วิทยาศาสตร์: ต้นวงจรที่เฉออกไปจากมนุษย์

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 29 จาก 37 ตอนของ

วิทยาศาสตร์: ต้นวงจรที่เฉออกไปจากมนุษย์

ทีนี้ ลองมาเทียบดูระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์อีกเรื่องหนึ่ง คือที่บอกเมื่อกี้ว่าวงจรวิทยาศาสตร์ไม่ครบไม่ครอบคลุมความเป็นมนุษย์ เพราะเฉออกไปเสีย เป็นวงจรที่ออกไปสู่โลกวัตถุ ต่างจากพุทธศาสนาที่ว่า พระพุทธศาสนารู้ธรรมชาติ คือรู้สัจจธรรม แล้วก็นำไปสู่การวางกฎเกณฑ์จริยธรรมตามนั้น และเมื่อจริยธรรมเกิดขึ้น มนุษย์ประพฤติตามนั้น ก็ได้ผลซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติเพราะจริยธรรมนั้นสอดคล้องกับกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย มนุษย์ก็เข้าถึงชีวิตที่ดีงามที่เป็นจุดหมายซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของเหตุผล ฉะนั้นก็เป็นวงจรที่ครบสามท่อนคือ รู้ธรรมชาติหรือรู้สัจจธรรม ๑ แล้วก็ดำเนินตามจริยธรรม ๑ แล้วก็เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ๑

ส่วนวิทยาศาสตร์นั้นก็รู้สัจจธรรมที่เป็นธรรมชาติ แต่เป็นฝ่ายโลกวัตถุ แล้วก็นำไปสู่วิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี แล้วก็นำไปสู่ผลที่ต้องการคือชีวิตที่พรั่งพร้อม

ฝ่ายหนึ่งนำไปสู่ชีวิตที่ดีงาม อีกฝ่ายหนึ่งนำไปสู่ชีวิตที่พรั่งพร้อม ฝ่ายหนึ่งว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ อีกฝ่ายหนึ่งว่าด้วยธรรมชาติของโลกวัตถุ ที่ว่านี้เป็นการบอกว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่โยงสัจจธรรมออกไปหาจริยธรรม แต่เพราะเอาสัจจธรรมแค่โลกวัตถุ ก็เลยโยงไปหาเทคโนโลยี

ในที่นี้จะพูดถึงหลักการอันหนึ่งที่เอามาแสดงลักษณะของวิทยา­ศาสตร์ได้ คือ วิทยาศาสตร์นั้นตอบแต่ “What is?” ไม่ตอบ “What should be?” หรือ “What ought to be?” (ในที่นี้จะพูดสั้นๆ ว่า What is กับ What should) แล้วก็ถือว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของ What should คือ มันควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์จึงไม่ตอบเรื่องจริยธรรม ส่วนพุทธศาสนานั้นตอบทั้งคู่ โดยบอกว่าต้องรู้ What is จึงตอบ What should ได้ และถือว่า What is กับ What should ไม่ใช่คนละเรื่องแต่เป็นเรื่องที่สืบเนื่องกัน และความจริงไม่ใช่ What should ด้วย แต่น่าจะเป็น It follows that หมายความว่า เมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็จะต้องเป็นอย่างนั้นต่อไป นี่ก็คือพุทธศาสนาบอกความสัมพันธ์ระหว่างสองอย่าง ในขณะที่วิทยาศาสตร์ปฏิเสธ หรือไม่ได้เฉลียวใจที่จะคิดเรื่องนี้

ถ้ามองจากสายตาพุทธ การที่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นำไปสู่เทคโนโลยี ก็เป็นลักษณะหนึ่งของการที่ What is นำไปสู่ What should เหมือนกัน แต่อย่างที่ว่าเมื่อกี้ การใช้คำว่า What should อาจจะไม่ถูกต้อง คือมันไม่แสดงถึงความต่อเนื่องตามเหตุปัจจัยที่ว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วมันจะต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งในภาษาของฝ่ายพุทธศาสนาถือว่ามันเป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงให้รู้กันว่า What should เป็นสิ่งที่ตามมาจาก What is

ขอยกตัวอย่างทางรูปธรรม เช่น วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์บอกง่ายๆ ว่า น้ำจะแข็งเมื่อ (อุณหภูมิลดต่ำลงถึง) ศูนย์องศาเซลเซียส สมมติว่าอย่างนี้ เทคโนโลยีก็เข้ามาตอนนี้บอกว่า เออ เราต้องการจะทำน้ำให้เป็นน้ำแข็ง วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์บอกมาแล้วนี่ว่าความจริงเป็นอย่างนั้น น้ำจะเย็นถึงจุดเยือกแข็งเมื่อศูนย์องศาเซลเซียส เราก็หาเครื่องมือหรือประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมา ทำให้น้ำนี่ลดอุณหภูมิลงไปถึงระดับศูนย์องศาเซลเซียส เราก็ได้น้ำแข็ง หลักการกับวิธีการนี้ต้องต่อเนื่องสอดคล้องกัน จึงได้บอกว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เป็นการรู้สัจจธรรม ซึ่งเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์​ประยุกต์นำมาใช้ประโยชน์โดยจะต้องทำจะต้องปฏิบัติตามนั้น

ถ้าหากเป็นเรื่องทั่วไปอย่างนี้วิทยาศาสตร์จะบอก แต่พอถึงเรื่องมนุษย์แล้ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเงียบ มันก็ทำนองเดียวกัน สมมติว่าเราไปเห็นหลุมไฟแห่งหนึ่งร้อนมาก ถึง ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส เราก็บอกความจริงว่า ร่างกายของมนุษย์นี่ถ้าถูกอุณหภูมิสูงเกินเท่านั้นไปอยู่ไม่ได้ต้องตายแหลกลาญ เพราะมันมีความจริงอยู่อย่างนั้น เราจึงบอกต่อไปว่า ถ้าท่านไม่ต้องการแหลกลาญ ไม่ต้องการตาย ก็อย่าเข้าไปในหลุมนั้น ในกรณีนี้สัจจธรรมก็คือตัวความจริงที่บอกว่า หลุมไฟนั้นมีความร้อนเท่านี้ ร่างกายของท่านมันทนไม่ได้ ถูกอย่างนั้นมันจะตาย จริยธรรมก็คือหลักปฏิบัติสืบเนื่องจากนั้นที่บอกว่า เมื่อท่านไม่ต้องการจะตาย ท่านก็ต้องไม่ หรืออย่า หรือไม่ควรจะเข้าไปในหลุมนั้น การไม่เข้าไปในหลุมเพราะไม่ต้องการจะตาย อันนี้คือ จริยธรรม จริยธรรมจะมาในรูปนี้โดยตลอด ดังนั้นจริยธรรมที่แท้จึงต้องมีสัจจธรรมเป็นรากฐาน เราจะต้องหาตัวนี้ว่า สัจจธรรมอะไร แค่ไหน ขอบเขตเพียงใด ที่นำมาสู่จริยธรรมที่ต้องการ

วิทยาศาสตร์มาจบอยู่แค่กระบวนการฝ่ายโลกวัตถุ ไม่เข้ามาถึงตัวมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงไม่แนะนำวิธีปฏิบัติหรือวิธีวางตนของมนุษย์ และจึงไม่มาถึงจริยธรรม แต่ว่าที่จริงแล้ว เคยพูดว่า เพราะเรื่องจิตใจนี่แหละวิทยาศาสตร์จึงเกิดขึ้นได้ และจึงเจริญสืบมา เพราะจุดกำเนิดและปัจจัยที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าพัฒนามาได้ ก็คือการมีความใฝ่รู้ที่เป็นคุณค่าในทางจิตใจ รวมทั้งมีความเชื่อในความจริงที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติ ความเชื่อในกฎธรรมชาติ ตลอดกระทั่งแม้แต่คุณค่าที่เสริมเข้ามา เช่นต้องการพิชิตหรือเอาชนะธรรมชาติก็ตาม ก็อยู่ในกระบวนการหาความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระบวนการทางจิตควบกำกับอยู่ตลอดเวลา

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จริยธรรม: ด่านหน้าที่รอประลองของแดนนามธรรมแห่งจิตศาสนาที่แท้เป็นฐานกำเนิดของวิทยาศาสตร์ >>

No Comments

Comments are closed.