ตอบคำถามทั่วไป

23 มกราคม 2531
เป็นตอนที่ 7 จาก 7 ตอนของ

ตอบคำถามทั่วไป

ค่านิยมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดวิถีของสังคมทั้งหมด และวิถีชีวิตของบุคคลแต่ละคน ที่อาตมภาพพูดมาเมื่อกี้ ก็พูดถึงค่านิยมเพียงชุดเดียว คือ ค่านิยมบริโภค และค่านิยมผลิต การที่จะกำหนดค่านิยมขึ้นมาให้แก่สังคมว่าในช่วงนี้เราควรจะเน้นค่านิยมใด ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องร่วมกันหรือช่วยกัน ใครควรจะช่วยกันบ้าง ในการที่จะวางค่านิยมเหล่านี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ว่าต้องทำตลอดสาย ไม่ใช่เพียงส่วนกลางอย่างเดียว แต่หมายถึงชุมชนท้องถิ่นในชนบทด้วย

การที่จะวางค่านิยมเหล่านี้ก็มีอยู่ ๒ ด้าน คือ ด้านบวกกับด้านลบ แต่เริ่มต้นต้องศึกษาปัญหาก่อนว่า เรามีปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข อันนี้มองในแง่ลบ แล้วก็แก้ค่านิยมที่มีอยู่แล้วแต่ว่าเป็นด้านลบนั้นเสีย โดยหาค่านิยมบวกที่ตรงกันข้ามมาทดแทน นี้ก็อย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาที่มีอยู่แล้วในด้านค่านิยม เพราะว่าสังคมมีค่านิยมอยู่แล้วตลอดเวลา

ทีนี้ ต่อไป ค่านิยมในทางสร้างสรรค์นอกเหนือจากนั้นเราจะเอาอะไรอีกบ้าง นี้เป็นหลักการทั่วไป แต่จะให้อาตมภาพเสนอว่า มีอะไรบ้าง ก็คงจะได้เพียงเป็นตัวอย่าง แล้วก็สัมพันธ์กับที่พูดมาแล้ว เช่นอย่างว่า เรามีปัญหาค่านิยมบริโภค ก็อาจจะมาเน้นข้อนี้ว่าเราควรจะหาทางแก้ไขเสีย ให้ค่านิยมบริโภคนั้นเปลี่ยนมาเป็นค่านิยมผลิต ทีนี้ทำอย่างไรค่านิยมผลิตจะเกิดขึ้น มันก็ไปสัมพันธ์กับองค์ประกอบ หรือปัจจัยอย่างอื่นในทางการศึกษาอีก โดยเฉพาะสิ่งที่ทางพระเรียกว่า ฉันทะ คือ ความใฝ่ดี ใฝ่ความจริง ใฝ่ดีคือใฝ่ทำดี ใฝ่ความจริงคือใฝ่รู้

ในสังคมไทยมีปัญหาเรื่องการขาดความใฝ่รู้มาก แม้แต่ในทางการศึกษานี้ เราก็เห็นชัดว่าที่เป็นมานี่ระบบต่างๆ มันไปเอื้อในทางที่ทำให้เราต้องการเรียนเพื่อจะเลื่อนสถานะทางสังคม ผู้เรียนก็ไม่ค่อยมีความใฝ่รู้ เรียนไปอย่างนั้นเอง สอบให้ได้ใบมา เพื่อจะไปเข้างานอะไรอย่างนี้ การกระตุ้นความใฝ่รู้ไม่ค่อยมี บางทีความใฝ่รู้เดิมที่มีอยู่บ้างก็เลยถูกบดบังเลือนรางไป กลายเป็นว่า การศึกษาแทนที่จะพัฒนาฉันทะ ก็กลับทำลายฉันทะเสีย การใฝ่รู้ความจริงนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสร้างขึ้น

ด้านที่สองของฉันทะนี้ ก็คือ ใฝ่เห็นความดีงาม ใฝ่สิ่งที่ดีงาม ต้องการเห็นชนบทของเราสะอาดเรียบร้อย มีความสงบสุข ไม่มีผู้ร้ายโจรขโมย ประชาชนมีสุขภาพดี อะไรพวกนี้ การใฝ่ความดีแบบนี้เราไม่ค่อยสำนึก ไม่ค่อยกระตุ้นย้ำเน้น เวลาเราพัฒนาคนมักจะนึกกันแต่ในแง่ว่า เราจะได้ผลประโยชน์อะไร นอกจากได้เงินเดือนแล้ว ก็มองไปถึงสิ่งบริโภค สิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เครื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบาย มีรถยนต์ ถ้าเป็นชาวบ้านนอก ก็อาจจะมีรถมอเตอร์ไซค์ ไม่ใช่เพียงในความหมายว่าเป็นพาหนะหรอก แต่เอามาแข่งโก้กัน ชาวบ้านนอกจำนวนมากนี่มุ่งจะโก้วัดฐานะกันอวดโก้กันด้วยสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยว่า ใครมีอะไร ใครไม่มีอะไร ไม่ได้มองในแง่คุณค่าที่แท้จริง นี่จึงมาสัมพันธ์กับเรื่องปัญหาคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม เราแสวงหาสิ่งบริโภคเหล่านั้นมาเพื่อบริโภคคุณค่าเทียม ไม่ใช่เพื่อคุณค่าแท้

สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กันหมด ถ้าเราแก้ได้ให้เขาใฝ่รู้ใฝ่ความจริง ใฝ่ความดีงาม มันก็จะไปแก้ค่านิยมบริโภค แล้วก็ทำให้การที่จะสร้างค่านิยมผลิตพลอยง่ายขึ้นด้วย นี้ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แม้แต่เรื่องค่านิยมนี่ก็ไปสัมพันธ์โยงกันกับปัจจัยอื่นๆ ที่เราจะต้องมองไปให้ทั่วด้วย

อย่างไรก็ตาม ขอเน้นข้อที่ได้พูดไว้ว่า ปัญหาปัจจุบันของเรา โดยเฉพาะค่านิยมบริโภค ค่านิยมแห่งความโก้เก๋ ที่ทำให้เราคิดจะมีสิ่งบริโภคต่างๆ โดยมุ่งเพื่อความโก้เก๋เป็นสำคัญ อันนี้ เป็นตัวที่ทำให้เกิดอุปสรรคมากมายแก่การพัฒนาประเทศ เราจะต้องแก้อันนี้ นอกจากนั้น ก็วางแนวทางสร้างสรรค์ วางเป้าหมายการพัฒนาของเรา แล้วก็วางค่านิยมที่สอดคล้องกับจุดหมายของเรานั้น อันนี้เป็นเรื่องส่วนรวมที่จะต้องช่วยกันทำ ซึ่งจะโยงไปถึงกิจกรรมอื่นในทางการศึกษา เช่น จริยศึกษา เป็นต้น

จริยศึกษานี่แหละเป็นตัวสำคัญที่จะสร้างค่านิยม ทั้งแก้ค่านิยมที่ผิด และสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ว่าโดยหลักการทั่วไป อาตมภาพก็เห็นอย่างเดียวกับท่านอาจารย์นายกสมาคมฯ ว่า ครูทุกคนต้องเป็นครูจริยศึกษาข้อนี้แน่นอน แต่ในการแก้ปัญหาของประเทศในปัจจุบันนี้ ในขณะที่เรากำลังประสบปัญหาว่า ครูทั่วไปมักจะมีปัญหาทางจริยธรรมเองด้วย จะมาสอนจริยธรรมได้อย่างไร แม้แต่ครูที่เรากำหนดให้สอนจริยศึกษา เป็นผู้ชำนาญพิเศษในเรื่องจริย ศึกษาเองก็ยังแย่ เราจะค่อยๆ ดำเนินไปสู่การแก้ปัญหาเป็นขั้นตอนหรือค่อยเป็นค่อยไปอย่างไร อาตมภาพก็เลยอยากเสนอทางประนีประนอมว่า ในระหว่างนี้ ซึ่งเรายังไม่สามารถจะทำให้ครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษาได้ เราอาจจะใช้ระบบที่มีอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์ก่อน โดยวิธีแก้ปัญหาเรื่องการสอนจริยศึกษาและครูสอนจริยศึกษา

หนึ่ง เรื่องครูสอนจริยศึกษา ทำอย่างไรจะเพิ่มพูนคุณภาพของครูจริยศึกษาในทุกวิถีทาง เริ่มแต่ให้ความสำคัญมากขึ้น อย่าให้เป็นทางเลือกสุดท้ายของครู อย่าให้เป็นแบบที่ว่า ครูคนไหนสอนวิชาอื่นไม่ได้แล้วก็เอามาสอนจริยศึกษา และให้มีการส่งเสริมคุณภาพอย่างแท้จริง ให้เป็นครูจริยศึกษาที่มีความรู้จริงๆ แล้วก็คัดเลือกในทางความประพฤติด้วย ต้องยอดครูจึงให้เป็นครูจริยศึกษา

สอง วิธีสอนจริยศึกษาก็ปรับปรุงใหม่ให้เป็นการสอนแบบสนามรวม อาตมภาพขอใช้คำนี้ จริยศึกษานี้เป็นสนามรวมของวิชาการต่างๆ ครูที่สอนจริยศึกษาจะต้องมีความรู้กว้างขวางครอบคลุม อย่างน้อยก็รู้เข้าใจวิชาการทั่วๆ ไป แล้วก็เอามาโยงกันในวิชาจริยศึกษานี้ โดยชี้แนวทางที่จะประสานกลมกลืนวิชาอื่นๆ ทั้งความประสานกลมกลืนระหว่างวิชาเหล่านั้นด้วย และกับวิถีชีวิตของตนและของชุมชนด้วยว่า ทำอย่างไรนักเรียนจะนำเอาวิชาเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเกิดผลดี การใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ชุมชนของเราเป็นอย่างไร เราจะช่วยชุมชนของเราได้อย่างไรเป็นต้น นี่เป็นปัญหาของจริยศึกษาทั้งสิ้น แม้แต่ว่าเทคโนโลยีนี้เราควรจะมีท่าทีปฏิบัติต่อมันอย่างไรจึงจะถูกต้องทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมของเรา นี่เป็นเรื่องของจริยศึกษาทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่หัวข้อธรรมเป็นอย่างๆ ว่า ให้มีสติ ให้มีขันติ ให้มีเมตตา ให้มีปัญญา แล้วก็เป็นแต่หัวข้อธรรมสำหรับท่องบ่น ไม่ไปสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต จริยศึกษาที่แท้จริง ก็คือการฝึกฝนพัฒนาให้รู้จักวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว นี้คือจริยศึกษา ซึ่งจัดโยงเอาวิชาการต่างๆ เข้ามาหากัน นี้เป็นลักษณะของการสอนจริยศึกษา

สาม ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ เรื่ององค์ประกอบของชุมชน องค์ประกอบของชุมชนที่มีอยู่สามอย่างนี้ ทำอย่างไรจะให้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ซึ่งเดิมนั้นทั้งสามอย่างก็ต้องมีหน้าที่ในการศึกษาทั้งนั้น บ้านก็ต้องมีหน้าที่ในการศึกษา คือ พ่อแม่ก็ต้องมีหน้าที่ในการศึกษา วัดก็มีหน้าที่ในทางการศึกษามาแต่เดิม แล้วเราจะทำอย่างไรให้องค์ประกอบหรือสถาบันเหล่านี้มามีส่วนร่วมในทางการศึกษาที่เหมาะสมกับหน้าที่ ภาวะ และตำแหน่ง ฐานะของตน อย่างวัดนี่ ตอนนี้ก็ไม่มีบทบาทโดยตรงในระบบการศึกษาแบบที่เรียกว่าระบบโรงเรียน แต่ในชุมชนซึ่งเป็นการศึกษานอกโรงเรียนนั้น เด็กก็ตาม ชาวบ้านก็ตาม มีการศึกษาตลอดเวลา และวัดก็มีบทบาทนี้ ทำอย่างไรเราจะไปส่งเสริม อย่างน้อยให้วัดนี่มีส่วนช่วยส่วนรวมในการให้จริยศึกษาแก่เด็ก และแก่สังคมทั้งหมด

ในการที่จะทำอย่างนี้เราก็จำเป็นจะต้องเอาองค์ประกอบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องนี้ เข้ามาร่วมพิจารณาในการวางนโยบายการศึกษาด้วยว่าจะเอาอย่างไร มิฉะนั้นแล้ว สังคมของเราในปัจจุบัน ซึ่งมีสภาพแบบชุมชนแตกทำลายแล้วนี้ จะประสานกันไม่ติด แล้วก็ไม่เกื้อกูลต่อกัน กระบวนการพัฒนาก็จะไม่ดำเนินไปด้วยดี เพราะฉะนั้น ก็หันกลับมาสู่จุดที่พูดกันเมื่อกี้ว่า ในการที่จะดำเนินการศึกษาต่อไป จะต้องมาวางนโยบายร่วมกัน หรือวางนโยบายให้ครอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมดที่มีอยู่ในชุมชน ก็ขอเสนอไว้เท่านี้ก่อน

การจัดประชุมครั้งนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาอยู่ในตัวแล้ว เพราะแสดงถึงการคิดในทางสร้างสรรค์ โดยมีความห่วงใยประเทศชาติ และห่วงใยสังคมนี้เป็นพื้นฐาน การห่วงใยนั้นแสดงออกมา โดยประกอบเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรามาช่วยกันหาทางว่า จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้อย่างไร จะช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนากันต่อไปอย่างไร เป็นการมาช่วยกันระดมความคิด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะจบสิ้นในที่นี้ จะต้องทำกันต่อไป และความจริง ก่อนนี้ก็ได้ทำกันมาหลายพักหลายตั้งแล้ว ทำอย่างไรเราจะได้เห็นเป็นจริงเป็นจังกันเสียที แต่ก่อนจะออกสู่ภาคปฏิบัติที่จริงจังนั้น ก็ควรจะมีความชัดเจนในทางความคิดเสียก่อน จึงเป็นการดีที่เราพยายามมาช่วยกันคิด ช่วยกันพิจารณาถกเถียงกัน

เมื่อให้โอกาสอาตมภาพแล้ว ก็ขอพูดแทรกไว้อีกหน่อย เมื่อกี้นี้ ท่านอาจารย์อธิบดีวิรัช กมุทมาท ท่านได้ขอให้อาตมภาพพูดอีกนิดหนึ่ง ท่านพูดถึงเรื่องจริยศึกษาว่า เดี๋ยวนี้ก็ถึงกับมีการจัดห้องสมาธิ ห้องวิปัสสนากันขึ้น เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา แต่ในเวลาเดียวกัน อาตมภาพก็ขอแสดงความรู้สึกที่มาปะทะตัวเองอยู่นิดหนึ่ง คืออย่างที่กล่าวแล้วว่า คนเรานี้มักจะชอบเอียงสุด คือว่า ไปสุดทางนี้แล้วก็ไปสุดทางโน้น ซึ่งรวมไปถึงว่า เอียงสุดทางวัตถุ แล้วก็จะไปเอียงสุดทางจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ในการจัดกิจกรรมเหล่านี้ มีข้อที่อยากจะให้ไม่ประมาทกันไว้อย่างหนึ่ง คือ ควรระวังการเสพติดทางจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังมาก เพื่อมิให้กลายเป็นสภาพเอียงสุด อันนี้ก็ขอพูด เป็นเรื่องสั้นๆ แล้วผ่านไปเลย

ทีนี้ เรื่องเกี่ยวกับการจัดจริยศึกษา ท่านบอกว่า ในชนบทนั้น บ้าน วัด โรงเรียน ก็เป็นคติประจำอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า ก็คือ ในสังคมเมืองจะทำอย่างไร อันนี้อาตมภาพว่า ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ง่าย ในเมื่อเราได้ปล่อยให้ปัญหานี้ทับถมมานาน มันเป็นเรื่องของการสั่งสมปัญหาระยะยาว จนกระทั่งไปเกี่ยวพันถึงคุณภาพของคนที่จะมาทำงานเหล่านี้ กล่าวคือ ในเมื่อเราปล่อยปละละเลยเรื่องนี้มานาน คนที่จะทำงานเรื่องนี้ได้ ก็ค่อยๆ หมดไปและไม่มีคนใหม่มาสืบต่อ แล้วเวลานี้เราเกิดจะทำขึ้นมา ก็เลยกลับไม่มีคนที่จะมาทำงานนี้ให้ได้ เราจึงจะต้องมาทำงานระยะยาวกันใหม่อีก คือการสร้างสรรค์คนที่จะมาทำงาน ซึ่งไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น ในชนบทก็เช่นเดียวกัน เช่น เราหวังให้พระและพ่อแม่หรือชาวบ้านมาช่วยให้การศึกษาแก่ลูกแก่เด็กด้วย แต่ท่านเหล่านั้น ก็ต้องเป็นผู้ได้รับการศึกษาเสียก่อน แล้วเราได้คิดอะไรบ้างในการที่จะให้การศึกษาแก่พ่อแม่เด็ก ให้การศึกษาแก่พระ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงบอกว่า เราจะต้องช่วยกันคิดพิจารณาว่า จะให้การศึกษาแก่ชุมชนทั้งหมด แก่องค์ประกอบในชุมชนนั้นได้อย่างไร มาถึงในเมืองก็เช่นเดียวกัน สถาบันสงฆ์ก็ต้องการที่จะมีการศึกษา

อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ ขณะนี้ ในการวางแผนนโยบายเกี่ยวกับการศึกษา เรามองเป็นว่า การศึกษาก็เรื่องหนึ่ง ศาสนาก็เรื่องหนึ่ง สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันศาสนา ซึ่งไม่ตรงความจริง เราต้องมองสถาบันศาสนาในฐานะสถาบันสังคมสถาบันหนึ่ง สถาบันสงฆ์นั้นมีความหมายในทางสังคมอยู่มาก แล้วก็เป็นสถาบันการศึกษาด้วย ทำอย่างไรจะให้ท่านมาร่วมคิดร่วมทำด้วยในส่วนที่ท่านเกี่ยวข้อง พระสงฆ์โดยเฉพาะคณะสงฆ์จะต้องหันกลับมาเอาใจใส่ในการศึกษา ขณะนี้ พระสงฆ์ในระดับนโยบายเป็นเหมือนกับว่า ท่านไม่รู้สึกว่าท่านมีหน้าที่ทางการศึกษา แล้วท่านจะเอาเรื่องนี้ไปวางแผนให้เกิดเป็นแนวความคิด และนโยบายในการบริหารและการปกครองอย่างไร ถ้าเราจะให้ท่านมีส่วนร่วมในเรื่องการศึกษา เราจะทำอย่างไร

เรื่องนี้ก็โยงมาถึงการที่จะต้องปรับปรุงแม้แต่กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ขณะนี้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ให้ความสำคัญทางด้านการปกครองอย่างเดียว โดยลืมว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับเดิมๆ อย่างที่อาตมภาพอ่านมา ตั้งต้นแต่ ร.ศ. ๑๒๑ นั้น มันมาจากการศึกษาโดยตรงเลยทีเดียว และ พ.ร.บ. นั้นก็ให้ความสำคัญแก่การศึกษามาก แต่มาถึงปัจจุบันนี้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ให้ความสำคัญเฉพาะแต่ด้านการปกครอง นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องที่ว่า เราจะต้องมาช่วยกันคิดแก้ไขอะไรอย่างไร

อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะของสถาบันสงฆ์อย่างเดียวหรอก มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทุกอย่างของสังคม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ทุกอย่างเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น การประชุมครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและหาหนทางในการที่จะทำงานที่เป็นการสร้างสรรค์ ให้เจริญงอกงามดียิ่งขึ้นไป เมื่อได้มาร่วมประชุมกันอย่างนี้แล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา ก็ขอให้เราทั้งหลายอย่าได้มีความท้อใจ อย่าท้อใจว่า ปัญหามันมากมายเหลือเกินจะแก้ไม่ไหว เพราะว่าปัญหานั้น คือ อุปสรรคที่จะต้องแก้ไข เป็นสิ่งที่ท้าทาย เราจะต้องมีกำลังใจสู้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย จนกระทั่งเกิดความเพลินคิดเสียว่า ไม่เป็นไรหรอก อยู่อย่างนี้เป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว แล้วก็เลยตกอยู่ในความประมาท ก็เสียอีก หลักสำคัญในพระพุทธศาสนา ก็คือ ความไม่ประมาท จะต้องเร่งรัดแก้ไขสิ่งที่ควรแก้ กระทำสิ่งที่ควรทำ นั่นคือหลักการทั่วไป เมื่อปฏิบัติตาม ก็จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในกิจการทุกอย่างทุกประการ

อาตมภาพขออนุโมทนา ต่อทางสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ที่ได้มีความดำริอันเป็นกุศล จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น และขออนุโมทนาต่อคณะกรรมการ ต่อคณะท่านผู้ร่วมอภิปราย และต่อท่านผู้ร่วมในการประชุมนี้ทุกท่าน ขอให้เราทั้งหลายจงได้มีกำลังใจ กำลังสติปัญญา ในการที่จะช่วยกันคิดช่วยกันทำงานทุกอย่างทางการศึกษานี้ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป และขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย จงอภิบาลรักษาทุกท่าน ขอเจริญพร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แนวทางในการแก้ปัญหา

No Comments

Comments are closed.