หลักประสาน ๔ ประการ เพื่อถางทางสู่อนาคตที่พึงปรารถนา

4 มีนาคม 2534
เป็นตอนที่ 7 จาก 11 ตอนของ

หลักประสาน ๔ ประการ
เพื่อถางทางสู่อนาคตที่พึงปรารถนา1

ขอเจริญพร ท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้และในนามของราชการ

ขอเจริญพร ท่านประธานกรรมการมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ท่านผู้สืบสายตระกูลวงศ์ของท่านพระยาอนุมานราชธน และท่านพระสารประเสริฐ พร้อมทั้งท่านสาธุชนทุกท่าน

อาตมภาพขออนุโมทนาในการที่ทางคณะกรรมการได้จัดพิธีนี้ขึ้น เป็นการมอบอนุสรณ์สถานที่ได้สร้างขึ้นนี้แก่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งทั้งผู้มอบและผู้รับ มีความสัมพันธ์ที่มองเห็นได้ว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ซึ่งมีชื่อว่าอนุสรณ์สถานพระยาอนุมานราชธน-พระสารประเสริฐ เป็นอนุสรณ์เครื่องรำลึกถึงบุคคลที่มูลนิธิได้ตั้งใจที่จะสืบต่องานการและเจตนารมณ์ของท่าน หมายความว่า ท่านพระยาอนุมานราชธนและพระสารประเสริฐ กับท่านเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ก็คือบุคคลเดียวกันที่เราใช้ในนามคนละอย่าง กล่าวคือพระราชทินนามที่เป็นทางการว่า พระยาอนุมานราชธน ก็คือนามของบุคคลที่เรารู้จักกันในวงการศึกษาโดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรมและวรรณคดีว่าท่านเสฐียรโกเศศ พร้อมกันนั้นพระราชทินนามหรือบรรดาศักดิ์ว่า พระสารประเสริฐ ก็คือบุคคลเดียวกับที่เรารู้จักในวงวิชาการว่าท่านนาคะประทีป

การที่ได้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้น ก็โดยวัตถุประสงค์ที่ว่าต้องการให้เป็นที่ระลึกถึงท่านผู้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของไทยทั้งสองท่านนั้น และในเวลาเดียวกันก็เพื่อให้มีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป การที่เราเรียกชื่ออาคารนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “สัณฐาคาร” ก็เป็นเครื่องแสดงถึงลักษณะของอาคารในแง่ของการใช้ประโยชน์ กล่าวคือ ในแง่ความมุ่งหมายนั้นเป็นอนุสรณ์ คือเป็นเครื่องรำลึกถึงจึงเรียกว่าอนุสรณ์สถาน แต่ในแง่ประโยชน์ตัวอาคารนี้มีลักษณะการใช้งานที่เรียกว่า สัณฐาคาร

สัณฐาคาร สื่อความหมายของวัฒนธรรม
และประโยชน์สุขของมหาชน

คำว่า สัณฐาคาร นี้เป็นศัพท์ที่มีมาแต่เก่าก่อน ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในคัมภีร์หลักที่เรียกว่าพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกนั้นมีข้อความที่กล่าวอ้างถึงสัณฐาคารนี้บ่อยครั้ง แต่ในพระไตรปิฎกบาลี อักษรไทยยังเขียนคำนี้ไม่ลงกันเป็นอันเดียว คือเขียนเป็นสัณฐาคารอย่างนี้บ้าง และอีกอย่างหนึ่งเขียนเป็นสันถาคารบ้าง ตัวที่แตกต่างกันคือ ณ กับ ฐ ฝ่ายหนึ่ง และ น กับ ถ ฝ่ายหนึ่ง มีใช้ทั้งสองอย่างและใช้มากเกือบเท่าๆ กัน อันนี้ก็คงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการตรวจชำระที่ว่าผู้ตรวจชำระพระไตรปิฎกนั้นก็มีหลายท่าน ท่านไหนมีความเห็นว่าควรจะลงตัวในอักขรวิธีแบบไหนก็ใช้แบบนั้น เราจึงได้พบถ้อยคำที่เขียนทั้งสองแบบนี้ แบบที่เขียนเป็นสัณฐาคารนี้เป็นแบบที่เรายอมรับกันในที่นี้ ดังที่ได้เขียนเป็นป้ายชื่ออาคารแล้ว

สัณฐาคารนี้เป็นอาคารชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากในสมัยโบราณ เท่าที่พบส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการประชุมของผู้ปกครองบ้านเมือง แต่เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองในระบบการปกครองแบบที่เรียกว่าสามัคคีธรรม คือไม่ใช่เป็นผู้ปกครองประเทศแบบราชาธิปไตย ดังมีเรื่องราวมาในพระไตรปิฎก ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินไปถึงสาลวโนทยานคือสวนป่าไม้สาละ ซึ่งเป็นอุทยานของกษัตริย์มัลละซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครกุสินารา พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานที่นั่น พระอานนท์ก็เดินทางไปแจ้งข่าวแก่เจ้ามัลละผู้ครองเมืองกุสินารา เวลานั้นเจ้ามัลละทั้งหลายกำลังประชุมกันอยู่ในอาคารที่เรียกว่าสัณฐาคารนี้ ซึ่งเป็นที่ประชุมสำหรับพิจารณากิจการของประเทศ ในระบบที่ใช้การประชุม คือคนหลายคน หรือหมู่คณะมาร่วมพบปะพร้อมกันพิจารณาเรื่องราวกิจการและวินิจฉัย คือมีมติตัดสินสั่งการต่างๆ พระอานนท์ได้นำข่าวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแจ้งแก่เจ้ามัลละในที่ประชุมที่เรียกว่า สัณฐาคาร นี่ก็เป็นตอนเริ่มแรกเกี่ยวกับเรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ต่อจากนั้นก็ยังมีเรื่องสืบเนื่องมาอีกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ก็ไปแจ้งข่าวแก่เจ้ามัลละอีกครั้งหนึ่ง และท่านก็ต้องไปแจ้งที่สัณฐาคารอีก ซึ่งปรากฏว่าเจ้ามัลละทั้งหลายกำลังประชุมกันพิจารณาเรื่องราวเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าว่ากษัตริย์มัลละ ชาวเมืองกุสินารา และชาวแคว้นมัลละจะปฏิบัติอย่างไรต่อเรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เช่น จะจัดการพระพุทธสรีระหรือพระศพของพระพุทธเจ้าอย่างไร เจ้ามัลละกำลังพิจารณาเรื่องนี้กันอยู่ เราจะเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับสัณฐาคารมาในพระไตรปิฎกอย่างนี้อีกหลายแห่ง

อีกแห่งหนึ่งเป็นเรื่องกำเนิดของพระสูตร พระสูตรบางพระสูตรในพระไตรปิฎกเกิดขึ้นที่สัณฐาคาร เช่น เมื่อกษัตริย์มัลละเจ้าผู้ครองนครปาวาได้สร้างสัณฐาคารขึ้นใหม่ ก็ได้ไปอาราธนาพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกให้เสด็จไปใช้อาคารหลังนั้นเป็นสิริมงคลก่อน ก่อนที่บุคคลอื่นใดแม้แต่เจ้าผู้ครองนครทั้งหลายจะมาใช้สถานที่นั้นเป็นที่ประชุม พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปที่นั่น และพระสงฆ์สาวกจำนวนมากก็เดินทางร่วมไปด้วย เป็นที่ประชุมใหญ่พร้อมทั้งทางฝ่ายเจ้าผู้ครองนครทั้งหลาย ในโอกาสนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่เจ้าภาพ เมื่อเจ้าภาพกลับไปก็เป็นเวลาดึก พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าพระสงฆ์ยังมีความกระปรี้กระเปร่าดีอยู่ จึงมีพุทธบัญชารับสั่งกับพระสารีบุตร ขอให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ พระสารีบุตรก็ได้แสดงพระสูตรสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ ชื่อว่า สังคีติสูตร เป็นแบบอย่างของการสังคายนาสืบมา

บางทีจะพูดได้ว่าการฉลองสัณฐาคารแบบนี้เอง อาจจะเป็นต้นกำเนิดของการมีพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือพิธีเกี่ยวกับการทำบุญสถานที่ราชการใหม่ๆ ที่ได้สร้างขึ้น คือให้พระสงฆ์ไปในสถานที่นั้นเหมือนกับว่าได้ไปใช้สถานที่นั้นเป็นประเดิมก่อน อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เป็นมาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสัณฐาคาร

เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า ลักษณะสำคัญของอาคารแบบนี้ก็คือ เป็นที่ประชุมสำหรับพิจารณากิจการของบ้านเมือง หรือกิจการของส่วนรวมทั้งหมด ถ้าเทียบกับระบบการปกครองแบบปัจจุบันที่มีรัฐสภา ก็คล้ายๆ กับรัฐสภานั่นเอง อาคารสัณฐาคารนี้มองในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ รัฐสภา ต่อมาในคัมภีร์รุ่นอรรถกถาก็มีเรื่องราวที่กล่าวถึงการที่ประชาชนไปในสัณฐาคาร มีการไปเล่าเรื่องต่างๆ ที่สืบต่อกันมา เช่น เรื่องรามายณะ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องสันนิษฐานกันต่อไป อาจจะเป็นได้ว่าในยุคต่อมา การปกครองระบบสามัคคีธรรมได้เสื่อมลง เพราะว่าในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีปนั้น หลังจากสมัยพุทธกาลแล้วหรือแม้แต่ในสมัยพุทธกาลนั่นเอง การปกครองระบบสามัคคีธรรมได้เสื่อม และสูญเสียอำนาจลงไปตามลำดับ เนื่องจากการแข่งขันแย่งชิงอำนาจกัน การยกทัพมารุกรานกัน โดยเฉพาะก็เป็นการรุกรานของรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีอำนาจมากขึ้น ซึ่งเป็นรัฐฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งทำให้รัฐที่ปกครองแบบสามัคคีธรรมที่ฝรั่งว่า รีปับลิค (republic) ค่อยๆ หมดไป

อาจจะเป็นได้ว่า เมื่อการปกครองระบบสามัคคีธรรมนี้ค่อยๆ หมดไปแล้ว อาคารที่เคยใช้เป็นหอประชุม สำหรับไว้พิจารณากิจการบ้านเมืองของส่วนรวมนั้น ก็ได้กลายมาเป็นหอประชุม หรือศาลาสำหรับประชาชน ทำนองศาลาประชาคมที่ประชาชนมาพบปะสังสรรกัน หรือมาเล่าเรื่อง มาแสดงความคิดเห็นอะไรต่างๆ เป็นที่ขยายเพิ่มพูนความรู้เรื่องวัฒนธรรม อะไรต่างๆ เรื่องอาจจะเป็นไปในทำนองนั้น

รวมความว่าหอประชุมที่เป็นสัณฐาคารนั้น เป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับกิจการของส่วนรวม เกี่ยวกับผลประโยชน์ของบ้านเมือง และกิจกรรมของประชาชนทั่วๆ ไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของสัณฐาคารที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งปรากฏเรื่องราวในพระไตรปิฎก และมีมาในอรรถกถาด้วย มาบัดนี้เราได้เห็นการฟื้นฟูหรือรื้อฟื้นคำว่าสัณฐาคารขึ้นมาใช้อีก นับว่าเป็นที่น่าอนุโมทนา อย่างน้อยก็เป็นเครื่องกระตุ้นคนให้คิดสนใจว่าสัณฐาคารนี้คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร

อาตมภาพเข้าใจว่า ความมุ่งหมายของอาคารนี้คงจะมีลักษณะที่สอดคล้องกับการใช้งานแบบเก่าในสมัยพุทธกาล อย่างน้อยในบางแง่บางลักษณะ โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นเรื่องของมหาชน เป็นเรื่องของกิจการที่อำนวยประโยชน์แก่ประชาชน เป็นแหล่งเผยแพร่ความคิด ความเห็น ความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ

ในกรณีอย่างนี้ ศัพท์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เราสามารถขยายความหมายได้ โดยที่ต้นแหล่งของมันก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กล่าวคือ ในด้านการใช้งานสำหรับยุคสมัยนี้ก็อาจจะปรับใช้ให้เหมาะสม แต่ให้คงสาระสำคัญที่มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นสัณฐาคารในความหมายที่เป็นหอประชุมสำหรับพิจารณากิจการของบ้านเมืองก็ตาม หรือสัณฐาคารที่ประชาชนมาใช้พบปะแสดงความคิดเห็น เล่าเรื่องราวต่างๆ แก่กันก็ตาม ก็ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั่นเอง ความหมายอย่างนี้คิดว่าคงจะสอดคล้องเข้ากันได้กับการเป็นอาคารที่เราได้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานแก่ท่านพระยาอนุมานราชธน และพระสารประเสริฐ เพราะว่ามีความหมายหลายแง่ที่ไปกันได้

ในแง่หนึ่งก็คือคำว่าสัณฐาคารนี้เป็นถ้อยคำที่ใช้มาในอดีต มีเรื่องราวสืบเนื่องมาในวัฒนธรรมประเพณีไทย สอดคล้องกับการที่ท่านพระยาอนุมานราชธน และพระสารประเสริฐเป็นบุคคลสำคัญอยู่ในวงการของเรื่องไทยๆ หรือเรื่องไทยคดี หรือเรื่องของวัฒนธรรมไทย จนถึงขั้นที่พูดได้ว่าท่านเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย และเป็นเครื่องหมายของความเป็นไทย

แง่ต่อไป สัณฐาคารเป็นที่เผยแพร่ความรู้และเรื่องราวที่เป็นไปในวัฒนธรรม ในกรณีนี้วัฒนธรรมไทยก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมไทยที่ควรจะเผยแพร่กันออกไป เราจึงได้นำคำว่าสัณฐาคารนี้มาใช้เรียกอาคาร ซึ่งเป็นที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับงานทางด้านวัฒนธรรม และเรื่องไทยคดีต่างๆ ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป

ในแง่นี้ นอกจากเป็นที่เผยแพร่วัฒนธรรมแล้ว ก็เป็นที่ดำรงรักษาวัฒนธรรมด้วย คือในฐานะที่ท่านทั้งสองนั้นเป็นเครื่องหมายหรือเป็นตัวแทนเรื่องราวของไทยหรือวัฒนธรรมไทย พูดในแง่หนึ่งก็คือเป็นที่ทรงไว้ซึ่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของไทยซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยมีความสัมพันธ์กับความเป็นไทย

ให้วัฒนธรรมเป็นหลักประสาน
สู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในยุคนี้ เรามีการบ่นหรือร้องทุกข์กันบ่อยๆ ว่าคนไทยเรานี้มักจะมองข้าม หลงลืมวัฒนธรรมของตัวเองและทอดทิ้งภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย จนกระทั่งว่าภูมิปัญญาไทยของท้องถิ่นได้สูญหาย จางลง หรือลบเลือนไป ซึ่งควรแก่การที่จะรื้อฟื้น ควรจะไม่ประมาท เพราะถ้าหลงช้าอยู่ไม่นาน สิ่งเหล่านี้ก็จะตามรื้อฟื้นให้กลับคืนมาไม่ได้ และเราก็เห็นกันว่าในระยะที่คนไทยเราละเลยภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยนั้น ท่านพระยาอนุมานราชธนและท่านพระสารประเสริฐ เป็นผู้ที่ได้ช่วยรักษาสืบต่อสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังเป็นอันมากจากงานที่ท่านทำไว้ ซึ่งปรากฏในรูปของหนังสือและตำรับตำราต่างๆ

ก) ประสานความเป็นไทย กับความเป็นสากล

คุณค่าอย่างหนึ่งของการรักษาสืบต่อวัฒนธรรมไทย ก็คือการประสานความเป็นไทยกับความเป็นสากลและการมีส่วนร่วมเกื้อกูลแก่ความเป็นสากล ในยุคนี้ เราเริ่มกลับมาพยายามนำเอาภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยขึ้นมาฟื้นฟูให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และพอดีว่าในยุคนี้เราก็มีความสัมพันธ์กับประชาคมโลกในวงกว้างออกไป เราจะต้องมีการประสานประโยชน์เพื่อทำให้ภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยนี้ได้เป็นหลักแก่สังคมไทย ในการก้าวไปสู่การสัมพันธ์กับประชาคมโลก ในลักษณะที่นอกจากจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ทำอย่างไรจะให้ความเป็นไทยกับความเป็นสากลนี้เกื้อกูลแก่กันและกันสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอันนี้ก็คงจะเป็นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ พร้อมทั้งกิจการของมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีปด้วย

วัตถุประสงค์นี้อาตมภาพเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ คือการที่เราจะสามารถทำภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยนี้ให้เกื้อกูลแก่สังคมไทยปัจจุบัน ในภาวะที่ก้าวไปสู่ความอยู่ร่วมในสังคมที่เป็นสากล โดยให้ความเป็นไทยและความเป็นสากลนั้นเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งในแง่ที่ภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยเกื้อกูลแก่ความเป็นสากล และในแง่ที่เราสามารถเอาภูมิปัญญาสากลมาทำให้เกื้อกูลแก่สังคมไทยด้วยทั้งสองประการ

ข) ประสานอดีต กับปัจจุบัน และอนาคต

เมื่อพูดถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย ความหมายอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ก็คือเรื่องของอดีต เวลาเราพูดถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย เรามักจะมองย้อนไปยังอดีต อดีตก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นรากฐานที่สืบต่อถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน ท่านพระยาอนุมานราชธนและพระสารประเสริฐนี้ ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองในแง่ที่ท่านได้ขวนขวายในเรื่องราวเกี่ยวกับอดีต แต่ข้อที่สำคัญก็คือท่านไม่ได้ยึดติดอยู่แต่อดีต เท่าที่มองดูก็เห็นว่าท่านพยายามจะประสานอดีตกับปัจจุบันให้เข้ากัน คือ การโยงอดีตเข้ามาให้เห็นถึงรากฐานที่มาของปัจจุบันและการที่นำสาระจากอดีตนั้นมาใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ปัจจุบัน อย่างน้อยในแง่ที่จะให้คนไทยและสังคมไทยนี้สามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ เพราะคนที่จะรักษาอิสรภาพของตนไว้ได้ จะต้องรู้จักอดีตของตน การรู้จักตนเองย่อมหมายถึงการรู้จักอดีตของตนด้วย เมื่อเรารู้จักอดีตโดยโยงมาสัมพันธ์กับปัจจุบันได้ดีก็คือการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาต่อไปในอนาคต

อนาคตเป็นส่วนที่เรามุ่งหมาย แต่ถ้าเราต้องการทำอนาคตให้ดี เราก็ต้องโยงมาหาปัจจุบันและย้อนกลับไปถึงอดีตได้ ทั้งสามส่วนนี้ คืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต จะต้องมาประสานสอดคล้องเกื้อกูลกันได้ จึงจะเป็นความสำเร็จในการพัฒนาประเทศชาติและสังคม

ค) ประสานบุคคล กับสังคม และธรรมชาติ

อีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ คือ เรื่องของบุคคลและสังคมกับธรรมชาติ งานเกี่ยวกับวัฒนธรรม เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องของสังคม คือเป็นเรื่องของวิถีชีวิตของสังคม เป็นเรื่องของการถ่ายทอดมรดกของคนรุ่นเก่ามายังคนรุ่นใหม่ แต่สังคมจะเจริญมีวิถีชีวิตที่ดีได้ก็ต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคล คือคนที่มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยสร้างสรรค์เกื้อกูล บุคคลนั้นเจริญขึ้นมา ถ้าเขาเจริญในทางที่ถูกต้องก็จะเกื้อกูลแก่สังคม ช่วยให้สังคมมีความเจริญงอกงาม สังคมที่เจริญงอกงามไปด้วยดีก็เอื้อโอกาสแก่บุคคลที่จะเจริญพัฒนาไปได้ถูกต้องด้วย และในสมัยนี้เรามองเห็นความสำคัญของปัจจัยอีกอย่างหนึ่งเพิ่มเข้ามาอีกว่า ความเจริญของบุคคลและสังคมนั้นจะต้องเป็นไปท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกื้อกูลหรือเอื้ออำนวยด้วย เพราะฉะนั้น ปัจจุบันเราจึงต้องมององค์ประกอบเป็นสามประการ

อาตมภาพมาที่นี่ก็ได้มองเห็นอย่างหนึ่งว่า ในการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ รู้สึกว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอยู่ เข้าใจว่าท่านที่ทำงานก่อสร้างในเรื่องนี้คงมีความคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านธรรมชาติด้วย ว่าทำอย่างไรจะให้มีสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่เกื้อกูลแก่การพัฒนาของบุคคลและวิถีชีวิตของสังคม พร้อมกันนั้นตัวเราเองก็จะพยายามทำตนให้เกื้อกูลแก่ธรรมชาติด้วย เพราะทั้งสามอย่างนี้เป็นองค์ประกอบด้านต่างๆ ของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งถ้าเราทำให้ประสานสอดคล้องกันได้ก็จะเป็นการเจริญพัฒนาที่ดีงาม ทั้งบุคคล สังคมและธรรมชาติไปด้วยกันได้อย่างประสานสอดคล้อง สัมพันธ์กลมกลืน และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นี้ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง

ในปัจจุบันเราบ่นกันมากว่า การศึกษาและการพัฒนาได้ทำให้สิ่งเหล่านี้มีความขัดแย้งซึ่งกันและกันในลักษณะที่เป็นการแย่งชิงผลประโยชน์กัน บุคคลแต่ละคนก็ขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์กัน สังคมกับบุคคลก็ขัดแย้งกัน บุคคลและสังคมกับธรรมชาติก็ขัดแย้งกัน แย่งชิงผลประโยชน์กัน โดยที่มนุษย์พยายามจะเอาชนะธรรมชาติ แย่งชิงเอาผลประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติว่าจะเป็นอย่างไร แต่เสร็จแล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา ใน การศึกษา และ การพัฒนา ที่ถูกต้องนั้น สิ่งที่จะวัดก็คือ การที่เราสามารถทำให้องค์ประกอบเหล่านี้มาสัมพันธ์กันในทางที่เกื้อกูลแก่กันและกัน ไม่ใช่สัมพันธ์กันในลักษณะที่เป็นการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ ถ้าการเจริญเติบโตหรือการพัฒนา ตลอดจนการศึกษานั้นเป็นไปในรูปที่ทำให้เกิดผลในทางขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์กัน ก็คิดว่าการพัฒนาและการศึกษานั้นทำให้เกิดโทษมากกว่า ในปัจจุบันคิดว่าเราได้เห็นผลอันนี้ประจักษ์ขึ้นมาแล้วมากมาย การศึกษาและการพัฒนาที่ถูกต้อง น่าจะวัดด้วยการที่มนุษย์มีความสามารถมากขึ้นในการที่จะทำให้อดีต ปัจจุบันและอนาคต มาโยงประสานเกื้อกูลกัน และทำให้บุคคล สังคมและธรรมชาติเจริญไปด้วยกันได้ อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลต่อกันและกัน และ ณ ที่นี้เรายังได้เห็นสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกอย่างหนึ่งคือ ความเป็นไทยและความเป็นสากลที่มาประสานเกื้อกูลกันได้

ง) ประสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับศาสนธรรมและวัฒนธรรม

ประการสุดท้าย สิ่งที่เป็นตัวอุปกรณ์ ซึ่งจะต้องประสานกันด้วย ได้แก่ วิชาการต่างๆ ปัจจุบันนี้สิ่งที่ครอบงำสังคม ก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกันนั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหลงลืมไป เรารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้นมาแล้วสิ่งนี้ก็กลายเป็นสิ่งล้าหลัง หมดความหมาย สิ่งนั้นก็คือ ศาสนธรรมและวัฒนธรรม เรารู้สึกว่าสองพวกนี้ไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้น ศาสนธรรมก็หมดความหมาย วัฒนธรรมก็ถูกทอดทิ้งไป แต่มาถึงขณะนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าโทษร้ายและปัญหาต่างๆ มากมายได้เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแต่เพียงด้านเดียว เป็นความผิดพลาดที่ปรากฏแล้ว

การพัฒนาการศึกษาที่ถูกต้องก็คือ จะทำอย่างไรให้ศาสนธรรมและวัฒนธรรมฝ่ายหนึ่ง กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกฝ่ายหนึ่ง มาประสานสัมพันธ์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน อย่างน้อยก็ให้มาควบคุมกันได้ คือเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญไป เราก็มีศาสนธรรมและวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องควบคุมไม่ให้เผลอ ไม่ให้พลาด ไม่ให้ทำลายประโยชน์ของสังคม ไม่ให้วิถีชีวิตของมนุษย์ผิดพลาดไป ถ้าหากสองฝ่ายนี้มาประสานเกื้อกูลกันได้ ก็จะเป็นความสำเร็จในการศึกษาและการพัฒนา

อนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นที่ระลึกถึงบุคคลผู้มีความสำคัญในเรื่องราวของความเป็นไทยดังที่กล่าวมาแล้วว่า ท่านเป็นตัวแทนผู้สืบต่อรักษาไว้และเป็นครูอาจารย์ในเรื่องของวัฒนธรรมและความเป็นไทย ซึ่งโยงไปถึงศาสนธรรมด้วย จึงหวังว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้จะได้ช่วยให้ศาสนธรรมและวัฒนธรรมเป็นประโยชน์แก่สังคมมนุษย์ปัจจุบัน ในการที่จะไปอยู่ร่วมในสังคมที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าอิทธิพลใหญ่ ในการที่จะใช้และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นในทางที่จะเกิดประโยชน์งอกเงยและในลักษณะที่มีความประสานสัมพันธ์กลมกลืนและเกื้อกูลกันดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

อาตมภาพขออนุโมทนาด้วย ในกิจการที่ได้ดำเนินมา โดยเฉพาะที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ ณ บัดนี้ ได้แก่อาคารอนุสรณ์สถานที่เรียกว่า สัณฐาคารแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ระลึกถึงท่านเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป หวังว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้ แม้จะเป็นผลสำเร็จจากการกระทำที่ผ่านมา แต่จะเป็นจุดตั้งต้นของสิ่งที่ดีงามสืบต่อไป คือสัณฐาคารนี้ เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว ก็จะเป็นจุดตั้งต้นของการที่จะทำภารกิจให้เกิดผลในการสืบต่อเผยแพร่วัฒนธรรม เป็นต้น ให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะมองในแง่ของการที่จะประสานความเป็นไทยกับความเป็นสากลก็ตาม หรือในการที่จะทำให้ศาสนธรรมและวัฒนธรรม กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเกื้อกูลซึ่งกันและกันก็ตาม ตลอดกระทั่ง ในการโยงอดีตสู่ปัจจุบันและเชื่อมกับอนาคต พร้อมทั้งในการทำให้สังคม บุคคล และธรรมชาติดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

อาตมภาพขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง และขออานุภาพคุณพระรัตนตรัยเป็นเครื่องอภิบาลรักษา รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ที่เราทั้งหลายเคารพสักการะบูชา พร้อมทั้งกุศลเจตนาของทุกท่านที่ได้คิดการเริ่มต้น ในการที่จะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ และที่จะดำเนินกิจการนี้ต่อไป ทั้งฝ่ายของราชการและฝ่ายของมูลนิธิฯ ตลอดจนญาติโยมประชาชนทุกท่าน ทั้งคนที่เราเรียกว่ารุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ขอให้มาประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะดำเนินงานของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ หรือสัณฐาคารแห่งนี้ ให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองสืบต่อไป เพื่อประโยชน์สุขของสังคม ทั้งสังคมไทย และสังคมส่วนรวมที่เป็นสากลสืบต่อไปชั่วกาลนาน และขอให้ทุกท่านจงมีความร่มเย็นเป็นสุข งอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒๐๐ ปี กรมพระปรมานุชิตฯ กับสังคมไทยอาจารย์กับศิษย์ เครื่องมือวัดความสัมฤทธิ์ของการพัฒนา >>

เชิงอรรถ

  1. คัดจาก ถนนหนังสือ ฉบับเสขิยธรรม ฉบับที่ ๔ มี.ค. – เม.ย. ๒๕๓๔

No Comments

Comments are closed.