โลกวัตถุ: แดนตัวเองที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่จบ

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 27 จาก 37 ตอนของ

โลกวัตถุ: แดนตัวเอง
ที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่จบ

ยิ่งกว่านั้น ที่จริงเวลานี้ แม้แต่ในแดนของโลกวัตถุเองที่เราบอกว่าวิทยาศาสตร์เจริญมาจนจะสุดพรมแดนนั้น ตัวความจริงในฝ่ายโลกวัตถุนี่ในขั้นพื้นฐานจริงๆ ก็อย่างที่บอกแล้วว่าวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถตอบได้ คือวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายแม้แต่ในขอบเขตของโลกวัตถุ ยังมีสิ่งที่วิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้หรือไม่แน่ใจ บอกไม่ถูก หรือเคยแน่ใจแล้วกลับเป็นไม่แน่ใจ เคยคิดว่าถูกแล้วกลับเป็นไม่ถูกใหม่อีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง quark ที่เราเรียก “ควาร์ก” หรือ “ควอร์ก”

ควาร์ก ก็คืออนุภาคพื้นฐานของสสาร คือเป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดแล้ว แต่มันเป็น fundamental คือเป็นพื้นฐานจริงหรือเปล่า อันนี้ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ ก็ได้แค่ เชื่อ ว่ามันถึงที่สุดแล้ว แต่บางคนบอกว่า ไม่แน่ใจว่ามันเป็น fundamental แท้หรือเปล่า ยังจะค้นหาต่อลงไปอีกได้หรือเปล่า หรือแม้แต่ว่ามันมีจริงหรือไม่ ก็ไม่ได้แน่นอนเด็ดขาดลงไป

ทีนี้เช่นเดียวกัน quanta หรือควอนตาในฝ่าย energy ก็ว่าคล้ายเป็นส่วน fundamental เหมือนกัน คือเป็นหน่วยพื้นฐานของฝ่าย energy แต่ก็ไม่ลงตัวแน่นอน ยังเป็นเรื่องของความเข้าใจและความเชื่อในระดับเดียวกัน

ในขั้นสุดท้าย ที่ว่า matter กับ energy เป็น ๒ โฉมหน้าของสิ่งเดียวกันนี่เราก็ยังไม่รู้ว่า ถ้าเป็นจริงอย่างนั้นแล้วมันสลับกันได้อย่างไร แม้แต่เรื่องแสงที่เราได้หาความรู้กับมันมานานและใช้ประโยชน์กันมานาน จนกระทั่งบัดนี้วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบขั้นสุดท้ายว่า ธรรมชาติของแสงเป็นอย่างไรกันแน่ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าธรรมชาติของแสงยังเป็นสิ่งลึกลับที่สุดอย่างหนึ่งของวิทยาศาสตร์

แสงก็เช่นเดียวกัน เป็นพลังงานที่ว่าเป็นทั้งคลื่นทั้งอนุภาค มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร แล้วก็เป็นพลังงานที่มีความเร็วคงที่ได้อย่างไร ในขณะที่ว่าในทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น แม้แต่เวลาก็ยังมีการยืดการหด เวลายืดหดได้ แต่แสงไม่ยืดไม่หด แสงคงที่ตลอด ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์ที่ทำให้มองเห็นความเข้าใจผิดของนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนที่หลงกันมา จนกระทั่งไอน์สไตน์ได้มาพูดขึ้น มาแสดงความจริงขึ้น

เรื่อง wave หรือคลื่น บางอย่างก็เป็นสิ่งลึกลับของวิทยาศาสตร์อยู่ต่อไป แม้แต่เรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า ก็เป็นความลึกลับอย่างหนึ่ง ที่ยังตอบชัดเจนไม่ได้ ในแง่เป็นคลื่นหรือเป็นอนุภาค cosmic ray มาจากไหน ก็ว่ายังตอบไม่ได้ แม้แต่ในเรื่อง gravitation ก็มีปัญหาว่า gravity ทำงานอย่างไร คือรู้กฎว่ามันเป็นความจริงที่มีอยู่อย่างนั้น และก็เอามาใช้กัน แต่มันทำงานอย่างไร ก็ไม่รู้ กลไกของมันเป็นอย่างไร เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจ และที่ว่า space time mass ก็ถูกทำให้ผิดรูปไปเพราะทฤษฎีสัมพัทธ­ภาพได้ มันเป็นอย่างไร อันนี้มนุษย์ธรรมดาก็ยากที่จะเข้าใจได้

รวมแล้วก็คือว่า วิทยาศาสตร์ยังไม่อาจรู้ชัดถึงต้นกำเนิดทั้งของจักรวาลและของชีวิต สิ่งที่ศึกษาในขั้นสุดท้ายของวิทยาศาสตร์ ก็คือกำเนิดของจักรวาล และกำเนิดของชีวิต เขาบอกว่า ตอนนี้ก็ถือว่า Big Bang นั่นแหละเป็นจุดกำเนิดของจักรวาล แต่ทำไมจึงเกิด Big Bang ทำไมจึงเกิดอะตอม ก็ต้องถามต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด แม้แต่ชีวิตคืออะไร อะไรต่างๆ เริ่มเมื่อไร ก็แบบเดียวกัน

อย่างที่พูดเมื่อกี้ เช่นบอกว่า matter คือสสารยุบตัวอย่างไรใน black hole ก็เป็นสิ่งที่นอกจากคนธรรมดาจะคิดไม่ถึงแล้ว วิทยาศาสตร์เองก็ยังต้องพยายามหาคำตอบกันต่อไป และ the unified field theory ก็ยังไม่ลงตัว ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน สรุปก็คือว่า สภาพความจริงพื้นฐานที่สุด เป็นสิ่งที่ยังไม่อาจรู้สมบูรณ์ได้ หรืออย่างที่นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับบอกเลยว่า “ไม่มีทางที่วิทยาศาสตร์จะเข้าถึงได้โดยตรง”

ทีนี้ถ้าว่าตามเหตุผลสามัญในแง่ของความจริงนั้น เราก็บอกได้ว่า มันเป็นธรรมดาอยู่เองที่การจำกัดตัวเองอยู่ในขอบเขตของโลกวัตถุ หรือการใช้วิธีหาความจริงแบบโลกวัตถุอย่างเดียวนั้น ย่อมไม่อาจให้รู้ความจริงถึงที่สุดได้ คือไม่อาจเข้าถึงความจริงได้แม้แต่ในโลกของวัตถุเอง หมาย​ความว่า แม้แต่ความจริงขั้นสุดท้ายในโลกของวัตถุเอง ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการหาความจริงในด้านเดียวของโลกวัตถุ เพราะแท้จริงแล้ว ความจริงทุกด้านของจักรวาลพิภพย่อมโยงถึงกันหมด ในเมื่อมันโยงถึงกันหมดแล้วเราไปเรียนรู้อยู่ข้างเดียว แล้วจะให้ตอบคำถามถึงที่สุดย่อมไม่ได้ ต้องไปหาความรู้ในความจริงอีกด้านหนึ่งมาเสริมด้วย เพราะว่าปมความลับที่เหลืออยู่นั้น อาจจะไปอยู่อีกด้านหนึ่งของความจริง ที่เราไม่ยอมเข้าไปค้นคว้านั้นก็ได้

ก็เลยกลายเป็นว่า เมื่อวิทยาศาสตร์ค้นคว้า physical world หรือโลกฝ่ายวัตถุนี้ไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ถ้าจะค้นต่อไปมันจะบังคับให้วิทยา­ศาสตร์ต้องสนใจคิดตอบปัญหาด้านจิตใจด้วย คือมันจะบังคับเองว่าจะต้องไปคิดหาคำตอบด้านจิตใจให้ได้ จึงจะมาตอบคำถามทางด้านโลกวัตถุได้ ดังนั้น ถ้าวิทยาศาสตร์จะครอบคลุมความจริงทั้งหมด ก็ต้องอธิบายเรื่องจิตด้วย ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่าปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์อย่างนักฟิสิกส์หลายคนได้หันมาสนใจปัญหาเรื่องจิตใจว่า จิตใจทำงานอย่างไร

บางคนบอกว่าแม้แต่ the theory of relativity คือทฤษฎีสัม­พัทธภาพ นี่ ในระดับหนึ่งมันก็เป็นเพียงระบบปรัชญาในความคิดเท่านั้น กาลเทศะก็อาศัย consciousness เป็นเรื่องทางด้าน mind ความเข้าใจอย่างธรรมดาของมนุษย์ต่อสัณฐานและขนาดของวัตถุ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของประสาทสัมผัสเอง แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความคิด เป็นข้อสรุปของจิตใจ ไม่ใช่แค่ประสาททั้งห้า ตาเห็นวัตถุ แต่ไม่ได้เห็นขนาด ไม่ได้เห็นสัณฐาน การเห็นสัณฐานและขนาดนั้นเป็นการเห็นของใจอีกชั้นหนึ่งต่างหาก ดังนี้เป็นต้น ความรู้ทางด้านประสาทสัมผัสจึงไม่ได้เสร็จสิ้นอย่างนั้น

ทีนี้ตัวรู้วิทยาศาสตร์คืออะไร ก็คือจิต แต่ธรรมชาติของจิตนั้นวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ ในเมื่อวิทยาศาสตร์ถูกรู้โดยจิต ถ้าวิทยาศาสตร์จะถึงที่สุดก็ต้องรู้ตัวจิตที่มารู้วิทยาศาสตร์ด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องตัวรู้กับสิ่งที่ถูกรู้นี้ว่า แยกกันต่างหากหรือเป็นสิ่งเดียวกัน ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็เลยหันมาขบคิดปัญหาเรื่องธรรมชาติของจิตกันมากขึ้น ว่าจิตนั้นคืออะไรกันแน่ จิตเป็นเพียงปรากฏการณ์ในกลไกการทำงานของวัตถุอย่างคอมพิวเตอร์เท่านั้นหรือ เหมือนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่าคอมพิวเตอร์ต่อไปจะมีจิตได้ไหม?

ตอนนี้ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้ว หลายคนได้เขียนหนังสือเป็นเล่มโตๆ เพื่อถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ที่ดูแล้วอย่างของ Penrose1 ที่ว่าเป็น national bestseller ก็บอกว่าไม่ใช่แน่ ไม่ใช่ คอมพิวเตอร์ไม่มีทางที่จะมีจิตใจขึ้นมาได้ แต่รวมความก็คือความสงสัยนี้จะต้องโยงไปหาเรื่องนี้จนได้ คือจะต้องข้ามแดนไปหาแดนของจิต อย่างที่จะเป็นปัญหาต่อไปว่า จิตกับวัตถุเป็นอันเดียวกันหรือคนละอย่างซึ่งที่จริงปัญหาทำนองนี้มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลแล้ว เช่นในอัพยากตปัญหา (ปัญหาที่พระพุทธ­เจ้าไม่ทรงพยากรณ์) ที่บอกว่าชีวะกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ถามกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ในปัจจุบันเท่าที่มองระยะนี้เห็นว่า นักฟิสิกส์หรือวงการชั้นนำในทางวิทยาศาสตร์ ดูเหมือนจะแยกได้สัก ๔ พวก ในแง่ที่พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องสัจจธรรมหรือความจริง

พวกที่หนึ่ง ถูกพวกที่ไม่เห็นด้วยเรียกว่าพวก orthodox หรือพวกหัวเก่า พวกนี้ยังยืนยันความเห็นว่าวิทยาศาสตร์ตอบปัญหาได้ทุกอย่าง วิทยาศาสตร์เป็นทางเดียวที่จะเข้าถึงความจริงอันสมบูรณ์

พวกที่สอง ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ใหม่ ยอมรับว่า วิทยาศาสตร์ไม่อาจอธิบายแดนของจิต แต่มีความเห็นทำนองว่าควรจะต่างคนต่างอยู่ พวกนี้ไม่เห็นด้วยกับพวกที่เอาเรื่อง physics โดยเฉพาะ the new physics มาโยงกับเรื่องศาสนาตะวันออก อย่างเช่นนักเขียนวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อ ปาเจลส์ (Pagels)2 ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของฟ⁠ริตจ๊อฟ คาปรา (Fritjof Capra) ที่เอา the new physics มาโยงกับเรื่อง mysticism ของตะวันออก เช่นในเรื่อง meditation อะไรพวกนี้ อย่างที่เขาเขียนไว้ใน The Tao of Physics3

พวกที่สาม ได้แก่พวกฟิสิกส์ใหม่พวกหนึ่งที่ถือว่าฟิสิกส์สอดคล้องเสริมกันกับศาสนาตะวันออก ศาสนาตะวันออกช่วยอธิบายความจริง ชี้ทางออกหรือต่อยอดฟิสิกส์ได้ เช่นอย่างคาปราที่ว่าเมื่อกี้ ที่ได้เขียน The Tao of Physics และ The Turning Point4 เป็นต้น แต่อย่าไปคิดว่า วงการฟิสิกส์จะเห็นด้วยกับคาปราไปหมด บางพวกด่าคาปราอย่างรุนแรง

พวกที่สี่ ก็เป็นพวกวิทยาศาสตร์ใหม่อีกพวกหนึ่ง แต่เป็นพวกที่เห็นว่าแดนวัตถุของฟิสิกส์นั้น เป็นความจริงระดับหนึ่งอยู่ภายในแดนที่ครอบคลุมของฝ่ายจิต อันนี้ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือเป็นวงในและวงนอกของวงกลมใหญ่เดียวกัน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่จะต้องว่ากันต่อไป ในที่นี้ก็จะยังไม่วิจารณ์ ทีนี้ต่อไป ขึ้นหัวข้อใหม่เลย คือ เราจะก้าวเข้าไปสู่แดนของจิตใจที่วิทยาศาสตร์ยังก้าวไปไม่ถึง หรือยังไม่ได้พิจารณา รวมถึงเรื่องคุณค่าต่างๆ ด้วย ซึ่งในเวลาที่จำกัดก็จะได้เพียงเป็นของตัวอย่าง เช่น เรื่องจริยธรรม

 

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สุดแดนวิทย์ เข้ามาจ่อแดนจิตจริยธรรม: ด่านหน้าที่รอประลองของแดนนามธรรมแห่งจิต >>

เชิงอรรถ

  1. Roger Penrose, The Emperor’s New Mind (New York: Penguin Books USA Inc., 1991).
  2. Heinz R. Pagels, The Dreams of Reason: The Computer and the Rise of the Sciences of Complexity (New York: Bantam Books, 1989).
  3. Fritjof Capra, The Tao of Physics (London: Fontana Paperbacks, 1983).
  4. Fritjof Capra, The Turning Point (London: Fontana Paperbacks, 1982).

No Comments

Comments are closed.