ความสดใสที่ไม่พ้นความสับสน

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 11 จาก 37 ตอนของ

ความสดใสที่ไม่พ้นความสับสน

เพราะฉะนั้น มันก็ชักจะมีวิทยาศาสตร์ที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน วิทยาศาสตร์ที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน นอกจากวิทยาศาสตร์เก่ากับวิทยา­ศาสตร์ใหม่ หรือฟิสิกส์เก่ากับฟิสิกส์ใหม่แล้ว ก็อาจจะมีวิทยาศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญกับวิทยาศาสตร์ของสามัญชน เดี๋ยวนี้ก็ดูจะเป็นอย่างนั้นแล้วว่า วิทยาศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญกับวิทยาศาสตร์ของสามัญชนก็ชักจะไม่เหมือนกันแล้ว

อันนี้ก็เป็นเพราะว่า หลายสิ่งที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันบอกคนสามัญไม่อาจคิดนึกจินตนาการได้เลย คือคิดไม่ออก หมายความว่านอกจากพิสูจน์ไม่ได้แล้ว คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก มองไม่ออกเลย อย่าว่าแต่คนสามัญจะมองไม่ออก นักวิทยาศาสตร์เองก็มองไม่ออก ก็ต้องเชื่อเอา

ยกตัวอย่าง เช่น วิทยาศาสตร์บอกว่า แสงเป็นทั้งคลื่นและเป็นทั้งอนุภาคในเวลาเดียวกัน เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์มาถึงขั้นนี้ พยายามบอกถึงธรรมชาติของแสงว่าแสงคืออะไร แสงเป็นคลื่นหรือเป็นอนุภาค มันเป็นชิ้นส่วนหรือหน่วยย่อยอย่างหนึ่งใช่ไหม พวกหนึ่งให้คำตอบว่า ใช่ ใช่ เป็นอนุภาคพื้นฐาน เป็นกระแสของโฟตอน (photons) ที่ไหลไป แต่อีกพวกหนึ่งบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ แสงเป็น wave คือเป็นคลื่น ต่อมาปรากฏว่าพิสูจน์ได้ทั้ง ๒ ทาง ได้ทั้งคู่ ก็เลยบอกว่าเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง เอ แต่มันเป็นอะไรกันแน่ ก็ต้องพิสูจน์ด้วยคณิตศาสตร์ เรื่องอย่างนี้มนุษย์สามัญคิดไม่ออก ว่ามันอย่างไรกันนะ ที่ว่าเป็นทั้ง ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง เอา ๒-๓ ตัวอย่างก็พอ เช่นบอกว่า ใน black hole ไม่ทราบว่าหลายท่านในที่นี้รู้หรือเปล่า black hole ภาษาไทยวิทยาศาสตร์เรียกว่า หลุมดำ วิทยาศาสตร์บอกว่า ในอวกาศมีหลุมดำอยู่ที่โน่นที่นี่ เพิ่งค้นพบกันมาระยะหนึ่ง เป็นที่ซึ่งไม่มีแสงออกมาได้เลย มันจึงดำมืด ที่จริงคือไม่มีอะไรออกมาได้เลยสักอย่าง ที่นั่นมีแรงโน้มถ่วงสูงมากจนกระทั่งไม่มีอะไรสามารถหนีออกมาได้เลย แม้แต่แสงก็ออกมาไม่ได้ ทีนี้มนุษย์ธรรมดาก็คิดว่า อะไรกันนะแสงออกมาไม่ได้ มีอะไรที่แสงออกมาไม่ได้ มันก็ชอบกล

ทีนี้เขาบอกว่า ใน black hole นั้น เป็นตัวอย่างที่ว่า มวลสารและพลังงานทั้งปวงจะเป็น matter หรือ energy ก็ตาม จะอัดกันผนึกแน่นเหลือเกิน จนไม่รู้จะเทียบอย่างไร จะยกตัวอย่างให้ฟัง เขาบอกว่า มันจะอัดแน่นจนกระทั่งว่า ตึกระฟ้าในอเมริกา ที่ชื่อว่า Empire State สูง ๑๐๒ ชั้น ท่านที่ไม่เคยไปก็นึกภาพเอาก็แล้วกัน จินตนาการถึงตึก ๑๐๒ ชั้น มันก็สูงละ เมืองไทยเรามีแค่ไม่กี่สิบชั้นเท่านั้นเราก็ยังว่าใหญ่โต ทีนี้ตึก ๑๐๒ ชั้น Empire State ในนิวยอร์คนั้น เขาบอกว่า ถ้ารีดเอาช่องว่างในตึกออกทั้งหมดแล้ว มวลสารและพลังงานจะอัดแน่นจนกระทั่งเหลือเนื้อตัวเท่าเข็มเย็บผ้า ตึกระฟ้า Empire State นี่ เอาช่องว่างในนั้นออกหมดแล้ว มีเนื้อสารเหลือเท่าเข็มเย็บผ้าเล่มเดียว อ้าว! ชาวบ้านนึกไหวไหม บอกว่าตึก Empire State เท่าเข็มเย็บผ้าเล่มเดียว

นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ที่จริงมันยิ่งกว่านั้นอีก และบอกว่า นอกจากจะมีเนื้อเท่าเข็มเย็บผ้าเล่มเดียวแล้วยังมีน้ำหนักเท่าเดิมด้วย หมายความว่าเข็มเย็บผ้าเล่มนั้นหนักเท่าตึก Empire State ตามเดิม แค่นี้เราก็คิดไม่ไหว เป็นไปได้อย่างไร ก็ต้องเชื่อเอาสินะ เรามีศรัทธาต่อนักวิทยาศาสตร์มานานแล้วนี่ ศรัทธาเก่ามันก็ช่วย เราก็เลยเชื่อกันไปก่อน แต่ก็ค้านในใจว่า เอ! มันจะเป็นไปได้หรือเปล่า

เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์เวลานี้ยังไม่สามารถให้คำตอบที่แสดงถึงความจริงรวบยอดที่ครอบคลุมธรรมชาติของโลกและชีวิตทั้งหมด แต่ยังคงอยู่ในขั้นที่วุ่นกับการหาคำตอบเกี่ยวกับหลักความจริงเฉพาะอย่างเฉพาะเรื่อง และแม้แต่ในขั้นนี้ก็ยังไม่อาจพิสูจน์สภาวะธรรมชาติหลายอย่างมากมายในระดับความจริงพื้นฐาน เช่น อนุภาคพื้นฐานเป็นอย่างไร มีจริงหรือไม่

ในขั้นสุดท้าย วิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็เลยขั้นพิสูจน์ด้วยอินทรีย์ ๕ ไปแล้ว การพิสูจน์กลายเป็นเรื่องของวิธีการทางคณิตศาสตร์ที่อาศัยการแปลความหมายโดยนักฟิสิกส์อีกทีหนึ่ง ฉะนั้น ความจริงก็เลยคล้ายว่าเท่ากับสมการวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งก็คือไม่ใช่ตัวความจริง ไม่ถึงเนื้อถึงตัวของความจริงอย่างประจักษ์แจ้ง ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ ไปๆ มันก็เลยกลายเป็นเพียงความเชื่อ เป็นการเชื่อในคณิตศาสตร์และตีความโดยไม่รู้เห็นตรงถึงความจริงที่แท้ ซึ่งจะเป็นอย่างที่ Sir Arthur Eddington กล่าวไว้

Albert Einstein and Sir Arthur Eddington are photographed in 1930 when Einstein visited the Cambridge Observatory in Cambridge, England.

ไอน์สไตน์ กับ เอดดิงตัน เมื่อปี ๒๔๗๓ (1930) ที่เคมบริดจ์

Sir Arthur Eddington นี่เป็นนักวิทยาศาสตร์อังกฤษ เป็นบุคคลแรกคนหนึ่งที่เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นผู้ที่ได้เสนอข้อพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพเป็นคนแรกด้วย ทำให้ได้รับแต่งตั้งเป็นท่านเซอร์

Sir Arthur Eddington ในฐานะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ก้าวไกลอย่างนี้ ได้กล่าวไว้ว่า

“วิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงตัวความจริงหรือสัจจภาวะได้โดยตรง จะเข้าถึงได้ก็เพียงโลกแห่งสัญลักษณ์ที่เป็นเพียงเงา (a shadow world of symbols)”1

เขาว่าอย่างนั้น shadow world of symbols ก็หมายความว่า โลกแห่งสัญลักษณ์ที่เป็นเพียงเงา หรือโลกเงาๆ ที่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ อันนี้เป็นคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเองแท้ๆ

เรื่องไม่ใช่แค่นั้น แม้แต่สิ่งที่ว่าพิสูจน์ได้ด้วยการสังเกตทดลองนี้ก็ไม่ถึงกับเด็ดขาด นักวิทยาศาสตร์บอกว่า วิธีการพิสูจน์ของวิทยาศาสตร์นี้ ใช้วิธีวิทยาศาสตร์ หรือ scientific method ซึ่งมีการสังเกตและการทดลองเป็นองค์ประกอบสำคัญ เรียกว่าทดลองกันจนกระทั่งว่าต้องแน่ใจจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่เด็ดขาด บางทีก็พลาด เพราะข้อจำกัดของวิธีทดลองและเครื่องมือที่ใช้ในการสังเกตและทดลอง

ขอยกตัวอย่าง เช่น the law of gravitation คือกฎความโน้มถ่วงหรือดึงดูดของนิวตัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันถือเป็น law แล้ว เป็นกฎแล้ว แต่พอมาถึงไอน์สไตน์ๆ ก็บอกว่าผิด ใช้ไม่ได้ในระดับที่เรียกว่า subatomic คือในระดับซอยต่ำกว่าอะตอม หรือในระดับย่อยอะตอม หมายความว่า ในระดับย่อยอะตอมแล้วกฎแรงโน้มถ่วงใช้ไม่ได้ ไม่เป็นความจริง2 แต่ในยุคของนิวตันตอนนั้นเขาพิสูจน์ไม่ได้ เครื่องมือยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงระดับนี้ ฉะนั้น ก็ต้องรอต่อมาจนกระทั่งไอน์สไตน์ใช้ความคิด และใช้คณิตศาสตร์หาความจริงในเรื่องนี้ และพิสูจน์ทดลองกันไป เป็นอันว่า เราต้องระวังเหมือนกัน ว่าการสังเกตทดลองนี่ไม่ใช่จะไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างเด็ดขาดเสมอไป

ทีนี้ต่อไป บางทีผลการทดลองที่ลงตัวมาเรื่อยๆ นั้น ก็ยังอาจจะพลาดได้ มีข้อเตือนไว้ จะยกข้ออุปมาที่นักปรัชญาบางคนเอามาพูดล้อเป็นเชิงเปรียบเทียบในเรื่องนี้ เขาพูดทำนองว่า ไก่ตัวหนึ่ง เช้าขึ้นมาก็เห็นนาย ก. มา นาย ก. มาทีไร ก็เอาอาหารมาให้กินทุกที เห็นอย่างนี้มาทุกเช้าๆ ก็เป็นอันว่า พอไก่เห็นนาย ก. เป็นได้กิน ไก่เห็นนาย ก. เป็นได้กิน ไก่เห็นนาย ก. เป็นได้กินมาทุกวันๆ เป็นปีๆ แต่มาถึงเช้าวันหนึ่ง ไก่เห็นนาย ก. มา แต่ไม่ได้กิน เพราะนาย ก. ไม่ได้ถืออาหารมา และกลายเป็นว่านาย ก. ถือมีดมาแล้วก็เฉือนไก่ลงหม้อแกง เพราะฉะนั้น ที่ว่า “ไก่เห็นนาย ก. แล้วได้กิน” ก็กลายเป็นว่า “ไก่เห็นนาย ก. เลยลงหม้อแกง” ก็เป็นอันว่า การพิสูจน์ที่ลงตัว แม้จะทดลองได้ผลตรงมาตลอดเวลาก็อย่าเพิ่งไปไว้ใจเด็ดขาด ไม่แน่

ที่พูดมาตอนนี้ต้องการให้เห็นว่า ในที่สุดวิทยาศาสตร์ก็แยกตัวห่างสามัญชนออกไปทุกทีๆ ด้วยเรื่องของการพิสูจน์ทดลองอะไรนี่แหละ จนกระทั่งวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นเรื่องของพวก elite คนอะไรพวกหนึ่งกลุ่มหนึ่ง ไม่รู้ภาษาไทยเรียกว่าอะไร เป็นคนกลุ่มเล็กๆ พิเศษจำพวกหัวกะทิ แล้วก็เป็น specialized คือเป็นพวกที่ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ในขณะที่ศาสนาต้องอยู่กับประชาชนตลอดเวลา นี่เป็นลักษณะที่แตกต่างกัน

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือนวิทยาศาสตร์เดียว ศาสนาเดียวหรือศาสนากับวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียว >>

เชิงอรรถ

  1. Sir Arthur Stanley Eddington, The Nature of the Physical World (New York: Macmillan, 1929), p. 282.
  2. เช่น Funk & Wagnalls New Encyclopedia (1986), s.v. “Relativity,” by George Gamow and Lawrence A. Bornstein (vol. 22), p. 178.

No Comments

Comments are closed.