่าเท่านั้นดี ใหม่เลวหมด ไม่ดีทั้งนั้น ถ้าพวกไหนชอบใหม่ ก็บอกว่า ใหม่เท่านั้นถูก เก่าโง่ทั้งนั้น จะเป็นอย่างนี้ เลยไม่สามารถมองเห็นคุณค่าของกันและกัน เรียกว่าไม่สามารถมองเห็นสิ่งนั้นตามที่มันมีมันเป็น เมื่อไม่มองเห็นตามที่มันมีมันเป็น ตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงพูดอย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่าเราไม่สามารถพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องระหว่างใหม่กับเก่าได้

ในตอนที่ต่อจากยุคของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็คือเราเข้าสู่ยุคใหม่ เมืองไทยได้เริ่มรับวัฒนธรรม รวมทั้งวิชาการต่างๆ จากตะวันตกอย่างเต็มขนาดและต่อเนื่อง เราเข้าสู่ยุคใหม่นี้เมื่อศตวรรษที่แล้ว เป็นการก้าวจากยุคเก่ามาสู่ยุคใหม่ ครั้งหนึ่งแล้ว

เมื่อเวลาผ่านมาถึงบัดนี้ เรากำลังเกิดความรู้สึกว่า ยุคที่เคยใหม่เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้วนั้น ในบัดนี้มันกำลังกลายเป็นเก่า แล้วเราก็กำลังจะแบ่งแยกกันอีก เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่าทรงเป็นหัวต้นกระแสใหม่ คือเราถือว่าพระองค์เป็นองค์แทนของกระแสความคิดสายใหม่นี้ อย่างน้อยในวงการพระศาสนาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และพระองค์ก็ได้ทำสิ่งที่เป็นการริเริ่มใหม่ๆ ขึ้นไว้เป็นอย่างมาก

ครั้นต่อมาถึงบัดนี้ก็ปรากฏว่า เรากำลังมีการแบ่งแยกและยึดอย่างที่ว่ามาอีกคือ ยุคสมัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นกลายเป็นเก่า และยุคสมัยของเราเป็นใหม่ พร้อมกันนั้นสิ่งใดที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทำไว้ พวกที่ยึดก็ต้องถือว่าพระองค์ทำไว้อย่างไรต้องอย่างนั้น เลอเลิศที่สุดแล้ว จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีการยึดถึงขนาดที่ว่า ถ้าใครไปเปลี่ยนแปลงถือว่าอกตัญญู อันนี้ก็เป็นความยึดถือของฝ่ายหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นพวกเก่า

ทีนี้ในเวลาเดียวกันนั้น ก็จะมีพวกใหม่เกิดขึ้น พวกที่ใหม่นี้ก็จะเป็นแบบที่ว่า ถ้าไม่เอาก็ตีแหลกเช่นเดียวกัน พวกนี้ก็บอกว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้านี้ไม่ได้ความทั้งนั้น อะไรๆ ของพระองค์ไม่ดีทั้งหมด ต้องเลิก

เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า มีการแบ่งแยกชัดระหว่างเก่ากับใหม่ ข้อพิจารณามีว่า การคิดและทำอย่างนี้ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ การปฏิบัติที่ถูกต้องพอดี สอดคล้องกับความเป็นจริง ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนา คืออย่างไร

การที่ท่านเหล่านั้นจะดีทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ท่านก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าเรายกพระพุทธเจ้าเป็นอุดมคติของความสมบูรณ์ ท่านเหล่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ แต่ที่ว่าท่านจะแย่ไม่ดีไปทั้งหมดนั้นก็เป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะท่านเป็นนักปราชญ์ด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่เวลานักเรียนสอบ ตอบข้อสอบ นักเรียนที่หัวทึบที่สุด เราอ่านใบตอบของเขาแล้ว เราก็ต้องว่าไม่ได้ความ แต่กระนั้นคำตอบ ความคิดของเขาก็ยังมีประโยชน์มีคุณค่าอะไรบางอย่าง ซึ่งทำให้เห็นว่า แม้แต่คนที่ตอบไม่ได้เรื่อง สิ่งที่เขาตอบมาก็อาจจะมีอะไรแฝงที่เราได้ประโยชน์บ้าง อย่างน้อยแม้จะไม่มีประโยชน์อะไรโดยตรง มันก็กระตุ้นความคิดของเราให้เราได้ประโยชน์เอง ดังนั้นคนขนาดเป็นนักปราชญ์อย่างนี้ ต้องมีดีอะไรมากทีเดียว ที่จะไม่ดีเลยนั้นเป็นไปไม่ได้

ทีนี้ การที่เรามาแบ่งกันชัดเจนเป็นเก่ากับใหม่ อย่างที่ว่าถ้าเอาก็ยึดยกเต็มที่อย่างเดียว ถ้าไม่เอาก็ตีให้แหลกลาญนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วมันก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาเป็นปฏิปักษ์ต่อกันรุนแรง

ในด้านหนึ่ง พวกที่ไม่เอาก็จะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่จริง และไม่สามารถเอาสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์ได้

ส่วนการที่อีกพวกหนึ่งไปยึดเอาท่านที่บัดนี้กลายเป็นเก่าไปแล้ว ว่าถูกต้องจะต้องเอาไว้อย่างเดียว ก็น่าพิจารณาว่า การทำอย่างนั้นที่จริงแล้วเป็นการกตัญญูที่แท้หรือไม่ มันจะกลายเป็นว่า เราไปจับเอาตัวท่านมาขึ้นขวางกระแสไว้ มากั้นคนที่เขากำลังจะเดินไปข้างหน้า ทำให้ท่านกลายเป็นเป้าที่ถูกเขาฟาดฟันกระหน่ำตี เท่ากับว่าเรานี่เองไปทำร้ายท่าน จับท่านเป็นเป้าให้คนอื่นเขาตี แล้วท่านก็จะบาดเจ็บ

ในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าเรารู้เข้าใจหลักของความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงย่อมต้องเกิดขึ้น มันจะต้องมีต้องเป็นไปตามความเป็นจริง แต่เราจะรู้จักผ่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เสียหลัก แล้วสิ่งที่ท่านทำก็จะปรากฏคุณค่าชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม้ว่ากิจการพระศาสนาจะเปลี่ยนรูปแบบไป แต่ท่านก็จะปรากฏเกียรติคุณขึ้นมาว่า พระองค์ทรงเป็นต้นกระแสของความเปลี่ยนแปลง ทรงเป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดริเริ่ม เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น พระคุณในส่วนนี้จะปรากฏชัดขึ้นมา

คนจะเห็นตระหนักว่า กระแสความเปลี่ยนแปลงที่ได้ดำเนินสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันและจะดำเนินต่อไปนั้น ก็เพราะว่าพระองค์เป็นผู้ริเริ่มไว้ คุณความดีของพระองค์ก็จะปรากฏ แต่การที่ไปยึดถือไว้นั้นแหละไม่ใช่เป็นความกตัญญูหรอก ตรงข้ามกลับเป็นการทำร้ายท่าน การปฏิบัติให้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยจับสาระไว้ได้จึงจะเป็นการกตัญญู

เฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องเข้าใจซึ้งเจาะให้ถึงเจตนารมณ์ของท่าน แล้วนำมาใคร่ครวญพิจารณา เมื่อเห็นว่าเป็นทางนำประโยชน์ที่แท้และความสุขความเจริญมาให้ ก็ตั้งใจสืบทอดเจตนารมณ์นั้น ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็เสี่ยงจะเป็นการปฏิบัติที่ผิด เพราะถ้าไม่จับเอาเจตนารมณ์ที่เป็นสาระนี้ให้ได้ แม้แต่ผู้ที่ถือมั่นตามท่านและคิดว่าตนกตัญญู แต่แท้จริงอาจกลายเป็นผู้ทำลายเจตนารมณ์ของท่าน หรือถึงกับทำลายพระองค์ท่านเองไปเสีย

ที่ว่ามานี้ก็เพราะว่า ความกตัญญู คือ การรู้ถึงคุณความดีที่ท่านผู้นั้นได้ทำไว้ คือรู้ในสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ รู้ว่าท่านทำอะไรไว้เป็นประโยชน์ แล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นเราก็เห็นคุณค่า เมื่อเราเลือกเอามา จับเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ในท่ามกลางสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีการสืบต่อระหว่างเก่ากับใหม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้ว ถ้ามันสืบต่อกันอย่างแท้จริง มันก็ไม่มีเก่าไม่มีใหม่ เพราะมันเป็นเพียงกระแสธารที่ไหลต่อเนื่องกัน

เมื่อเป็นกระแสธารที่ต่อเนื่องกันอย่างแท้จริงแล้ว เราแยกไม่ออกระหว่างเก่ากับใหม่ และในกระแสธารที่ต่อเนื่องนั้น คุณค่าของเก่าก็จะสืบต่อมาถึงใหม่ แล้วเราก็มีสิ่งใหม่ที่เป็นคุณประโยชน์เสริมเข้าไปอีก แล้วมันก็ต่อทอดกันไปเรื่อยๆ แยกไม่ออกว่าอันไหนเก่าอันไหนใหม่อย่างแท้จริง คือไม่สามารถตัดตอนได้ เพราะฉะนั้นในทางที่เป็นจริง ที่ถูกที่ควร มันควรจะเป็นกระแสธารของความเจริญรุ่งเรืองที่สะสมสืบทอดกันต่อเรื่อยไป

 

สรุป

นี่เป็นคติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฉลอง ๒๐๐ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า การฉลองนั้นว่าโดยศัพท์ในทางพระพุทธศาสนา ก็เป็นการบูชาอย่างหนึ่ง การบูชาก็คือการยกย่องเพื่อทำให้เป็นแบบอย่างที่ดี จะได้เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป หมายความว่า การที่ยกย่องนั้นไม่ใช่มายกย่องเพียงเพื่อประโยชน์ต่อพระองค์ท่าน เพราะท่านก็สิ้นไปแล้ว

เรายกย่องบูชาท่านก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ท่านโดยตรง ท่านมารับประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่การยกย่องบูชานี้เพื่อประโยชน์แก่สังคม ประโยชน์แก่สังคมจะเกิดขึ้นได้ด้วยอะไร ด้วยการที่มีความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง

ในที่นี้เป็นการฉลอง หรือการบูชาที่เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม เพราะว่ายูเนสโก ยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญ มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ในแง่วัฒนธรรมนี้ เรามีภารกิจที่ต้องทำอย่างน้อย ๓ ประการดังที่กล่าวมานั้น ซึ่งขอทบทวนว่า

ประการที่หนึ่ง เรายังมีภารกิจมากที่จะทำให้คนไทยภูมิใจในวัฒนธรรมไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่เดิม

ประการที่สอง ซึ่งสืบเนื่องต่อจากประการที่หนึ่งนั้น คือการเชื่อมประสานระหว่างวัฒนธรรมไทยที่มีมาข้างใน กับวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาจากภายนอก โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก ว่าเราจะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมทั้งสองสายนั้นประสานสอดคล้อง โดยเฉพาะจะนำเก่ามาใช้ประโยชน์อย่างไร โดยมิใช่เป็นเพียงการยึดแบบแข็งทื่อ แล้วก็จับสาระของของใหม่ได้ ไม่ใช่เป็นการรับเอามาทั้งดุ้น โดยไม่ได้ย่อยเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งสองฝ่าย ทำอย่างไรจะให้ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้ ให้มันกลายเป็นความเจริญงอกงามของสังคมอย่างแท้จริง

ประการสุดท้ายคือ การที่จะสืบต่อเก่ากับใหม่ ทำให้เก่ากับใหม่มาสืบทอดต่อกันจนเป็นกระแสธารอันเดียวกัน

ในสังคมไทยเราคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไขกันอีกมากมาย แม้แต่ในวงการของพระสงฆ์เอง ดังเช่นในเรื่องเก่ากับใหม่นี่ พระสงฆ์โดยทั่วไป ก็เหมือนอย่างที่อาตมภาพบอกเมื่อกี้ว่า อาตมภาพได้รับนิมนต์มาพูดในวันนี้ เป็นการมาพูดในเรื่องที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เพราะว่า พระสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบันนี้ มีการศึกษาชนิดที่เรียนพระพุทธศาสนาย้อนไปแค่ไม่เกิน ๑๐๐ ปี หรือประมาณ ๑๐๐ ปี ก่อนนั้นเราไม่รู้เรื่อง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ท่านไม่ได้อยู่ในหลักสูตรของคณะสงฆ์ไทยด้วย แม้จะมีหนังสือ ปฐมสมโพธิกถา อยู่ในรายการเล่าเรียนสำหรับนักธรรมเอก แต่ก็เป็นเพียงสักแต่ว่ารายชื่อ มันไม่มีในทางปฏิบัติ ท่านไม่ได้นำมาออกข้อสอบ แล้วก็ไม่ได้นำมาเรียนด้วย ดังนั้นเราก็ไม่รู้จัก

พระสงฆ์ไทยก่อนหน้านี้ และพระพุทธศาสนาครั้งโบราณเป็นอย่างไร จะสืบต่อกันมาอย่างไร พระไทยไม่รู้ ในทำนองเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ภายนอกก็ไม่ค่อยมีการรับรู้วัฒนธรรมไทย แต่ไปรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา โดยไม่รู้พื้นฐานเดิมที่จะเอามาสานมาเชื่อมโยงกันได้อย่างไร แล้วมันก็เป็นปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อเราจัดงานฉลองขึ้นมา เราก็ควรฉลองให้เกิดคุณค่า คือฉลองด้วยปฏิบัติบูชา พระพุทธศาสนาสรรเสริญปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติที่จะทำให้เกิดเป็นผลขึ้นมา

ในเรื่องวัฒนธรรมก็มีภาระให้เราต้องมาทำกันที่จะเป็นการบูชาอย่างน้อย ๓ ประการดังกล่าวมาแล้ว คือ

๑. ทำอย่างไรจะให้คนไทยภูมิใจในวัฒนธรรมไทย มองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย

๒. ทำอย่างไรจะให้คนไทยสามารถรักษาสืบทอดคุณค่าของวัฒนธรรมไทย พร้อมกับสามารถรับส่วนดีของวัฒนธรรมตะวันตกหรือวัฒนธรรมจากภายนอก เข้ามาย่อยให้เป็นเนื้อตัวของตนเองได้

๓. ทำอย่างไรจะสืบต่อเก่ากับใหม่ให้ต่อเนื่องกลมกลืนเป็นกระแสธารเดียวกัน เพื่อความเจริญงอกงามของสังคมไทยสืบต่อไป

ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่สำคัญ คือ การพัฒนาสติปัญญา ให้มีความรู้เท่าทันและเข้าใจชัดเจนถ่องแท้ เข้าถึงแก่นสารและรากเหง้าของเก่าและใหม่ และ ของในและนอก จึงจะมีความภูมิใจอย่างถูกต้องต่อวัฒนธรรมไทย และสามารถสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญอย่างเกื้อกูลต่อประโยชน์สุขของโลกมนุษย์นี้ได้

วันนี้ อาตมภาพก็มีข้อคิดข้อสังเกตมากล่าวกับที่ประชุมนี้เพียงเท่านี้ ขอให้ถือว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ได้ทำหน้าที่ของพระองค์แล้ว พระองค์เป็นองค์แทนของวัฒนธรรมไทยเดิมได้อย่างดี เป็นผู้สามารถรักษาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของยุคเก่าไว้ได้ แม้จะอยู่ในปลายยุคเก่า พระองค์ก็โดดเด่นขึ้นมา ทำให้วัฒนธรรมไทยปรากฏคุณค่าเป็นที่รับรอง ดังที่ยูเนสโกได้ยกย่องพระองค์ขึ้นแล้ว

บัดนี้ เราทั้งหลายมีภาระหน้าที่ที่จะต้องมาช่วยกันทำให้วัฒนธรรมไทยสืบต่อเดินหน้าต่อไป แล้วก็ไม่ใช่สืบต่อเฉยๆ แต่จะต้องให้เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมไทยด้วย

ขอให้การฉลอง โดยความริเริ่มของคนไทยครั้งนี้ โดยเฉพาะในกรณีนี้คือ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จงได้สัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมา เพื่อความสุขความเจริญของสังคมไทยสืบต่อไป และขอทุกท่านในที่ประชุมจงประสบความสุข โดยทั่วกันทุกท่าน ขอเจริญพร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พระพุทธศาสนากับสังคมไทยหลักประสาน ๔ ประการ เพื่อถางทางสู่อนาคตที่พึงปรารถนา >>

เชิงอรรถ

  1. สัมโมทนียกถา ในโอกาสฉลอง ๒๐๐ ปี กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กับ
    สังคมไทย ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๔

No Comments

Comments are closed.