แดนแห่งความรู้: ขอบเขตและเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 23 จาก 37 ตอนของ

แดนแห่งความรู้: ขอบเขตและเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน

ถ้าวิเคราะห์กันต่อไปอีก ก็จะเห็นว่า การที่วิทยาศาสตร์มีช่องโหว่เป็นปลายเปิดนี้ ก็เพราะวิทยาศาสตร์แสวงหาความรู้ความจริงของธรรมชาติในโลกฝ่ายวัตถุภายนอกด้านเดียว ไม่แสวงหาความรู้ความจริงในธรรมชาติของตัวมนุษย์เอง

วิทยาศาสตร์ไม่สนใจและไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ก็จึงไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องกลายไปเป็นเครื่องมือสนองรับใช้แนวคิดแบบอุตสาหกรรมที่วางจุดหมายอย่างผิดธรรมชาติ กล่าวคือ การไม่รู้ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่า การบำเรอความสุขทางประสาททั้ง ๕ เป็นสิ่งที่ไม่อาจให้เต็มอิ่มหรือให้พอได้ ความอยากด้านนี้ของมนุษย์จึงไม่มีที่สิ้นสุด และการหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุก็จึงไม่มีที่สิ้นสุด หรือไม่มีขอบเขตด้วย

ในเมื่อความพรั่งพร้อมของวัตถุบำเรอมนุษย์เกิดจากการจัดการกับธรรมชาติ การจัดการกับธรรมชาติหรือการแสวงผลประโยชน์จากธรรมชาติก็จึงไม่มีที่สิ้นสุดด้วย ในที่สุดธรรมชาติก็ไม่พอที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องเอาเปรียบและเบียดเบียนธรรมชาติ จนแม้ธรรมชาติพินาศสลายหรือเสียไปทั้งหมด ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขได้ คือแม้แต่ว่าธรรมชาติจะพินาศหมดไป มนุษย์ก็ยังไม่อาจเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้อยู่นั่นเอง

แต่ถ้าพูดให้ถูกกว่านั้น ไม่ต้องพูดถึงการที่จะได้วัตถุปรนเปรอพอที่จะมีความสุขหรือไม่หรอก การเอาเปรียบหรือเบียดเบียนธรรมชาติ ก็ก่อทุกข์แก่มนุษย์ไม่คุ้มกับความสุขที่ได้อยู่แล้ว

เมื่อกี้นี้พูดถึงจุดร่วมสำคัญของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านศรัทธาและความใฝ่รู้ หรือทั้งด้านความเชื่อและความใฝ่รู้แล้ว ต่อไปก็จะต้องพิจารณาอีกว่าเป้าของความใฝ่รู้และศรัทธานั้นคืออะไร ซึ่งตอบได้ว่าก็ตัวความรู้หรือตัวความจริงน่ะสิ เพราะการที่เราใฝ่รู้และศรัทธานั้นก็เพื่อต้องการความจริงหรือความรู้นั้น เป็นอันว่าตอนนี้เราก็มาถึงประเด็นเรื่อง ตัวความรู้หรือความจริง ได้แก่ ความรู้ในกฎธรรมชาติซึ่งจะทำให้จุดหมายของตนสำเร็จ หมายความว่า มนุษย์จะต้องมีความรู้เข้าใจในกฎธรรมชาติ จุดหมายนี้ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า

ฝ่ายหนึ่งคือพุทธศาสนานั้น จุดหมายคือ การนำความรู้ความจริงหรือความรู้ในกฎธรรมชาติ มาแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ให้ถึงความไร้ทุกข์

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ จุดหมายคือ การนำเอาความรู้นั้นมาพิชิตธรรมชาติ แล้วก็หาความสุขความพรั่งพร้อมบำรุงบำเรอตนเองของมนุษย์

เมื่อความมุ่งหมายต่างกัน จุดที่เป็นเป้าของความใฝ่รู้ก็ต่างกัน ในที่นี้เรากำลังจะพูดถึงจุดที่เป็นเป้าของความใฝ่รู้ หรือ ตัวสิ่งที่เราต้องการจะรู้นั่นเอง

ในฝ่ายพุทธศาสนา ธรรมชาติที่เป็นจุดเป้าของความใฝ่รู้คืออะไร ก็⁠คือตัวมนุษย์ หมายความว่าเป้าสำคัญของการต้องการความรู้ก็คือต้อง​การรู้ธรรมชาติของมนุษย์นี่เอง ย้ำว่า มนุษย์เป็นตัวเป้าของความใฝ่รู้ เป็นตัววัตถุแห่งความรู้ที่ต้องการ แล้วจึงโยงไปยังโลกและสรรพสิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมดนั้นมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์เป็นจุดกำหนด หมายความว่าเราเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในการที่จะศึกษาความจริง

ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติส่วนที่เป็นจุดเป้าของความใฝ่รู้ได้แก่ โลกภายนอก คือโลกแห่งธรรมชาติภายนอก หรือโลกแห่งวัตถุ แม้เข้ามาที่ตัวมนุษย์ก็ศึกษาชีวิตในฐานะเป็นวัตถุ ซึ่งเป็นส่วนของโลกนั้น ไม่ได้ศึกษาตัวมนุษย์ หมายความว่า วิทยาศาสตร์อาจจะศึกษาชีวิตมนุษย์ แต่ศึกษาชีวิตมนุษย์ในแง่ชีววิทยาที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกภายนอกนั้นเท่านั้น ไม่จับถึงความเป็นมนุษย์ อันนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่จะต้องเข้าใจไว้

เป็นอันว่าจุดเป้าของความใฝ่รู้ของพุทธศาสนาได้แก่ตัวมนุษย์ ส่วนของฝ่ายวิทยาศาสตร์ได้แก่โลกภายนอก เมื่อเอาประเด็นนี้เป็นข้อพิจารณา ในการมองสัจจภาวะหรือตัวความจริง เราก็มาดูว่าธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ต้องการศึกษา กับธรรมชาติที่พุทธศาสนาต้องการศึกษานั้นมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร เมื่อเทียบกันแล้วเราก็บอกได้ว่าธรรมชาติที่พุทธ­ศาสนาต้องการศึกษานั้นครอบคลุมกว่า เพราะจับเอาที่ตัวมนุษย์ทั้งหมด

เราถือว่า มนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติที่วิวัฒนาการสูงสุดแล้ว เมื่อมนุษย์เป็นวิวัฒนาการสูงสุดของธรรมชาติ ก็มีความจริงครบทุกระดับขั้นอยู่ในตัวหมด หมายความว่า ในตัวมนุษย์นี้มีธรรมชาติทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายนามธรรม ในด้านวัตถุคือร่างกายก็มีสารมีธาตุอะไรต่างๆ ที่โยงไปถึงโลกของธรรมชาติภายนอกได้ทั้งหมด แต่ในส่วนโลกธรรมชาติภายนอกนั้นไม่มีด้านจิตใจ ไม่มีธรรมชาติด้านคุณค่าอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษามนุษย์ก็สามารถรู้ครบครอบคลุมความจริงในธรรมชาติทุกอย่างทุกประการ

แต่วิทยาศาสตร์นั้นศึกษาความจริงเพียงในระดับของสสาร พลังงาน ชีวิตในแง่ชีววิทยา คือในแง่ของวัตถุ หรือรูปธรรม ส่วนในด้านของจิตใจ เช่น เรื่อง mind เรื่อง consciousness เรื่อง spirit นี่วิทยาศาสตร์ไม่เอาด้วย

อย่างไรก็ตาม เหมือนดังที่บอกแล้วตอนต้นว่า เวลานี้วิทยาศาสตร์กำลังจะก้าวเข้ามาศึกษาเรื่องจิตใจ ตอนนี้กำลังเริ่มสนใจด้านนามธรรมแล้ว อย่างที่ถกเถียงกันว่า mind คืออะไร consciousness คืออะไร คอมพิวเตอร์จะมีจิตได้หรือไม่เป็นต้น

เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์ศึกษาจากโลกภายนอกเข้ามา พอถึงตัวมนุษย์ วิทยาศาสตร์ก็ศึกษาแค่ชีวิต ไม่ศึกษาตัวมนุษย์ วิทยาศาสตร์รู้ธรรมชาติของชีวิต แต่ไม่รู้ธรรมชาติของมนุษย์ “ธรรมชาติของมนุษย์” กับ “ธรรมชาติของชีวิต” นั้นคนละอย่าง เราจะเอาคำว่า “ชีวิต” มาครอบคลุมคำว่า “มนุษย์” ไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน

ที่พูดมาแล้วนี้ เป็นเรื่องของหลักการต่างๆ ที่สำคัญ ต่อไปจะพูดถึงข้อสังเกตบางอย่าง

ข้อสังเกตที่ ๑ คือ เมื่อกี้นี้ได้พูดไว้ว่าพุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า man-centered พุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางโดยตลอด มุ่งความเข้าใจตัวมนุษย์ พัฒนาตัวของมนุษย์เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ ส่วนวิทยาศาสตร์สนใจโลกธรรมชาติภายนอกทั่วไป อยากรู้ความจริงของธรรมชาตินอกตัว ไม่ได้เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง

แต่ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์เติมคุณค่าตามแนวคิดพิชิตธรรมชาติเข้ามาแล้ว แนวคิดพิชิตธรรมชาตินั้นได้ทำให้วิทยาศาสตร์ก็เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางเหมือนกัน ตอนนี้ก็จึงเกิดการเข้ามาบรรจบกันอีก เดี๋ยวแยก เดี๋ยวพบ เมื่อกี้แยก เดี๋ยวนี้มาบรรจบอีกแล้ว ตอนนี้วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนามาบรรจบกันอีก คือตอนที่ว่าวิทยาศาสตร์กลับเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ต่างกันอีก คือ

ลักษณะการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนของวิทยาศาสตร์ก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน พุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางโดยเน้นความรับผิดชอบ คือเน้นสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำ ในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดี และในการที่จะพัฒนาตนขึ้นไปให้ถึงความไร้ทุกข์ หมายความว่า พุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในแง่ที่จะต้องรู้เข้าใจและพัฒนาตัวเอง เราจะต้องจัดการพัฒนามนุษย์และแก้ปัญหาให้มนุษย์ ซึ่งก็เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ คือเพื่อมนุษย์จะได้เข้าถึงความไร้ทุกข์ มีอิสรภาพ บรรลุความดีงามสูงสุด

ส่วนวิทยาศาสตร์นั้น เมื่อได้ตกอยู่ภายใต้แนวความคิดพิชิตธรรมชาติแล้ว ก็เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในแง่ที่มุ่งจะได้จะเอาจากธรรมชาติ หมายความว่าธรรมชาติจะต้องรับใช้ตอบสนองความต้องการของฉัน ฉันมีความปรารถนาต้องการอย่างนั้นๆ คือหาสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง แล้วมนุษย์ก็พยายามไปจัดการกับธรรมชาติ ปั้นแต่งมันให้สนองความต้องการของตน เพราะฉะนั้นก็จึงมีลักษณะเป็น man-centered แต่มีความหมายคนละอย่างซึ่งตรงกันข้ามเลย พูดง่ายๆ ว่า วิทยาศาสตร์เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในแง่ที่จะเอาธรรมชาติมาสนองความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึง man-centered เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันเลย

เป็นอันว่า ตอนแรกเมื่อพูดในแง่ตัวความรู้หรือความจริงที่ต้องการศึกษา พุทธศาสนาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง คือเอามนุษย์เป็นตัวความจริงที่ต้องการศึกษาให้รู้เข้าใจ และที่ต้องการรู้เข้าใจก็เพื่อจะได้พัฒนามนุษย์ และแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์ได้ถูกต้อง เท่ากับเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางสอดคล้องกันโดยตลอด แต่วิทยาศาสตร์นั้น ตอนแรกในแง่ตัวความรู้หรือความจริงที่จะศึกษา เอาโลกวัตถุเป็นศูนย์กลาง แต่เสร็จแล้ว ก็มาเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในแง่ที่จะเอาวัตถุหรือธรรมชาติภายนอกมาสนองความต้องการของมนุษย์

ข้อสังเกตที่ ๒ คือเรื่อง pure science หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ถามว่า วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์

วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่เรามองในแง่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆ คือเป็นความรู้บริสุทธิ์ยังไม่ได้ประยุกต์ใช้ เรานำคำนี้มาใช้โดยแยกต่างจากวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี แต่ทีนี้ถ้าจะเล่นสำนวนบ้าง เราก็จะบอกว่า “วิทยาศาสตร์ไม่บริสุทธิ์” วิทยาศาสตร์ที่ว่าบริสุทธิ์นั้นไม่บริสุทธิ์จริง จริงอยู่ ในขั้นที่มีความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ ต้องการรู้กฎธรรมชาติล้วนๆ เราอาจจะถือว่ามีความบริสุทธิ์ แต่ในตอนที่มีระบบคุณค่าเข้ามาพัวพัน ประกอบด้วยแรงจูงใจคือความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ และแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอตนของมนุษย์ให้บริบูรณ์ นี่แหละเป็นตอนที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว นี่ก็เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น ไม่ควรจะเสียเวลากับเรื่องนี้ ก็ขอผ่านไป

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ทำท่าจะเหมือน แต่ก็ไม่เหมือนวิธีเข้าถึงความรู้: แนวทางที่ตรงกัน แต่เน้นต่างกัน >>

No Comments

Comments are closed.