เบื้องหลังความเจริญ คือเบื้องหลังความติดตัน

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 8 จาก 37 ตอนของ

เบื้องหลังความเจริญ คือเบื้องหลังความติดตัน

เหตุปัจจัยยังไม่หมดแค่นี้ นอกจากแนวความคิดใหญ่ๆ สองสายนั้นแล้ว ยังมีทัศนคติที่เจริญควบคู่มาด้วยกันที่เป็นปัจจัยแก่กันกับแนวความคิด ๒ อย่างข้างต้น ช่วยเสริมให้หนักเข้าไปอีก คือ

๑. ทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ที่พูดถึงข้างต้น ยุคอุตสาหกรรมนั้น มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือเป็นยุค specialization ด้วย หมายความว่าเป็นยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง วิทยาการต่างๆ ได้มีการแบ่งซอยออกไป ให้มีการศึกษาแน่วดิ่งไปในทิศทางนั้นๆ เจาะลึกเฉพาะด้านของตนมาก แม้จะรู้เชี่ยวชาญเก่งกาจในเรื่องเฉพาะนั้นอย่างยิ่ง แต่ขาดการประสานเชื่อมโยงกับแดนความรู้ความชำนาญด้านอื่นๆ จนกระทั่งบางสาขาเกิดความหลงผิดไปว่า วิทยาการในสายของตนนั้น จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง

นี้แหละเป็นสาเหตุสำคัญ คือ ตอนแรกก็แบ่งแยกซอยทิศทางกันไปให้ชำนาญพิเศษ เพื่อจะได้รู้ให้ชัด แล้วจะได้เอาความรู้ในด้านของตนมาเป็นส่วนร่วมที่เสริมกันในการรับใช้มนุษย์ แต่แล้วก็ไปเกิดความหลงผิดว่า ความเจริญก้าวหน้าแห่งความรู้ของตัวนั้น จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ก็เลยเกิดทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้านชนิดที่เอียงสุดไป จนเข้าใจว่าวิชาการในแดนของตนอย่างเดียว จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หมด เหมือนอย่างในวงการวิทยาศาสตร์ ก็มีผู้ที่คิดว่าวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น จะตอบปัญหาได้ทุกอย่าง จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง และไม่เกิดความคิดที่จะไปประสานกับผู้อื่น

ทัศนคตินี้ได้ไปไกลจนกระทั่ง มองศาสนา มองจริยธรรม เป็นเรื่องชำนาญพิเศษไปด้วย จะเห็นว่า ในยุคที่ผ่านมา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ในวงการการศึกษา ก็มองจริยธรรมเป็นเรื่องชำนาญพิเศษไปแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงจริยธรรมก็บอกว่า เป็นเรื่องของศาสนา เป็นเรื่องของนักโน้นนักนี้ ฉันไม่เกี่ยว แต่เวลาพูดถึงการแก้ปัญหาของโลก เขาบอกว่าฉันนี้แหละแก้ได้ ต้องศาสตร์ของฉัน อะไรทำนองนี้ ไม่พูดในเชิงที่จะเชื่อมโยงประสานหรือร่วมมือกัน รู้สึกว่ามันจะสับสนกันอยู่ เพราะว่าถ้าฉันแก้ปัญหาของโลกได้หมด ปัญหาจริยธรรมก็เป็นปัญหาของโลก ฉันก็ต้องแก้ได้ด้วย แต่บอกว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของพวกโน้นที่เขาชำนาญพิเศษ ฉันไม่เกี่ยว นี่อะไรกัน หมายความว่าฉันก็ข้ามไปแก้ปัญหาของพวกจริยธรรมได้ด้วยซิ อันนี้ก็โยงไปสู่ทัศนคติข้อต่อไปที่เป็นอย่างที่สอง

๒. ทัศนคติที่ว่าจะแก้ปัญหาจริยธรรมได้โดยไม่ต้องใช้ปัจจัยหรือวิธีการทางจริยธรรม หมายความว่าจะแก้ปัญหาทางศีลธรรมได้ด้วยวิธีการทางวัตถุ พวกนี้เห็นว่าถ้าพัฒนาวัตถุให้พรั่งพร้อมแล้ว ปัญหาทางด้านจริยธรรมก็หมดไปเอง ไม่ต้องพัฒนามนุษย์ ไม่ต้องพัฒนาจิตใจ นี่เป็นความคิดในยุคที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏมากในวงการเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า ถ้าเศรษฐกิจดี พัฒนาวัตถุพรั่งพร้อมแล้ว จะไม่มีปัญหาศีลธรรม ทุกอย่างจะเรียบร้อยไปเอง กลายเป็นว่าจะแก้ปัญหาทางจิตใจหรือปัญหาทางจริยธรรมได้ด้วยวิธีการทางวัตถุ ไม่ต้องใช้วิธีการทางจริยธรรม

ว่าที่จริง ความคิดที่จะแก้ปัญหาจริยธรรมด้วยวิธีการทางเศรษฐ­กิจนี้ ก็ไม่ใช่จะผิดเสียทีเดียว เพราะสภาพเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในทางจริยธรรมด้วย แต่ความผิดพลาดอยู่ที่ทัศนคติแบบมองอะไรแง่เดียวด้านเดียว เห็นไปว่าเศรษฐกิจดีแล้ว ปัญหาจริยธรรมก็จะหมดไปเอง เพราะฉะนั้น ให้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียวก็พอ

สำหรับความคิดแบบนี้ คนอื่นสามารถแกล้งค้านเล่นๆ ด้วยคำพูดที่เป็นความจริงแท้ๆ อย่างง่ายดายว่า จริงสิ ถ้าเศรษฐกิจดีแล้วปัญหาจริยธรรมก็ไม่มี เพราะถ้าขาดจริยธรรมเสียอย่างเดียว ก็ไม่มีทางทำให้เศรษฐกิจดีได้สำเร็จ หรือจะพูดว่า ถ้าคนมีจริยธรรมดีแล้ว (เช่น ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจทำงาน จัดสรรแบ่งปันกันอย่างเสมอภาคยุติธรรม รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และรู้จักใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม) ปัญหาเศรษฐกิจก็หมดไปเอง ซึ่งก็มีความเป็นจริงอยู่พอๆ กัน

คำว่า “ถ้าเศรษฐกิจดีแล้ว ปัญหาจริยธรรมก็ไม่มี” เป็นความจริงสำหรับสังคมในแง่ที่ว่า เพราะก่อนที่เศรษฐกิจจะดีได้นั้น จะต้องแก้ปัญหาจริยธรรมสำเร็จได้แล้ว และคำว่า “ถ้าจริยธรรมดีแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจก็หมดไปเอง” ก็เป็นความจริงสำหรับสังคมได้ ในความหมายที่ว่า เพราะก่อนที่จริยธรรมจะดีได้นั้น เราต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จแล้วด้วย แต่การพูดความจริงด้วยสำนวนภาษาแบบนี้มีประโยชน์แก่มนุษย์น้อยเกินไป

คำว่า ปัญหาจริยธรรมนั้น กินความถึงปัญหาต่างๆ ทางจิตใจ รวมทั้งเรื่องความสุขความทุกข์ด้วย ดังนั้น ที่ว่าจะแก้ปัญหาทางจริยธรรมด้วยวิธีการทางวัตถุได้ จึงรวมไปถึงการแก้ปัญหาทางด้านอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ด้วยวิธีการทางวัตถุนั้นด้วย เช่น ผลิตสารเคมี ทำยาเอามาฉีดหรือให้กิน เพื่อกล่อมประสาทเป็นต้น ทำให้หายวิตกกังวล ทำให้หายกลุ้มใจ หรือแก้ความซึมเศร้า ทำให้จิตใจปลอดโปร่งสดชื่นได้ ซึ่งเขาก็ทำได้จริงมากทีเดียว แต่ถ้าเข้าใจว่านี่เป็นการแก้ปัญหาทางจริยธรรมและทางจิตใจได้สำเร็จด้วยวิธีการทางวัตถุของวิทยาศาสตร์และเทคโน­โล⁠ยี ก็นับว่าเป็นความหลงผิดอย่างมาก เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว บรรเทาปัญหา หรือเป็นขั้นของการช่วยสร้างสภาพพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาเท่านั้น หาใช่เป็นตัวการแก้ปัญหาที่แท้จริงไม่ เรื่องนี้อาจจะวกกลับมาพูดอีกข้างหน้า

ศาสตร์และวิทยาหลายอย่างอยากจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือพยายามแสดงตนว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง แบ่งซอย และมองด้านเดียวนี้ ขัดขาตัวเอง ทำให้ไม่อาจเป็นวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วย ที่ไม่อาจบรรลุความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงหรือสมบูรณ์ เพราะเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วนทั่วถึง ทำ​ให้องค์ของความจริงไม่สมบูรณ์ ก็เลยเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์ ก็คือไม่เป็นความจริงที่แท้จริง และเมื่อมองเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วน แล้วด่วนสรุปลงเสีย ก็คือเห็นไม่ตรงตามที่มันเป็นจริง ระบบของความเป็นเหตุเป็นผลก็ไม่บริบูรณ์ ก็ไม่สามารถเข้าถึงความจริง

ความเชื่อและทัศนคติแบบนี้ทั้งสองอย่างแฝงมาในยุคอุตสาหกรรม พ่วงมากับแนวความคิดสองอย่างเมื่อกี้นี้ เป็นตัวที่เสริมซ้ำให้ปัญหาหนักแรงขึ้น ในทีนี้จะขอผ่านไปก่อน

ที่ว่ามานี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามีข้อพิจารณา ตอนนี้อาจมีผู้สงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร ก็ขอตอบว่ามันเริ่มเกี่ยวข้องแล้วละ ที่พูดมานี้ก็เกี่ยวข้องเข้ามาเยอะแยะแล้ว แต่ทีนี้เพื่อให้เห็นชัด จะย้อนกลับไปพูดถึงฝ่ายศาสนาบ้าง เมื่อกี้นี้พูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ว่าเกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร คราวนี้ก็จะไปดูว่าศาสนาเกิดขึ้น แล้วพัฒนามาอย่างไร เพื่อจะให้สองเรื่องนี้มาบรรจบกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คุณค่าและความคิดที่ผลักดัน เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ศาสนากับวิทยาศาสตร์ เริ่มร่วมแล้วร้างเริด >>

No Comments

Comments are closed.