ความ “รอไม่ได้” ก็เป็นภาวะที่ต้องยอมรับด้วย

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 34 จาก 37 ตอนของ

ความ “รอไม่ได้” ก็เป็นภาวะที่ต้องยอมรับด้วย

ต่อไปก็ “รอไม่ได้” จะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งให้เห็นความรอไม่ได้ในการเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์

ในที่นี้จะยกตัวอย่างในเรื่องเจตคติหรือท่าที โดยจะเปรียบเทียบระหว่างเจตคติแบบพุทธกับเจตคติแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งคล้ายกันมาก

ในเรื่องวิทยาศาสตร์นี้เรามีเนื้อหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง แล้วก็เจตคติทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ในที่นี้เราไม่พูดถึงวิธีการวิทยาศาสตร์

ในหลายกรณี เจตคติวิทยาศาสตร์สำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาวิทยาศาสตร์อีก เพราะอะไร เพราะว่าเนื้อหาความรู้ ตัวความรู้ หรือองค์ความรู้ที่วิทยาศาสตร์ได้มานี่ครั้งหนึ่งเคยว่าถูก แต่ต่อไปอาจค้นพบว่าผิด และมันก็จะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ท่าทีหรือเจตคตินี่เป็นหลักยืนตัวที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์โดยตรง ตัวความรู้นั้นจะเอาไปใช้ได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่แน่ แต่เจตคติเป็นแนวปฏิบัติประจำของชีวิตมนุษย์ได้เลย เป็นตัวที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์แท้ๆ ทันที เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นเจตคติวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เจตคติวิทยาศาสตร์กับเจตคติพุทธศาสนานั้นมีข้อต่างกันหน่อยหนึ่ง

ตอนแรก ขอให้ความหมายเสียก่อน เจตคติ ของพุทธก็ตาม ของวิทยาศาสตร์ก็ตาม มีความหมายอย่างไร

เจตคติ ของพุทธก็ตาม ของวิทยาศาสตร์ก็ตาม มีความหมายที่ตรงกัน ก็คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามหลักการแห่งเหตุและผล หรือท่าทีแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ในเวลาที่พบเห็นอะไรก็ตาม คนที่มีเจตคติวิทยาศาสตร์หรือเจตคติพุทธก็จะมองตามเหตุปัจจัย พอมองแบบนี้ก็เท่ากับมองไปในแง่ของการค้นหาความจริง

ดังที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นว่า เห็นเพื่อนเดินมาหน้าบึ้ง ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ไม่มีการศึกษาก็จะรู้สึกว่าการหน้าบึ้งของเพื่อนนั้นกระทบตัวเรา ว่าเขาโกรธเรา แล้วก็จะมีความคิดปรุงแต่ง คือเกิดความไม่สบายใจ เป็นทุกขเวทนา แล้วเกิดความไม่ชอบใจ การรับรู้ประสบการณ์แบบไม่ชอบใจเกิดขึ้น ปฏิกริยาไม่ชอบใจเกิดขึ้น คิดปรุงแต่งว่า เธอไม่ชอบใจได้ เธอโกรธได้ ฉันก็โกรธเป็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็บึ้งตอบ แล้วก็เลยขัดใจกัน

แต่พอมีเจตคติวิทยาศาสตร์ หรือเจตคติพุทธ มองเห็นเพื่อนหน้าบึ้งก็จะไม่มองด้วยความรู้สึกกระทบตัว หรือชอบใจไม่ชอบใจ แต่จะมองด้วยท่าทีแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นท่าทีแบบมองตามเหตุปัจจัยว่า เอ๊ะ เขาหน้าบึ้ง เพื่อนเราหน้าบึ้งวันนี้เพราะอะไร มีอะไรไม่สบายใจหรือ ก่อนมาจากบ้านถูกพ่อแม่ดุหรือไง หรือไม่มีเงินใช้ หรืออะไร ฯลฯ คือคิดสืบสาวหาเหตุปัจจัย นี้คือ เจตคติ ที่เรียกว่าเจตคติพุทธซึ่งเป็นด้านนามธรรม ตรงกับเจตคติวิทยาศาสตร์ที่สืบสาวหาเหตุปัจจัยทางวัตถุ นี่คือ ท่าทีของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการมองตามเหตุปัจจัย

พอมองอย่างนี้ก็ไม่เกิดปัญหา แต่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและนำไปสู่ปัญญา เมื่อสืบสาวหาเหตุปัจจัยว่าเพื่อนของเราเกิดความไม่สบายใจหน้าบึ้งเพราะอะไร ก็อาจจะทำให้เข้าไปสอบถามหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วกระบวนการของการค้นหาความจริงหรือสืบสาวหาเหตุผลก็เกิดขึ้น

เจตคติที่ยกตัวอย่างมานี้เรียกว่า เจตคติพุทธ หรือเจตคติวิทยา­ศาสตร์ คือท่าทีแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แล้วทีนี้เจตคติของวิทยาศาสตร์กับเจตคติของพุทธศาสนาต่างกันอย่างไร

คำตอบก็คือ เจตคติของวิทยาศาสตร์นั้นเป็นท่าทีหรือเจตคติที่ใช้แค่ในการหาความรู้ คือแค่ไปหาความรู้บริสุทธ์อย่างเดียว หมายความว่าต้องการแค่ว่าใช้ท่าทีนี้ในการหาองค์ความรู้หรือตัวความรู้ขึ้นมา แล้วก็จบแค่นั้น แต่พุทธศาสนาถือว่าเจตคตินี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ดีเลยทีเดียว คือตัวเจตคตินี้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดีงาม เป็นตัวการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นวิธีอยู่ร่วมในสังคมที่ดีงาม คือเป็นตัวจริยธรรมนั่นเอง

เป็นอันว่าทางพุทธนี่ไม่ได้มองแต่ในแง่ของการเอาเจตคตินั้นมาใช้ในการแสวงหาความรู้เท่านั้น แต่เอาไปบวกเข้ากับการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดีในสภาพความเป็นจริงขณะนั้นๆ ด้วย

พอมาถึงตอนนี้คือตอนที่บวกเอาการดำเนินชีวิตที่ดีในสภาพความเป็นจริงของปัจจุบันเข้าด้วย ตอนนี้แหละจะมาถึงจุดที่บอกว่า “รอไม่ได้” เนื่องจากเจตคติวิทยาศาสตร์เป็นท่าทีในการหาความรู้ และใช้ในการหาความรู้ ส่วนจะปฏิบัติอย่างไรก็ต้องรอให้รู้ก่อน ถ้ายังไม่รู้ก็ยังปฏิบัติไม่ได้ เพราะเมื่อยังไม่รู้สิ่งนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร แต่สิ่งทั้งหลายที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ความจริงยังมีอีกมากมาย และไม่ทราบว่าเมื่อไรวิทยาศาสตร์จะให้คำตอบที่จะบอกความจริงของสิ่งเหล่านั้นได้ ในขณะเดียวกัน มนุษย์แต่ละบุคคลก็ตาม ที่เป็นชุมชนหรือสังคมหนึ่งๆ ก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ทันทีในเวลานั้นๆ พูดง่ายๆ ว่า การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามของมนุษย์แต่ละคนในช่วงชีวิตของเขาก็ดี ของสังคมในยุคสมัยนั้นๆ ก็ดี ไม่อาจรอคำตอบของวิทยา­ศาสตร์ได้

ส่วนเจตคติในทางพุทธศาสนาเป็นเจตคติทั้งในการแสวงหาความรู้ และในการดำเนินชีวิต โดยถือว่าเจตคติแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ดี มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการหาความรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ด้วยเจตคติแบบพุทธ เมื่อสิ่งใดยังไม่อาจรู้ชัดเจน หรือยังพิสูจน์ไม่ได้ เราก็จะมีท่าทีว่า ในด้านการเข้าถึงความจริงจะหาความรู้ก็หาไป แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีวิธีที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ให้ชีวิตที่ดีดำเนินไปได้ด้วย โดยไม่เสียหลักการแห่งการมองตามเหตุปัจจัย

สรุปตอนนี้อีกที วิทยาศาสตร์มีท่าทีต่อความจริงในการหาความจริงชั้นเดียว คือ ขั้นหาเนื้อตัวของความรู้ หรือหาองค์ความรู้ แต่ไม่บอกท่าทีในการที่จะดำเนินชีวิต ส่วนพุทธศาสนานั้นบอกสองชั้น คือบอกด้วยว่าจะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร ในการดำเนินชีวิตที่เป็นจริงในสภาพปัจจุบันหรือในสังคมนั้น

จะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ที่มนุษย์มีปัญหากันอยู่เรื่อยๆ และบางทีพวกเราทั้งๆ ที่เป็นชาวพุทธก็ไม่ได้ใช้เจตคติพุทธให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างในที่นี้ก็คือ เรื่องเทวดา

ปัญหาเรื่องเทวดานี่เป็นเรื่องที่จะมองในแง่ของการพิสูจน์ความจริงก็ได้ มองในแง่ที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์หรือในแง่ของการดำรงชีวิตในปัจจุบันก็ได้ ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ ก็มองแต่ในแง่ที่จะพิสูจน์หาความจริงว่า เทวดามีจริงหรือไม่มี

สำหรับเรื่องเทวดานี้ ถ้ามองในแง่ว่ามีหรือไม่มี ก็จะต้องหาทางกันว่าจะพิสูจน์อย่างไร แล้วเรื่องก็จะเดินต่อไปจนถึงอีกขั้นหนึ่งที่บอกว่ายังพิสูจน์ไม่ได้ หรือเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะได้คำตอบว่าตอนนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ หรือเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ก็ตาม ในแง่ของการพิสูจน์ความจริงมันก็ตันอยู่แค่นี้แล้วมนุษย์ก็ไม่มีทางไป แล้วคนก็จะต้องอยู่ด้วยความเชื่อ เพราะเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องอยู่ด้วยความเชื่อ ฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่ามี อีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าไม่มี ต่างก็เป็นความเชื่อด้วยกัน ฝ่ายที่ว่าไม่มีนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นความเชื่อ ก็ยังเป็นความเชื่ออยู่นั่นแหละ คือเชื่อว่าไม่มี ทีนี้คนทั้งสองฝ่ายนี้ก็อยู่ร่วมสังคมกัน เมื่อเชื่อต่างกันชนิดที่ยุติไม่ได้ ก็เกิดภาวะเครียดทั้งในทางจิตใจ และในสังคม ในทางส่วนตนเองก็มีความ​เครียดว่าจะเอาอย่างไรดี ในกรณีเช่นนี้ วิทยาศาสตร์ไม่มีข้อแนะนำทางออกในการวางจิตใจ แต่ในแง่ของพุทธศาสนา ท่านบอกวิธีปฏิบัติให้โดยแยกเป็นขั้นๆ

ขั้นที่ ๑ คือ ขั้นหาตัวความจริงด้วยการพิสูจน์ ในแง่นี้ใครจะพิสูจน์หาความจริงหรือตัวฉันจะพิสูจน์หาความจริงด้วย ก็พิสูจน์ไป ไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธก็ไม่สำคัญ ก็หาความจริงหาความรู้ไป

ทีนี้ขั้นที่ ๒ คือ ขั้นของการวางตัววางใจในการดำเนินชีวิต ในระดับนี้จะทำอย่างไร เรามีวิธีปฏิบัติในพุทธศาสนา ในลักษณะที่ว่า ไม่ว่าเทวดาจะมีหรือไม่มีก็ตาม ก็ไม่เห็นจะกระทบอะไรกับการดำเนินชีวิตของเรา เพราะเรามีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน ที่ทำให้ปฏิบัติได้ลงตัว ซึ่งทำให้พร้อมอยู่เสมอว่า ถึงจะพิสูจน์ได้เสร็จสิ้นว่า เทวดามีหรือว่าไม่มี การปฏิบัติของเรานี้ก็ถูกต้องอยู่แล้วตลอดเวลา

คนทั่วไปมักจะมีท่าทีแบบแกว่งหรือแข็งขืนด้วยความไม่แน่ใจ แล้วก็จะแล่นไปสู่ที่สุดสองอย่าง คือ ถ้าเทวดามี หรือเชื่อว่ามี ก็ต้องไปบวง​สรวงอ้อนวอน ถ้าเชื่อว่าเทวดาไม่มีก็ต้องมาเถียงกันกับคนที่เชื่อ แต่ในทางพุทธศาสนานี่เราแยกได้ คือ ในแง่ท่าทีต่อการหาความรู้ ก็เป็นเรื่องที่จะหาความรู้กันไป แต่ในการดำเนินชีวิต ชีวิตเราไม่ได้ขึ้นต่อเทวดา ถ้าเทวดามีหรือยังต้องการเชื่อว่ามี เทวดานั้นก็เป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา เป็นเพื่อนร่วมเกิดร่วมแก่เจ็บตาย และเราก็มีหลักการอยู่แล้วว่าเราอยู่กับสัตวโลกทั้งหลายด้วยเมตตา มีเมตตาไมตรีปรารถนาดีต่อกัน เมื่อเทวดามีเราก็มีเมตตาต่อเทวดาด้วย แต่ที่สำคัญก็คือหลักพุทธศาสนาบอกว่าทุกคนจะต้องพัฒนาตนเอง พึ่งตนเอง จุดหมายคืออิสรภาพของมนุษย์

เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติตามหลักการพึ่งตนเอง หรือหลักแห่งการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตน ก็ทำให้เรารู้ถึงหน้าที่ของตนว่าหน้าที่ของเราคือการพัฒนาตนเอง และหน้าที่ของเทวดาก็คือการพัฒนาตนเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทั้งเทวดาและตัวเราต่างคนต่างก็มีหน้าที่พัฒนาตนเอง พึ่งตนเองในการที่จะกระทำการให้ประสบความสำเร็จ เราก็อยู่กับเทวดาได้ โดยมีเมตตาต่อกัน แต่พร้อมกันนั้นไม่ว่าเทวดาจะมีหรือไม่มีก็ไม่ได้มาเกี่ยวอะไรกับเรา ในแง่หนึ่งก็เหมือนกับช้างน้ำและแมวป่า ต่างก็อยู่ในโลกและก็อยู่กับเราได้ดี โดยไม่ต้องไปยุ่งอะไรกัน ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่าลืมว่าท่าทีของพุทธศาสนานั้นบอกว่าให้มีเมตตาต่อกัน เพราะฉะนั้นเรามีท่าทีปฏิบัติที่ชัดเจนในพุทธศาสนา ชาวพุทธก็เลยไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าไม่รู้ท่าทีนี้ ก็จะไปเกิดปัญหาว่าเทวดามีจริงหรือไม่มี ถ้ามีจะทำอย่างไร ก็อาจจะบวงสรวงอ้อนวอน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของชาวพุทธ หน้าที่ของชาวพุทธก็คือการกระทำด้วยความเพียรพยายาม และการพัฒนาตนเอง ซึ่งถ้ามนุษย์พัฒนาตนเองดีแล้วก็สามารถเป็นผู้ที่ประเสริฐจนกระทั่งเทวดาไหว้ได้ อย่างที่ว่ามาแล้ว

นี้เป็นตัวอย่างในเรื่องของท่าทีในทางพุทธศาสนา ซึ่งสรุปแล้วก็เป็นท่าทีตามพุทธพจน์ที่ว่า เมื่อคนถูกลูกศรอาบยาพิษ สิ่งที่จะต้องปฏิบัติก็คือให้ผ่าตัดเอาลูกศรออก ก่อนที่พิษร้ายจะซึมซาบไปแล้วเราจะตาย ส่วนการหาความรู้หรือพิสูจน์ความจริงในเรื่องนั้น ใครพอใจจะทำก็ทำไป แต่สิ่งที่จำเป็นแน่นอนก็คือต้องถอนลูกศรออกก่อน

อันนี้มันเกิดไปคล้ายกับความคิดของ Sir Arthur Eddington ที่ได้เคย quote เมื่อกี้ ซึ่งมีความคิดทำนองนี้เหมือนกัน โดยที่คงไม่ได้เจตนาเพราะแกก็ไม่ได้มาเห็นมติทางพุทธศาสนา แกเขียนเป็นข้อสรุปแบบอุปมาขึ้นมาว่า “จะให้คนหัววิทยาศาสตร์ เดินผ่านเข้าประตูห้องสักครั้งหนึ่งนี่ ยากกว่าเข็นอูฐเข้ารูเข็ม”1

ในคริสต์ศาสนาเขาบอกไว้ก่อนแล้วว่า จะให้คนมั่งมีไปสวรรค์ยากกว่าเข็นอูฐเข้ารูเข็ม แต่ Sir Arthur Eddington นี้พูดใหม่ว่า จะให้คนหัววิทยาศาสตร์เข้าประตูห้องสักครั้งนี่ ยากกว่าการเข็นอูฐเข้ารูเข็ม ทำไม Sir Arthur Eddington นักฟิสิกส์พูดอย่างนี้

ในที่นี้ต้องบอกว่าเป็นคนหัววิทยาศาสตร์นะ ไม่ใช่บอกว่านักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์คงไม่ทำ คือ นักวิทยาศาสตร์เป็น scientist แต่ในที่นี้เขาใช้คำว่า scientific man

ที่ว่าเข้าประตูยากกว่าเข็นอูฐเข้ารูเข็ม เพราะคนหัววิทยาศาสตร์นั้นจะต้องไปยืนที่หน้าประตูแล้วก็คิดดูว่า เอ.. ประตูนี้เราควรจะเดินเข้าไปหรือเปล่า แกจะต้องคิดพิสูจน์ด้วยกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ให้จบเสียก่อน เช่นว่าเราเดินเข้าไปนี้บรรยากาศมีแรงปะทะต่อตัวเรา ตารางนิ้วละเท่าไร gravity มีอิทธิพลต่อเราเท่าไร ความเร็วของโลกในการหมุนไปนี่เท่าไร สัมพัทธ์กับการก้าวเดินของเราอย่างไรบ้าง คิดไม่จบ ตกลงคนหัววิทยาศาสตร์นั้นก็เลยเข้าประตูไม่ได้ เพราะคิดคำนวณอะไรต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่จบ เพราะฉะนั้น เขาจึงบอกว่าเข็นอูฐเข้ารูเข็มง่ายกว่า อันนี้เป็นคำของนักวิทยาศาสตร์เอง

ในที่สุด Eddington ก็สรุปว่า เพราะฉะนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ควรทำตัวเป็นคนธรรมดานี่แหละ จะเป็นประตูโบสถ์ ประตูฟาร์ม หรือประตูอะไรก็เข้าไปก่อน แล้วจะพิสูจน์ก็ค่อยว่ากันไป อันนี้ก็พอดีมาตรงกันกับมติของพระพุทธศาสนา ก็เลยยกมาพูดไว้ด้วย

มติที่ว่านี้ให้ข้อคิดว่า ไปๆ แล้ววิทยาศาสตร์นี่ ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะเป็นคล้ายๆ อภิปรัชญา คือเป็นความจริงชนิดที่ไม่สามารถเอามาใช้กับชีวิตที่เป็นจริง เพราะต้องรอการพิสูจน์ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้อะไรทำนองนี้ หรือแม้แต่พิสูจน์ได้ ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะพิสูจน์ในขณะนั้นๆ ก็เลยไปคล้ายกับอภิปรัชญาในแง่หนึ่งเข้า เอาละอันนี้ก็ขอผ่านไป

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การยอมรับความ “ไม่เพียงพอ” ของวิทยาศาสตร์จัดปรับเรื่องคุณค่าให้ถูก เข้าใจสุข-ทุกข์ให้ตรงปัญหาการพัฒนาจึงจะแก้ได้ >>

เชิงอรรถ

  1. Sir Arthur Stanley Eddington, “Defense of Mysticism,” in Quantum Questions, ed. Ken Wilber (Boston: New Science Library, 1984), p. 208.

No Comments

Comments are closed.