ศรัทธาที่ครบชุด ต้องทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 21 จาก 37 ตอนของ

ศรัทธาที่ครบชุด ต้องทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม

๒) ระดับที่สอง หรือระดับรอง: ศรัทธา ๒ อย่าง ที่โยงต่อกัน

ศรัทธาระดับที่สอง ก็มีจุดที่เป็นเป้า ๒ จุด กล่าวคือ ธรรมชาติกับตัวมนุษย์ และโยงจุดเป้าทั้งสองมาต่อเนื่องกัน เช่นเดียวกับศรัทธาระดับที่หนึ่ง แต่ศรัทธาระดับที่สองนี้แยกเป็นศรัทธา ๒ อย่าง ต่างหากกันชัดเจนออกไป คือ

  1. ศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติ ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า ธรรมชาติเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เรียกสั้นๆ ว่า ศรัทธาในกฎธรรมชาติ อย่างที่กล่าวมาแล้ว
  2. ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้รู้เข้าใจความจริงแห่งกฎธรรมชาติ และเข้าถึงชีวิตที่ดีงามสูงสุด บรรลุอิสรภาพได้ เรียกสั้นๆ ว่า ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์

ศรัทธา ๒ อย่างนี้ มีความสัมพันธ์อิงอาศัยสืบเนื่องกันโยงต่อกัน เช่นว่า การที่เราพัฒนาศักยภาพ ตามศรัทธาในข้อที่ ๒ (ความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาได้) นั้น ก็โดยมุ่งเพื่อให้รู้เข้าใจและเข้าถึงสัจ⁠จภาวะของกฎธรรมชาติ ตามความเชื่อในศรัทธาข้อที่ ๑ และในทางกลับกัน การที่จะพัฒนาศักยภาพได้ตามศรัทธาในข้อที่ ๒ ก็ด้วยการนำเอาความรู้ในกฎธรรมชาติตามศรัทธาในข้อที่ ๑ มาใช้ประโยชน์กับตัวมนุษย์ จึงเป็นการโยงสัมพันธ์บรรจบกัน ถ้าพูดอย่างง่ายๆ ก็ว่า รู้เข้าใจธรรมชาติ เพื่อเอาความรู้มาใช้พัฒนามนุษย์ และพัฒนามนุษย์ก็เพื่อให้รู้เข้าใจ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

รวมความว่า ศรัทธา ๒ อย่างที่ต่างกันเป็น ๒ เป้านั้น โยงเข้ามาบรรจบกันเอง ได้แก่การที่พุทธศาสนามีเป้าหมาย ซึ่งต้องการที่จะเอาความรู้ในกฎธรรมชาติมาใช้กับตัวมนุษย์ ในการที่จะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นั้นขึ้นไป ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้ลอยๆ และการพัฒนาศักยภาพนั้น ก็จะทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

ถ้ามองให้ลึกลงไป จะเห็นว่า ที่จริงนั้น ความสัมพันธ์อิงอาศัยและโยงกันระหว่างศรัทธา ยังซับซ้อนกว่านี้อีก กล่าวคือ ความสัมพันธ์โยงกัน มิได้มีเฉพาะระหว่างศรัทธาในกฎธรรมชาติที่จะต้องรู้เข้าใจความจริง กับศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ที่จะต้องพัฒนาขึ้นไปเท่านั้น แม้แต่ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่หนึ่ง กับศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ในระดับที่สองนี้ ก็มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน

ในระดับที่หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสองด้านของศรัทธามองเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ การเข้าถึงความดีงามสูงสุด ซึ่งจะเรียกว่า ภาวะไร้ทุกข์ หรืออิสรภาพก็ตาม จะสำเร็จได้ ก็โดยต้องเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ และในเวลาเดียวกัน การเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติอย่างครอบคลุม ทั้งธรรมชาติภายนอกทั่วไป และธรรมชาติภายในของตัวมนุษย์ ก็มีค่าและมีผลเป็นการเข้าถึงความดีงามสูงสุดไปด้วยพร้อมกัน

ในระดับที่สอง ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ มีความสัมพันธ์กับศรัทธาในระดับที่หนึ่ง ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับธรรมชาติทั่วไปภายนอก คือสามารถพัฒนาให้รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติได้ และทั้งในด้านที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ คือสามารถพัฒนาให้เข้าถึงความดีงามสูงสุด บรรลุอิสรภาพได้ และเนื่องจากการเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติกับการเข้าถึงความดีงามสูงสุด ก็เชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพที่จะเข้าถึงจุดหมายทั้งสองด้าน จึงมีค่าที่รวมลงเป็นอันเดียวกัน

ถ้าวิเคราะห์ให้ละเอียดจะเห็นว่า มีความสัมพันธ์เชิงเหตุผลเป็นวงจร ซ้อนอยู่ภายในระบบของศรัทธานี้หลายชั้น เช่นว่า การที่เราต้องการรู้เข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ ก็เพื่อและมีผลให้เราปฏิบัติต่อธรรมชาติ (ทั้งต่อธรรมชาติทั่วไปภายนอก และต่อชีวิตมนุษย์ของเราเอง) ได้อย่างถูกต้อง ในกรณีนี้ การที่เราศึกษาให้รู้เข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ ก็คือการพัฒนาศักยภาพในตัวมนุษย์ของเรา และการที่เราปฏิบัติต่อธรรมชาติได้ถูกต้อง ก็คือการพัฒนาตนเองของมนุษย์

พร้อมกันนั้น การรู้เข้าใจสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องต่อธรรมชาติ (ทั้งภายนอกและภายในตัว) ได้มากขึ้น ก็คือ การเข้าใกล้ที่จะบรรลุถึงความดีงามหรือคุณค่าสูงสุดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ จึงมีค่าเป็นการเข้าถึงกฎธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความหมายเป็นการเข้าถึงความดีงามสูงสุดมากขึ้นไปด้วยพร้อมกัน และการเข้าถึงกฎธรรมชาติมากขึ้น ก็หมายถึงการมีความรู้ความเข้าใจที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติได้ถูกต้องในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งก็มีค่าเป็นการเข้าถึงความดีงามสูงสุดได้มากขึ้นนั่นเอง

การที่จะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ บังคับให้ต้องรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อธรรมชาติในการที่จะพัฒนาตนได้ถูกต้อง และการที่จะเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติอันจะให้บรรลุถึงความดีงามสูงสุด ก็บังคับให้มนุษย์ต้องพัฒนาศักยภาพของตน พร้อมกันนั้น การปฏิบัติต่อธรรมชาติทั้งโลกและชีวิตได้ถูกต้องด้วยการรู้เข้าใจเข้าถึงกฎธรรมชาติ ก็คือ การพัฒนาตนของมนุษย์ที่จะเข้าถึงความดีงามที่เป็นคุณค่าสูงสุด ดังนี้เป็นต้น และในที่สุด การเข้าถึงความจริงและการเข้าถึงความดีงามสูงสุดก็เกิดขึ้นพร้อมเป็นหนึ่งในขณะเดียวกัน

ถ้าใช้ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติต่อธรรมชาติทั้งโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้อง เรียกว่าเป็น มรรค หรือการดำเนินชีวิตที่ดี ส่วนการพัฒนาศักยภาพให้รู้จักที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติคือ โลกและชีวิตนั้นได้อย่างถูกต้อง เรียกว่า สิกขา หรือการศึกษา มรรคกับสิกขาเกี่ยวโยงเคียงคู่กันไปในการก้าวสู่ความเข้าถึงกฎธรรมชาติและความดีงามสูงสุด

พึงสังเกตว่า ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่สอง มีความแตกต่างอย่างสำคัญจากศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่หนึ่ง กล่าวคือ ในระดับที่หนึ่ง ตัวมนุษย์ถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โดยเฉพาะเป็นส่วนที่ทำให้การเข้าถึงความจริงของธรรมชาติมีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่หนึ่งจึงจัดเข้าเป็นศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติด้วย โดยรวมอยู่ในคำว่า ศรัทธาในธรรม แต่ศรัทธาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ในระดับที่สองนี้ เป็นเรื่องจำเพาะต่อตัวของมนุษย์เอง

เมื่อมองดูทางด้านวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์มีศรัทธายืนตัวชัดเจนอยู่อย่างเดียว คือ ศรัทธาในกฎธรรมชาติ การที่พระพุทธศาสนามีศรัทธาในตัวมนุษย์เพิ่มเข้ามา และศรัทธาในตัวมนุษย์ซึ่งเป็นศรัทธาเกี่ยวกับคุณค่านั้น มีทั้งสองระดับ ก็เป็นการช่วยเติมเต็ม ทำให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์แก่การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือการแสวง​หาความจริงของมนุษย์

ศรัทธาในตัวมนุษย์ระดับที่ ๑ คือ ศรัทธาในคุณค่าสูงสุด ซึ่งเป็นธรรมชาติด้านนามธรรม ช่วยขยายแดนแห่งความจริงที่จะเข้าถึงออกไป ให้ครบบริบูรณ์ ครอบคลุมทั่วทั้งหมด

ศรัทธาในตัวมนุษย์ระดับที่ ๒ คือ ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาได้สูงสุด ทำให้การแสวงหาความรู้มีเป้าหมายและขอบเขตชัดเจนแน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับการที่จะเข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุด ไม่เป็นการแสวงหาความรู้อย่างเลื่อนลอย เปะปะ แล้วถูกคุณค่าแปลกปลอมแทรกเข้ามาครอบงำ

ศรัทธาทั้งสองระดับนี้ ถ้าจัดให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ ก็เป็นศรัทธาชุดเดียวกัน แต่ถ้านำมาจัดเรียงไว้ด้วยกันให้ครบถ้วน ก็อาจเป็นการยากสำหรับบางคนที่จะทำความเข้าใจตามได้ทัน จึงขอให้ถือเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ

ศรัทธา ๒ ระดับข้างต้น จัดระบบรวมเป็นชุดเดียวกันได้ดังนี้

๑. ศรัทธาในธรรม แยกเป็น ๒ ด้าน

ก) ศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติทั่วไปภายนอก คือ ความเชื่อมั่นในความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย หรือเชื่อในกฎธรรมชาติ

ข) ศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติภายในตัวมนุษย์ คือความเชื่อมั่นในความดีงามสูงสุด หรือภาวะไร้ทุกข์ บรรลุถึงอิสรภาพของมนุษย์ ที่เข้าถึงได้ตามกฎธรรมชาติ หรือเชื่อในคุณค่าสูงสุด

๒. ศรัทธาในตัวมนุษย์ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาได้

ก) ที่จะให้รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงแห่งกฎธรรมชาติ

ข) ที่จะให้เข้าถึงความดีงามสูงสุด บรรลุอิสรภาพ

ศรัทธาข้อแรก ทั้งความเชื่อในกฎธรรมชาติและความเชื่อในความดีงามสูงสุดของมนุษย์ เรียกให้สั้นว่า ศรัทธาในธรรม ส่วนข้อที่สอง คือความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เรียกเป็นศัพท์ว่า ศรัทธาในโพธิ หมาย​ความว่าเป็นความเชื่อในปัญญาของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาให้เป็นพุทธะได้ ถ้ายกเอาตัวมนุษย์ขึ้นตั้ง โดยเน้นบุคคลในอุดมคติ ผู้บรรลุจุดหมายในการที่พัฒนาศักยภาพนั้นได้สำเร็จ ในฐานะเป็นต้นแบบสำหรับเตือนจิต​สำนึกในความมีศักยภาพนั้นของมนุษย์แต่ละคน ก็เรียกว่า ศรัทธาในพุทธ

ศรัทธาในมนุษย์นี้ยังแยกย่อยออกไปอีกเป็น ๒ ส่วน คือเชื่อในตัวมนุษย์และในสังคมมนุษย์ ศรัทธาในสังคมมนุษย์ก็คือความเชื่อในหมู่ชนและสังคมของมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นไปได้ ซึ่งเป็นที่ปรากฏแห่งความรู้ในกฎธรรมชาติที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้จริงจัง หมายความว่า ศรัทธาในการพัฒนาศักยภาพนี้จะเชื่อมต่อไปยังกฎธรรมชาติว่า เราจะต้องนำเอากฎธรรมชาติหรือความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาใช้ในการพัฒนามนุษย์ สร้างสังคมของมนุษย์ที่พัฒนาตนขึ้นมา แล้วหมู่มนุษย์ที่พัฒนาตนตามหลักความรู้ในกฎธรรมชาตินี้ ก็จะเป็นทั้งที่ปรากฏผลแห่งการใช้ความรู้ในกฎธรรมชาตินั้น และเป็นที่ดำรงความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นไว้ให้ปรากฏแก่มนุษย์รุ่นต่อๆ ไป เป็นความสัมพันธ์อย่างเข้าถึงกันแท้จริงระหว่างหมู่มนุษย์กับธรรมชาติ นี่คือความเชื่อในสังคมอุดมคติ ซึ่งเรียกว่า ศรัทธาในสงฆ์ หรือ ศรัทธาในสังฆะ

รวมทั้งหมดก็มี ๓ อย่าง คือ ศรัทธาในธรรมะ ศรัทธาในพุทธะ และศรัทธาในสังฆะ เป็นชุดของศรัทธาที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันสู่ความเป็นอันเดียว แต่ในเชิงปฏิบัติ เรียงลำดับใหม่ โดยยกศรัทธาในพุทธะขึ้นก่อน คือยกเอามนุษย์ขึ้นตั้ง ชี้ไปที่ตัวแบบซึ่งเป็นจุดเริ่มกระตุ้นที่จะโยงสู่ศรัทธาข้ออื่นให้ครบชุดต่อไป (เป็นวิธีเรียงลำดับเชิงปฏิบัติ ตามหลักการเดียวกับอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งเริ่มด้วยปัญหาที่มนุษย์เผชิญ คือทุกข์ก่อน ทั้งที่ปัญหานั้นเป็นผล ซึ่งควรมาต่อจากเหตุ แต่ยกผลขึ้นตั้งเป็นจุดเริ่มที่จะสืบสาวสู่เหตุต่อไป) เมื่อรวมเป็น ๓ อย่างนี้ เรียกเป็นชุดว่าศรัทธาในพระรัตนตรัย กล่าวคือ ศรัทธาในพุทธะ ในธรรมะ และในสังฆะ

ศรัทธาทั้งชุด ๓ อย่างนั้น บางทีเรียกรวบรัด โดยใช้คำเดียวว่า ศรัทธาในโพธิ คือ ความเชื่อมั่นในปัญญาของมนุษย์ที่จะพัฒนาศักยภาพให้เข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดได้ โดยที่ โพธิ นั้น เป็นภาวะที่โยงพุทธะ ธรรมะ และสังฆะ เข้าด้วยกัน

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศรัทธา: จุดร่วมที่แตกต่าง ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ทำท่าจะเหมือน แต่ก็ไม่เหมือน >>

No Comments

Comments are closed.