แนวทางในการแก้ปัญหา

23 มกราคม 2531
เป็นตอนที่ 6 จาก 7 ตอนของ

แนวทางในการแก้ปัญหา

ดังได้กล่าวแล้ว สาเหตุสำคัญของปัญหาการศึกษาไทย ซึ่งเป็นปัญหาไปด้วยในตัว ก็คือ เรื่องสภาพชุมชนแตก และอีกอย่างหนึ่ง คือ การไม่รู้จักสังคมไทย เมื่อไม่รู้จักสังคมไทย ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศก็นำสังคมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมในลักษณะที่ทำให้ชุมชนรวนเรระส่ำระสาย เราจะเห็นว่า ลักษณะการดำเนินนโยบายของรัฐนี้ คล้ายๆ กับจะให้สังคมไทยเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม แต่ในเวลาเดียวกันนั้น เพราะการไม่รู้จักไม่เข้าใจชุมชนหรือสังคมเพียงพอ ก็ทำให้ชุมชนรวนเรระส่ำระสาย ถ้าหากว่าเราเข้าใจสังคมของเราดี แม้ว่าเราจะมีวัตถุประสงค์ในการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เราก็จะมีวิธีการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมที่แนบเนียนกว่านี้ แม้ว่าการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมนั้นจะยังเป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์ว่า เราควรจะทำแค่ไหน

ขอพูดต่อไปถึงแนวทางในการแก้ปัญหา การศึกษาเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของการพัฒนาสังคม และการพัฒนานั้นจะเป็นไปด้วยดี ก็ต่อเมื่อองค์ประกอบทุกส่วนของสังคมพัฒนาไปด้วยกันอย่างประสานกลมกลืน เพราะฉะนั้น แนวทางอย่างหนึ่งในการจัดการพัฒนาประเทศหรือพัฒนาสังคมก็คือ

หนึ่ง จะต้องให้กิจกรรมทุกอย่างในการพัฒนา ทั้งวิทยาการและระบบการทุกอย่าง ทำงานอย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลแก่กัน การศึกษาจะต้องเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาตามแนวทางนี้

สอง ในแง่ของการศึกษาโดยเฉพาะ จะต้องให้การศึกษาเป็นเครื่องช่วยให้องค์ประกอบทุกส่วนของชุมชน พัฒนาขึ้นไปด้วยกันอย่างประสานกลมกลืน นี้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งการศึกษาจะช่วยได้ และมีหน้าที่จะต้องช่วย แต่ขณะนี้ ในการจัดการศึกษา เมื่อเรามองไปที่ชุมชนนั้น เรามองไปที่ไหน เรามองไปแต่ที่นักเรียนของเรา หรือมองไปที่โรงเรียนมากไป เราไม่มองว่า ชุมชนนี้มีองค์ประกอบอะไรร่วมอยู่ด้วย และการศึกษาจะไปช่วยพัฒนาองค์ประกอบเหล่านั้นได้อย่างไร นี้เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็คือ จะต้องให้การศึกษาประสานกลมกลืนกับกิจกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาของชุมชน และสาม จะต้องให้สถาบันทุกฝ่ายที่เป็นองค์ประกอบของชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษา อันนี้ พูดพันกันไปพันกันมา แต่เป็นสามด้านด้วยกัน

จะยกตัวอย่างข้อเน้นในเรื่องที่ว่า ผู้บริหารประเทศของเรานี่เกรงว่าจะไม่ค่อยรู้จักสังคมไทย ไม่เข้าใจชุมชนไทย ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เคยมีท่านผู้ใหญ่ในวงการศึกษาบางท่านบอกว่า การศึกษาของรัฐ รัฐก็จัด การศึกษาของวัด วัดก็จัด ต่างคนต่างทำ การพูดอย่างนี้ ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง อาจจะเป็นนโยบายของประเทศไทยในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าได้ แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน เพราะว่านโยบายการศึกษา หรือการจัดการศึกษาของเราสืบเนื่องมาจากเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน เมื่อเราเริ่มจัดการศึกษานั้น วัดกับรัฐนี่ช่วยกันจัด แล้วสภาพนั้นก็ยังสืบทอดมา ยังตัดตอนไม่ได้ เมื่อไปตัดตอนเข้ามันก็เกิดผลเสีย เพราะฉะนั้น อันนี้จะต้องมองให้ชัด

ที่ว่าการพูดอย่างนั้นไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ก็เพราะเป็นที่ปรากฏชัดอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า การศึกษาของวัด รัฐจัดก็มี และการศึกษาของรัฐ วัดจัดก็มี ที่ว่านั้นจึงไม่ตรงความจริง การศึกษาของวัด รัฐก็จัด ดังเห็นกันอยู่ว่า พระเณรพากันไปเข้าเรียนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ นิยมไปเรียนของรัฐมากกว่าของวัดเอง ทีนี้การศึกษาของรัฐ วัดก็จัด ก็คือ คนของรัฐที่เข้าสู่ระบบของรัฐเองไม่ได้ ก็มาเข้าวัด การที่มีพระเณรสองสามแสนรูปนั้น เฉพาะเณรที่เป็นแสนสองแสนนั้นก็คือเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐไม่ได้ แล้วมาใช้วัดเป็นช่องทางการศึกษาแทบทั้งสิ้น ถ้าเราไม่จัดการกับเรื่องนี้ให้ดี ปัญหาสังคมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรามองไหมว่า ปัญหาเรื่องอะไรต่างๆ ที่กำลังฉาวโฉ่เกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์นี้ มันสืบเนื่องมาจากการดำเนินการศึกษาที่ตัดแยกกันนี้ด้วย เป็นผลระยะยาว

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า จำนวนพระเณร คือดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสทางการศึกษาที่มีมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันนี้ เรามีมหาวิทยาลัยทางโลกและมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในฝ่ายมหาวิทยาลัยทางโลกนี้ ท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปรายได้บอกแล้วว่า มีลูกชาวไร่ชาวนาเข้าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งหมดไม่ถึง ๑๐% ทีนี้ หันไปดูมหาวิทยาลัยสงฆ์ อาตมภาพเคยสำรวจทั้งหมดในตึกเดียว ๖๗๘ รูป มีเกิดในกรุงเทพฯ หนึ่งรูป นอกนั้นเกิดในชนบททั้งสิ้น เป็นลูกชาวนา และกสิกรอื่นๆ ๙๑.๖๙% นับว่าเป็นตัวเลขที่ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น ให้ท่านดูได้เลยว่า ตัวเลขพระเณรคือดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสทางการศึกษา อาจจะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไปอีกหลายสิบปีก็เป็นได้ ถ้าเราไม่จัดการกับเรื่องนี้ให้ดีแล้ว ผลเสียจะต้องเกิดขึ้นมากมาย ที่ว่ามานี้ในระดับรัฐ

ทีนี้ ในระดับชุมชน เราจะต้องแยกแยะให้ดี จะต้องพิจารณาว่า ชุมชนประกอบด้วยอะไรบ้าง องค์ประกอบหลักของชุมชนคือ สถาบัน บ้าน+วัด+โรงเรียน บ้าน วัด โรงเรียนนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดมา หน่วยราชการไปทำหน้าที่อะไรต่อชุมชน หน่วยราชการอยู่ในชุมชนได้จริงหรือเปล่า เป็นส่วนประกอบของชุมชนได้ไหม และควรจะไปอยู่ในฐานะอะไร หน่วยราชการอาจจะไปอยู่ในฐานะผู้คอยช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ หรือไปช่วยอุปถัมภ์ให้กำลังเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนกับส่วนกลาง หรือเป็นตัวแทนของส่วนกลางที่คอยเอื้ออำนวยแก่ชุมชน อยู่ในฐานะเป็นคนนอกเสียมากกว่า แล้วตัวชุมชนเองมีใครบ้าง จะต้องดูให้ออกให้หมด ที่แน่นอนก็คือ บ้าน วัด โรงเรียน

แม้วัดจะเลิกให้การศึกษาแก่นักเรียนแล้ว แต่วัดก็ยังให้การศึกษาแก่ชาวบ้านอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ไปรับการศึกษาจากวัด โดยเป็นแบบระบบนอกโรงเรียน หรือ Informal Education เป็นการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ วัดจะให้การศึกษาอยู่เรื่อยไป ถ้าปฏิบัติในเรื่องนี้ถูกต้อง วัดหรือพระก็จะยังคงเป็นหน่วยสำคัญ ที่จะช่วยในการทำให้ลูกกับพ่อแม่เข้ากันได้ หรือผู้ใหญ่เข้ากับเด็กได้ และให้บ้านกับโรงเรียนกลมกลืนกัน เจ้าอาวาสเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของชุมชน และพระก็เป็นคนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ถ้าเราสามารถทำให้พระมีการศึกษาดี ที่จะนำความคิดถูกต้องแก่ประชาชน ก็จะนำประชาชนไปในทางที่ถูกต้องได้ แต่ถ้าพระคุณภาพต่ำ อาจจะชักชวนชาวบ้านไปสู่ความหายนะก็ได้ ปัจจุบันนี้ คุณภาพของพระเป็นอย่างไร เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณา ถ้าคุณภาพของพระเสื่อมลงแล้วชาวบ้านจะเป็นอย่างไร

ทีนี้ต่อไปก็คือ ผู้นำในหมู่บ้าน ผู้นำในหมู่บ้านนี้เรามักจะมองข้ามไป ไม่เห็นว่าเขามีความสัมพันธ์กับวัดอย่างไร ผู้นำในหมู่บ้านนั้น นับว่าเป็นผู้บริหารวัดด้วยถัดจากเจ้าอาวาส ขอให้ไปดูเถิดในต่างจังหวัดนั้น ผู้นำของชาวบ้านจะไปบริหารวัดด้วย และวัดก็เป็นแหล่งที่ผู้นำของหมู่บ้านเหล่านี้มาพบปะทั้งกับพระและชาวบ้าน ผู้นำของชาวบ้านนี่เขาไปพบกับชาวบ้านที่ไหน โดยมากก็พบที่วัด แล้วเขาก็อาศัยวัดเป็นที่เข้าถึงชุมชน นอกจากเข้าถึงชุมชนแล้ว เขาก็แสวงหาความเป็นผู้นำของชุมชนโดยไปที่วัด แล้วก็ใช้วัดนั้นเป็นที่แสดงหรือใช้ความเป็นผู้นำด้วย รวมความว่า แสวงหาความเป็นผู้นำก็ที่วัด ใช้ความเป็นผู้นำของตนต่อประชาชนก็ที่วัด แม้แต่ครูเองก็ไม่เว้น ครูเอง ก็มักจะใช้ความเป็นผู้นำของตนและแสวงหาความเป็นผู้นำของตนจากที่วัดเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เราจะต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ด้วย จะต้องไม่ละทิ้งองค์ประกอบสามประการของชุมชน จะต้องให้องค์ประกอบในชุมชนของเขาประสานกลมกลืนกัน ถ้าเรามองเห็นว่าการเจริญเติบโตพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนเป็นสิ่งสำคัญแล้ว เราจะละทิ้งองค์ประกอบของชุมชนเหล่านี้ไม่ได้ การวางนโยบายการศึกษาจะต้องครอบคลุมชุมชนทั้งหมดด้วย

แม้มาถึงระดับของรัฐก็เหมือนกัน การที่กระทรวงศึกษาธิการมีทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาและมีกรมการศาสนาอยู่ในนั้น ได้เป็นประเพณีมาตั้งแต่รัชกาลที่ห้า ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าท่านเห็นว่า สถาบันศาสนากับชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ปัจจุบันนี้ ในเมื่อมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ การที่เราจะมองกิจการศาสนากับการศึกษาแยกกันย่อมไม่ถูกต้อง แต่ตามที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทั้งที่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน เวลาเรามอง เรามักมองด้วยความรู้สึกเหมือนว่าเป็นกิจการคนละอย่าง ถ้าอย่างนี้แล้วก็จะไม่ประสาน ไม่กลมกลืนกัน ไม่สอดคล้องกับระบบของเราที่มีมาแต่เดิม แล้วก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่กำลังเป็นอยู่ด้วย ฉะนั้น การวางนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะวางโดยเป็นแผนรวมที่ให้การศึกษากับศาสนาเข้ามาประสานสอดคล้องกัน คณะสงฆ์จะต้องมาร่วมด้วย จะต้องพิจารณาว่า ทางคณะสงฆ์จะจัดการศึกษาอย่างไร จึงจะกลมกลืนเอื้อต่อกันกับระบบการศึกษาของรัฐ เป็นต้น และในระดับชุมชน ก็ต้องให้มีความประสานกลมกลืนในการพัฒนา ทั้งของพระสงฆ์ ชาวบ้าน และเด็กนักเรียน

อันนี้ก็เป็นปัญหาต่างๆ ที่จะต้องพิจารณา โดยเฉพาะสภาพชุมชนปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่เราน่าจะต้องรีบพิจารณาแก้ไข ขอพูดอย่างสั้นๆ ว่า ในบรรดาสถาบันหรือองค์ประกอบหลักของชุมชนที่มีสาม คือ บ้าน วัด และโรงเรียนนั้น เวลานี้เรามองไปที่โรงเรียน ครูก็จ๋อง เดี๋ยวนี้ครูจ๋องแล้ว โดยตกต่ำทั้งคุณภาพและสถานภาพ ทีนี้ ต่อไป มองมาที่วัด พระก็เจ็บ ตอนนี้พระกำลังป่วยร่อแร่ๆ อยู่ โดยขาดทั้งสมรรถภาพและประสิทธิภาพ ที่จะนำชาวบ้านไปด้วยดี และมีความเสื่อมโทรมอ่อนแอปรากฏขึ้นทั่วไป ทีนี้สาม มองไปที่บ้าน ตาสีก็กำลังโซ ตาสีนี่โซทั้งทรัพย์และโซทั้งสติปัญญา และเมื่อมองหาผู้คนที่จะมาช่วยแก้ปัญหาต่อไป ก็ปรากฏว่าลูกหลานของตาสีตาสาได้พากันออกจากหมู่บ้านไปแทบหมดแล้ว นี่คือสภาพชุมชนของเราในปัจจุบัน เราจะทำอย่างไรก็ต้องรีบช่วยกันแก้ปัญหา และจะช่วยแก้ปัญหาก็ต้องช่วยทั้งชุมชน มองปัญหาทุกอย่างในลักษณะที่เรียกว่า สัมพันธ์โยงซึ่งกันและกัน แล้วก็วางวิธีการแก้ไปตามหลักการที่ว่า เหตุปัจจัยอิงอาศัยซึ่งกันและกัน สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จะต้องทำให้องค์ประกอบทั้งหลายพัฒนาไป โดยมีความประสานกลมกลืนกัน

การแก้ปัญหามิใช่มีเพียงเท่านี้ แต่ในเวลาที่จำกัด ก็ต้องยกมาพูดเน้นให้เด่นชัดเพียงบางเรื่องบางข้อ จากส่วนย่อยในระดับชุมชนนี้ ขอข้ามขึ้นไปถึงส่วนรวมทั้งหมดในระดับชาติเลยทีเดียว เรื่องสำคัญที่พูดไว้แต่ต้น ซึ่งขอย้ำในที่นี้ คือ เรื่องจุดหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการศึกษาจะต้องช่วยกำหนดวาง และทำให้คนในสังคมนี้ตระหนักชัด ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมกันของคนในชาติ ได้พูดไว้ข้างต้นว่า เมื่อเริ่มการศึกษาสมัยใหม่ เราพัฒนาประเทศ เพื่อให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย เพื่อจะได้สามารถต่อสู้ต้านทานลัทธิอาณานิคม แต่เมื่อจุดหมายนี้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว เราปล่อยให้การพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทันสมัย ดำเนินไปอย่างเลื่อนลอย ไร้จุดหมายที่ชัดเจน จนกระทั่งการสร้างความเจริญก้าวหน้านั้น จะมีความหมายเพียงเป็นการตามอย่างฝรั่ง หรือตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วไปเรื่อยๆ

เป็นอันว่า เราจะต้องตั้งจุดหมายใหม่ขึ้นมาให้ชัดเจน แต่จะเอาอะไรเป็นจุดหมาย ถ้าจะตั้งให้ได้ผลอย่างญี่ปุ่นว่า จะต้องให้ชาติเรายิ่งใหญ่ที่สุด เจริญที่สุด ก้าวหน้ายิ่งกว่าประเทศใดๆ ก็เห็นว่าไม่น่าสนับสนุน เพราะมีลักษณะคับแคบ เป็นทางก่อปัญหาแก่มนุษย์ร่วมโลกในระยะยาว

ขอเสนอว่า ไหนๆ เราก็ถลำหรือพลาดกันมานานแล้ว ก็ควรจะตั้งจุดหมายที่ดีที่สุดและก้าวหน้าที่สุด เวลานี้กำลังเกิดความสำนึกกันมากขึ้นว่า ความเจริญก้าวหน้าของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย กำลังจะถึงจุดติดตัน วิทยาการต่างๆ กำลังจะถึงที่อับจน อารยธรรมของมนุษย์กำลังจะหลงทิศทาง ในสภาพเช่นนี้ โลกต้องการภูมิปัญญาใหม่ที่จะชี้นำทางให้ สังคมไทยน่าจะพิสูจน์ตนเองว่า มิใช่สามารถแต่เพียงตามอย่างเขาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะไปสู่วัฒนาหรือหายนะเท่านั้น แต่มีภูมิธรรมภูมิปัญญาที่จะเสนอให้เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้ด้วย จุดหมายที่จะตั้งขึ้นนี้ พึงมุ่งให้เห็นทางออกของอารยธรรมมนุษย์ ชี้นำทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่ถูกต้องให้แก่มวลมนุษย์

จุดหมายที่ตั้งขึ้นแล้ว จะเร้าให้เกิดจิตสำนึกและเกิดพลังในการที่จะสร้างสรรค์ความก้าวหน้าของวิทยาการ การจัดวางระบบการต่างๆ ตลอดจนปฏิบัติการทั่วๆ ไปในการพัฒนา ให้มุ่งแน่วแน่ไปในแนวทางที่ร่วมกันอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงอยู่กันไป และทำกันไปอย่างเปะปะเลื่อนลอย ซึ่งเมื่อไม่รู้ว่าจะทำเพื่ออะไรที่ดีกว่า ก็เลยกลายเป็นเพียงนักบริโภค หันไปเอาดีด้วยการอวดเก่ง อวดโก้ ในหมู่พวกเดียวกันเอง

อย่างไรก็ตาม เรื่องจุดหมายนี้ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องพูดกันอีกมาก ในที่นี้ เพียงให้เห็นว่า จำเป็นต้องมี และเสนอแนวคิดกว้างๆ ว่าควรจะมีลักษณะอย่างไร เมื่อเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีแล้ว ก็มาช่วยกันทำให้ชัดเจนต่อไป ซึ่งคงจะต้องพูดกันอีกมาก คราวนี้ขอยกเรื่องตั้งรูปขึ้นมาเพียงเท่านี้ก่อน อาตมภาพก็ขอเสนอไว้ และขออนุโมทนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาการศึกษาที่จะต้องแก้ตอบคำถามทั่วไป >>

No Comments

Comments are closed.