ข้อสังเกต เกี่ยวกับการใช้การศึกษาแก้ปัญหาของสังคมไทย

23 มกราคม 2531
เป็นตอนที่ 3 จาก 7 ตอนของ

ข้อสังเกต เกี่ยวกับการใช้การศึกษาแก้ปัญหาของสังคมไทย

ก่อนที่จะพูดถึงช่วงที่สองว่า การศึกษาไทย แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา ก็อยากจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่กล่าวข้างต้นนั้นเสียก่อน ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ปัญหานั้นมีอยู่ประมาณ ๕ อย่าง แต่ตอนแรกนี้จะพูดถึงลักษณะของการแก้ปัญหาก่อน ลักษณะการแก้ปัญหาของเมืองไทยในเวลานั้นมี ๒ ประการ

๑. เรามุ่งเพื่อแก้ปัญหาประเภทที่เรียกได้ว่า เป็นปัญหาเฉพาะหน้า คือการที่ลัทธิอาณานิคมได้เข้ามาคุกคาม และเราจะต้องทำตัวให้หลุดพ้นไปจากการคุกคามนั้น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าย่อมมีลักษณะเป็นเรื่องชั่วคราว หรือเรียกว่า การแก้ปัญหาระยะสั้น

๒. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ตามปกติจะเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องเร่งรัดทำจนอาจจะกลายเป็นเรื่องเร่งรีบ หรือบางทีก็รีบร้อนด้วย นี่เป็นลักษณะประการที่สอง

อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าใจด้วยว่า ความจริง ท่านได้คิดแก้ปัญหาระยะยาวด้วย โดยมุ่งให้การแก้ปัญหาระยะสั้นนั้นเป็นฐานและมีการเตรียมการสร้างสรรค์ระยะยาวแทรกไปด้วย แต่จุดเน้นจุดเด่นหรือการระดมกำลัง มุ่งแก้ปัญหาระยะสั้นที่เผชิญอยู่เฉพาะหน้า หรือสภาพที่มองเห็นโต้งๆ เป็นสำคัญ

รวมความว่า หนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น สอง เป็นการเร่งด่วนหรือรีบร้อน ในเมื่อลักษณะของการแก้ปัญหาเป็นอย่างนี้ ก็จึงมีข้อสังเกตสืบเนื่องต่อไปอีก ซึ่งข้อสังเกตทั้งหมดนี้จะโยงไปถึงปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกอย่าง

ประการที่หนึ่ง ตามธรรมดาของการแก้ปัญหา บางทีก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรีบร้อนหรือจำเป็น บางทีเราต้องยอมเสียอะไรบางอย่าง ต้องยอมสร้างปัญหาบางอย่างขึ้นมาทั้งๆ ที่รู้ด้วยซ้ำ เพื่อจะทำให้วัตถุประสงค์สำคัญในการแก้ปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าเป็นผลสำเร็จ และเรื่องนี้ก็เป็นอย่างนั้นด้วย

ประการที่สอง ในการแก้ปัญหาระยะสั้น ถ้าผู้บริหารประเทศที่รับช่วงต่อมาเข้าใจปัญหาและรู้ทันเหตุการณ์ เมื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นเสร็จ เข้ารูปดีแล้ว ก็จะต้องหันมาตั้งหลักใหม่เพื่อแก้ปัญหาแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างนั้น และวางแนวความคิดในการที่จะสร้างสรรค์พัฒนาระยะยาวต่อไป อันนี้คือข้อสำคัญ

ประการที่สาม ข้อนี้จะสัมพันธ์กับเรื่องปัญหาที่จะพูดถึงต่อไป กล่าวคือ การแก้ปัญหาระยะสั้นและรีบเร่ง แม้จะทำสำเร็จ แต่มักจะมีสภาพแบบให้รอดตัวไปก่อน อย่างที่ว่าทำกันอยู่แค่เปลือกผิวภายนอก ซึ่งปรากฏว่าเราอาจจะมีรูปร่างที่ทันสมัยแต่เนื้อตัวยังไม่พัฒนา ที่เรียกกันว่าทันสมัยแต่ไม่พัฒนา หรือว่าแต่งตัวศิวิไลซ์แต่ข้างในคือคนเดิม หรืออีกอย่างหนึ่งจะขอเทียบเหมือนกับการสร้างเจดีย์ของศรีธนญชัย เข้าใจว่า หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องการสร้างเจดีย์ของศรีธนญชัย

เรื่องมีอยู่สั้นๆ ว่า พวกพม่าได้มาท้าทายเมืองไทยว่าให้สร้างเจดีย์แข่งกัน เป็นการพนันเอาเมืองกันเลย ให้สร้างเจดีย์เสร็จในวันเดียว หนึ่งวันหนึ่งคืน ประเทศไทยก็รับท้า แต่มีความวิตกมาก คิดไม่ตกว่า จะทำอย่างไรดีในที่สุด ศรีธนญชัยก็มาขันอาสาว่าจะสู้ ตกลงว่าจะสร้างเจดีย์แข่งกันที่ชายแดน พอถึงเวลาแข่งขัน ฝ่ายพม่าก็เริ่มการตั้งแต่เช้า ก่ออิฐทำเจดีย์ขึ้นไปๆ เช้าก็แล้ว สายก็แล้ว เย็นก็แล้ว ไม่เห็นไทยเริ่มสักที จนกระทั่งค่ำ พอถึงกลางคืนมืดแล้ว ศรีธนญชัยก็เริ่มเอาไม้มาผูกทำเป็นโครงขึ้นแล้วก็เอาผ้าขาวพันรอบ พอถึงเวลารุ่งสางยังไม่สว่างดี เห็นไม่ชัด พม่ามองมาเห็นเจดีย์ไทยขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ของตัวเองจวนจะเสร็จเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่เรียบร้อย เห็นว่าถ้าขืนรออยู่เสียเมืองแน่ พม่าก็เลยถอนกำลังหนีกลับประเทศหมดเลย ปรากฏว่า ประเทศไทยชนะ อย่างน้อยก็เอาตัวรอดมาได้ นี่คือลักษณะของการแก้ปัญหาแบบศรีธนญชัย เอาให้รอดตัวไปก่อน การพัฒนาประเทศของเรานั้นจะมีลักษณะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ขอให้พิจารณาด้วย

ประการที่สี่ การพัฒนาประเทศของเราที่ว่าให้ทันสมัยนั้น ก็เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการคุกคามของลัทธิอาณานิคม ความมุ่งหมายจึงชัดเจนอยู่แล้ว ในเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาว่า การกระทำแต่ละอย่างที่มีความมุ่งหมายนั้น เมื่อความมุ่งหมายของมันสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าการกระทำนั้นยังคงดำเนินอยู่ต่อไป การกระทำนั้นก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าเคว้งคว้างเลื่อนลอยไร้จุดหมาย แกว่ง หรือ ระส่ำระสาย ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะต้องทำอย่างไร มีทางที่จะทำได้สองประการกับการกระทำนั้น คือ

๑) ตั้งความมุ่งหมายให้ใหม่แก่การกระทำนั้น

๒) ปรับเปลี่ยนการกระทำนั้นเสียใหม่

ถ้าหากว่าเรามีการตั้งความมุ่งหมายให้ใหม่ และจุดหมายนั้นมีความชัดเจนแล้ว การกระทำนั้นก็เดินหน้าแน่วแน่ต่อไปได้ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ตั้งความมุ่งหมายให้ใหม่ เมื่อความมุ่งหมายเก่าเสร็จสิ้นไป โดยที่การกระทำนั้นยังไม่หยุดเลิกไปด้วย การกระทำนั้นก็จะกลายเป็นการกระทำซึ่งขาดจุดหมายที่ชัดเจน มันก็จะเกิดอาการเคว้งคว้าง แล้วก็อาจจะเกิดความมุ่งหมายที่เลื่อนลอยหรือแทรกซ้อนประเภทไขว้เขวที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาก็ได้

ยกตัวอย่างเช่นว่า เกิดมีข้าศึกหรือโจรผู้ร้ายมา เราก็ระดมกำลังพลในหมู่บ้านในถิ่นในตำบลของเราขึ้นมา จับอาวุธเข้าสู้กับผู้ร้ายเหล่านั้น จนกระทั่งโจรผู้ร้ายแตกพ่ายหนีไปถอยไปแล้ว ก็เสร็จ ทีนี้ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปกับกองกำลังที่ระดมขึ้นมาคืออะไร คือ หนึ่ง สลายตัวเสีย หรือสอง ตั้งความมุ่งหมายใหม่ว่าจะเอากำลังพลนั้นไปทำอะไร เช่น ถ้าเราคิดต่อไปว่า เอาละตอนนี้ เรารวมกำลังพลไว้ดีแล้ว โจรผู้ร้ายก็ปราบเสร็จแล้ว เราเอากำลังนี้ไปใช้งานอื่นเถอะ ถ้าเราเป็นประเทศหนึ่ง เราก็อาจจะเอากำลังพลนั้นไปบุกประเทศอื่นต่อไปเลย ก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรลงไปให้ชัดเจน ก็จะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อกำลังพลนั้นก็ไม่สลายตัวยังจับอาวุธกันอยู่ และเราก็ไม่มีความมุ่งหมายให้ใหม่ ก็เลยเกิดระส่ำระสาย พวกนี้อาจจะหันมารบกันเอง หรืออาจจะเอาอาวุธเอากำลังนั้นไปปล้นไปทำอะไรขึ้นมากลายเป็นอาชญากรรมหรืออะไรๆ ที่ไม่ดีไปก็ได้ แล้วก็จะเกิดผลเสียขึ้นมาได้มากมาย

การกระทำในการพัฒนาประเทศนี้ อาจจะยังคงมีความมุ่งหมายเหมือนอย่างประเทศไทยสมัยเดิม คือ การทำประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย จนสามารถต้านทาน สู้กับลัทธิอาณานิคม เพื่อให้เอาตัวรอดได้ ซึ่งต่างจากบางประเทศที่เขาอาจจะพัฒนาให้ทันสมัยเจริญก้าวหน้า โดยตั้งความมุ่งหมายว่าเขาจะต้องยิ่งใหญ่กว่าประเทศใดๆ ทั้งหมด แม้แต่ประเทศตะวันตกที่เขาเคยต้องตาม เขาจะต้องยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ญี่ปุ่นอาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของการตั้งจุดมุ่งหมายอย่างนั้น ถ้ามีความมุ่งหมายอย่างนี้อยู่ แม้ว่าการต่อสู้กับลัทธิอาณานิคมจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่จุดหมายก็ยังไม่สำเร็จ การพัฒนาประเทศของเขายังคงมีทิศทางชัดเจนที่จะต้องเดินหน้าแน่วแน่ต่อไป แต่ถ้าไม่มีความมุ่งหมายที่ชัดเจนแล้ว จะเกิดปัญหาขึ้นมา

การกระทำที่เรามุ่งให้คนของเราทันสมัยเพื่อจะสู้กับตะวันตกได้นั้น ในเมื่อตะวันตกนั้นเราเกิดรู้สึกว่าไม่ต้องสู้ หรือเลิกสู้ได้แล้ว เพราะเขาไม่แสดงอาการรุกรานให้เห็นต่อไปอีก ก็เรียกได้ว่าความมุ่งหมายเดิมของการกระทำนั้นหมดไป ทีนี้ เมื่อเรายังมีการกระทำอย่างเดิมคือการสร้างความทันสมัยนั้นต่อไป โดยไม่ได้ตั้งความมุ่งหมายใหม่เข้ามารับช่วงแทน เราก็อาจจะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น คือคนของเราที่พยายามทำตัวให้ทันสมัยให้ทันเขานั้น จะขาดจุดหมายในการพัฒนา แล้วก็เลยเกิดความเลื่อนลอย มีจุดหมายพร่าๆ มัวๆ การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัยอย่างประเทศตะวันตก เพื่อต่อสู้ต้านทานลัทธิอาณานิคมของตะวันตกได้นั้น ก็จะหดสั้นเข้า เหลือแค่ว่า พัฒนาเพื่อให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยตามอย่างประเทศตะวันตก แล้วจุดหมายที่ค้างอยู่ครึ่งๆ กลางๆ นั้น ก็อาจจะกลายหรือแปรไปในลักษณะที่เกิดไปนิยมชื่นชมเขาแล้วก็เลยเห่อฝรั่ง ตั้งหน้าตั้งตาเลียนแบบ มุ่งแต่ตามเขาอย่างเดียว

ในที่สุด แม้ว่าเราจะรอดพ้นจากความเป็นอาณานิคมทางการเมืองหรือการปกครองของฝรั่งมาได้ แต่เราก็อาจจะกลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจ และทางปัญญาของเขาไปโดยสมัครใจ อย่างไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น ความมุ่งหมายจะต้องมีอย่างชัดเจน ถ้าจุดหมายเดิมสำเร็จแล้ว แต่การกระทำยังดำเนินต่อไป ก็ต้องสร้างจุดหมายใหม่ให้เป็นที่กำหนดของจิตสำนึกเอาไว้ มิฉะนั้น ความมุ่งหมายที่ไม่ตั้งให้ชัดก็จะนำมาซึ่งปัญหา

ประการที่ห้า ในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนนั้น เราจะต้องทำสิ่งที่จำเป็นซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาด่วนนั้นก่อน ซึ่งในการทำเช่นนี้ บางส่วนในสังคมของเรานั้นจะเกิดอาการที่เจริญแซงล้ำหน้าส่วนอื่นๆ ที่เคยประสานกลมกลืนกันอยู่ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งทีเดียว กิจกรรมบางส่วนในสังคมของเราหรือในประเทศของเรา ตลอดจนคนบางประเภทในสังคมของเรา ได้เจริญล้ำหน้าคนพวกอื่นหรือกิจการส่วนอื่นที่เคยกลมกลืนประสานกัน จนกระทั่งว่า ส่วนที่เจริญแซงล้ำหน้าไปแล้วนั้นก็ไปแยกตัวโดดเดี่ยวเติบโตใหญ่เกินกว่าส่วนอื่นๆ เป็นสาเหตุนำมาซึ่งปัญหาต่อไป คือการที่สังคมแตกหรือภาวะชุมชนแตก และเกิดช่องว่างในด้านและวงการต่างๆ ตัวอย่างของการแซงล้ำหน้านี้ขอยกมาให้ฟังเช่นว่า

ในระดับประเทศ กรุงก็เจริญพัฒนาล้ำหน้ากว่าชนบท

ฝ่ายบ้านเมืองก็แยกตัวจากศาสนาและก้าวหน้าห่างกันไป

ในระดับชุมชน สถาบันการศึกษาคือโรงเรียนก็ล้ำหน้า และแยกตัวจากสถาบันอื่นที่เป็นองค์ประกอบของชุมชนเดียวกัน คือ ล้ำหน้าสถาบันครอบครัวหรือบ้าน ล้ำหน้าสถาบันวัด แยกตัวออกจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน ละทิ้งภูมิธรรมภูมิปัญญาของหมู่บ้านไปเสีย ในทางวิชาการ วิชาชีพชั้นสูงต่างๆ ก็เจริญรุดเลยหน้าวิชาประเภทความคิด และคุณธรรม ในตอนที่เร่งรัดความทันสมัย เราจะไม่คำนึงถึงวิชาจำพวกปรัชญา และศาสนา

ในทางค่านิยมและพฤติกรรมของคนในสังคม คนก็แข่งขันกันเพื่อความเจริญก้าวหน้า โดยแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ตามความเจริญแบบที่ให้ทันสมัยนั้น จนเริดร้างออกไปจากคุณธรรมและจริยธรรม

ในด้านสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ชนส่วนน้อยก็รวยยิ่งขึ้น คนส่วนมากที่จนก็ยิ่งจนลง ฐานะก็ห่างจากกัน ช่องว่างก็กว้างไกล

ตกลงว่า สังคมได้สูญเสียความประสานกลมกลืนอย่างที่ในสมัยใหม่เขาใช้คำว่าระบบบูรณาการ ระบบบูรณาการนี้สูญเสียไป ชุมชนก็แตก เต็มไปด้วยช่องว่างในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนา เมื่อความประสานกลมกลืนขององค์ประกอบในสังคมเสียไปแล้ว ก็ยากที่จะพัฒนาให้ได้ผลดี ความจริงปัญหานี้ได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้วไม่นานหลังจากเริ่มการศึกษาแบบสมัยใหม่นั้น หรือหลังจากเริ่มความเจริญสมัยใหม่นี้ไม่นานเลย ประมาณ ๑๐-๒๐ ปี ก็ปรากฏแล้ว ซึ่งท่านผู้ดำเนินการรับผิดชอบการศึกษาสมัยนั้น ก็ได้ตระหนักดีถึงปัญหานี้ แต่เราก็ได้ปล่อยให้ปัญหานี้คืบหน้าต่อมาจนปัจจุบัน อาตมภาพจะขออ่านความคิดสมัยนั้นให้ฟัง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงแสดงทัศนะไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ตอนหนึ่ง ว่า

“เมื่อแรกในประเทศอินเดียจับบำรุงการเรียนวิชาขึ้น คนทั้งหลายทุ่มเทกันเรียนแต่วิชา ไม่เอาใจใส่ในการทำมาหากินตามตระกูลของตน เมื่อหาผลเพราะวิชาเรียนไม่ได้ เพราะคนมีมากกว่างานที่จะทำ นักเรียนที่ได้ประโยคสูงสุด ต้องรับจ้างเป็นบ๋อยชักพัดเขาก็มี ครั้นจะกลับไปทำกิจตามประเพณีเดิมก็ไม่ได้ฝึกฝนมาเสียแต่แรก ถึงในกรุงเทพฯ บัดนี้ก็จะลงหาเค้านั้น คนชอบเรียนหนังสือและพอใจเป็นเสมียนมาก ด้วยเห็นว่าง่ายไม่ลำบาก”1

อีก ๕ ปี ต่อมา คือใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงแสดงพระมติ ซึ่งเป็นการทบทวนผลการศึกษาเท่าที่ได้จัดมา ความตอนหนึ่งว่า

“ในชั้นต้น ได้จับบำรุงวิชาหนังสือขึ้นก่อน…ทั้งในราชการก็ยังต้องการคนรู้แต่เพียงวิชาหนังสือเท่านั้นอยู่มาก คนผู้สอบไล่ได้ในชั้นนั้น ก็ได้เข้ารับราชการ ได้ประโยชน์แก่แผ่นดินสมหมาย ทั้งเป็นโอกาสตั้งตนขึ้นได้ด้วย ข้อนี้เป็นเหตุให้คนทั้งหลายนิยมในการเรียนหนังสือมากขึ้น และตั้งใจจะเอาความรู้หนังสือเป็นการงาน เมื่อกาลล่วงไป…เมื่อคนรู้หนังสือมีดาดดื่น โอกาสที่จะขึ้นในราชการก็แคบเข้าทุกที เมื่อเป็นเช่นนี้ คนผู้ไม่ได้ช่องน่าจะต้องหันไปหาการงานเดิมของตระกูล แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเหตุว่า บากหน้ามาทางหนังสือแล้ว ก็หาได้สนใจในการงานนั้นไม่ จึงพาให้แลเห็นสั้นเฉพาะในการที่ตนถนัด จึงบากบั่นไปในทางหนังสือนั้นเอง ที่สุดเป็นแต่เพียงเสมียนคัดลอก ได้ผลน้อยๆ พอเป็นเครื่องเยียวยาชีวิตให้เป็นไปได้ก็มีโดยมาก

“เหตุดังนั้น การศึกษาวิชาหนังสือในชั้นนี้ ของพวกบุตรราษฎร ไม่เป็นอันโยงกับการศึกษาพิเศษสำหรับการงานเดิมของตระกูล กลับเป็นเครื่องเปลี่ยนพื้นเพไปในทางใหม่… โรงเรียนตั้งออกไปถึงไหน ความเปลี่ยนพื้นเพของคนก็มีไปถึงนั่น ในเมืองใกล้เคียง บุตรชาวนาเรียนหนังสือแล้วทำการเสมียนก็มี แลเห็นชัดว่า เมื่อล่วงมารดาบิดาแล้ว คนนั้นคงไม่ทำนาต่อไป ถ้านาเป็นของตระกูลเอง ก็น่าจะขายเสีย ในไม่ช้า ตระกูลผู้เป็นเจ้าของที่ดินเช่นนั้น ก็จะไม่มีอะไรเป็นหลักทรัพย์ กลับจะต้องหาเลี้ยงชีพด้วยกำลังแรง…

“ข้อที่การศึกษาสามัญที่จัดขึ้นไม่เป็นอันโยงกับการศึกษาพิเศษของราษฎรพื้นเมือง กลับเป็นเครื่องเปลี่ยนพื้นเพของเขา เพื่อความเป็นผู้ไม่มีหลักทรัพย์ฉะนี้ สมควรที่จะได้รับความดำริเป็นอย่างมาก…

…คนที่เข้าเรียนแล้ว มีแต่ไม่คิดกลับถิ่นเดิม และบากหน้าไปทางอื่น ข้อนี้นอกจากเปลี่ยนพื้นเพ ยังจะสอนให้รู้จักรักถิ่นฐานบ้านเมืองของชาติตระกูลยากด้วย”2

ทางด้านสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ได้มีรับสั่งชี้แจงในที่ประชุมเทศาภิบาลฝ่ายราชการในหน้าที่กระทรวงธรรมการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ มีความตอนหนึ่งว่า

“การศึกษาซึ่งได้เริ่มจัดตลอดมาแล้วนี้ ก็เพื่อฝึกหัดคนเข้ารับราชการตามความประสงค์ของบ้านเมือง ซึ่งกำลังขยายการงานออกทุกแผนกทุกทาง แต่บัดนี้ราษฎรพากันนิยมการเล่าเรียนมากขึ้นแล้ว เห็นได้โดยที่เปิดโรงเรียนขึ้นที่ไหน ก็มีนักเรียนเข้าเต็มที่นั่น หน้าที่ราชการจะหามีพอแก่ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับราชการไม่ เมื่อเช่นนี้ผลซึ่งจะปรากฏในภายหน้าก็คือ ผู้เรียนไม่สมหวัง ความทะเยอทะยานอยากเข้าทำการตามวิชาที่เรียนมานี้มีตัวอย่างคือ ผู้ที่บิดามารดาเคยหาเลี้ยงชีพทางทำนาทำสวน บุตรที่ได้เข้าโรงเรียนแล้ว เมื่อออกทำการกลับสู้สมัครข้างรับจ้างเป็นเสมียน รับเงินเดือนแม้แต่เพียงเดือนละ ๒๐ บาท ถ้าชีวิตบิดามารดาหาไม่ บางทีจะเลยขายเรือกสวนไร่นา ละทิ้งถิ่นฐานเดิมของตัวเสียทีเดียวก็เป็นได้ เช่นนี้นับว่าการศึกษาให้โทษ…” 3

เมื่อมองเห็นสภาพเช่นนี้ ทางราชการก็ได้พยายามดำเนินการแก้ไข แต่อีก ๗ ปีต่อมา ปัญหาก็ยังคงปรากฏดังข้อความในประกาศชี้แจง เรื่องรูปโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ ของเสนาบดี กระทรวงธรรมการ (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) ตอนหนึ่งว่า

“…ปรากฏว่านักเรียนผู้ชายที่ได้เข้าเรียนวิชา พอถึงชั้นมัธยมได้ครึ่งๆ กลางๆ ยังมิทันจะจบก็พากันออกหาการทำในทางเสมียนเสียมาก…ความนิยมอันทุ่มเทไปในทางเดียวเช่นนี้ เป็นความเข้าใจผิดของประชาชน จนผู้คนไปล้นเหลืออยู่ในหน้าที่เสมียน ผู้ที่ไม่มีความสามารถพอ ก็ไม่มีใครรับไว้ใช้ คนเหล่านั้นก็ย่อมขาดประโยชน์ โดยหาที่ทำการไม่ได้ ทั้งการหาเลี้ยงชีพที่เหล่าตระกูลของตนเคยทำมาแต่ก่อน ก็ละทิ้งเสีย จะกลับไปทำก็ต่อไม่ติด จึงเกิดความลำบากขึ้น …”4

ที่ท่านว่านี้เหมือนสภาพปัจจุบันแล้ว แทบไม่ผิดกันเลย มันเป็นมานานแล้ว ไม่ได้เป็นเฉพาะแต่บัดนี้ ต่างแต่ว่า ในปัจจุบัน ถึงเรียนจบสูงถึงอุดมศึกษาก็ยังล้นงาน ส่วนการอาชีพของตระกูลหรือของถิ่น ก็คงต่อไม่ติดเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อสังเกตต่างๆ อาตมภาพยกมาชี้มาอ้างพอให้เห็นในเวลาที่จำกัด

ขอพูดต่อไปเพียงเล็กน้อยว่า ในกรณีนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศซึ่งคุมนโยบาย จะต้องรู้เท่าทันความเป็นไปทั้งหมด รู้เท่าทันสภาพสังคม รู้เท่าทันสภาวการณ์ เมื่อการแก้ปัญหาหลักเสร็จไปตอนหนึ่ง ก็ต้องหันมาตั้งหลักแก้ปัญหาแทรกซ้อน และทำงานสร้างสรรค์ระยะยาว โดยวางแผนระยะยาวให้ดี เช่น หันมาพัฒนาเนื้อตัวให้สมกับเสื้อผ้าที่ศิวิไลซ์เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างสภาพประสานกลมกลืนขององค์ประกอบต่างๆ ในสังคมต่อไป ถ้ารู้ไม่เท่าทันและไม่หันมาทำเช่นนี้ ปัญหาก็จะต้องเกิดท่วมทับทวีขึ้นมา และในเรื่องนี้ ก็อย่าโทษแต่ฝ่ายการศึกษาอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการพัฒนาประเทศทั้งกระบวนการ จะต้องโทษผู้บริหารประเทศในระดับสูงสุดทีเดียว ที่จะต้องรับผิดชอบเป็นอันดับหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง ต่อมา เมื่อเราไม่ได้รีบแก้ปัญหานี้ คือไม่ได้หันมาตั้งหลักเตรียมตัวใหม่ให้ดีโดยชัดเจน ปัจจัยอื่นก็ตามเข้ามาท่วมทับซ้ำเข้าอีก ปัจจัยอื่นนั้นก็คือ ลัทธิทุนนิยมและระบบอุตสาหกรรม ซึ่งได้พรั่งพรูเข้ามาเป็นตัวหนุน ซึ่งส่งเสริมการแสวงหาวัตถุที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่ามีลักษณะเป็นวัตถุนิยม ทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น หมกมุ่นหลงใหลในวัตถุมากยิ่งขึ้น เพื่อจะให้เกิดความทันสมัยยิ่งขึ้น ทีนี้ ถ้าหากว่าผู้บริหารประเทศและนักการศึกษารู้ไม่เท่าทัน ไม่มีความคิดเข้าใจที่เจาะลึก ก็ยิ่งแก้ปัญหาไม่ทัน ไม่ตรงจุด สับสน แล้วก็พัฒนาแบบตั้งตัวไม่ติด แล้วทีนี้แทนที่จะเป็นผู้นำสังคม การศึกษา โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศ ก็จะต้องเป็นผู้ทำงานแบบตามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เรื่อยไป ปล่อยให้การศึกษาเป็นตัวสนองตามสังคม แทนที่จะนำสังคม ครูก็เป็นผู้ตามค่านิยมของสังคม ไม่เป็นผู้นำของสังคม เมื่อแนวทางของสังคมเป็นไปในทางก่อให้เกิดปัญหา การศึกษาไทยตามสังคมก็คือ ไปช่วยเพิ่มปัญหา ขยายปัญหาให้มากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น โดยนัยนี้ การศึกษาไทยที่ดำเนินมาในสายความเจริญแบบที่ว่ามาแต่ต้นนั้น เมื่อก้าวสู่ยุคใหม่ ก็จึงเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้แก้ปัญหา มาสู่ความเป็นตัวการสร้างปัญหา หรือผ่านจากยุคแก้ปัญหามาเป็นยุคก่อปัญหา ตอนนี้คิดว่า ขอเพียงตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน ตอนต่อไปจะพูดถึงปัญหาว่ามีอะไรบ้าง แล้วจะแก้กันอย่างไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตอน ๑ แก้ปัญหา – การศึกษาไทย: เพื่อแก้ปัญหาอะไร?ตอน ๒ สร้างปัญหา – ข้อพึงเน้นในการแก้ปัญหา >>

เชิงอรรถ

  1. วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. ประมวลพระนิพนธ์: ลายพระหัตถ์เกี่ยวกับการศึกษา. (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๔), หน้า ๓๐๙.
  2. วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. ประมวลพระนิพนธ์: การศึกษา. (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๔), หน้า ๗๓-๘๐
  3. กระทรวงศึกษาธิการ. ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ๒๔๓๕-๒๕๐๗. (กรุงเทพฯ ร.พ. คุรุสภา, ๒๕๐๗), หน้า ๑๘๔
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒๘

No Comments

Comments are closed.