วิธีเข้าถึงความรู้: แนวทางที่ตรงกัน แต่เน้นต่างกัน

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 24 จาก 37 ตอนของ

วิธีเข้าถึงความรู้: แนวทางที่ตรงกัน แต่เน้นต่างกัน

ทีนี้ต่อไปสู่หัวข้อที่ ๔ ต่อจากตัวความรู้แล้ว ก็ถึงวิธีหาความรู้

วิธีหาความรู้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากเชื่อในกฎธรรมชาติและใฝ่รู้ความจริงในกฎธรรมชาตินั้นแล้ว การที่จะได้ความรู้หรือตัวกฎธรรมชาติมา เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องมีวิธีการหาความรู้ หรือวิธีการเข้าถึงความจริง วิธีการเข้าถึงความจริง หรือหาความรู้นี้ ในพุทธศาสนาบอกว่าที่สำคัญมี ๓ ประการ

ประการที่ ๑ คือ การรับรู้ประสบการณ์อย่างเที่ยงตรง การรับรู้ประสบการณ์อย่างเที่ยงตรง คือ รับรู้ตามที่มันเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่เน้นในพุทธศาสนาอย่างมาก ท่านให้ความสำคัญแก่การเข้าถึงความจริงตั้งแต่ขั้นรับรู้เลยทีเดียว คือ พอตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น ที่เรียกว่ามีการรับรู้ ก็มีปัญหาทันทีสำหรับมนุษย์ คือเป็นการรับรู้ตามที่มันเป็นอย่างหนึ่ง กับรับรู้ตามที่ฉันคิดให้มันเป็น หรือรับรู้ตามที่อยากให้มันเป็นอย่างหนึ่ง สำหรับมนุษย์ส่วนมากการรับรู้จะเป็นการรับรู้ตามที่อยากให้มันเป็น หรือตามที่คิดให้มันเป็น ไม่สามารถรับรู้ตามที่มันเป็น ความผิดพลาด บิดเบือน หันเห หรือคลาดเคลื่อนจากความจริง จึงเกิดขึ้น ฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเน้นหลักการนี้คือ จะต้องรับรู้ตามที่มันเป็น

ประการที่ ๒ ต้องมีความคิดที่เป็นระเบียบ คือมีวิธีคิด หมายความว่า นอกจากมีวิธีรับรู้ที่ถูกต้องแล้วก็ต้องมีวิธีคิดที่ถูกต้องด้วย

ประการที่ ๓ คือ วิธีที่จะหาความจริง หรือพิสูจน์สืบสาวหาความรู้นั้น ใช้การสังเกตทดลองด้วยประสบการณ์ตรง

ในที่นี้จะสังเกตเห็นว่าวิธีการเหล่านี้มีความละม้ายเหมือนกับวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย ในสามอย่างนี้มีข้อไหนที่วิทยาศาสตร์ต่างออกไปบ้าง ข้อพิจารณาก็คือ วิธีการเหล่านี้อาจจะเหมือนกันในหลักการใหญ่ แต่ในข้อปลีกย่อยแล้วจะต้องมาพูดกัน ตอนนี้จะขอพูดถึงข้อที่ ๑ พอให้เห็นเค้า

การรับรู้ประสบการณ์อย่างเที่ยงตรงตามที่มันเป็นนี่คืออย่างไร ว่าโดยทั่วไป มนุษย์นี้เมื่อได้รับประสบการณ์ ก็จะมีคุณค่าพ่วงเข้ามาด้วย นี่แหละ แม้แต่ที่จุดตั้งต้นของความรู้ ก็มีปัญหาว่ามนุษย์จะพ้นจากคุณค่าได้หรือเปล่า คือมันตั้งต้นตั้งแต่การรับรู้เลย

คุณค่าอะไรที่เข้ามากับความรู้ในประสบการณ์ ปรากฏการณ์ที่เข้ามาสู่การรับรู้ของมนุษย์จะมีคุณภาพหรือคุณลักษณะพ่วงเข้ามาว่า มันทำให้รู้สึกสบายหรือไม่สบาย ใช่ไหม สิ่งทั้งหลายทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นอย่างนั้น เมื่อสบายทางพระเรียกว่าเป็นสุขเวทนา ถ้าไม่สบายเรียกว่า ทุกขเวทนา

พอเกิดการรับรู้ ได้ประสบการณ์ที่สบาย กระบวนการทางจิตของมนุษย์จะเดินหน้าต่อปั๊บไปเลย จากสบายก็ชอบใจ ถ้าไม่สบายก็ไม่ชอบใจ ทางพระเรียกว่ายินดีและยินร้าย หรือชอบกับชัง ด้วยเหตุนี้ การรับรู้จึงมีความถูกใจไม่ถูกใจและความยินดียินร้ายมาประกอบติดตลอดเวลา และมนุษย์ก็สั่งสมความเคยชินมาอย่างนี้ตลอดเวลาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งปัจจุบัน คนละหลายสิบปี เพราะฉะนั้นจึงลงร่อง พอรับรู้ประสบ​การณ์ปั๊บ ความรู้สึกก็พ่วงมาด้วย ว่าสบายหรือไม่สบายหรือเฉยๆ และตามติดมาทันทีด้วยความถูกใจหรือไม่ถูกใจ ไม่ชอบก็ชัง ไม่ยินดีก็ยินร้าย

พอยินดียินร้าย ชอบใจไม่ชอบใจ ชอบหรือชังแล้วก็คิดตามแนวความรู้สึกนั้น ภายใต้อิทธิพลของความรู้สึกนั้น ถ้าชอบก็คิดอย่างหนึ่ง ไม่ชอบก็คิดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นประสบการณ์จะถูกบิดเบือน เอนเอียง หรือเกิดความลำเอียง มองเห็นเคลื่อนคลาด มีการปรุงแต่ง และการเลือกรับเลือกจับข้อมูล เห็นบางแง่บางด้าน ความรู้จะไม่ตรงไปตรงมา ไม่ทั่วถ้วน ไม่ตลอดสาย เป็นต้น เรียกว่าไม่รับรู้ตามที่มันเป็น พุทธศาสนาจึงบอกว่า ตั้งต้นจากจุดเริ่มนี้ ต้องมีการรับรู้ตามที่มันเป็น คือรับรู้โดยมีสติ ไม่ยินดียินร้าย รับรู้โดยรับรู้แต่ตัวความรู้ หรือรับรู้แบบนักศึกษา คือรับรู้แบบเรียนรู้ ไม่รับรู้แบบชอบชัง

รับรู้แบบเรียนรู้อย่างไร รับรู้แบบเรียนรู้ พูดอย่างสรุปรวบรัดว่า มี ๒ อย่าง คือ

  1. รับรู้แบบมองให้เห็นความจริง คือการรับรู้ตามที่มันเป็น โดยไม่ถูกความยินดียินร้าย หรือชอบชัง เข้ามาครอบงำหันเหหรือบิดเบือน เป็นการรับรู้อย่างบริสุทธิ์ เอาแต่ตัวประสบการณ์ล้วนๆ โดยไม่มีคุณค่าพ่วงเข้ามา อย่างที่ท่านเรียกว่ารับรู้เพียงเพื่อญาณ คือเพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจ และเพียงเพื่อสติ คือเพื่อเก็บข้อมูลจำไว้ โดยเฉพาะการมองตามเหตุปัจจัย
  2. รับรู้แบบมองให้เป็นประโยชน์ คือ การรับรู้ด้วยการรับจับเอาคุณค่าที่ถูกต้อง ที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการสนองบำเรอหรือทำความไม่สมอยากแก่อินทรีย์ เป็นการรับรู้ชนิดที่จะทำให้ได้ประโยชน์จากประสบการณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ

สำหรับการรับรู้แบบที่สองนั้น ขยายความว่า เป็นธรรมดาของธรรมชาติว่า การรับรู้เป็นกิจกรรมของชีวิต การที่ชีวิตเกี่ยวข้องกับธรรมชาติแวดล้อมก็เพื่อเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น แต่ชีวิตจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่รับรู้ก็ต่อเมื่อมีการรับรู้อย่างถูกต้อง คือต้องตั้งใจมองโดยเลือกรับรู้เอาแต่แง่ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา และพัฒนาชีวิต ถ้ามิฉะนั้น การรับรู้นั้น ก็จะได้แค่เพียงเป็นการสนองบำเรออินทรีย์ หรือถ้าตรงข้ามก็เป็นการทำความไม่สมอยากแก่อินทรีย์นั้นๆ เท่านั้น โดยที่ประโยชน์ที่พึงได้ก็ถูกตัดหน้าไปเสีย

เป็นอันว่าในแบบที่ ๒ สิ่งทั้งหลายนี่ มนุษย์รับรู้เข้ามาเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต สิ่งทั้งหลายที่รับรู้เข้ามาไม่ว่าจะดี หรือร้าย ไม่ว่าสบาย หรือไม่สบาย ก็สามารถให้ประโยชน์แก่ชีวิตได้ทั้งนั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการที่เราจะเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้องนั่นเอง

สำหรับกรณีนี้ ซึ่งเป็นการหาความจริง ก็เน้นการรับรู้แบบที่ ๑ ซึ่งเมื่อไม่เข้าไปสู่วงจรที่ผิดพลาดแล้ว ก็จะไม่มีความยินดียินร้าย และจะก้าวไปสู่การเรียนรู้ ในการศึกษานี้ท่านถือว่าสำคัญ จะต้องเริ่มที่กระบวน​การรับรู้นี้ พระพุทธศาสนาเน้นจุดนี้ คือการรับรู้โดยเป็นการเรียนรู้ ไม่รับรู้แบบชอบชัง หรือแบบสนองบำเรออินทรีย์ วิทยาศาสตร์อาจจะไม่บอกชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือไม่ได้เน้น แต่การที่จะเข้าถึงความจริงจะต้องอาศัยวิธีการรับรู้แบบนี้

ข้อที่ ๒ คือวิธีคิด หรือคิดถูกวิธี ในเรื่องนี้ความคิดจะต้องเป็นระเบียบ มีการคิดเป็นลำดับ คิดเชิงเหตุผล สืบสาวให้เห็นความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย

ในพุทธศาสนามีวิธีคิดที่บอกไว้มากมาย ประมวลได้ประมาณ ๑๐ วิธี ที่เราเรียกว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่สัมมา­ทิฏฐิ คือความเข้าใจหรือมองเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่นมองเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือเข้าใจหลักการแห่งเหตุปัจจัย โยนิโส­มนสิการ หรือวิธีคิดแบบถูกวิธี พูดพอให้เห็นตัวอย่าง เช่น

๑. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย การที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ก็ทรงใช้วิธีคิดแบบนี้เป็นสำคัญอย่างหนึ่ง จะยกตัวอย่างเช่นพระองค์ตั้งคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับเวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุขทุกข์ โดยทรงพิจารณาว่า เวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์นี้เกิดขึ้นโดยมีอะไรเป็นปัจจัย แล้วพระองค์ก็สืบสาวไปๆ ก็ทรงค้นพบว่า อ้อ มีผัสสะเป็นปัจจัย ต่อไปผัสสะเล่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พระองค์คิดและตรวจสอบสืบสาวต่อไปก็พบว่า มีสฬายตนะ คือ อินทรีย์ทั้งหกเป็นปัจจัย อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าไว้ว่าวิธีคิดของพระองค์เป็นอย่างไร

๒. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ เช่น ชีวิตของเรานี้ แยกเป็นส่วนๆ เป็นนาม และรูป นี่สองส่วนแล้ว คือฝ่ายนาม กับฝ่ายรูป จะแยกต่อไปอีกก็ยังได้ นาม แยกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และแต่ละอย่างก็แยกแยะแบ่งซอยออกไปได้อีก เช่นเวทนาก็แยกไป แยกไป แยกไป เป็น ๓ ประเภท เป็น ๕ ประเภท เป็น ๖ ประเภท อย่างนี้เรียกว่า วิธีคิดแบบวิเคราะห์องค์ประกอบ ซึ่งทำให้เห็นความจริงของภาพรวมหรือระบบที่จะทำให้โยงความสัมพันธ์และความสืบทอดเชิงเหตุปัจจัยได้ต่อไป

๓. วิธีคิดแบบมองหาคุณโทษและทางออก คือมองในเชิงคุณค่าว่าสิ่งนั้นๆ มีคุณในแง่ไหน มีโทษในแง่ไหน ไม่มองในแง่คุณอย่างเดียว หรือโทษอย่างเดียว มนุษย์ส่วนมากเวลามองอะไร ถ้าชอบก็คิดแต่คุณ อะไรไม่ชอบก็มองแต่โทษ แต่พุทธศาสนามองทุกอย่างทุกด้าน บอกให้มองทั้งคุณทั้งโทษ แล้วก็หาทางออกที่จะแก้ไข อย่างนี้เรียกว่าครบวงจร

วิธีคิดแบบต่างๆ นี้มีถึงประมาณ ๑๐ วิธีด้วยกัน เรียกว่า โยนิโส­มนสิการ เป็นวิธีการสำคัญในพระพุทธศาสนาสำหรับการที่จะเข้าถึงความจริง

ในความหมายที่กว้าง วิธีคิดจะรวมถึงวิธีมอง คือคลุมเรื่องการรับรู้เข้ามาด้วย และแบ่งประเภทใหญ่ๆ แบบเดียวกับการรับรู้คือเป็นการคิดให้เห็นความจริง กับการคิดให้เป็นประโยชน์ ในที่นี้จะไม่ขยายความเรื่องนี้ เพราะจะยืดยาวกันใหญ่

ต่อไป ข้อที่ ๓ คือ การสังเกตทดลองด้วยประสบการณ์ตรง หลักการใหญ่ของพุทธศาสนาที่ว่าความจริงเป็นสิ่งที่ได้มาหรือพิสูจน์ด้วยการสังเกตทดลองด้วยประสบการณ์ตรงนั้น ก็เช่นตัวอย่างเรื่องหลัก กาลาม­สูตร ที่ยกมาให้เห็นเมื่อกี้นี้ ที่บอกไม่ให้เชื่อเพียงเพราะอย่างนั้นๆ และย้ำว่าต่อเมื่อได้เห็นด้วยตนเองว่าเป็นอกุศล หรือกุศล แล้วจึงละหรือปฏิบัติ นี่ก็เป็นหลักหนึ่งที่แสดงถึงวิธีการหาความจริงแบบนี้

นอกจากนี้ ขอให้ดูวิธีการของพระพุทธเจ้าตอนก่อนตรัสรู้ จะเห็นว่าพระองค์ทรงใช้วิธีทดลองมาตลอด พอออกผนวชแล้วก็ไปทดลองปฏิบัติตามวิธีการของสำนักต่างๆ ที่มีในสมัยนั้นทั้งหมด ทั้งวิธีทุกรกิริยาบำเพ็ญตบะ ฝึกโยคะ บำเพ็ญฌานสมาบัติ ทรงทดลองมาหมดแล้ว

แม้แต่ไปอยู่ในป่า ตามที่ทรงเล่าวิธีปฏิบัติของพระองค์ไว้ เกี่ยวกับเหตุการณ์ปลีกย่อย ก็เป็นเรื่องของการสังเกตทดลอง เช่น พระพุทธเจ้าทรงเล่าว่า พระองค์ไปอยู่พระองค์เดียวในป่าเปลี่ยวเพื่อทดลองกับความกลัว ยามดึกสงัดมีเสียงแกรกขึ้นมา เกิดความกลัว สะดุ้ง พระองค์ก็พิจารณาก่อน พระองค์จะอยู่กับท่าหรืออิริยาบถที่เกิดความกลัวขึ้นนั้น ไม่ยอมเปลี่ยน จนกว่าจะแก้ไขความกลัวได้สำเร็จ ถ้าเป็นหลายคนก็วิ่งแน่⁠บเสียก่อน พระพุทธเจ้าไม่วิ่งแน่บ พระองค์ทรงสงบนิ่ง ทรงแก้ปัญหาให้สำเร็จ1

หรืออย่างเวลาเกิดความคิดที่ดีและไม่ดี ที่ท่านเรียกว่า เกิดกุศล­วิตก หรืออกุศลวิตก พระพุทธเจ้าก็ทรงทดลองกับความคิดโดยดำเนินวิธีปฏิบัติที่จะทำให้อกุศลวิตกสลายตัวไป2

ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีนี้ตลอดมา แม้แต่เมื่อมาสอนพระสาวก ก็ยังสอนให้ตรวจสอบอาจารย์เสียก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะศรัทธา เพราะจะต้องให้ศรัทธาเป็นตัวนำไปสู่ปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตรวจสอบอาจารย์ ให้ตรวจสอบแม้แต่พระองค์เองด้วย และให้ตรวจสอบทั้งในแง่ความรู้ว่ารู้จริงหรือไม่ และในแง่เจตนาว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่3

ตรวจสอบในแง่ความรู้โดยพิจารณาสิ่งที่ท่านสอนว่ามีเหตุมีผลเป็นจริงไหม และตรวจสอบในเชิงพฤติกรรมโดยสืบถึงแรงจูงใจว่า ท่านผู้นี้ที่พูดอย่างนี้นั้น เพราะว่ามีความต้องการ มีความปรารถนาอย่างนั้นๆ หรือไม่ ท่านไม่ได้เจตนาต้องการที่จะหาผลประโยชน์จากการสอนนี้ ต้องการให้ความรู้ที่แท้จริง ใช่ไหม เป็นต้น ตรวจสอบมั่นใจแล้วจึงพร้อมที่จะรับคำสอน เป็นการประเมินขั้นต้น แล้วรับเอาคำสอนมาพิจารณาดู มาหยั่งมาตรองว่ากันเป็นขั้นๆ

หรืออย่างในหลักสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเชิงวิปัสสนา ก็จะเห็นว่า เวลาเราปฏิบัติวิปัสสนานั้น จะต้องตรวจดูตามดูทุกอย่าง รู้ทันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบัน เช่น ความรู้สึกสุขเกิดขึ้น ความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น ภาวะในจิตใจเศร้าหมองหรือผ่องใสเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าให้ตามดูว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร แล้วมันเป็นไปอย่างไร มันดับไปอย่างไร อันนี้ก็คือวิธีการดู หรือสังเกตด้วยประสบการณ์ตรง

จนกระทั่งในขั้นสุดท้าย จะประเมินผลว่าตนได้บรรลุธรรมแล้วหรือไม่ ก็ดูที่ในใจของตัวเองว่า ในใจของเรายังมีโลภะ โทสะ โมหะหรือไม่4 ไม่ต้องไปดูว่าทำอะไรวิเศษ แผลงฤทธิ์ได้หรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น

ในแง่การสังเกต ทดลอง และตรวจสอบนี้ เนื่องจากจุดเน้นและขอบเขตของการใช้อินทรีย์ต่างกัน จึงจะสังเกตได้ว่ามีผลพลอยได้เกิดขึ้นต่างกันระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์มุ่งแต่จะสังเกตปรากฏการณ์ในโลกวัตถุ โดยใช้อินทรีย์เพียง ๕ อย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง ตา หู และกายสัมผัส ด้วยความมุ่งหมายที่จะจัดการกับธรรมชาติภายนอก เพราะฉะนั้นในวงการวิทยาศาสตร์จึงได้มีการประดิษฐ์อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่เป็นวัตถุสำหรับขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ พร้อมทั้งจัดเตรียมวิธีการสังเกตทดลองและตรวจสอบในแดนแห่งโลกวัตถุนั้นขึ้นมามากมาย เช่นเดียวกับวัสดุอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้เครื่องบริโภคในด้านวัตถุนั้น อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่มนุษย์ในทางกายภาพ พูดตามภาษาทางพุทธศาสนาว่า วิทยาศาสตร์ชำนาญจัดเจนในแดนแห่งอุตุนิยาม รวมทั้งพีชนิยาม

ส่วนทางด้านพระพุทธศาสนา เน้นการศึกษาตัวมนุษย์ โดยยอมรับประสบการณ์ทางอินทรีย์ที่ ๖ ใช้อินทรีย์ที่ ๖ เป็นอุปกรณ์ในการสังเกตทดลองและตรวจสอบมาก ด้วยความมุ่งหมายที่จะเข้าถึงความดีงามหรือคุณค่าสูงสุดพร้อมกับความจริงแห่งกฎธรรมชาติ ซึ่งทำให้มีการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ไปด้วยตลอดเวลาในระหว่าง ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีเรื่องราวและวิธีการมากมายเกี่ยวกับการสังเกต ทดลอง และตรวจสอบในด้านกระบวนการทางจิตใจ และพฤติกรรมของมนุษย์ พูดให้สั้นว่า พุทธศาสนาชำนาญจัดเจนในแดนแห่งกรรมนิยาม และจิตนิยาม

เมื่อมองอย่างกว้างๆ ถ้านำเอาความชำนาญจัดเจน และผลการสร้างสรรค์ที่ดีงามของทั้งสองฝ่ายนี้มาบรรจบประสานกัน และใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ก็น่าจะเป็นการนำมนุษยชาติขึ้นสู่ภาวะสมดุลและความสุขสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แดนแห่งความรู้: ขอบเขตและเป้าหมายที่ไม่เหมือนกันวิธีเข้าถึงความจริง: จุดเน้นและการใช้ต่าง ที่ทำให้ห่างไกลกัน >>

เชิงอรรถ

  1. ภยเภรวสูตร, ม.มู. ๑๒/๔๕/๓๖
  2. เทฺวธาวิตักกสูตร, ม.มู. ๑๒/๒๕๒/๒๓๒
  3. จังกีสูตร, ม.ม. ๑๓/๖๕๗-๘/๖๐๒-๕; วีมังสกสูตร, ม.มู. ๑๒/๕๓๕-๙/๕๗๖-๕๘๐
  4. นัย ปริยายสูตร, สํ.สฬ. ๑๘/๒๓๙-๒๔๒/๑๗๓-๑๗๖

No Comments

Comments are closed.