ศาสนาแห่งธรรมชาติ และการรู้ธรรมชาติด้วยปัญญา

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 16 จาก 37 ตอนของ

ศาสนาแห่งธรรมชาติ และการรู้ธรรมชาติด้วยปัญญา

ทีนี้เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้ อาตมาจะขอเอาเวลาช่วงนี้มาใช้กับการพูดถึงหลักการพื้นฐานบางอย่างที่พึงสังเกตของพุทธ­ศาสนา ตอนแรกนี้ พูดถึงตัวหลักการที่เป็นพุทธพจน์ คือคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าเสียก่อน แล้วค่อยมาวิเคราะห์กันอีกทีหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นก็จึงจะเอามาโยงกับวิทยาศาสตร์ในตอนหลัง

หลักการพื้นฐานบางอย่างของพุทธศาสนาที่ควรทราบในตอนนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พูดมาเมื่อกี้ ขอนำมาแสดงดังต่อไปนี้

ข้อที่ ๑ หลักกฎธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมดา ได้แก่ถือว่าความจริงนั้นเป็นกฎธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้ามีฐานะเป็นผู้ค้นพบ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เราถือว่า พระพุทธเจ้า เป็นผู้ค้นพบความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ ดังมีหลักคำสอนที่พระสวดบ่อยๆ ในงานอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับ คือ ธรรมนิยามสูตร1 โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าพระท่านสวดอะไรกัน แต่ท่านบอกให้ฟังว่า กฎความจริงของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนั้นเองเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม มันก็เป็นของมันอย่างนั้น พระก็ประกาศหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา ญาติโยมก็ฟังตลอดเวลา แต่ก็ไม่รู้ตลอดเวลาเหมือนกัน

หลักธรรมนิยาม หรือกฎธรรมชาติที่ว่านี้เป็นอย่างไร พระสวดว่า “อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ” แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นหลักยืนตัวอยู่ตามธรรมดา เป็นกฎธรรมชาติว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากเหตุปัจจัยล้วนแต่ “ไม่คงที่” “ไม่คงตัว” และ “ไม่เป็นตัว”

ไม่คงที่ คือ มันเกิดดับๆ เกิดขึ้นแล้วสลายไปๆ ตลอดเวลา

ไม่คงตัว คือ มันถูกปัจจัยที่ขัดแย้งบีบคั้นให้คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้

ไม่เป็นตัว คือ มันไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย มันจะปรากฏรูปร่างอย่างไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัย นี่ก็คือหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง เป็นความจริงพื้นฐานในที่สุด

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงนี้แล้ว จึงนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้ง่าย ให้ชัดเจนขึ้น ว่าดังนี้ๆ

ข้อที่หนึ่งนี้เป็นหลักสำคัญมาก เป็นหลักพื้นฐานของพุทธศาสนา คือการที่ถือว่า กฎธรรมชาตินี้ เป็นความจริงพื้นฐาน

เราควรจะรีบผ่านหลักเหล่านี้ไป เพราะมีเวลาน้อย

ข้อที่ ๒ หลักเหตุปัจจัย นอกจากว่าสิ่งทั้งหลาย ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่เป็นตัวแล้ว ก็บอกหลักความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นเหตุปัจจัยแบบอิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย ที่เราเรียกว่า “กฎปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งมีสาระสำคัญโดยย่อว่า2

“อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ; อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ.

อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ; อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ.”

แปลว่า “เมื่ออันนี้มี อันนี้จึงมี; เมื่ออันนี้ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี.

เพราะอันนี้เกิด อันนี้จึงเกิด; เพราะอันนี้ดับ อันนี้ก็ดับ”

นี้คือหลักความจริงพื้นฐาน ซึ่งเป็นกฎทั่วไป จากนั้นก็ขยายความออกไป เป็นการประยุกต์ใช้กฎทั่วไปนั้นในเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี พูดง่ายๆ นี้ก็คือ หลักกฎธรรมชาติ คือความเป็นเหตุเป็นผลขั้นพื้นฐาน

เป็นที่น่าสังเกตว่า พุทธศาสนาถือหลักเหตุปัจจัย เรานิยมพูดว่า หลักเหตุปัจจัย ไม่พูดว่า หลักเหตุผล เพราะคำว่าเหตุผลนั้นหมายถึงเหตุกับผล ซึ่งชี้จำกัดเฉพาะปัจจัยตัวตรงอย่างเดียว ในพุทธศาสนาท่านถือว่า สิ่งที่ทำให้ผลเกิดขึ้นไม่ใช่เหตุอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยต่างๆ ด้วย ปัจจัยพรั่งพร้อมแล้วจึงเกิดผล อันนี้ก็เป็นหลักการที่สำคัญ

ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เช่น เราปลูกมะม่วง ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมา ต้นมะม่วงนั้นก็เป็นผล แล้วอะไรเป็นเหตุของต้นมะม่วง ก็ตอบว่าเม็ดมะม่วง เม็ดมะม่วงก็คือ พืชของมัน เม็ดมะม่วงเป็นเหตุของต้นมะม่วง แต่ถ้ามีเหตุอย่างเดียว ผลไม่เกิด มีแต่เม็ดมะม่วง ต้นมะม่วงเกิดไม่ได้ มันต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาศัยดิน อาศัยน้ำ อาศัยออกซิเจน อาศัยอุณหภูมิที่พอเหมาะ อาศัยปุ๋ย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้พรั่งพร้อมแล้วต้นมะม่วงจึงปรากฏขึ้นมา นี้คือหลักเหตุปัจจัยในพุทธศาสนา ปัจจัยพรั่งพร้อมถึงที่ผลก็ปรากฏ หลักความจริงนี้จะช่วยอธิบายข้อสงสัยอย่างที่บางคนพูดว่า ฉันทำเหตุ แล้วทำไมฉันไม่ได้ผล ก็ต้องย้อนถามว่า อ้าว . . ดูปัจจัยหรือเปล่า

อนึ่ง ขอให้สังเกตด้วยว่า ความเป็นเหตุปัจจัยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับกาลเวลา เรามักจะมองว่า อันนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วต่อไปอันนั้นจึงเกิด ไม่จำเป็นต้องอย่างนั้น สมมติว่า มีกระดานดำ หรือกระดานป้ายอยู่ข้างหลังอาตมา แล้วเราใช้ชอล์กเขียนบนกระดานนั้น เขียนเป็นตัวหนังสือ ก.ไก่ ข.ไข่ ขึ้นมา ก.ไก่ ข.ไข่ ที่ปรากฏขึ้นมาก็เป็นผล

ในการที่ตัว “ก.ไก่” “ข.ไข่” ปรากฏขึ้นมาบนกระดานให้เราอ่านได้นี่ อะไรเป็นเหตุ ถ้าในแง่ภาษาเราบอกว่า คน ถ้าในแง่รูปภาพ ที่เป็นตัวขาวๆ เราตอบว่า ชอล์ก ใช่ไหม แต่ไม่ว่าจะเอาเหตุไหนก็ตาม ถ้ามีแค่เหตุนั้นอย่างเดียว ผลไม่ปรากฏ คือมันไม่พอที่จะให้ตัว “ก” ปรากฏขึ้นมา การที่ตัวอักษร “ก” จะปรากฏขึ้นมา ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ พรั่งพร้อม ต้องมีทั้งคนเขียน ต้องมีชอล์ก ต้องมีกระดานที่รองรับ มีกระดานก็ยังไม่พอ ต้องมีสีที่ต่างกันให้ตัดกันได้ ต้องมีอุณหภูมิ ต้องมีความชื้นพอดี ต้องไม่มีน้ำเหลวอยู่บนนั้น ที่จะทำให้ชอล์กละลายไปหมด หรือเขียนไม่ได้ ต้องมีอะไรต่ออะไรพอดี เหล่านี้คือปัจจัยต่างๆ ที่พรั่งพร้อมซึ่งทำให้ผลเกิดขึ้น

ทีนี้ ก็มาถึงข้อสังเกตที่ว่าข้างต้น คือ ในการที่ตัว “ก” ปรากฏนี่ ปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมาก่อนใช่ไหม ในบรรดาปัจจัยที่ทำให้ตัว “ก” ปรากฏนี้ จะเห็นชัดว่าปัจจัยบางอย่างก็มีอยู่พร้อมกัน เป็นปัจจัยที่อิงอาศัยกันในลักษณะต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามลำดับกาล นี้คือหลักเหตุปัจจัยในพุทธศาสนา เป็นการยกตัวอย่างเอามา โดยมุ่งให้มองในแง่ของประเด็นสำคัญคือ ต้องการให้เห็นว่า เป็นหลักเหตุปัจจัย

ข้อที่ ๓ หลักศรัทธา เมื่อกี้ได้บอกว่า พุทธศาสนาย้ายจากศรัทธามาสู่ปัญญาแล้ว ยังจะมาพูดเรื่องศรัทธาอะไรกันอีก ขอทำความเข้าใจว่า ศรัทธาก็ยังมีบทบาทอยู่ แต่มันเปลี่ยนบทบาทใหม่

ตอนแรกนี้ขอให้ดูก่อนว่าในพุทธศาสนา หลักศรัทธาโยงไปหาการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ตรง คำสอนด้านนี้ที่อ้างกันมาก ก็คือ กาลาม­สูตร ซึ่งแสดงพุทธโอวาทว่า3

    “นี่แน่ะ กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้ฟังตามกันมา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้เรียนตามกันมา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะเสียงเล่าลือ
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะอ้างตำรา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะตรรก
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะอนุมานเอา
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะมีรูปลักษณะน่าเชื่อ
    อย่าเชื่อ เพียงเพราะเห็นว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูอาจารย์ของเรา”

การที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ทำให้ฝรั่งทึ่งมาก ตอนที่ฝรั่งได้ยินเรื่องพุทธศาสนานี่ โจษจันกันเรื่อง กาลามสูตร เป็นคำสอนที่เด่นมาก เพราะว่าตอนนั้นวิทยาศาสตร์กำลังเฟื่อง คนก็เลยชอบแนวความคิดแบบที่ว่าจะต้องไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จะต้องเชื่อความจริงที่พิสูจน์ได้ พอมาเจอพระสูตรนี้เข้าฝรั่งเลยประทับใจแล้วก็รู้จักกาลามสูตรมากหน่อย ปรากฏว่า ในตอนที่ฝรั่งรู้จักกาลามสูตรในนามของพุทธศาสนานั้น คนไทยไม่รู้จัก ถามคนไทยแทบไม่มีรู้จักเลย ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซนต์แน่นอน แม้แต่ ๐.๐๐๑% ก็ไม่รู้จักกาลามสูตร แต่ฝรั่งที่รู้จักพุทธศาสนา รู้จักกาลามสูตร คนไทยเป็นชาวพุทธไม่รู้จักกาลามสูตร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชอบกลในวงการพุทธศาสนา

ในกาลามสูตรนั้น พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปอีกว่า จะต้องรู้เข้าใจด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล มีโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดทุกข์ พึงละเสีย ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสุข ก็ให้ถือปฏิบัติ นี่ก็คือ เป็นเรื่องที่ต้องรู้ชัด ประจักษ์แก่ตนเอง เป็นประสบการณ์ตรง นี่คือการย้ายจากศรัทธา ไปสู่ปัญญา

นอกจากนั้นยังมีหลักที่บอกชัดๆ ถึงการตรวจสอบด้วยประสบ­การณ์ตรง เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา ไม่ต้องอาศัยการถูกกับใจชอบ ไม่ต้องอาศัยการเรียนตามกันมา ไม่ต้องอาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่ต้องอาศัยความเข้าได้กับทฤษฎีของตน ก็รู้ชัดได้ในใจของตนเองว่า เรามีโลภะ หรือไม่มีโลภะ เรามีโทสะ หรือไม่มีโทสะ เรามีโมหะ หรือไม่มีโมหะ4 ในใจของเราขณะนี้ นี่เป็นประสบการณ์ตรงแท้ๆ สภาพในใจของเรา เราก็รู้ได้เอง และก็รู้ชัดในขณะนั้น นี่เป็นหลักที่เรียกว่า การตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรง

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา จุดแยกหรือจุดบรรจบศาสนาแห่งการเพียรแก้ปัญหา ด้วยการพัฒนาปัญญาของมนุษย์ >>

เชิงอรรถ

  1. ธรรมนิยามสูตร หรือ อุปปาทสูตร, องฺ.ติก. ๒๐/๕๗๖/๓๖๘
  2. เช่น นตุมหสูตร, สํ.นิ. ๑๖/๑๔๔/๗๗
  3. กาลามสูตร หรือ เกสปุตติยสูตร, องฺ.ติก. ๒๐/๕๐๕/๒๔๑
  4. นัย ปริยายสูตร, สํ.สฬ. ๑๘/๒๓๙-๒๔๒/๑๗๓-๑๗๖

No Comments

Comments are closed.