— ตัวอย่างที่ ๑

7 กรกฎาคม 2532
เป็นตอนที่ 3 จาก 6 ตอนของ

๑. มีศัพท์ธรรมจากภาษาบาลี ที่พบค่อนข้างบ่อยคู่หนึ่ง คือ คำว่า พหูสูต กับ พาหุสัจจะ พหูสูต เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ผู้ได้สดับมาก หรือผู้ที่ได้เล่าเรียนได้อ่านได้ฟังมาก ส่วนพาหุสัจจะ เป็นคำนามที่มาจากคำว่าพหูสูตนั่นเอง แปลว่า ความเป็นพหูสูต หรือความเป็นผู้ได้สดับเล่าเรียนมาก

การที่พาหุสัจจะ มาจาก พหูสูต แต่เปลี่ยนรูปไปอย่างนี้ เป็นเรื่องของไวยากรณ์ ซึ่งจะเห็นได้ในภาษาอังกฤษ เป็นต้นที่มีหลักภาษาบางอย่างคล้ายกัน เช่น poor เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ยากจน เมื่อเป็นคำนามอาจใช้เป็น poverty แปลว่า ความยากจน private เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ส่วนตัว เมื่อเป็นคำนามอาจใช้เป็น privacy แปลว่า ความเป็นส่วนตัว wise แปลว่า ฉลาด เมื่อเป็นคำนามใช้ว่า wisdom แปลว่า ความฉลาด capacious เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จุมาก เป็นคำนามรูปหนึ่งว่า capacity แปลว่า ความจุ friend แปลว่า เพื่อน ถ้าให้เป็นภาวนามก็ใช้ว่า friendship แปลว่า ความเป็นเพื่อน หรือมิตรภาพ ดังนี้เป็นต้น

คำที่คล้ายกับพหูสูต และพาหุสัจจะ ยังมีอีกมาก เช่น ปัณฑิต (บัณฑิต) เป็น ปัณฑิจจะ (ความเป็นบัณฑิต) อธิปติ (อธิบดี หรือผู้เป็นใหญ่) เป็น อาธิปัจจะ (ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่) ปุโรหิต (ที่ปรึกษาของพระราชา) เป็น โปโรหิจจะ (ความเป็นปุโรหิต หรือตำแหน่งปุโรหิต) มุฏฐสติ (หลงลืมสติ) เป็น มุฏฐสัจจะ (ความเป็นผู้หลงลืมสติ) เป็นต้น

เมื่อท่านโพธิรักษ์อธิบายธรรม จะเห็นได้ว่า ท่านไม่รู้หลักภาษานี้เลย และความไม่รู้นี้ก็ทำให้ท่านเข้าใจผิดและอธิบายผิด คำอธิบายของท่านโพธิรักษ์เกี่ยวกับ พหูสูต และพาหุสัจจะ แสดงให้เห็นว่าท่านเข้าใจกลับตรงข้ามว่าคำทั้งสองนี้เป็นคำประเภทคุณศัพท์เหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน ท่านว่า พหูสูต คือ รู้มาก ฟังมาก แต่ยังไม่ถึงสัจจะ เช่นอย่างพระอานนท์ ส่วน พาหุสัจจะ หมายถึง รู้ในสัจจะมากขึ้น แทงทะลุในสัจธรรม เช่นอย่างพระสารีบุตร

สาเหตุคือ ท่านโพธิรักษ์ เห็นคำว่า “สัจจะ” ในคำว่า พาหุสัจจะ ก็เข้าใจผิดว่าเป็นคำว่า สัจจะ ที่แปลว่าสัจธรรม เหมือนคนไทยที่ไปเห็นคำว่า “ship” ท้ายคำว่า friendship ก็นึกว่าเป็น ship ที่แปลว่า เรือ เลยแปล friendship ว่าเรือของเพื่อน หรือไปเห็น “city” ท้ายคำว่า capacity ก็นึกว่าเป็น city ที่แปลว่า เมือง เลยแยก capacity เป็น cap + a + city แล้วแปลอย่างไม่มีหลักมีเกณฑ์ว่า เมืองหนึ่งที่ทำหมวกขาย เห็นคำว่า announcement (announce+ment = การประกาศ) ก็ไปแยกศัพท์เอาเองว่าเป็น an + noun + cement เลยแปลว่า ซีเมนต์มีชื่อหนึ่งยี่ห้อ อะไรทำนองนี้

เมื่อเข้าใจถ้อยคำผิด ถ้อยคำนั้นก็ไม่สื่อถึงสิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่ผู้กล่าวถ้อยคำนั้นประสงค์ กลายเป็นพูดกันคนละเรื่อง ผู้พูดพูดถึงสิ่งหนึ่ง แต่ผู้ฟังไปจับเอาอีกสิ่งหนึ่ง เตลิดออกไปนอกเรื่องเสีย ก่อนที่จะมีโอกาสตีความเรื่องที่เขาพูดนั้น และคำที่ถูกดึงเข้ามาด้วยความเข้าใจผิด ก็พาให้เกิดความสับสนกับเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก เมื่อท่านโพธิรักษ์เข้าใจ สัจจะ ในที่นี้เป็นสัจธรรม ท่านก็ย่อมเตลิดต่อไปจนกู่ไม่กลับ การกระทำของท่านโพธิรักษ์ในกรณีเช่นนี้ ก่อให้เกิดปัญหาเป็นผลเสียหายพ่วงกันมา ๒ ชั้น

๑) ทำให้เกิดความผิดพลาดทางภาษา คือ พาให้คนฟังคนอ่าน เข้าใจความหมายของถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อน (ในระดับความหมายสามัญ ไม่ใช่ในระดับตีความ) จับเรื่องราวผิดพลาดไปเป็นคนละเรื่องละราว

๒) ทำให้เกิดความผิดพลาดทางหลักธรรม เพราะเมื่อภาษาผิดไปแล้ว สิ่งที่พูดถึงกลายเป็นคนละเรื่องไปแล้ว คำอธิบายก็สับสน ในกรณีที่คำศัพท์นั้นโยงไปหาหลักธรรม เมื่อคำศัพท์ถูกเข้าใจสับสน หลักธรรมต่างๆ ที่ถูกโยงเอามาอธิบายก็ตีกันยุ่งเหยิงสับสนไปด้วย

คำว่า พาหุสัจจะ ก็คือ ความเป็นพหูสูต หรือความเป็นผู้ได้สดับเล่าเรียนมากเท่านั้น ไม่ใช่การมีสัจจะมาก หรือว่าจะเข้าถึงสัจจะหรือไม่ การได้เล่าเรียนวิชาความรู้ทั่วๆ ไป แม้แต่ของชาวบ้าน ก็เรียกว่า พาหุสัจจะ ดังที่จัดเป็นมงคลอย่างหนึ่งคู่กับศิลปะในมงคล ๓๘ ประการ หรือดังคำสอนในพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นพหูสูต . . . เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยพาหุสัจจะ(ความเป็นพหูสูต)นั้น” (ม.อุ.๑๔/๑๘๓/๑๓๖)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาคผนวก: โพธิรักษ์ กับ การตีความพระธรรมวินัย— ตัวอย่างที่ ๒ >>

No Comments

Comments are closed.