อาจารย์กับศิษย์ เครื่องมือวัดความสัมฤทธิ์ของการพัฒนา

24 มิถุนายน 2534
เป็นตอนที่ 8 จาก 11 ตอนของ

อาจารย์กับศิษย์
เครื่องมือวัดความสัมฤทธิ์ของการพัฒนา1

กราบนมัสการ ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ

ท่านสหธรรมิกทุกท่าน

ขอเจริญพร ท่านสาธุชน ที่มาร่วมในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้

วันนี้เป็นวันที่ครบ ๕๐ วัน นับแต่มรณกรรมของท่านศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี จึงเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่ครอบครัว ญาติมิตร ลูกศิษย์ และท่านที่เคารพนับถือทั้งหลาย จะมาร่วมกันจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ท่าน ดังที่ได้มีพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นครั้งใหญ่ไปแล้วในภาคกลางวัน ครั้นมาถึงภาคค่ำนี้ ก็มีพิธีสวดพระอภิธรรม

เฉพาะโอกาสนี้ เป็นวาระแห่งการแสดงน้ำใจของพุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๑๑ ผู้สำเร็จการศึกษามาหลายปีแล้ว ใน พ.ศ. ประมาณ ๒๕๐๗ ซึ่งเรียกกันว่า รุ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ คือนับเมื่อเข้าเรียนในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นที่นับว่ามากที่สุดในยุคเก่าโน้น วันนี้ท่านเหล่านี้ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีด้วย ได้มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพในพิธีสวดพระอภิธรรม

สำหรับท่านที่มาร่วมเป็นเจ้าภาพในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีนี้ ถ้ากล่าวอย่างกว้างๆ โดยลำดับมาแต่ต้น ก็มีทั้งศิษย์มหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งเป็นสำนักที่ท่านอาจารย์เสฐียร ได้บวชเป็นลูกศิษย์เป็นศิษย์เก่า และทางฝ่ายมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นสถาบันที่ท่านอาจารย์เสฐียร ได้สอนหรือเป็นอาจารย์ สองสถาบันนี้เรียกได้ว่าเป็นแกนหลัก นอกจากนั้นก็มีท่านที่เคารพนับถือจากที่ทั่วไปในสังคมไทยนี้

ว่าที่จริง ในแง่ของการศึกษา ก็มิใช่เฉพาะมหาธาตุวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเท่านั้น ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้เป็นครูอาจารย์สอนมามากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะแห่งหนึ่ง ซึ่งควรจะกล่าวไว้ด้วยก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ท่านได้สอนวิชาวารสารศาสตร์ เป็นต้น

แต่กล่าวโดยเฉพาะที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ ท่านเป็นอาจารย์ตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทีเดียว เป็นอาจารย์ตั้งแต่เริ่มต้นและได้สอนเรื่อยมา จนกระทั่งท่านมีอายุมาก ร่างกายอ่อนแอลง จนเรียกได้ว่าสอนไม่ไหวแล้ว ท่านจึงหยุดสอน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นอาจารย์เก่าแก่ของมหาจุฬาฯ แล้วท่านก็มีอายุยืนมากเหมือนกัน จากการที่ท่านได้สอนมาแต่ต้นและมีอายุยืนยาว สอนมานานอย่างนี้ ก็ย่อมมีลูกศิษย์ลูกหามากมายดังปรากฏว่าที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ ลูกศิษย์ได้มีความรำลึกพระคุณ ถึงกับได้ตั้งมูลนิธิให้แก่ท่านเป็น มูลนิธิศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี ซึ่งมีลูกศิษย์คนสำคัญ เป็นรุ่นแรกของมหาจุฬาฯ เป็นประธานอยู่ในปัจจุบัน คือ ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้เป็นรัตตัญญูบุคคลของมหาจุฬาฯ เพราะท่านได้เรียนมหาจุฬาฯ ตั้งแต่รุ่นแรก และเรียกได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลของมหาจุฬาฯ ด้วยท่านหนึ่ง

สำหรับเรื่องเกี่ยวกับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีนี้ อาตมภาพมานึกว่า ตัวเองนั้น ไม่ค่อยจะมีความรู้มากเท่าไร ทั้งในแง่ของกาลเวลาและในแง่ของการงาน คือ ในแง่ของกาลเวลา ก็เป็นลูกศิษย์รุ่นที่ไม่ได้เริ่มมาแต่ต้น เพราะฉะนั้น จึงไม่รู้เรื่องตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ส่วนในแง่ของการงานก็ไม่มีโอกาสที่จะทำงานใกล้ชิดกับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ไม่เหมือนอย่าง ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ที่กล่าวแล้วว่าเป็นรัตตัญญูบุคคล รู้เรื่องมหาจุฬาฯ แต่เริ่มต้น ได้เล่าเรียนตั้งแต่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีเริ่มมาสอนที่นี่ และก็ได้ทำงานร่วมกับท่านมาจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย คือที่ราชบัณฑิตยสถาน โดยที่ว่าท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้มีตำแหน่งหน้าที่เมื่อตอนที่ท่านถึงแก่มรณกรรม เป็นเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ท่านอาจารย์จำนงค์ จึงเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดทั้งโดยกาลเวลาและโดยการงาน

เพราะฉะนั้น การที่มาพูดในวันนี้ จึงไม่สามารถจะกล่าวอะไรที่ลึกซึ้ง และยังหวังอยู่ว่า บุคคลที่รู้จักกับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีอย่างใกล้ชิด จะได้มีโอกาสเล่าเรื่องให้คนรุ่นหลังฟัง โดยเฉพาะในวงมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ พร้อมทั้งทางมหาธาตุวิทยาลัยด้วย แม้จะไม่ได้มาพูด ก็หวังว่าคงจะได้เห็นข้อเขียนของท่าน เพราะสิ่งที่นำขึ้นมาพูดหรือเขียนนั้น จะเป็นประโยชน์ในแง่ที่จะเป็นทิฏฐานุคติ คือเป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ตลอดจนเป็นเครื่องให้ความรู้และความคิดในการทำงานทางด้านพระศาสนาสืบต่อไป

ดังนั้น ในเรื่องของมหาจุฬา ฯ ก็เท่ากับบอกว่า ในที่นี้จะไม่พูดอะไรมาก ขอทิ้งไว้ให้ท่านผู้มีความรู้ดีกว่าได้มาเล่าต่อไป แต่อยากจะขยายเรื่องออกไปในวงกว้าง คือมองท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ในแง่ที่สัมพันธ์กับสังคมโดยทั่วไป

ความคิดก้าวหน้า หรือมองการณ์ไกล

ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี เป็นผู้ที่มีอายุยืนนานท่านหนึ่ง เป็นธรรมดาของผู้ที่มีอายุยืนยาวก็ย่อมมีประสบการณ์มาก เมื่อมีประสบการณ์มากก็มีเรื่องที่จะมาเล่าให้เป็นความรู้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังได้มาก แต่สำหรับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีนั้น มิใช่เฉพาะเป็นผู้มีประสบการณ์มากตามธรรมดาของกายที่อยู่ยืนยาวในโลกนี้อย่างเดียวเท่านั้น แต่มีข้อพิเศษนอกเหนือจากความยืนยาวนั้นด้วย ที่ทำให้ประสบการณ์ของท่านมีค่ายิ่งขึ้น

จากประวัติชีวิตของท่านนั้น เราก็ทราบกันทั่วไปว่า อาจารย์เสฐียร พันธรังษีเริ่มชีวิตวัยแรกของการศึกษาในวัดนี้เอง คือที่สำนักวัดมหาธาตุฯ นี้ ซึ่งท่านได้เป็นพระภิกษุบวชเรียนอยู่จนได้เป็นมหาเปรียญ เป็นธรรมดาของการศึกษาภาษาบาลีที่ทำให้เป็นมหาเปรียญ ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็นการศึกษาปริยัติธรรมแผนเดิมนั้น ตามประเพณีก็เรียนไวยากรณ์บาลี และเรียนแปลบาลี คือแปลบาลีเป็นไทย แล้วก็แปลไทยเป็นบาลี ก็เรียนกันมาอย่างนี้ อันนี้เราถือว่าเป็นหลักสูตรแผนเก่า

ทีนี้ลักษณะพิเศษของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็คือ นอกจากว่าท่านจะเรียนตามแบบแผนประเพณีนี้แล้ว ท่านยังมีความคิดที่เราเรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้าหรือหัวก้าวหน้าด้วย

ย้อนหลังไปเมื่อหลายสิบปีแล้ว ยุคนั้น การที่พระจะเรียนภาษาอังกฤษนั้นเป็นไปได้ยากมาก แต่ก็ปรากฏว่าท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ซึ่งเป็นพระอยู่ในสมัยเก่าหลายสิบปีแล้วโน้น ท่านได้ไปเรียนภาษาอังกฤษด้วย นับว่าเป็นผู้หนึ่งในจำนวนพระน้อยองค์ที่ไปเรียนภาษาอังกฤษ ตัวอย่างท่านผู้อื่นที่เราทราบกัน ก็คือ หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งก็อยู่สำนักเดียวกันกับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี

ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีมีความคิดที่มองเห็นการณ์ไกล รู้เท่าทันถึงความเจริญก้าวหน้าของโลก จึงมองเห็นความสำคัญของวิชาการแผนใหม่ และมองเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ที่จำเป็นสำหรับสื่อสารในโลกสมัยปัจจุบัน ที่มีความเจริญก้าวหน้าและมีการติดต่อกับตะวันตก ท่านจึงได้ไปเรียนภาษาอังกฤษด้วย แม้ว่าทางสำนัก ท่านผู้ใหญ่จะไม่สนับสนุน เมื่อท่านเรียนไปก็ได้ประสบความสำเร็จ สามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ ดังที่ปรากฏว่า ต่อมาเมื่อลาเพศไปแล้ว ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีได้สอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศได้ ประเทศที่ท่านเดินทางไปก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ปัจจุบันกำลังเป็นผู้นำทั้งในทางเศรษฐกิจและด้านเทคโนโลยี

ในการที่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีไปเรียนต่อเมืองนอก คือประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็มีข้อสังเกตที่นับว่าเป็นเรื่องที่แปลก คือว่า ธรรมดาคนสมัยนี้ที่เรียกว่าสมัยใหม่ เมื่อจะไปเรียนเมืองนอก ก็อยากจะไปเรียนวิชาที่เป็นเรื่องของความเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก หรือแบบสมัยใหม่ เช่นอาจจะไปเรียนบริหารธุรกิจ อาจจะไปเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจจะไปเรียนเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เราเรียกกันว่าเป็นวิชาการสมัยใหม่ แต่อาจารย์เสฐียร พันธรังษีท่านเลือกไปเรียนวิชาศาสนา ได้ทราบว่าในสมัยนั้นเอง แม้แต่คนที่อยู่ในยุคเดียวกันกับท่าน ก็พูดจาทำนองที่แสดงความแปลกประหลาดใจว่า ทำไมอาจารย์เสฐียรไปเรียนวิชาอย่างนี้ ซึ่งในสายตาของคนทั่วไปมองว่าเป็นวิชาเก่าๆ เป็นของที่คร่ำครึ ยิ่งในสมัยนั้น ความรู้สึกต่อเรื่องศาสนาอาจจะแปลกแยกยิ่งกว่าสมัยนี้ ต่างจากสมัยนี้ที่คนในยุคปัจจุบันเริ่มหันกลับมาสนใจในทางพระศาสนามากขึ้น

ตอนนั้น ในสมัยที่ประเทศไทยกำลังสร้างความเจริญก้าวหน้า กำลังหันไปหาวัฒนธรรมตะวันตกใหม่ๆ ในขณะที่ความรู้สึกนิยมความเจริญสมัยใหม่แบบตะวันตกกำลังแรงมาก และผู้คนกำลังมองศาสนาว่าเป็นเรื่องเก่า เรื่องคร่ำครึ แต่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็ได้เลือกไปเรียนวิชาศาสนา

อันนี้เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งที่สำคัญ ถ้าจัดเป็นการมองการณ์ไกล ก็ต้องนับว่าเป็นการมองการณ์ไกลสองชั้น คือ คนที่เห็นความสำคัญของการติดต่อในทางวิชาการสมัยใหม่กับโลกตะวันตก หรือทราบถึงความเจริญก้าวหน้าแบบปัจจุบันอะไรนี่ ในยุคนั้นก็ถือว่าเป็นคนทันเหตุทันการณ์ ถ้ามองในแง่พระศาสนา ก็เป็นการล่วงรู้ว่าการพระศาสนาในเวลาข้างหน้าที่จะสืบต่อมานั้น จะต้องมีการติดต่อกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก หรือนานาประเทศ ดังนั้นการที่คิดจะเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่จึงถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่มองการณ์ไกลชั้นหนึ่งแล้ว ทีนี้ยิ่งกว่านั้น การที่จะมองมาถึงการเรียนวิชาศาสนา ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นเรื่องเก่าแล้วนี้ แม้ว่ามันจะมีความสำคัญในระยะยาวมาถึงบัดนี้ แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครเห็นก็ต้องถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลสองชั้นทีเดียว และท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็ได้เลือกเรียนวิชาศาสนา

ทำไมจึงบอกว่าวิชาศาสนานั้นเป็นวิชาที่สำคัญ ?

การเรียนวิชาศาสนาก็หมายถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอารยธรรมในสมัยโบราณ ที่สืบต่อกันมา เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยเฉพาะศาสนาในดินแดนแถบนี้ อันมีความเด่นอยู่ที่พระพุทธศาสนานั้น ก็เป็นรากฐานของความเจริญของโลกตะวันออก การเรียนวิชาศาสนาในตะวันออกเช่นพระพุทธศาสนา ก็คือการเรียนรากฐานของอารยธรรมตะวันออกนั้นเอง และเมื่อท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีไปเรียนที่ญี่ปุ่น ก็เรียนวิชาพุทธศาสนาที่เนื่องกันกับประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโอตานิ ซึ่งมีการเรียนพุทธศาสนาแบบมหายาน อันเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของอารยธรรมตะวันออกและเป็นรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

มองความเจริญแบบนักสร้างเหตุ
ไม่ใช่มองแบบนักเสพผล

ในการที่จะเข้าถึงความเจริญของประเทศต่างๆ นั้น ข้อสำคัญก็คือการที่ต้องรู้เหตุปัจจัยแห่งความเจริญของสังคม หรือประเทศนั้นๆ ในสมัยปัจจุบันนี้ เรามีความนิยมในอารยธรรมตะวันตก มีความชื่นชมในวัฒนธรรมตะวันตก แต่มีข้อสังเกตว่าเรามักจะมองและรับความเจริญนั้นในรูปของสิ่งที่เป็นผลิตผล คือสิ่งที่เป็นผลไม่ใช่เป็นเหตุ การที่จะสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองนั้น จะต้องเข้าถึงเหตุของความเจริญ ไม่ใช่ไปรับแต่ผลของเขา การรับแต่ผลนั้นก็จะได้แต่สิ่งที่เอามาบริโภคเท่านั้น แล้วเราก็จะไม่ได้อะไรนอกจากว่าเมื่อจะบริโภคก็ต้องคอยซื้อ เพราะว่าการที่จะได้สิ่งที่เป็นผลิตผลหรือของสำเร็จจากเขามา ก็จะต้องเป็นผู้ซื้อ ต้องเป็นผู้จ่าย เป็นผู้สูญเสียฝ่ายเดียว

การที่เราติดต่อกับต่างประเทศนั้นมองในแง่ของสังคมของเราก็คือ เราต้องการที่จะสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติ อย่างที่เรียกว่าเอามาพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า แต่การที่จะพัฒนาให้สำเร็จได้นั้น ก็คือต้องทำเหตุปัจจัยของการพัฒนา การที่จะติดต่อกับสังคมอื่นๆ ที่จะให้ได้ผลดีนั้น ในแง่วิชาการเราจะต้องเรียนรู้ให้เข้าถึงเหตุปัจจัยแห่งความเจริญของสังคมเหล่านั้น ไม่ใช่เพียงไปเรียนเอาผลสำเร็จมา ถ้าไปมองแต่ผลสำเร็จมาก็คือการที่เราจะต้องคอยเป็นฝ่ายรับ เมื่อเป็นฝ่ายรับก็จะต้องเป็นผู้ตาม อันนี้เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันไป เมื่อเอาผล ก็ต้องเป็นผู้รับ เมื่อเป็นผู้รับ ก็ต้องเป็นผู้ตาม ก็เลยจะต้องคอยตามรับจากเขาอยู่เรื่อยไป การปฏิบัติในลักษณะนี้จะไม่สามารถสร้างสรรค์ความเจริญที่แท้จริงให้สำเร็จได้ จะได้ก็แค่เป็นสังคมของผู้ที่คอยตาม และเป็นสังคมของผู้ที่คอยรับเท่านั้น

สังคมที่ฉลาดน่าจะเป็นสังคมที่สามารถสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่สังคมของตนเองได้ และหัวใจสำคัญที่จะทำให้สร้างความเจริญได้ก็คือ การเข้าถึงเหตุปัจจัยของความเจริญนั้น ถ้าเราต้องการความเจริญของตะวันตก เราก็จะต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยแห่งความเจริญของเขา คือเหตุปัจจัยที่มีมาในวัฒนธรรมของเขา หรือรากฐานแห่งอารยธรรมของเขานั้นเอง เมื่อเราหยั่งรู้เข้าถึงเหตุปัจจัยของเขาแล้ว เรากระทำเหตุปัจจัยนั้น เราก็จะเป็นผู้สร้างสรรค์ การที่เราสร้างสรรค์นั้น เมื่อมองในแง่ของเศรษฐกิจ ก็คือเป็นผู้ผลิต เมื่อเป็นผู้ผลิตก็จะเป็นผู้ที่สามารถให้แก่ผู้อื่น ผู้ที่สร้างสรรค์ย่อมมีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น เมื่อเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นได้ ก็เป็นผู้นำเขาได้

การที่ประเทศชาติจะเจริญมั่นคงต่อไป ก็ย่อมต้องเป็นไปตามหลักของปัจจยาการอันนี้ คือจะต้องเข้าถึงเหตุปัจจัย แล้วก็เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้ผลิตแล้วก็เป็นผู้ให้ แล้วก็เป็นผู้นำ

การที่จะเป็นผู้นำก็คือต้องเป็นผู้ที่มีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น ถ้าไม่มีอะไรจะให้แก่เขา ก็ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ฉะนั้น ถ้าหากว่าประเทศไทยของเรานี้ประสงค์จะมีความเจริญอย่างแท้จริง จนกระทั่งว่าจะเป็นผู้นำในโลกยุคปัจจุบันได้ เราจะต้องก้าวเดินไปในแนวทางของการสร้างความเจริญในแบบที่กล่าวมานี้ คือการที่จะเป็นผู้กระทำเหตุปัจจัย แล้วก็เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้ผลิต เป็นผู้ให้ และเป็นผู้นำสืบต่อไป

งานที่หยั่งถึงรากฐานของอารยธรรม

ทีนี้ หวนกลับมาพูดถึงเรื่องของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี เป็นอันว่าท่านก็ไปเรียนวิชาศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนามหายาน ซึ่งเป็นรากฐานแห่งวัฒนธรรรมของญี่ปุ่นและเป็นวัฒนธรรมของตะวันออก โดยเฉพาะอาเซียฝ่ายเหนือ ซึ่งแกนรวมก็คือเรียนเรื่องพระพุทธศาสนานั้นเอง เมื่อเรียนพระพุทธศาสนาก็คือเรียนรากฐานของอารยธรรมตะวันออกในแถบนี้ทั้งหมด เมื่อเรียนจบมาแล้วท่านก็กลับมาเมืองไทย กลับมาเมืองไทยแล้ว ท่านก็ได้มาทำงานทำการ ซึ่งก็ปรากฏว่า เมื่อทำงาน ท่านก็ทำงานที่เกี่ยวกับการพระศาสนาด้วย มองในแง่หนึ่งก็คือท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี นี้ ออกไปจากวัดแล้วท่านไม่ได้ทิ้งวัด ไม่ได้ทิ้งทั้งในแง่การศึกษาเล่าเรียน และในแง่การทำการงาน คือในแง่การศึกษาเล่าเรียนก็ยังเรียนวิชาศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของวัด แล้วเมื่อทำงานดำเนินชีวิตก็ทำงานที่เกี่ยวกับพระศาสนา ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระศาสนา ซึ่งท่านได้ทำสืบมาจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านจบสิ้นชีวิตลง

ผลงานที่ท่านทำนั้นมีหลายด้าน แต่ที่สำคัญซึ่งปรากฏออกมาเป็นเครื่องรำลึกหรือเป็นอนุสรณ์ระยะยาว ก็คือผลงานทางด้านการประพันธ์หรือหนังสือ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า เมื่อท่านไปเรียนแล้วท่านก็ได้นำเอาความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย นอกจากมาสอนเป็นอาจารย์แล้วก็ได้ผลิตงานทางวิชาการขึ้นมา ข้อเขียนของท่านนั้นถ้าเราสนใจให้ความสำคัญก็จะเป็นประโยชน์มากในการที่จะช่วยให้เข้าถึงรากฐานของอารยธรรมตะวันออก

เรื่องที่ท่านเขียนก็มีตั้งแต่เรื่องพุทธศาสนามหายาน ซึ่งท่านได้เขียนขึ้นมาโดยเฉพาะ ดูเหมือนจะเคยพิมพ์เป็นหนังสือเล่มๆ หนึ่ง

พุทธศาสนามหายานก็ดังที่กล่าวแล้ว คือเป็นรากฐานของอารยธรรมของตะวันออก รวมทั้งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย แล้วท่านยังลงลึกเฉพาะลงไปอีก คือ ไม่ได้เขียนเฉพาะพุทธศาสนามหายานเท่านั้น แต่จำเพาะในแง่ของญี่ปุ่นเอง ท่านก็ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย เช่นเรื่องลัทธิบูชิโด

บูชิโดนี้เป็นวัฒนธรรมสำคัญส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงเหตุปัจจัยในการสร้างสรรค์ความจริญของญี่ปุ่น ทำให้มองเห็นว่าคนญี่ปุ่นมีจิตใจอย่างไร และด้วยจิตใจที่มีรากฐานมั่นคงอย่างนั้น ทำอย่างไรเขาจึงสร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ การอ่านหนังสือลัทธิบูชิโดนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่หยั่งลึกลงไปถึงรากฐานทางชีวิตจิตใจ

แล้วท่านก็ขยายขอบเขตออกไปอีก ไม่ใช่ศึกษาเฉพาะรากฐานวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ได้เขียนเรื่องอื่นเกี่ยวกับตะวันออกทั่วไปด้วย

เรื่องของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ก็ย่อมโยงมาหาพุทธศาสนาที่เป็นต้นเดิม และเมื่อสาวลึกลงไป ก็ต้องสืบไปถึงอินเดีย พอสืบไปถึงอินเดียแล้วพุทธศาสนาก็โยงต่อไปถึงลัทธิศาสนาพราหมณ์ ในด้านนี้ท่านอาจารย์เสฐียรก็ได้ศึกษาตลอด จนกระทั่งว่าได้เขียนงานเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของอินเดียในยุคหลังพุทธกาลด้วย และท่านก็ได้มีหนังสือ เช่นเรื่องจาณักยะ ออกมา

จาณักยะเป็นที่ปรึกษาหรืออาจจะเรียกว่าเป็นปุโรหิตในราชสำนักของพระเจ้าจันทรคุปต์ ซึ่งเป็นพระอัยกาหรือปู่ของพระเจ้าอโศก เป็นผู้ตั้งราชวงศ์เมารยะ หรือโมริยะขึ้นมา จันทรคุปต์เป็นมหาราชที่สำคัญมาก เป็นผู้ทำให้อาณาจักรมคธยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งทำให้มีพระเจ้าอโศกมหาราชที่เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย เป็นมหาราชผู้มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นอัครศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จาณักยะนี้เป็นผู้ที่วางรากฐานการปกครอง ซึ่งทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ราชวงศ์ของพระเจ้าจันทรคุปต์หรือโมริยะนี้

อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่เกี่ยวกับรากฐานอารยธรรมตะวันออกในด้านต่างๆ นี้เป็นเพียงยกตัวอย่าง เพราะมาพูดในที่นี้ก็ไม่มีเวลาที่จะไปสำรวจงานของท่านอาจารย์เสฐียร แต่ที่พอนึกๆ ได้เคยผ่านมาก็เห็นงานเหล่านี้ ซึ่งทำให้มองโยงไปได้ถึงความสำคัญของสิ่งที่ท่านอาจารย์เสฐียรได้มีความสนใจและได้นำมาเขียนนำมาแสดง

จำกัดวงลงไปกว่านั้น ในแง่ของพระพุทธศาสนา ก็มาถึงประเทศไทย ในแง่นี้ท่านอาจารย์เสฐียรก็มีความสนใจที่น่าแปลกเหมือนกัน บางทีเราจะไม่ค่อยได้สังเกต เคยเจอหนังสือเก่ามากที่ท่านแปลไว้คือ คัมภีร์ ชินกาลมาลี

ชินกาลมาลีนี้ (ตอนนั้นเขียนเป็นชินกาลมาลินี) เป็นคัมภีร์ภาษาบาลี ว่าด้วยประวัติพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยโบราณ ซึ่งแต่งในเมืองเหนือ ยุคล้านนา แสดงว่าความสนใจของท่านอาจารย์เสฐียรนี้กว้างขวางมาก แล้วท่านก็มีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาบาลีที่จะสามารถทำงานเหล่านี้ขึ้นมาได้ ชินกาลมาลีนี้ก็เป็นงานที่เรียกได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้มองเห็นถึงรากฐานทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองไทยของเรานี้

งานที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นส่วนที่ทำให้ถือได้ว่า ท่านอาจารย์เสฐียรได้มีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญก้าวหน้าในวงวิชาการ ซึ่งในที่นี้เราได้พูดเน้นไปในด้านพระศาสนา แต่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในงานทางพระศาสนาเท่านั้น สิ่งสำคัญที่จะตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือว่า ท่านสามารถโยงเรื่องศาสนาเข้ามาสู่วิชาการสมัยใหม่ได้ด้วย อันนี้ก็เป็นข้อที่สำคัญประการหนึ่ง

เชื่อมประสานเก่ากับใหม่ แก้ไขจุดอ่อนของสังคมไทย

ถ้าเรารู้แต่เรื่องพระศาสนา พูดได้แต่เรื่องพุทธศาสนามหายาน หรือแม้แต่เถรวาท ตลอดจนเรื่องไทยเก่าๆ อะไรต่างๆ นี้ มันก็เป็นเพียงด้านหนึ่งของวิชาการ และเป็นด้านที่คนสมัยใหม่อาจจะไม่เห็นคุณค่าเท่าไร แล้วก็ยังไม่สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ สิ่งสำคัญก็คือว่า ทำอย่างไรจะให้คนในสมัยปัจจุบันนี้ได้ซาบซึ้งเห็นคุณค่า และมีความรู้ความเข้าใจหรือสนใจในวิชาการเก่าๆ เหล่านั้นด้วย

ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี เป็นผู้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือการที่ท่านรู้เรื่องราวสมัยใหม่ มีความรู้ในวิชาการปัจจุบันด้วย นอกจากรู้ภาษาอังกฤษที่จะเป็นสื่อโยงในการที่ท่านจะแสวงหาความรู้สมัยใหม่เข้ามาหรือที่จะแสดงออกไปแล้ว ท่านยังมีความรู้ในด้านอื่นๆ ด้วย เช่นมีความสนใจในเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง และนอกจากมีความรู้ทันเหตุทันการณ์แล้ว ก็มาทำงานในวงวิชาการที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องความเคลื่อนไหวของสังคมด้วย อันนี้ก็คือการที่ท่านเข้าไปสู่วงการสื่อสารมวลชน แล้วก็ได้ไปประกอบอาชีพการงานในวิชาชีพทำหนังสือพิมพ์

สมัยก่อนนี้เราเรียกท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีได้เต็มปากว่า ท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ และท่านก็ได้ทำหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อว่า ชาวไทย อยู่เป็นเวลายาวนาน นอกจากเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ แล้ว ท่านก็ได้ใช้ความรู้ทางพระศาสนาและวัฒนธรรมให้เป็นประโยชน์ โดยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระศาสนาออกทางหนังสือพิมพ์นั้นด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นความสามารถซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่สามารถโยงเอาเรื่องทางด้านวัฒนธรรม ให้มาสืบต่อเชื่อมประสานกับความรู้วิชาการสมัยใหม่และเหตุการณ์ปัจจุบันด้วย นับว่าเป็นคติเป็นแนวทางหรือเป็นแบบอย่างที่เราทั้งหลายในรุ่นหลังๆ นี้ควรจะทำ

แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ลำพังคนเดียวทำงานไว้อย่างนี้ จะให้มีความสำเร็จกว้างขวางออกไปมากมายนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก จำเป็นที่จะต้องมีผู้อื่นมาช่วยกัน โดยเฉพาะผู้ที่จะมาสืบสานต่อทอดงานหรือทำงานในทางเดียวกัน โดยถือเอาท่านเป็นตัวอย่าง ถ้าอย่างนี้ก็จะทำให้งานที่จะเชื่อมโยงความรู้ที่เราเรียกว่าเก่ากับความรู้สมัยใหม่เกิดผลจริงจัง ทำให้เก่ากับใหม่นั้นเข้าถึงกันได้

ยิ่งถ้าจะย้ำความอย่างที่กล่าวมาในตอนต้นก็ต้องพูดว่า ในยุคปัจจุบันนี้เราจะต้องเน้นเรื่องนี้ให้มาก คือการที่จะต้องเชื่อมประสานเรื่องเก่ากับเรื่องใหม่ให้ได้ เพราะสังคมไทยปัจจุบันนี้มีจุดอ่อนที่สำคัญมาก คือการที่คนไทยเรานี้จำนวนมากไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสังคมของตนเอง เรื่องนี้เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากทีเดียว จึงขอย้ำว่า จุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งของการพัฒนาประเทศ ก็คือ การที่คนไทยไม่เข้าใจสังคมของตนเอง คือไม่รู้เรา ไม่รู้จักตัวเอง เมื่อไม่รู้จักตัวเอง คือไม่มีความรู้ ก็ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง เมื่อไม่เห็นคุณค่าของตนเองก็ไม่มีความภูมิใจในตนเอง เมื่อไม่มีความภูมิใจในตนเอง การที่จะปฏิบัติการอะไรในสังคมของตนเองนี้ก็จะไม่เกิดความกลมกลืน แต่จะเกิดความขัดข้องต่างๆ เช่นว่าเมื่อไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ นำความรู้ของตะวันตกเข้ามา ก็ไม่สามารถเอามาประสานกลมกลืนเข้ากับสังคมของตนเองได้ ทำให้เกิดความติดขัด ซึ่งเป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศ

เท่าที่เป็นมาแล้วนี้ เราประสบความติดขัดอย่างสำคัญจากเรื่องนี้ คือการที่คนไทยไปเรียนวิชาการตะวันตกมา แต่ไม่สามารถนำมาย่อยให้เข้าเป็นเนื้อเป็นตัวของไทยได้ คือไม่สามารถนำเข้าสู่สังคมไทยได้อย่างแท้จริง เรื่องนี้เราอาจจะถือเป็นจุดหนึ่งที่จะยกขึ้นมาเน้นความสำคัญ ในการที่จะให้คนไทยหันมาศึกษาสนใจเรื่องเกี่ยวกับสังคมไทยให้มากขึ้น งานที่ท่านอาจารย์เสฐียรได้ทำมา ไม่ว่าท่านจะคิดอย่างไรก็ตาม ก็จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามด้านนี้ ซึ่งเป็นด้านที่มีความสำคัญมากทีเดียว จึงควรจะยกเกียรติอันนี้ให้แก่ท่านไว้ในที่นี้ด้วย

คิดริเริ่มเอง ไม่ต้องรอให้ฝรั่งมานำในเรื่องของไทย

เท่าที่ได้พูดเกี่ยวกับการที่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้ทำงานมาอย่างนี้ เป็นการพูดอย่างกว้างๆ และในการทำงานเหล่านี้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือการมีความคิดริเริ่ม ดังที่ท่านได้แสดงออกในการทำงานเขียนต่างๆ เช่นอย่างหนังสือ ชินกาลมาลี ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าๆ ในตอนนั้นไม่ค่อยมีใครรู้จักด้วยซ้ำ แม้แต่ในวงการพระสงฆ์ก็แทบไม่เคยได้ยินชื่อหนังสือนี้เลย แม้แต่ท่านที่รู้จักบ้างก็ไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เพราะเห็นเป็นเรื่องเก่าแก่ เป็นเรื่องตำนาน เป็นเรื่องนิยาย ที่ถึงกับเห็นว่าเป็นเรื่องอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ ว่าคนโบราณหลอกเราไปก็มี

จนกระทั่งมาเมื่อสมัยสัก ๒๐ กว่าปีมานี้ ที่ประเทศตะวันตกคืออเมริกา มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยคอร์เนล ได้ให้ความสำคัญแก่คัมภีร์เหล่านี้ หันมาศึกษาคัมภีร์เก่าๆ อย่างชินกาลมาลีปกรณ์ และคัมภีร์ในสมัยเก่าๆ อื่นๆ หลายคัมภีร์ เช่น ไตรภูมิพระร่วง จามเทวีวงศ์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาแปลไปแล้วบ้าง กำลังแปลกันอยู่บ้าง ตอนนั้นประเทศตะวันตกคืออเมริกา ซึ่งเรานับถือว่าเป็นผู้นำของประเทศพัฒนา เขากลับมาศึกษาเรื่องเหล่านี้ มีการตั้งศูนย์ศึกษาเรื่องอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการตั้งสถาบันอะไรต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีศูนย์ สำนัก และสถาบันที่ศึกษาในด้านอาเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ถึงประมาณ ๙ แห่ง อย่างที่คอร์เนลนี้ เมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้วก็ได้หันมาให้ความสำคัญแก่คัมภีร์เก่าๆ เหล่านี้

ฝรั่งมาแปลคัมภีร์ต่างๆ เก่าๆ ของเรา ที่เป็นตำนานโบราณ จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังมีอาจารย์ฝรั่งกำลังแปลจามเทวีวงศ์อยู่ ยังแปลไม่จบ แปลมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว หรืออย่างไตรภูมิพระร่วงนี่ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยชิคาโกก็แปลเสร็จแล้ว และพิมพ์ไปแล้ว ท่านเหล่านี้เห็นว่าคัมภีร์เหล่านี้ ซึ่งเป็นตำนานเก่าๆ มองดูคล้ายๆ เป็นเรื่องนิยาย หรือเป็นเรื่องอัศจรรย์ ที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้ารู้จักอ่านให้เป็นแล้ว จะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสังคมแถบนี้ นอกจากประวัติของประเทศชาติบ้านเมืองแล้ว ยังจะเห็นประวัติในแง่รากฐานทางวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อถือและความคิดจิตใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมด้วย พอฝรั่งให้ความสำคัญแก่คัมภีร์เหล่านี้ คนไทยเราก็กลับไปให้ความสำคัญบ้าง

ในตอนหลังนี้ คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ก็ได้รับการแปลใหม่เป็นทางการที่เมืองไทย โดยที่ทางเมืองนอกที่ประเทศอังกฤษ The Pali Text Society ที่ London ได้หานักปราชญ์ดำเนินการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และก็ได้มีการพิมพ์ออกมาแล้ว แต่ตอนที่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี แปลชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นภาษาไทยนี้ ดูจะไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ โดยมากจะไม่รู้หรือไม่ได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งควรจะยกขึ้นมาพูดไว้ ซึ่งแสดงถึงการที่ท่านมีความคิดริเริ่ม

รวมความก็คือว่า คนไทยเรานี้ ถ้าจะพัฒนาประเทศชาติกันอย่างแท้จริงแล้ว เราจะต้องรู้จักสังคมของเราให้มากกว่านี้ แต่บัดนี้มันกลายเป็นว่า ฝรั่งมารู้จักสังคมไทยมาก ฝรั่งมาให้ความสนใจศึกษารากฐานของวัฒนธรรมและอารยธรรมของไทย เพื่อจะเข้าถึงสังคมไทยอย่างแท้จริง แล้วจะได้ปฏิบัติต่อสังคมไทยให้ถูกต้อง และคนไทยเราก็กลับต้องไปศึกษาเรื่องไทยจากตะวันตก เช่นเราอาจจะต้องไปทำปริญญาประวัติศาสตร์ไทยที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ในประเทศอเมริกา อะไรทำนองนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ว่าเรากลับต้องให้ประเทศตะวันตกมาเป็นผู้นำเราในการศึกษาเรื่องของเรา

แม้ในบัดนี้เมื่อญี่ปุ่นได้มาเป็นผู้นำ และกำลังเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก ด้านหนึ่งของความสนใจของญี่ปุ่น ก็คือความสนใจในวัฒนธรรมไทย เพราะเขารู้ดีว่า การที่จะเข้าถึงเมืองไทยหรือสังคมไทยอย่างแท้จริงได้เขาจะต้องรู้จักวัฒนธรรมไทย ต้องรู้จักศาสนาของไทย คนฝรั่งที่จะเข้ามาในเมืองไทย จะทำงานเกี่ยวกับเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง จะต้องเรียนเรื่องพระพุทธศาสนา เราก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะเข้าถึงสังคมอเมริกา เข้าถึงสังคมญี่ปุ่น เราจะต้องเรียนรู้เรื่องของเขาให้ลึกซึ้ง

คนไทยเราไปเรียนอเมริกา น้อยคนหรือแทบไม่มีที่ไปเรียนรากฐานอารยธรรมของเขา เวลาเราทำวิทยานิพนธ์ เราก็มักจะทำเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำให้เขาได้ส่วนหนึ่งด้วย จริงอยู่ในส่วนหนึ่งเป็นการเข้าใจสังคมไทยของเรา แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือการที่ช่วยให้อาจารย์ในประเทศตะวันตกนั้นเขาได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทย รวมทั้งได้ข้อมูลและความคิดเห็นที่คนไทยเราคิดต่อตนเอง คนไทยเรารู้สึกต่อตนเองอย่างไร ฝรั่งเขาก็อยากจะรู้เหมือนกัน คนไทยทำวิทยานิพนธ์เรื่องไทย ฝรั่งยิ่งชอบ เพราะเขาได้จากเรามากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมาหาเรา

เมื่อเรียนเรื่องของเขา ก็ต้องให้รู้จักเขาจริง

อย่างไรก็ดี ให้เขาได้จากเราเกี่ยวกับเรื่องของเรา ก็ไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญก็คือ เราไปที่เขากันมากมาย แต่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องของเขาให้ลึกซึ้งถึงแก่นถึงรากเลย ฉะนั้น คนไทยเราที่ไปศึกษาเมืองนอกทำวิทยานิพนธ์ น่าจะแบ่งกันเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็ทำเรื่องไทยของเราให้ลึกซึ้งที่สุด ส่วนอีกพวกหนึ่งต้องพยายามศึกษาให้เข้าถึงรากฐานอารยธรรมของตะวันตก ให้รู้เหตุปัจจัยแห่งความเจริญของตะวันตก ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังนำขึ้นมา เราก็จะต้องศึกษาให้เข้าถึงรากฐานความคิดจิตใจของญี่ปุ่นด้วย ไม่ใช่ไปมัวตื่นเต้นกับเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตความเจริญของญี่ปุ่น

อย่างปัจจุบันนี้ เราสัมพันธ์กับญี่ปุ่นมาก แต่ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปในลักษณะของการรับผลผลิตอย่างที่กล่าวข้างต้นแทบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นแนวทางของการสร้างความเจริญแบบเป็นผู้บริโภคและเป็นผู้รับเป็นผู้ตาม นอกจากเป็นผู้ตามแล้ว ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในกระแสของความที่จะต้องเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเรื่อยไป

ฉะนั้น ถ้าหากว่าจะเปลี่ยนกระแสการพัฒนา ก็จะต้องเปลี่ยนแนวความคิดเสียใหม่ด้วย เราจะต้องไม่ไปมัวสนใจต่อความเจริญทางวิทยาการของญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยี เช่น อีเลกทรอนิกส์อะไรต่างๆ เท่านั้น พวกหนึ่งศึกษาให้ทันความคิดที่ก้าวหน้าที่สุดของเขาในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แต่พร้อมกันนั้นอีกพวกหนึ่งจะต้องไปศึกษาให้เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น หยั่งลงไปให้ถึงรากฐานของความเจริญของเขา ให้รู้เหตุปัจจัยของความเจริญนั้น

แม้แต่ในสภาพความเจริญที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ ด้านหนึ่งก็คือความเสื่อมของญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีใครค่อยศึกษา ไม่ค่อยมีใครที่สนใจว่า ในท่ามกลางสภาพของญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ ที่มีความเจริญนั้น พร้อมกับความเจริญนั้นมีความเสื่อมอย่างไรบ้าง แล้วอะไรจะเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญและความเสื่อมต่อไปในอนาคตของญี่ปุ่น เรามองญี่ปุ่นในอนาคตและมองหาเหตุปัจจัยของเขาที่มีอยู่ในปัจจุบันกันอย่างไร อันนี้ก็รู้สึกว่าแทบจะหาผู้สนใจมิได้

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่โยงเข้ามาหาท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี และโยงมาสู่เรื่องการพัฒนาสังคมไทย เพราะว่างานของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีนั้น กล่าวได้ว่าเป็นงานส่วนหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่จะสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทยอย่างแท้จริง ชนิดที่จะเข้าถึงขั้นรากฐานกันทีเดียว เพราะอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น ที่เป็นระดับรากฐานทางอารยธรรมและวัฒนธรรมของเขามาไว้แล้ว ซึ่งเราควรให้ความสนใจ อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งไว้ดังได้กล่าวมาแล้ว

เท่าที่ได้กล่าวมาในเรื่องของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็เป็นการมองอย่างกว้างๆ ซึ่งไม่ใช่มองเฉพาะในแง่ที่ท่านเป็นอาจารย์ในมหาจุฬาฯ เท่านั้น แต่มองในแง่ของผลงานที่ท่านทำไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยในวงกว้างด้วย ทั้งนี้ ก็อยู่ที่ว่าเราจะนำมาใช้ประโยชน์หรือไม่ ถ้าหากว่าไม่ใช้ประโยชน์ ผลงานเหล่านั้นก็นอนอยู่นิ่งๆ เป็นของที่อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์หรือไร้ค่าไร้ประโยชน์ไป แต่ถ้าเอามาใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการทำต่อสืบสานงานของท่านให้ขยายคุณค่าสู่วงกว้างขวางออกไปได้

หน้าที่ของครู ทั้งให้ความรู้ และให้เครื่องคุ้มภัย

อย่างไรก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดในการที่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้ทำงานเหล่านั้น งานสำคัญของท่านก็คือการเป็นครูอาจารย์นั่นเอง หมายความว่า ผลงานทั้งหมด กิจกรรมทั้งหมด และความรู้สึกนึกคิดจิตใจของท่านนั้น แสดงออกมาในฐานะของครูอาจารย์ คือการที่เป็นผู้ให้คำแนะนำสั่งสอน และจากฐานนี้เองก็ทำให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ลูกหา ที่มีอยู่จำนวนมากมาย และมีความกตัญญู ดังที่ได้มาแสดงออกร่วมกันบำเพ็ญกุศลในโอกาสนี้

เป็นธรรมดาในสังคมไทยของเรานี้ ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเคารพนับถือครูอาจารย์มาก ยิ่งครูอาจารย์ท่านเป็นผู้ทำหน้าที่อย่างดีเท่าใด ศิษย์ก็ยิ่งมีความเคารพนับถือ มีความกตัญญูมากเท่านั้น สำหรับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี นั้นก็จะไม่ต้องกล่าวมาก เพราะว่าการที่ลูกศิษย์มาช่วยกันตั้งมูลนิธิให้ท่านเป็นต้นนี้ ก็เป็นหลักฐานอย่างดีที่แสดงถึงความเคารพรักต่อท่านแล้ว

ทีนี้ถ้าเรามาดูในแง่ของการทำหน้าที่ของครูอาจารย์ มองกว้างๆ ออกไป ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็ปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา หน้าที่ของครูอาจารย์นั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วในคัมภีร์ทีฆนิกาย พระสูตรสำคัญที่กล่าวเรื่องนี้ ก็คือ สิงคาลกสูตร หรืออีกชื่อหนึ่งว่า สิคาโลวาทสูตร ที่แสดงถึงการทำงานหรือทำหน้าที่ของครูอาจารย์ไว้ในหลักธรรมเรื่องทิศหก มี ๕ ประการด้วยกัน

เราเรียนกันมาในหนังสือเรียนนักธรรมชั้นตรี ซึ่งท่านแปลให้อ่านกันง่ายๆ จำง่ายๆ ว่า

(๑) แนะนำดี

(๒) ให้เรียนดี

(๓) บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง

(๔) ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง

(๕) ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย (คือ จะไปทางทิศไหนก็ไม่อดอยาก)

หลักปฏิบัติหมวดนี้มี ๕ ข้อ และ ๕ ข้อนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ของครูอาจารย์

หน้าที่ของครูอาจารย์เป็นเรื่องสำคัญที่ว่า ถ้าทำถูกต้องแล้วจะช่วยให้ศิษย์มีชีวิตที่เจริญงอกงาม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ถ้าเรามาวิเคราะห์หน้าที่ ๕ ประการ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ก็อาจจะมองเห็นอะไรที่มันกว้างขวางออกไปอีก อาจจะมีนัยที่ลึกซึ้งลงไปซึ่งจะเรียนกันได้หลายชั้นก็ได้ จะขยายนัยกันไปอย่างไรก็ต้องยกเอาบาลีมาพิจารณา

เริ่มตั้งแต่ข้อหนึ่งบอกว่า สุวินีตํ วิเนนฺติ ที่ท่านแปลอย่างง่ายๆ ให้เราเรียนในชั้นนักธรรมตรีว่าแนะนำดี แนะนำดีนี้ ถ้าแปลตามศัพท์ สุวินีตํ วิเนนฺติ ก็จะแปลยักเยื้องไปได้อีกอย่างหนึ่ง ให้เป็นข้อความที่ยาวขึ้นว่า ฝึกอบรมให้เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดี หรือใช้คำสมัยใหม่ก็คือ ฝึกอบรมให้เป็นผู้มีการศึกษาดี อันนี้ประการที่หนึ่ง

ต่อไปข้อที่สองบอกว่า สุคหิตํ คาหาเปนฺติ ให้ถือเอาโดยเป็นการถือเอาอย่างดี หมายความว่าให้เรียนได้อย่างดี คือไม่ว่าจะสอนวิชาที่เป็นข้อมูลความรู้หรือทักษะอะไรต่างๆ อย่างใดให้ ก็รับถ่ายทอดได้อย่างแม่นยำครบถ้วน และมีความเข้าใจชัดเจน

ต่อไปข้อที่สามบอกว่า สพฺพสิปฺเปสุ ตํ สมกฺขายิโน ภวนฺติ ในหนังสือเรียนนักธรรมตรี ท่านแปลให้จำกันง่ายๆ ว่า บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง

ทีนี้ถ้าเราดูตามศัพท์ก็มีแง่ให้พิจารณาเพิ่มขึ้น พอดีว่าข้อนี้แปลก ในอรรถกถาไม่อธิบาย หน้าที่ข้อที่สามของครูอาจารย์นี่ ไม่มีคำอธิบายในอรรถกถา แต่เราลองมาแปลดู

สพฺพสิปฺเปสุ ตํ สมกฺขายิโน ภวนฺติ อาจจะแปลว่า เป็นผู้บอกความรู้แก่ศิษย์นั้นอย่างสม่ำเสมอในศิลปะทั้งปวงก็ได้ คือเป็นผู้บอกกล่าวถ่ายทอดวิชาให้อย่างสม่ำเสมอ ทำหน้าที่เป็นประจำสม่ำเสมอก็ได้

อีกนัยหนึ่ง จะแปลว่า เป็นผู้บอกความรู้ให้ศิษย์นั้น เป็นผู้เสมอเท่ากันกับตัวท่านในศิลปะทั้งปวงก็ได้ ถ้าแปลอย่างนี้ ก็ตรงกับนัยที่ท่านแสดงไว้ คือสอนศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง ให้มีความรู้เท่ากับท่าน

หรือจะแปลว่า บอกความรู้ให้อย่างเหมาะสมพอดีในศิลปะทั้งปวง หมายความว่ารู้ความเหมาะสมของลูกศิษย์นี้ว่าจะเรียนอะไรได้แค่ไหนก็สอนให้พอเหมาะก็ได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็แปลว่า เป็นผู้บอกความรู้ให้อย่างสมดุลในศิลปวิทยาทั้งปวง หมายความว่า วิทยาการทั้งหลายมีความประสานสอดคล้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จะต้องรู้จักความสมดุลด้วย คือสอนอย่างมีดุลยภาพในวิชาการทั้งหลาย เรื่องความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างวิชาการต่างๆ นี้ ในสมัยหลังให้ความสำคัญมาก โดยนัยนี้ ก็จะต้องมีการบอกศิลปวิทยาหรือสอนความรู้ให้อย่างที่เรียกว่ามีดุลยภาพด้วย อันนี้ก็เป็นข้อซึ่งอาจจะฝากไว้ช่วยกันพิจารณาต่อไป

ต่อไปข้อที่สี่ว่า มิตฺตามจฺเจสุ ปฏิเวเทนฺติ แปลว่า ประกาศให้ปรากฏในมิตรและอำมาตย์ทั้งหลาย มิตฺต ก็คือเพื่อนฝูง อมจฺจ แปลว่าผู้ร่วมงาน รวมแล้วก็หมายความว่าในวงผู้รู้จักคุ้นเคยหรือเกี่ยวข้องในสังคมนั่นเอง ถ้าว่าอย่างสมัยใหม่ ก็คือนำลูกศิษย์เข้าสู่สังคม ในสมัยปัจจุบันนี้ถือว่า หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาก็คือ socialization การนำคนเข้าสู่สังคม หมายความว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของครูอาจารย์ก็คือ การนำลูกศิษย์เข้าสู่สังคมให้ปรากฏตัวแสดงตัวเป็นที่ยอมรับในสังคม รู้จักเข้าสังคม มีคุณความดีความสามารถอะไร ก็ยกย่องทำให้ปรากฏ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะดำเนินชีวิตให้มีความสุขความเจริญในอนาคตต่อไป

ประการสุดท้าย ข้อที่ห้าว่า ทิสาสุ ปริตฺตาณํ กโรนฺติ แปลว่า ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย อรรถกถาท่านอธิบายไว้เยอะแยะ ข้อนี้เป็นข้อที่อรรถกถาอธิบายไว้มากที่สุด ในหนังสือเรียนนักธรรมตรีของเรา ท่านแปลไว้สั้นๆ ว่า ทำความป้องกันในทิศทั้งหลายคือ จะไปทางทิศไหนก็ไม่อดอยาก อันนี้ก็เป็นความหมายขั้นหนึ่ง หมายความว่า นอกจากสอนแล้วก็ดูแลเอาใจใส่ลูกศิษย์ด้วย

แต่เมื่อแปลดูจับใจความแล้ว หน้าที่ข้อนี้ก็คือการที่จะให้ลูกศิษย์สามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ เอาตัวอยู่รอดในสังคมได้ และดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดีในสังคมต่อไป ข้อนี้ ก็เป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของครู และในการที่จะทำให้ลูกศิษย์อยู่รอดปลอดภัยในสังคม ดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดีนั้น สิ่งสำคัญประการที่หนึ่งก็คือ จะต้องสอนวิชาให้ศิษย์เอาไปปฏิบัติหรือใช้การได้จริง ไม่ใช่สอนสักว่าผ่านๆ ต้องสอนให้เขาทำได้จริง ปฏิบัติได้จริงด้วย ถ้าเป็นอาชีพก็เป็นการฝึกสอนที่ทำให้เขามีความชำนิชำนาญนำไปใช้เลี้ยงชีวิตได้จริง

อย่างการศึกษาในยุคปัจจุบัน เวลานี้มีการติเตียนกันอย่างหนึ่งว่า สอนไปแล้วบางทีลูกศิษย์เรียนได้ไปแต่ทฤษฎี ปฏิบัติไม่ได้ เวลาออกไปแล้วทำอาชีพไม่ได้ ต้องไปเรียนใหม่ ไม่สามารถสู้คนที่เขาฝึกมาด้วยประสบการณ์ โดยไม่มีพื้นความรู้ จบเพียง ป. ๔ เท่านั้น แต่เขาอยู่ในวงงานนั้นและทำได้ดีกว่า ข้อบกพร่องนี้เกิดขึ้นเพราะว่าไม่มีการฝึกงานที่แท้ ไม่มีการสอนในภาคปฏิบัติกันจริงจัง เพราะฉะนั้น ความหมายส่วนหนึ่งในข้อนี้ก็คือการที่จะต้องสอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง จนกระทั่งเอาไปประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ แล้วเขาจึงจะไม่อดอยาก ไม่แร้นแค้น อยู่ได้ด้วยดีในสังคม เป็นการสร้างเครื่องคุ้มครองในสารทิศให้แก่เขาได้จริง

อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เขาอยู่รอดปลอดภัยในสังคม ก็คือการรับรองความรู้ให้ อาจจะเอื้อมไปถึงการรับรองความประพฤติด้วย การรับรองในสมัยนี้ก็ออกมาในรูปแบบของการให้ใบประกาศนียบัตรและใบสำคัญต่างๆ ฉะนั้น การให้ใบประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร และให้ใบรับรองความประพฤติ ก็อยู่ในข้อที่ห้านี้เอง เป็นสาระของการกระทำความคุ้มครองหรือป้องกันในทิศทั้งหลาย คือให้ลูกศิษย์อยู่รอดปลอดภัยในสังคม ดำเนินชีวิตด้วยดีได้ต่อไป

การศึกษามีหน้าที่หลักใหญ่ คือสอนให้เป็นคนดีที่เก่ง

ที่ว่ามานี้เป็นหน้าที่ ๕ ประการของครู ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะครูเท่านั้น โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกแห่งก็จะต้องทำหน้าที่นี้ ในที่นี้อยากจะเน้นความสำคัญ ๒ ประการ ข้อหนึ่งกับข้อสองนี่น่าเน้นมาก แล้วดูการเรียงลำดับของท่านด้วย

ข้อที่ ๑. สุวินีตํ วิเนนฺติ แนะนำหรือฝึกฝนให้เป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี ให้เป็นคนมีการศึกษาดี เป็นข้อที่เน้นหนักในด้านจริยธรรม

ข้อที่ ๒. สุคหิตํ คาหาเปนฺติ ให้รับเอาความรู้ได้อย่างดี นี้เป็นข้อที่เน้นในแง่ของวิชาการ

ตกลงว่ามีจุดเน้นสองข้อ ข้อที่หนึ่งเอาจริยธรรมนำมาก่อน ฝึกฝนอบรมให้เป็นคนดี ให้เป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีแล้ว เป็นคนที่เรียกได้ว่า educated man คือเป็นคนที่มีการศึกษาดี สุวินีต ถ้าแปลอย่างศัพท์สมัยใหม่ ก็ educated นั่นเอง จะต้องพยายามหาทางว่า ทำอย่างไรจะสอนเขาให้เป็นคนมีการศึกษาที่แท้จริง ให้เป็นคนที่ได้มีการฝึกฝนอบรมพัฒนาแล้วทั้งทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และทางปัญญา อย่างนี้จึงจะเป็นคนที่มีการศึกษา ทั้งนี้จุดเน้น ก็คือ จริยธรรม มาเป็นอันดับแรก แล้วข้อที่สองก็เน้นในด้านความรู้ หมายความว่าการที่พระพุทธเจ้าตรัสข้อหนึ่งและข้อสองมานี้ แสดงถึงการที่ครูจะต้องรับผิดชอบทั้งความรู้และความประพฤติของนักเรียน คือทั้งวิชชาและจรณะ

ข้อสังเกตสำคัญคือ การที่ท่านเอาข้อว่าด้วยความประพฤติหรือจรณะขึ้นก่อน คือเอา สุวินีตํ วิเนนฺติ ขึ้นก่อน แล้วจึงมาถึง สุคหิตํ คาหาเปนฺติ แสดงว่าต้องเน้นเรื่องความประพฤติ ในอรรถกถาท่านอธิบายไว้ ที่ว่าแนะนำให้เป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมดีนี้เป็นอย่างไร ท่านยกตัวอย่าง เช่นสอนหรือแนะนำแม้กระทั่งว่า ควรจะนั่งอย่างไร ควรจะยืนอย่างไร ควรจะบริโภคอาหารอย่างไร นี้ก็คือการฝึกอบรมแม้แต่ในเรื่องกริยามารยาทหรือเรื่องจริยธรรมทั้งหมดนั้นเอง รวมถึงการประพฤติตัว การอยู่ร่วมสังคมในแง่ต่างๆ อันนี้เป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของครูอาจารย์ จริยธรรม เป็นข้อนำหน้า แล้วข้อที่สองคือวิชชาจึงตามมา ก็ได้ทั้งวิชชาและจรณะ พูดอย่างง่ายๆ ว่า ให้เป็นคนดีเป็นพื้นฐานก่อน แล้วให้เป็นคนเก่งด้วย จะได้เป็นคนดีที่เก่ง

เพียงข้อหนึ่งและข้อสองนี้ก็มากมายแล้วสำหรับการทำหน้าที่ของครูอาจารย์และสถาบันการศึกษา ต่อจากนั้นยังมีตามมาอีกตั้งสามข้อเป็นส่วนพิเศษ สองข้อแรกนี้เป็นการให้ทั้งความรู้และความประพฤติ

ในแง่ของความรู้หรือวิชาการ และความประพฤติหรือจรณะหรือจริยานี้ สำหรับข้อสองคือในแง่ของความรู้ นั้นว่าที่จริงก็ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียวเท่านั้นที่ครูจะให้ แต่พร้อมกับความรู้ที่เป็นวิชาการนั้น จะต้องมีอะไรอีกอย่างหนึ่งติดมาด้วยเป็นคู่กัน คือความรู้กับความคิด เพราะฉะนั้น ข้อที่สองจึงแยกออกไปเป็นความรู้และความคิด

ความรู้และความคิดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ให้แต่ความรู้อย่างเดียว ถ้าไม่ให้ความคิดด้วยก็ไม่พอ ผู้ที่มีการศึกษาจะต้องคิดเป็นด้วย

ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าครูเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณมิตร นั้นนอกจากให้ความรู้ข้อมูลแก่ศิษย์ คือให้สุตะแล้ว จะต้องฝึกให้รู้จักคิดด้วย ให้สุตะก็คือให้ข้อมูล ตัวความรู้ ตัววิชาการ ฝึกให้รู้จักคิด คือจะต้องชักนำให้เกิดโยนิโสมนสิการด้วย คือฝึกให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณา รู้จักไตร่ตรองโดยแยบคายอย่างที่เขาเรียกกันในสมัยนี้ว่าคิดเป็น ครูอาจารย์จะต้องให้ทั้งความรู้และความคิด

ครูอาจารย์เป็นฐานให้ ศิษย์ขึ้นไปเหยียบยืนก็สูงพลัน

การที่ครูอาจารย์ทำหน้าที่แม้เพียงแค่ให้ความรู้และความคิด หรือชักนำในการที่จะมีความรู้และความคิดนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลแล้ว แม้ครูทำหน้าที่เพียงสองอย่างนี้ก็เป็นผู้มีพระคุณที่ศิษย์ควรกตัญญูเป็นอย่างยิ่ง ขอให้มองดูคุณค่าของความรู้และความคิดนี้ ถ้าเรามองดูให้ลึกซึ้งแล้ว มันเป็นสิ่งที่สำคัญเหลือเกิน ถ้าเราเปรียบในแง่ของความได้เปรียบระหว่างครูอาจารย์กับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็เป็นผู้ที่ได้เปรียบอย่างยิ่ง

วิชาความรู้บางอย่างนี่ ครูอาจารย์กว่าจะค้นกว่าจะคิดขึ้นมาได้ใช้เวลานานเหลือเกิน และแรงงานก็หนัก หมายความว่าทั้งหนักและนาน กว่าจะได้ความรู้นั้นมา ความคิดก็เช่นกัน ค้นคิดอยู่นั่นแหละ บางคนนี้เรื่องเดียว ทุ่มเทเวลาและแรงงานให้กับเรื่องนั้นตลอดชีวิตจึงสำเร็จผล แต่พอเอามาสอนลูกศิษย์เพียงชั่วโมงเดียวลูกศิษย์ก็ได้ไปหมดแล้ว นี่คือผลของหยาดเหงื่อแรงงานและเวลาของอาจารย์ทั้งชีวิต ลูกศิษย์รับเอาไปเดี๋ยวเดียวก็ได้หมด

เพราะฉะนั้นเราจะต้องนึกว่า ครูอาจารย์นี่เหนื่อยและหนักเพียงไร แล้วคุณค่าแห่งชีวิตของท่านทั้งหมดก็มารวมอยู่ที่วิชาการและความคิดที่ให้แก่เรา เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ลูกศิษย์ก็ควรจะมีความกตัญญู รู้คุณ ซาบซึ้งในคุณความดีของท่านเป็นอย่างมาก ในแง่ความคิดก็เช่นเดียวกัน

ในแง่ความรู้ เมื่ออาจารย์ใช้เวลาและแรงงานมากมายหมดไปแล้ว ได้ความรู้มาแค่นั้น แล้วเอามาให้ลูกศิษย์ ลูกศิษย์ใช้เวลานิดเดียวและแรงงานนิดเดียวได้มา ต่อจากนั้นลูกศิษย์ก็มีเวลาและมีโอกาสที่จะไปหาความรู้อื่นมาเสริม ขยายความรู้กว้างขวางออกไป นี่เป็นความได้เปรียบประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง ในแง่ของความคิด อาจารย์จะมองจะพิจารณาเรื่องอะไร ก็เอาความคิดของตัวเข้าพิจารณาจนเต็มที่แล้ว เมื่อได้ผลของความคิดมาก็เอามาบอกแก่ลูกศิษย์ ความคิดของตัวหรือผลผลิตของวิจารณญาณ เอาออกมาบอกลูกศิษย์เดี๋ยวเดียวก็หมด แต่ลูกศิษย์ซึ่งเป็นผู้มอง เมื่อได้รับผลอันนี้ไปแล้ว เสร็จแล้วตัวเองมีแง่คิดของตัวเองอย่างไรก็เป็นส่วนเพิ่มเข้ามาอีก ธรรมดาคนแต่ละคนก็ย่อมมีความคิดของตัวเอง โดยมีแง่มุมมองของตน ตนเองมีแง่มุมมองอย่างอื่นก็ได้ส่วนของตนเองเสริมเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าอาจารย์มีหนึ่ง ลูกศิษย์ก็ได้อย่างน้อยสอง

ในแง่ความรู้ อาจารย์หามานานได้เล็กน้อย แต่ลูกศิษย์มีเวลาไปหาเพิ่มต่อได้มากมาย ในแง่ความคิด อาจารย์มีหนึ่งแต่ลูกศิษย์ขยายเป็นสอง เพราะฉะนั้นลูกศิษย์ก็ย่อมได้เปรียบอาจารย์ จึงเป็นธรรมดาที่ลูกศิษย์ควรจะดีกว่าอาจารย์ ถ้ามองในแง่นี้แล้วย่อมเป็นธรรมดาที่ลูกศิษย์จะต้องดีกว่าอาจารย์

ถ้าลูกศิษย์ไม่ดีกว่าอาจารย์แล้ว โลกไม่เจริญ และแสดงว่าลูกศิษย์นั้นไม่มีความสามารถ เพราะอะไร เพราะว่าของที่เขาหยิบเป็นผลสำเร็จเอามายื่นให้ตัวเองรับไปเดี๋ยวเดียวยังรับไม่ได้ บางทีแม้แต่รับก็ไม่ได้ อย่าว่าถึงจะไปสานสืบขยายต่อไป มองอย่างนี้แล้วก็เป็นเรื่องที่ว่า ลูกศิษย์ควรจะมีความรู้และความคิดที่เจริญงอกงามยิ่งกว่าอาจารย์ ซึ่งเป็นธรรมดาของการสร้างสรรค์อารยธรรมที่ควรจะเป็นอย่างนั้น พูดเปรียบง่ายๆ ในแง่หนึ่ง เหมือนครูอาจารย์เป็นฐานให้ แล้วลูกศิษย์ขึ้นไปยืน ก็ย่อมสูงเลยขึ้นไป

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยกมากล่าว เพื่อให้เห็นว่า เพียงแต่ครูอาจารย์ทำหน้าที่ข้อที่หนึ่งและข้อที่สองที่ว่า สุวินีตํ วิเนนฺติ ฝึกอบรมให้เป็นคนที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดี และ สุคหิตํ คาหาเปนฺติ ให้ได้รับความรู้เป็นอย่างดี เพียงแค่นี้ก็มีพระคุณมากมาย แม้แต่เพียงข้อสองข้อเดียวก็เป็นเรื่องมหาศาลอยู่แล้ว เพราะทำให้ศิษย์มีฐานที่จะสร้างสรรค์ความเจริญพัฒนาทั้งแก่ชีวิตของตนเองและแก่สังคมได้สืบต่อไป

ความกตัญญู คือเอาดีจากครูให้ได้มากที่สุด

ทีนี้เรามามองดูว่าศิษย์ควรจะทำอย่างไรจึงจะสามารถรับความรู้ของอาจารย์ได้หมดและเป็นศิษย์ที่ดีกว่าครู ดีกว่าครูในแง่ที่ว่าสามารถพัฒนาสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไปโดยที่ยังเห็นคุณค่าของครู คือเป็นศิษย์ที่กตัญญูแล้วก็มีคุณค่าของตนเองด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อสนองน้ำใจที่ดีงามของครูผู้มีพระคุณอย่างที่กล่าวมา ศิษย์ควรจะทำตนให้เป็นคนดีมีน้ำใจต่อครูด้วยการทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้องสมบูรณ์ และหน้าที่ของศิษย์นั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้แล้วเป็นคู่กัน ทรงสอนไว้สำหรับอาจารย์ห้า และก็สอนไว้สำหรับลูกศิษย์ห้า เช่นเดียวกัน

เมื่อลูกศิษย์ทำหน้าที่ของตนเองตามหลักปฏิบัตินี้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าไปปรนนิบัติเอาใจครูอาจารย์ ซึ่งในส่วนหนึ่งเราจะเห็นว่า เป็นอย่างนั้น แต่ที่จริงการกระทำอย่างนั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ตัวลูกศิษย์เอง การที่ลูกศิษย์ไปปรนนิบัติแสดงความกตัญญูเคารพครูอาจารย์นั้น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของลูกศิษย์เอง แล้วก็จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดวิชาการ คือทำประโยชน์ให้แก่วิชาการไปด้วย หน้าที่ของลูกศิษย์ หรือข้อปฏิบัติของศิษย์ต่ออาจารย์ ก็ดังเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว มีห้าข้อเช่นเดียวกัน ในหนังสือเรียนนักธรรมตรีขั้นต้น ท่านก็แปลให้เราจำกันง่ายๆ บอกว่ามีอะไรบ้าง โดยไม่ต้องอธิบายขยายความ กล่าวคือ ศิษย์แสดงน้ำใจต่ออาจารย์หรือปฏิบัติอาจารย์

๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ

๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้

๓. ด้วยเชื่อฟัง

๔. ด้วยอุปัฏฐาก

๕. ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

อันนี้เป็นการแปลเพื่อให้เราเรียนในขั้นต้น ทีนี้เราก็มาดูในภาษาบาลี

ข้อที่ ๑. อุฏฺฐาเนน ได้แก่การลุกขึ้นยืนรับ ข้อนี้ตรงกับที่เราเรียน คือการแสดงความเคารพนั่นเอง การแสดงความเคารพเป็นเบื้องต้นของการที่เราให้ความสำคัญแก่สิ่งที่เราเกี่ยวข้อง พอเราให้ความสำคัญแก่สิ่งนั้น เราก็จะเกิดความตั้งใจเอาจริงเอาจัง เพราะฉะนั้น เมื่อพบครูอาจารย์ เราก็ให้ความสำคัญแก่ท่าน พอให้ความสำคัญด้วยการแสดงความเคารพแล้ว ต่อจากนั้นเราก็พร้อมที่จะรับฟัง มีความตั้งใจฟังหรือเล่าเรียนอย่างจริงจัง ต่อจากลุกรับแสดงความเคารพ ให้ความสำคัญแล้ว

ข้อที่ ๒. อุปฎฺฐาเนน ท่านให้ไว้สั้นๆ ว่า เข้าไปยืนคอยรับใช้ แต่ อุปัฏฐานะ นี้คืออะไร แปลตามตัว ก็เข้าไปยืนใกล้ๆ อุปัฏฐานนี้เราแปลกันอย่างโบราณก็คือ เข้าไปเฝ้า การเฝ้านั้น มีความหมายอย่างไร ไม่ใช่เข้าไปบำรุงรับใช้อย่างเดียว อย่างเข้าไปเฝ้าพระราชา เฝ้านั้นในแง่หนึ่งก็รับใช้พระราชา แต่ความหมายที่แท้ก็คือทำราชการนั่นเอง ทำราชการก็คืองานหน้าที่เพื่อการแผ่นดินหรือเพื่อประเทศชาติ ฉะนั้น การที่เข้าไปเฝ้าไปยืนใกล้ชิดนี่มันมีความหมายถึง การไปคอยรับฟังสิ่งที่ท่านจะบอกให้เรา ไปปรึกษาหารือ เผื่อว่าเรามีอะไรเป็นข้อสงสัยก็ไปไถ่ถามท่าน มีอะไรที่จะทำได้ก็จะได้ทำ พูดง่ายๆ เข้าไปหา หรือเข้าไปอยู่ใกล้ชิด

การที่จะรับความรู้จากอาจารย์ ตลอดจนซึมซาบในเรื่องความประพฤติของท่าน และในบุคลิกลักษณะของท่านได้อย่างดี ก็ต้องเข้าไปมีความใกล้ชิด การเข้าไปยืนอยู่ใกล้ก็คือเข้าไปอยู่ใกล้ชิดนั่นเอง ในอรรถกถาท่านยังอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ศิษย์ควรเข้าไปยืนอยู่ใกล้ (คือเข้าไปหาอาจารย์) วันละสามเวลา ไม่นับที่เข้าไปเพื่อเรียนศิลปวิทยาต่างหาก ว่าอย่างนั้น นี่แสดงว่า การที่ท่านบอกไว้อย่างนี้ ก็เพื่อให้ลูกศิษย์นั้นเก็บจากอาจารย์ได้หมดสิ้น เรียบไม่มีเหลือหรอ หลักการนี้ก็คือการที่จะให้ลูกศิษย์ได้จากอาจารย์ให้ครบ เพราะการเรียนสมัยโบราณเป็นการเรียนตัวต่อตัว การที่กำหนดหน้าที่เข้าไปเลยว่า ให้เข้าไปอยู่ใกล้ๆ คอยอยู่ใกล้ชิด จึงเป็นวิธีการที่ดีที่จะได้รับเอาความรู้ ศิลปวิทยา ตลอดจนคำแนะนำสั่งสอนทุกด้านทั้งวิชชาและจรณะเอามาให้ครบถ้วนทั้งหมด อุปัฏฐานะนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ในพระไตรปิฎกมีข้อความกล่าวถึงอาคารสำคัญหลังหนึ่งในวัด คือ อุปัฏฐานศาลา ซึ่งเราแปลกันมาว่า ศาลาเป็นที่บำรุง ศาลาเป็นที่บำรุงอันนี้ใช้งานอย่างหนึ่งก็คือเป็นหอฉัน แต่เวลาบ่ายหลังจากพระฉันแล้วใช้เป็นอะไร พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปที่อุปัฏฐานศาลา พระภิกษุรูปหนึ่งกำลังแสดงธรรมให้พระภิกษุรูปอื่นๆ ในที่ประชุมฟัง พระองค์เห็นว่าพระภิกษุรูปนั้นแสดงธรรมค้างอยู่ พระองค์ก็ไม่เข้าไปขัด พระองค์ก็ประทับยืนอยู่ข้างนอก รอจนกระทั่งพระภิกษุรูปนั้นแสดงธรรมจบแล้ว พระองค์จึงทรงกระแอมไอและเสด็จเข้าไป แล้วก็ทรงอนุโมทนาการที่ภิกษุรูปนั้นได้แสดงธรรมให้เพื่อนภิกษุฟัง อย่างนี้เป็นต้น

อุปัฏฐานศาลาก็แปลว่า ศาลาเป็นที่ประชุมนั่นเอง คือเป็นที่มาเล่าเรียน มาฟังหาความรู้ และมาประชุมสังสรรค์พบปะสนทนา และสากัจฉาอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น อุปัฏฐานนี่น่าจะแปลกันให้กว้าง การเข้าไปยืนใกล้ชิดนี้ ย่อมหมายถึงการเข้าไปหา เพื่อจะได้เข้าไปรับความรู้ก็ตาม ปรึกษาหารือก็ตาม สำเหนียกทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ก็ตาม รวมความก็คือ การใกล้ชิดอาจารย์ที่จะเป็นประโยชน์ในทางการศึกษาทุกอย่างนั่นเอง นี่เป็นอุปัฏฐานะ

ข้อ ๓. สุสฺสูสาย ที่แปลกันว่า เชื่อฟังนั้น ถ้าถือตามตัวอักษรก็แปลว่า ฟังด้วยดี ฟังด้วยดี ก็มีความหมายหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ ตั้งใจฟัง อย่างหนึ่งก็คือสำเหนียก สำเหนียกก็คือการรู้จักกำหนดเลือกเอาส่วนที่เป็นประโยชน์จากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เอามาใช้ประโยชน์ได้ อย่างที่บอกว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา เป็นต้น

ข้อ ๔. ปาริจริยาย ในหนังสือเรียนนักธรรมชั้นตรี ท่านแปลไว้ว่า ด้วยอุปัฏฐาก อุปัฏฐากนี้ที่จริงเป็นคำแปลของข้อที่สองคือ อุปัฏฐาเนน แต่ท่านยกไปเป็นคำแปลของ ปาริจริยาย ปาริจริยาย ก็คือการปรนนิบัตินั่นเอง หมายความว่า ข้อนี้เป็นการรับใช้ส่วนตัว เป็นการใกล้ชิดมากขึ้นไปอีก โดยการที่เอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของท่าน ท่านบอกว่าตั้งแต่ตื่นเช้าก็เอาไม้สีฟันไปให้ดังนี้เป็นต้น นี่คือหลักการอยู่ร่วมกันที่ทางการศึกษาสมัยโบราณถือว่าเป็นการเรียนตัวต่อตัว และให้อาจารย์กับลูกศิษย์เหมือนพ่อกับลูก เพราะฉะนั้น ความหมายของการอยู่ใกล้ชิดกันประการหนึ่งก็คือ การเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ส่วนตัวของกันและกัน

ข้อ ๕. สกฺกจฺจํ สิปฺปํ ปฏิคฺคหเณน ถือเอาหรือรับเอาศิลปวิทยาโดยเคารพ ที่ว่าโดยเคารพก็คือ โดยตั้งใจทำจริงทำจัง ไม่ใช่ทำเล่นๆ หมายความว่า ตั้งใจเล่าเรียนนั่นเอง เมื่อตั้งใจเล่าเรียน ก็เป็นการทำหน้าที่ของเราต่อวิชาการนั้นเอง ข้อปฏิบัตินี้มองในแง่หนึ่งก็เป็นการปฏิบัติต่อครูอาจารย์ แต่ที่จริงก็คือเป็นการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลทางวิชาการ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง และเป็นประโยชน์แก่วิชาการในการที่จะสืบทอดวิชาการนั้นให้คงอยู่สืบต่อไปด้วย

ลูกศิษย์นั้นมีหน้าที่ในการขยายวิชาการ ถ้าหากว่าลูกศิษย์มีความสามารถปฏิบัติถูกต้องตามหน้าที่ ๕ ประการนี้แล้ว ก็จะสามารถรับการถ่ายทอดวิชาการได้อย่างดี และจะเป็นลูกศิษย์ที่สามารถขยายวิชาการนั้นให้รุ่งเรือง เฟื่องฟูยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมจากรุ่นของอาจารย์อีก แล้ววิชาการนั้นจึงจะเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ

อันนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติต่างๆ ที่นำมากล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มาในพระบาลี แต่เรายกมาเพื่อจะมาวิจารณ์ หรือว่ามาขยายความกัน ก็ได้กล่าวมาเป็นเวลาพอสมควร

จากเรื่องของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็ได้โยงมาหาเรื่อง อาจารย์กับลูกศิษย์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ท่านเป็นอาจารย์ และท่านที่มาในที่นี้ โดยเฉพาะท่านที่เป็นเจ้าภาพ มาประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ท่านครั้งนี้ก็เพราะฐานะที่เป็นศิษย์อย่างที่กล่าวแล้ว กล่าวคือเป็นศิษย์ พธ.บ. รุ่นที่ ๑๑ รุ่นที่เข้ามหาจุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความเคารพต่อท่านอาจารย์ แล้วก็มีความกตัญญูระลึกถึงพระคุณของท่าน

เราควรจะมาช่วยกันทำหน้าที่ทางการศึกษา โดยเริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์นี้อย่างถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์นี้จะเป็นตัวนำที่จะทำให้การศึกษาดำเนินไปด้วยดี

ฉะนั้น เราจะต้องไม่มองข้ามความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์นี้ แต่จะต้องมองให้เห็นความหมายที่ถูกต้องด้วย เมื่อทำหน้าที่ถูกต้องในด้านความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์แล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานของความเจริญงอกงามของการศึกษาสืบต่อไป แล้วการศึกษานั้นก็จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศชาติ

ในวันนี้ได้พูดมาให้เห็นว่า ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้เป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการให้ความรู้ที่จะพัฒนาชีวิตของศิษย์แต่ละคนเป็นส่วนตัว พร้อมทั้งพัฒนาวิชาการ และพัฒนาสังคมเป็นส่วนรวมด้วย

บัดนี้ ท่านทั้งหลายมีความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของอาจารย์ ได้มาเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศล นับว่าเป็นการแสดงออกที่น่าอนุโมทนา เราทั้งหลายทำใจได้อย่างนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากแล้ว ก็ขอให้ทุกท่านมีความเอิบอิ่มเบิกบานใจในบุญกุศลที่ตนได้ทำ เริ่มตั้งแต่กุศลเจตนาเป็นต้นไป การที่มีกุศลเจตนาและมีความกตัญญูนี้เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นในใจแล้ว ควรแก่การมีปีติ คืออิ่มเอิบใจ ยิ่งเมื่อได้แสดงออกมาภายนอกให้ปรากฏแก่สังคมอย่างนี้ ก็มีความภูมิใจขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งว่า สิ่งที่ควรทำเราได้ทำแล้ว การที่ได้มีความรู้สึกขึ้นมากับตนเองว่า สิ่งที่ควรทำเราได้ทำแล้วนี้ จะทำให้เรามีความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจได้มากยิ่งขึ้น

ต่อจากนั้น เมื่อมีความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจ มีน้ำใจเป็นกุศลแล้วจิตใจก็ผ่องใสบริสุทธิ์ ก็ขอเชิญน้อมใจรำลึกถึงบุญกุศลทั้งหมดอุทิศไปให้แก่อาจารย์เสฐียร พันธรังษี แม้ท่านสถิตอยู่ในแดนใดก็ตามในสัมปรายภพ ก็ขอให้ท่านได้รับทราบและอนุโมทนาบุญกิริยาของปวงศิษย์ในโอกาสนี้ด้วย และขอให้ท่านได้ประสบสุขสมบัติในสัมปรายภพตามสมควรแก่คติวิสัย สืบต่อไป

วันนี้ ได้กล่าวธรรมกถามาพอสมควรแก่เวลา ขอร่วมอนุโมทนากับท่านเจ้าภาพทั้งปวง และในวาระนี้ ก็ขอโอกาสให้ทุกท่านได้แสดงน้ำใจต่อ ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี อีกครั้งหนึ่ง โดยเราทุกคนมาพร้อมใจกันทำจิตใจให้สงบ สำรวมจิตน้อมรำลึกถึงบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว และอุทิศกุศลนี้ให้แก่ท่าน

บัดนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายได้นั่งสงบจิตสงบใจ อุทิศกุศลเป็นเวลา ประมาณ ๓ นาที ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอทุกท่านจงได้ร่วมใจกัน ณ บัดนี้ ขออนุโมทนาทุกท่าน และยุติธรรมกถาเพียงเท่านี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หลักประสาน ๔ ประการ เพื่อถางทางสู่อนาคตที่พึงปรารถนาปลูกต้นไม้แห่งคุณธรรม >>

เชิงอรรถ

  1. ธรรมกถาของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในโอกาสบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวาร อุทิศ ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังสี ณ ตึกมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๔

No Comments

Comments are closed.