หมายเหตุ และคำโปรยปกหลัง

7 กรกฎาคม 2532
เป็นตอนที่ 6 จาก 6 ตอนของ

หมายเหตุ: กรณีสันติอโศก หรือปัญหาโพธิรักษ์นี้มีแง่พิจารณาหลายด้าน เช่น ด้านสังคม จิตวิทยา การเมือง และ เศรษฐกิจ เป็นต้น ถ้ามีเวลาก็อาจจะได้วิเคราะห์กันต่อไป แต่การพิจารณาทุกด้านทั้งหมดนั้นจะไม่ไขว้เขวผิดพลาด ก็ต่อเมื่อได้ทำประเด็นแกนของเรื่องให้ชัดเจนเสียก่อน

คำโปรยปกหลัง

เสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่ใช่เสรีภาพที่จะทำกับศาสนาอย่างไรก็ได้ ถ้าจะทำกับศาสนาตามที่ตนชอบใจ ก็ไม่ใช่นับถือศาสนานั้นแล้ว

สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พึงเป็นไปเพื่อส่งเสริมการกระทำที่ซื่อตรงและชอบธรรม ไม่พึงถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการที่จะทำอะไรได้ตามชอบใจ หรือการอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนา แอบแฝงเข้ามาทำลายเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา

จึงต้องวิงวอนขอร้องว่า หากท่านโพธิรักษ์ยังมีคุณธรรมความดีงามอยู่ในจิตใจ หรือท่านได้กระทำการที่ผ่านมาด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ ก็ขอได้โปรดเห็นแก่พระพุทธศาสนา เห็นแก่ประชาชน และเห็นแก่ความดำรงอยู่ตามเป็นจริงของพระธรรมวินัย โปรดยอมรับความผิดพลาดที่ได้กระทำไปแล้ว การพูดเลี่ยงหลบไปได้ต่างๆ นั้น แม้จะเป็นความเก่งกาจในด้านหนึ่งก็จริง แต่หาใช่เป็นความดีงามอย่างใดไม่ ในทางตรงข้าม มีแต่จะแสดงถึงความไม่ซื่อตรงและการขาดความจริงยิ่งขึ้นไปทุกที

พระไตรปิฎกแม้แต่ที่เป็นของเดิมแท้ นอกจากบรรจุพุทธพจน์แล้ว ยังมีคำกล่าว คำอธิบาย และคำเล่าของพระสาวก ตลอดจนบุคคลอื่นๆ ในสมัยพุทธกาลอีกเป็นจำนวนมาก ต่อมาก็ยังนำเอาพระสูตรที่พระสาวกผู้ใหญ่บางท่านแสดงหลังพุทธกาลรวมเข้าด้วยอีก รวมทั้งคัมภีร์กถาวัตถุในพระอภิธรรมปิฎก ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเรียบเรียงขึ้นในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ท่านผู้รู้จึงไม่กล่าวว่าข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฏกเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ท่านกล่าวว่า คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าเรารู้ได้จากพระไตรปิฎก หรือว่าพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานแสดงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่มีมาถึงเรา หรือเท่าที่เราจะรู้ได้ (มีพุทธพจน์บางแห่ง ที่สันนิษฐานว่าหลุดหายจากพระไตรปิฎก และยังปรากฏอยู่ในอรรถกถา แต่ก็น้อยอย่างยิ่ง) เมื่อพูดสั้นๆ จึงกล่าวว่า พระไตรปิฎกเป็นที่บรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งโดยทั่วไปก็รู้ได้ว่าส่วนไหนเป็นคำพูดของใคร

แต่เมื่อใดเนื้อเดิมของพระไตรปิฎกหมดไปแล้ว เหลืออยู่แต่สิ่งที่คลาดเคลื่อนแปลกปลอม ก็เรียกได้ว่าพระพุทธศาสนาหมดสิ้นแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่เห็นอยู่ไม่อาจยืนยันว่าเป็นพระพุทธศาสนาอีกต่อไป ดังนั้น เนื้อเดิมของพระไตรปิฎกเหลืออยู่เท่าใด เราก็รู้จักพระพุทธศาสนาเท่านั้น

ท่านโพธิรักษ์อ้างว่าท่านรู้ด้วยญาณ ในเรื่องธรรมดาสามัญที่คนอื่นเขารู้กันได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้ญาณ และความรู้ของท่านโพธิรักษ์ ที่ท่านอ้างว่าเป็นญาณของท่านนั้น ก็ผิดแม้แต่ในเรื่องธรรมดา ที่คนสามัญเขารู้กันโดยไม่ต้องใช้ญาณ ญาณของท่านจึงมิใช่เป็นเพียงญาณที่ผิดเท่านั้น แต่เป็นการอ้างว่าเป็นญาณ หรือความหลงเอาสิ่งที่มิใช่ญาณว่าเป็นญาณ หาใช่เป็นญาณอะไรแต่อย่างใดไม่

อย่างไรก็ตาม ที่พูดว่าญาณนั้น ก็เป็นการพูดไปตามคำอ้างของท่านโพธิรักษ์เท่านั้น ความจริง สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์อ้างนั้นไม่ใช่เป็นญาณอะไรที่ไหนเลย แต่เป็นเพียงความผิดเพี้ยนและความไม่รู้ในเรื่องถ้อยคำธรรมดาสามัญ ซึ่งส่วนมากแม้แต่ชาวบ้านทั่วไปถ้าพูดภาษานั้นก็รู้เข้าใจกัน ดังนั้น จึงเป็นการอ้างญาณในเรื่องสามัญที่ไม่ต้องรู้ด้วยญาณ ครั้นอ้างแล้วก็ปรากฏว่าความรู้แม้แต่ในเรื่องสามัญที่อ้างนั้นผิด ก็เลยกลับเป็นเครื่องยืนยันว่าความรู้ของท่านนั้นไม่ใช่ญาณ และท่านก็ไม่มีญาณ แล้วความก็ส่อต่อไปอีกว่า คำอวดอ้างของท่านโพธิรักษ์ นอกจากจะไม่เป็นจริงแล้ว ยังเป็นเครื่องฟ้องถึงเจตนาให้ต้องตั้งข้อสงสัยว่า ท่านอวดอ้างสิ่งที่ไม่ใช่ญาณ ว่าเป็นญาณ และอวดอ้างญาณที่ท่านไม่มีขึ้นมาสร้างความวิปริตผิดเพี้ยนเพื่ออะไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ตัวอย่างที่ ๓

No Comments

Comments are closed.